YOUTH  VOLUNTEER  PROJECT  PRINCE OF SONGKLA  UNIVERSITY (PSU-YV)

พื้นที่ดำเนินงาน,รับผิดชอบ
ด้านส่งเสริมเยาวชนทำกิจกรรมจิตอาสา 14 จังหวัดภาคใต้    และโครงการเฉพาะกิจภัยพิบัติ (ตามความเหมาะสม )

ความเป็นมาและความสำคัญ
จากสถานการณ์ปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น ความขัดแย้ง สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และสภาพปัญหาสังคมต่างๆ ในปัจจุบัน เยาวชนเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างสรรค์สังคม เพราะเป็นกลุ่มที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์   บทบาทของเยาวชนจึงไม่เพียงแต่แสวงหาความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่การเข้าไปเรียนรู้ชุมชนที่เปรียบเสมือนห้องเรียนทักษะชีวิตทางสังคมและร่วมทำกิจกรรมช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคมควบคู่กับการเรียนจะเป็นการหล่อหลอมให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต เพราะนอกจากเยาวชนจะได้ฝึกทักษะชีวิตแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดี เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถส่งเสริมให้เยาวชนมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น นั่นคือ การทำให้เยาวชนได้เห็นพลัง ความสามารถ และศักยภาพของตนเอง ทำให้เกิดความภูมิใจ ซึ่งหากทำได้อย่างนี้เยาวชนก็จะมีกำลังใจในการทำสิ่งที่ดีๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

โครงการเยาวชนจิตอาสาเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางให้เยาวชนได้ใช้พลังทางความคิดและความสามารถในการช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคมควบคู่กับการเรียน โดยการใช้พื้นที่การทำงานของบัณฑิตอาสาในโครงการบัณฑิตอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(บอ.ม.อ.) เป็นพื้นที่หลักในการทำงานร่วมกับชุมชน  แต่หากเยาวชนมีชุมชนที่ต้องการพัฒนาแต่ขาดทักษะในการดำเนินงานหรือขาดผู้สนับสนุนในการจัดกิจกรรม/โครงการ โครงการเยาวชนจิตอาสาก็สามารถที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการมีการดำเนินงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายการทำงาน เพื่อให้การทำงานด้านจิตอาสามีการขยายในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการไปยังองค์กรนักศึกษา ชมรม และคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนกระทั่งมีนักศึกษาจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่การทำงาน ต่างๆ ของบัณฑิตอาสา และพื้นที่เครือข่ายอื่นๆ

สรุปผลการดำเนินงานในปีแรก  เกิดแกนนำนักศึกษา จำนวน  15 คน เกิดกิจกรรม 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมเยาวชนวัยใสห่างไกลยาเสพติด   กิจกรรมกล่อมน้องเล่านิทานในชุมชนจันทร์วิโรจน์    กิจกรรมจัดอบรมการออกแบบการเรียนรู้ในเด็กให้กับนักศึกษาก่อนลงฝึกงานในพื้นที่ชุมชนจันทร์วิโรจน์ และพื้นที่ชุมชนป้อมหก   เกิดโครงการ 3 โครงการคือ โครงการแบ่งปันรอยยิ้มจากพี่สู่น้อง โครงการ 1 คน ปลูก 1 ต้น ชุมชนพ้นโลกร้อน และโครงการเดินป่า…เพาะกล้าไม้  เกิดพื้นที่การทำงานเพิ่มขึ้นคือ ชุมชนจันทร์วิโรจน์   ชุมชนป้อมหก   ชุมชนแฟลตการเคหะแห่งชาติ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ บ้านร่าหมาด หมู่ 2 ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่  มีการทำงานด้านจิตอาสา ร่วมกับบัณฑิตอาสา ม.อ.ในพื้นที่ โดยการร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดกิจกรรมปลูกถั่วงอกให้เด็กในชุมชนป้อมหก การสอนหนังสือให้เด็กๆ ในชุมชนจันทร์วิโรจน์ เป็นต้น

ในปีที่สอง (ระหว่างเดือนธันวาคม 2553 – พฤศจิกายน 2554)ได้ให้การสนับสนุนโครงการของเยาวชนบรรลุตามเป้าหมายทั้งหมด 10 โครงการ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใน  4  วิทยาเขต  (หาดใหญ่ ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และตรัง)  รวม 13 คณะ 10 องค์การ/ชมรม และ 1 โครงการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา รวมมีเครือข่ายแกนนำนักศึกษากว่า 30 คน  นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพสำหรับนักศึกษาแกนนำ เยาวชนจิตอาสาจากชุมชนใกล้เคียง ได้เรียนรู้วิธีการใช้ละครเป็นเครื่องมือและสื่อในการพัฒนากระบวนความคิด  และพัฒนาจิตภายใน และใช้ละครเชื่อมโยงสู่การศึกษาชุมชน  และสามารถนำไปประยุกต์ใช้การทำงานและดำเนินชีวิตประจำวันต่อไป

สืบเนื่องจากวิกฤตสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ สร้างความเสียหายในวงกว้าง เป็นผลให้ตัวแทนอาสาสมัคร โครงการบัณฑิตอาสา โครงการเยาวชนจิตอาสา กลุ่มนักศึกษาอาสาสมัคร จากองค์การนักศึกษา และกองกิจการนักศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้เดินทางเพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือน้ำท่วม พื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 21-24 ตุลาคม  2554 และระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน -19 ธันวาคม 2554    ซึ่งบทเรียนสำคัญจากการทำงานอาสาสมัครครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน  ในภารกิจที่สำคัญ คือ  ด้านการจัดการฐานข้อมูล  การจัดระบบศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง   และการจัดระบบการบริจาค

จากสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยดังกล่าวเป็นผลให้ โครงการได้มีการวางแผนและปฏิบัติงานร่วมกับเครือข่ายจัดการภัยพิบัติอุทกภัย ร่วมกับโครงการฝ่าวิกฤตฟื้นฟูภัยพิบัติน้ำท่วมชุมชนเมืองหาดใหญ่ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้  กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และมีแผนงานขยายเครือข่ายอาสาสมัคร ไปยังกลุ่มสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ( คือ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา  มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และพัทลุง  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่  เพื่อประสานงาน  การวางแผนรับมือภัยพิบัติอุทกภัย  ทำให้เกิดการรวมเครือข่ายอาสาสมัครรับมือภัยพิบัติ และทำกิจกรรมจิตอาสาด้านบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกันในระยะ 1  ปีต่อไป

โครงการเยาวชนจิตอาสา มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้เห็นเยาวชนมีสุขภาวะยั่งยืนครบทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และปัญญา โดยเริ่มต้นด้วยการจุดประกาย  กระตุ้น และสนับสนุนพัฒนาการระบบสุขภาพของเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ และจากผลการดำเนินงานต่อเนื่องตลอด 2 ปีจะเห็นว่าสามารถปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมให้กับนักศึกษา เพิ่มความใส่ใจต่อปัญหาสังคมรอบด้านโดยเฉพาะรอบรั้วมหาวิทยาลัย เพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และ เป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือกิจกรรมเยาวชนระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย  นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับชุมชนยังเป็นการค้นพบตัวเองว่ามีความสนใจในงานพัฒนาชุมชนหรือไม่และหากมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงก็สามารถสมัครเข้าโครงการบัณฑิตอาสาเมื่อจบการศึกษาแล้ว

รูปแบบการประสานงาน คือ
เชื่อมโยงพื้นที่ทำกิจกรรมจิตอาสา   แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเทคนิคกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อแนะนำอาสาสมัครเยาวชนจิตอาสาที่สนใจ เพิ่มทักษะและประสบการณ์จิตอาสาผ่านกิจกรรม
การทำงานร่วมกัน  เช่น การขับเคลื่อนและรณรงค์ด้านเด็กและเยาวชน   อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม     พัฒนาชุมชน   ด้านเยียวยา และฟื้นฟูจิตใจ

ตัวอย่างรายชื่อกลุ่มภาคีเครือข่าย

ประเด็นเด็ก และเยาวชน

กลุ่มมานีมานะ
141 ถนนราษฎร์ยินดี ซอย 9 อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  90110
โทรศัพท์/โทรสาร  074 244014     ประสาน คุณโตมร (โตโต้)
email :  maaniimaana@gmail.com

กลุ่มสอนเด็กและตลาดเกษตร ม.อ.
(ชมรมการศึกษาเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ประสาน   คุณวรภัทร(โอปอ)ไผ่แก้ว  081-598-6597

สมาคมดาหลา(ประเทศไทย)
ที่อยู่ 86 ซ.43 ถ.เพชรเกษม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

ประเด็นสิ่งแวดล้อม

โครงการหมู่บ้านประมงรักษ์สุขภาพ
โดย ผช.ดร.ซุกรี  หะยีสาแม  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
081-096-5814,073-335130

ประเด็นพัฒนาชุมชน และคนด้อยโอกาส /ภัยพิบัติ

-โครงการบัณฑิตอาสา  ม.อ.  (บอ.มอ.)
สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.)   อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ ชั้น 6
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทร/โทรสาร   074-455149
Website   :   http://volunteer.psu.ac.th/

-มูลนิธิชุมชนสงขลา
ประสาน คุณชาคริต โภชะเรือง  081-599-4381

สมาคม รักษ์ทะเลไทย
57/219 -220 ม.เคหะสถานครูไทย ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา 90100
โทรศัพท์  (089)-4666063
โทรสาร (074)-333114
http://raktalaethai.com

- กิจกรรมอบรมอาสาสมัคร เพื่อพร้อมทำงานรับมือภัยพิบัติภาคใต้ ทั้งภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ความไม่สงบจากน้ำมือมนุษย์
- รับสมัครอาสา ทำกิจกรรมจิตอาสาด้านต่าง ๆ
- ประสานงานกลางเครือข่ายนักศึกษาอุดมศึกษาภาคใต้ และนักเรียนมัธยมศึกษา ทำกิจกรรมจิตอาสาในพื้นที่ และนอกพื้นที่ภาคใต้
- ให้ข้อมูลพื้นที่ เพื่อทำกิจกรรมจิตอาสา ร่วมกับภาคีเครือข่ายรัฐ และเอกชน ทั้งในและนอกพื้นที่