ตึก.. ตึก.. ตึก.. !!
เสียงตอกเสาเข็มดังสนั่น จากการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมสวยหรูราคาหลายร้อยล้านบาทใจกลางเมือง
ย่านปทุมวัน ที่กำลังเร่งการก่อสร้างเพื่อตอบรับกับการขยายตัวของเมือง และความต้องการของผู้มีกำลังซื้อ
เสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือนแพร่กระจายจากจุดกำเนิดไปยังบริเวณใกล้เคียง สร้างความไม่สงบสุขต่อผู้คน
ในละแวกที่ผู้มีอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ด้วยเป็นย่านของห้างสรรพสินค้าใหญ่ ผู้ที่อยู่อาศัยมาก่อนซึ่งต่างก็
ได้รับผลกระทบกันโดยถ้วนหน้า
อาจารย์อรยา สูตะบุตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบนี้ อาจารย์อรยา
เป็นหนึ่งในสมาชิกชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ
ที่ได้รับผลกระทบจากเสียง และต้องการให้กรุงเทพเป็นเมืองสงบ ต้องการให้ชาวกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิต
ที่ดี จึงร่วมกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขมลพิษทางเสียง
“…คนสร้างก็ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะได้รับผลกระทบยังไง คนที่ได้รับผลกระทบนี่เป็นกลุ่มสังคมระดับสูง
หรือเรียกว่าไฮโซล้วนๆ ส่วนผู้รับเหมาเป็นชาวอเมริกัน ประชุมแล้วเขาก็ไม่ได้ทำอะไร อาจเพราะทางเขต
ก็ไม่ได้มีบทลงโทษอะไรด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตอนนี้กำลังมีการไล่ที่แถวหลังสวนเพื่อทำตึกสูง มีการให้เช่า
พื้นที่เต็มเลย เพื่อสร้างคอนโดขนาดใหญ่ยุบยับเลย ทีนี้เวลาก่อสร้างพร้อมกัน ลองนึกภาพดู…
เสียงดังมากทั้งคนเข้าคนออกด้วย เละเทะมาก…”
ในช่วงแรกๆ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้ร้องเรียนผ่านโทรศัพท์แจ้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ กทม.ตลอด ๒๔
ชั่วโมง แต่ไม่ได้ผล บางส่วนใช้วิธีเดินทางออกไปอยู่แถวนอกเมืองหรือต่างจังหวัดในช่วงวันหยุด หรือไม่
ก็ย้ายบ้านออกไปเสียเลย ต่างคนก็ต่างแก้ปัญหากันไป แต่ก็มีหลายคนที่รู้สึกว่า น่าจะมาช่วยกันแก้ปัญหา
ดีกว่าจากวิกฤติก็กลายเป็นโอกาส หลังจากที่ผู้คนในละแวกนั้นต่างเดือดร้อนไปตามๆ กัน และหากต่างคน
ต่างแก้ปัญหากันไป ย่อมไม่มีพลังต่อรองกับภาวะคุกคาม จึงมีการรวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ
“ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ”
เน้นการสร้างภาคีความร่วมมือทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่าง
ถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยให้มีการใช้เสียงอย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมสร้างสำนึกการให้คุณค่า
แก่ความเงียบ เพื่อให้คนกรุงเทพมีพื้นที่และเวลาสำหรับการสงบจิตใจ ตั้งสติในการดำเนินชีวิต ก่อนที่
มลภาวะทางเสียงจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตไปมากกว่านี้
ภารกิจของกลุ่มชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ นั้น เริ่มต้นด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ช่วยกันสอดส่องดูแล
ปัญหา ติดตาม ประสานงาน ให้ทาง กทม.มาจัดการ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ทางผู้อำนวยการเขตปทุมวัน
เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการแบ่งบทบาทกันในการเก็บข้อมูลและเฝ้าติดตามให้
เอกชนทำตามข้อเรียกร้องของคนในชุมชน หากฝ่าฝืนทาง กทม.จะมีมาตรการลงโทษ ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง
ที่บริษัทฝ่าฝืนข้อตกลง โดยทำการก่อสร้างเกินช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ และยอมยุติการก่อสร้าง ๑ วัน
เพื่อแสดงความรับผิดชอบ หลังได้รับการร้องเรียน ซึ่งนั่นดูเหมือนว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยทีเดียว
ณ เวลานี้ ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ กำลังเคลื่อนทัพเพื่อปกป้องวัดปทุมวนารามที่ปัจจุบันถูกขนาบด้วย
รถไฟฟ้าและห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ดูเหมือนทั้งเสียงจากการจราจร การก่อสร้าง เสียงนกหวีด
จากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อำนวยความสะดวกต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะ และแสงสะท้อนจาก
อาคารสูงของห้างใหญ่ จะทำลายบรรยากาศของวัดที่ควรเป็นที่สุขสงบให้สูญหายไปสิ้น แน่นอนว่า
การหยุดยั้งโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนี่ยมขนาดใหญ่นั้นเป็นไปได้ยากมาก สิ่งที่กลุ่มชมรม
หรี่เสียงกรุงเทพยังมีความหวังนั่นคือ การปรับปรุงรายละเอียดของการก่อสร้างอาคาร ที่ควร
ใส่ใจถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และมลพิษทั้งทางเสียงและภูมิทัศน์ เช่น นำเสนอให้มีการใช้วัสดุ
ภายนอกอาคารที่ไม่สะท้อนแสง หากแต่มีมูลค่าในการก่อสร้างสูงมาก ผู้ประกอบการจึง
ไม่สามารถแก้ไขได้ ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ จึงแก้ปัญหาด้วยการร่วมแรงกันปลูกต้นไม้
เพื่อบังแสงสะท้อนจากอาคาร ลดเสียงดังรบกวน และพยายามนำเสนอแนวคิดในเรื่อง
“ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม” CSR (Corporate Social Responsibility)
ที่จะใช้แก้ไขยังต้นตอของปัญหา ให้ขยายในวงกว้างต่อสาธารณะอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่น Walking Tour เป็นการฝึกนั่งสมาธิในวัดปทุมวนาราม
ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและคนทั่วไปเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก ก่อให้เกิดความร่วมมือ
ในการสร้างสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อมให้กับวัดและคนในชุมชนย่านนั้นเพิ่มมากขึ้น โดยมีอาจารย์จาก
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมช่วยคิด มีการเปลี่ยนพื้นกระเบื้องรอบๆ
โบสถ์ให้เป็นอิฐบล๊อก แล้วปล่อยให้หญ้างอกโผล่ขึ้นมา ทำให้ช่วยลดความร้อนระอุภายในวัดได้ส่วนหนึ่ง
ด้วยความตั้งใจของการรวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดสุขภาวะของคนที่อยู่ร่วมกัน ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้วยกัน
และจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ทำให้ทางชมรมฯ ได้เรียนรู้ว่า ต้องเริ่มจาก
การสร้างเพื่อนก่อน
“…ปัญหาของกรุงเทพฯ คือ มีคนจำนวนมากที่คิดแค่ต่างคนต่างอยู่ พอเจอปัญหาก็ย้ายหนี มันไม่ใช่เรื่อง
พื้นที่แล้ว แต่เป็นเรื่องวิธีคิด เพราะมีคนที่ไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอื่น….อย่างตึกนี่ ก็ควรมีผ้าใบ
กันฝุ่น มีการลงทุนเพื่อใส่ใจกับคนรอบๆ ไซต์ก่อสร้างมากขึ้น …หรือถ้าคนเข้าใจเรื่องการใช้เสียงอย่าง
รับผิดชอบ ก็จะไม่ไปคุกคามพื้นที่ส่วนรวม หรือส่วนบุคคลของคนอื่น… ถ้าเราเป็น Good neighbor
เพื่อนบ้านก็จะไม่เดือดร้อนเพราะเรา…”
“…สิ่งสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของคน จากความคิดที่ว่า “ฉันทำอะไรไม่ได้หรอก” มาเป็น
“ฉันทำอะไรได้ ถ้ามีคนช่วยๆ กัน” ซึ่งก็คือการเห็นคุณค่าของตัวเอง ใช้ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่
ร่วมกับพันธมิตรในการผลักดันเรื่องใหญ่ๆ ขณะนี้ทางชมรมฯ มีทั้งคนที่เข้ามาช่วยเขียนบทความ
ติดต่อประสานงานกับวัด ช่วยออกแบบ ทำให้งานสามารถเคลื่อนตัวไปได้”
การทำงานของชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างสุขภาวะ
ด้วยการลดมลภาวะทางเสียง
จุดสำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นที่คน และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มได้เพียงพอที่จะร่วมมือกันในเชิง
ความคิดมากกว่าในเชิงหน้าที่หรือเชิงงบประมาณ มีความเข้าใจในสิ่งที่ทำให้ชัดเจน เริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ
ภายใต้การสนับสนุนของคนในชุมชน สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐ ข้อสำคัญ
อีกประการหนึ่งคือ“ต้องกัดไม่ปล่อย” เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ แม้จะเล็กหรือใหญ่แต่ก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่ดีแก่กันและกัน
เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นต่อไปนั่นเอง.
ที่มา http://www.bangkokforum.net/know_eimsuk_Quiet%20Bangkok%20.htm