หัวข้อเรื่องน้ำท่วมคงยังไม่เชย นักหรอกถ้ายังอยากจะคุยกันอยู่ เพราะน้ำท่วมปีนี้ ท่วมได้ทั่วถึงแทบทุกภาคส่วนจริงๆ แบบนี้สิ เขาเรียกเดือดร้อนร่วมกันเอาขนาดนี้แล้ว คน กทม. จะเอ้อระเหยลอยชายสบายอุรา ไม่คิดการแก้ไข เยียวยาก็ให้มันรู้ไป ในยามนี้เวลาจะคุยอะไร เสนออะไรก็น่าจะตื่นตัวกว่าแต่ก่อน เพราะเจอเข้ากับตนเองเข้าแล้วนี่ ซึ่งก็ดีจะได้ร่วมคิดร่วมอารมณ์และร่วมพละกำลังกันหาทางแก้ เพราะหนทางการแก้ไขปัญหานั้นมีหลายวิธีการ มีทั้งทางตรงและทางอ้อม มีทั้งเพื่อปัจจุบันและเพื่ออนาคต
จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่คนบ้ากระแสเกาะเทรนกะเค้านักหรอก แต่ก็อดไม่ได้จริงๆ ช่วยแรงไม่ได้ก็ช่วยคิด คิดในเรื่องที่เห็นไม่ได้ ก็คิดในเรื่องอื่นๆ ถือว่าคนละไม้คนละมือคนละมุม คิดให้ลึกให้รอบและคุยให้แตกระจ่าง เพราะไม่งั้นก็จะเข้าอีหรอบเดิมๆ คือ สังคมบ้านเราเวลาคิดเห่ออะไรออกมาแล้วก็เห่อแต่เปลือก ไปไม่ถึงแก่นแกน และที่สำคัญพอหมดเห่อ ก็ทิ้งขว้างไม่นำพา ทั้งๆ ที่เรื่องบางเรื่องไม่เคยหมดสมัยกลับยิ่งทวีความสำคัญด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ยังไม่เข้าลึกไปถึงวิธีปฏิบัติ วิธีรักษา วิธีสร้างสรรค์ให้เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ อย่างเช่นเรื่อง Social Entrepreneur หรือผู้ประกอบการทางสังคมกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
จริงๆ คงไม่ต้องจำกัดแค่แก้ปัญหาน้ำท่วมหรอกครับ เพราะใจจริงก็อยากให้มีส่วนในการแก้ไขทุกๆ ปัญหาแหละครับ โดยเฉพาะการกระตุ้นแรงบันดาลใจให้เกิด แนวความคิดใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ เพื่อสร้างทางเลือกสร้างโอกาส ให้คนได้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะให้คนเล็กๆ คนน้อยๆ ที่อยากมีบทบาทมีส่วนร่วมได้สำแดงออกมาบ้าง
เรื่องของผู้ประกอบการทางสังคม หรือ Social Entrepreneur ที่ว่า มีหลักคิดง่ายๆ เป็นพื้นฐานเลยคือ มุ่งเน้นทำธุรกิจที่มีผลโดยตรงในการช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคม นี่เป็นความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ของมนุษย์ในรอบ 100 หรือ 200 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ทรัพยากรหมดไป สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ภัยพิบัติรุนแรง สรรพสิ่งที่มีชีวิตใกล้สูญพันธุ์และมนุษย์เรานี่ที่เริ่มลำบากขึ้นขณะ ร่างกายกับอ่อนแอและคงค่อยๆ ล้มตายในอนาคตไม่นาน ดังนั้น ถ้าหากมนุษย์ยังฝ่าฝืนขืนดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ต่อ โลกก็คงถึงกาลอวสานในอีกไม่ไกล เหมือนคำทำนายในบางทฤษฎีเกี่ยวกับไดโนเสาร์ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระแสกระตุ้นให้ทุกๆ คนร่วมกันแบกรับ ช่วยกันเยียวยาฟื้นฟูสังคม สิ่งแวดล้อม โดย Social Entrepreneur นี้จะต้องดำเนินการและดำรงอยู่ให้ได้ในหลายๆ ด้าน อาทิ ความเข้มแข็ง ความยั่งยืนและการสืบทอดขยายต่อให้เติบโต คุณสมบัติของนักประกอบการทางสังคมเอง ก็ต้องเป็นผู้ที่กล้าทำสิ่งใหม่ ความกล้าเสี่ยงในการลงมือทำ ให้เห็นผล มองเห็นโอกาส มีความคิดสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายรูปธรรมอยู่ที่การเปลี่ยนแปลง พัฒนาสังคม เน้นแก้ไขปัญหาความยากจน การถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน การให้โอกาสแก่คนชายขอบ หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม การปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งการริเริ่มชี้นำ ให้สังคมกล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่ๆ เป็นต้น
มีบทเรียนของเพื่อนบ้านที่น่าสนใจไม่น้อยซึ่งสามารถอดทนทำ อดทนดำเนินการจนสำเร็จ นั่นคือ บทเรียน ธนาคารชุมชนของ Grameen Bank ซึ่งไม่หวังผลกำไร แต่เป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับความยากจนในประเทศของเขา คือเขาเอาสภาพสังคมที่เป็นจริงเป็นที่ตั้ง โดยอาจจะเลือกผู้ร่วมถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงในหมู่บ้าน เนื่องจากผู้หญิงมีวินัยในการจัดการและมีเวลามากมายในแต่ละวันในฐานะแม่บ้าน ส่วน BRAC องค์กรไม่แสวงหากำไรอีกแห่งหนึ่งซึ่งทั้ง 2 ที่อยู่ในประเทศบังกลาเทศ BRAC นี้สนใจเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาในชนบท การสาธารณสุขพื้นฐาน การเงินชุมชน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ความสำเร็จของ Grameen และBRAC นั้นใหญ่โตมากมาย จนสามารถขยายกิจการไปทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่นับหมื่นคน มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องทำงานด้วย 10 กว่าล้านคน หรือว่า 70,000 หมู่บ้าน จนในปัจจุบัน โครงข่ายธุรกิจ กิจกรรม ผลประโยชน์ ใหญ่โตและมีบทบาทมาก มีการพัฒนานำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และยังก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง ซึ่งหัวใจสำคัญที่เขาทำสำเร็จได้คือ ความตั้งใจ มองสภาพปัญหาของตนเองให้ออก และอดทนอย่างถึงที่สุด ที่สำคัญ เขามองตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีและแถมยังมองโลกในแง่บวกอีกด้วย
ประเทศไทยมีกลุ่ม องค์กร วิสาหกิจชุมชนมากมายที่สามารถทำเนาได้ว่าเป็น Social Entrepreneur หรือ ผู้ประกอบการทางสังคม แต่ก็ยังไม่ถูกพัฒนาให้วัตถุประสงค์ที่ดีกับสังคม ชุมชน กับความเข้มแข็งทางธุรกิจจะดำเนินการไปอย่างไร แม้กระทั่งภาคสังคมเองก็ยังไม่ตื่นตระหนักและเห็นคุณค่าอย่างแท้จริง ว่าธุรกิจแบบไหนเป็นธุรกิจที่สำคัญ แม้กระทั่งการเป็น social consumer หรือผู้บริโภคเพื่อสังคม ก็ยังไม่ได้ความสนสนใจ มากนัก แม้ว่าจะมีวิสาหกิจหลายแห่งสร้างความสำเร็จและเข้มแข็งไปได้ในระดับหนึ่งก็ ตาม อย่างกลุ่มออมทรัพย์ครูชบ จ.สงขลา กลุ่มชาวบ้าน ที่ คีรีวง เป็นต้น
กระนั้น หากมองเห็นรากฐานความสำเร็จของ Grameen Bank และ BRAC แล้ว สังคมไทยยังมองเห็นและยังทำอะไรได้อีกมาก และมีโอกาสประสบความสำเร็จ บางทีไม่จำเป็นต้องเริ่มที่รากหญ้า แต่เริ่มที่ในเมืองหลวง เริ่มโดยนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ไม่ใช่ชุมชน เริ่มสินค้า ลู่ทาง การจัดการ การปันผลและการผูกติดกับการแก้ปัญหาสังคมหรือทรัพยากรสิ่งแวดล้อมสักเรื่อง ก็ได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ถนอมโลก, Fast Food พิทักษ์ป่า, Sport TV ปกป้องเด็ก เป็นต้น
หลังน้ำท่วมใหญ่แต่ละครั้งมีอะไรมากมายที่ต้องซื้อต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต อีกทั้งพอน้ำลดก็ต้องฟื้นฟูปรับปรุง ให้กลับมามีชีวิตปกติให้ได้ ในระหว่างนั้น มีลู่ทางมากมายที่สามารถผลักเป็นธุรกิจสร้างเป็นแบรนด์ สร้างลู่ทางช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเพื่อฟื้นฟูเมือง ชุมชนหลังน้ำท่วม ไปจนถึงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ อีกด้วย
โดย อัฎธิชัย ศิริเทศ
ที่มา http://www.tff.or.th/?q=node/343