พลอยกับนัท เพื่อนสนิทที่เลือกไปเป็นอาสาสมัครโครงการ Street Children Teaching ประเทศอินเดีย สองเดือน กลุ่มแรกของ VSA Thailand ชีวิตที่อินเดียสองเดือนเป็นอย่างไร Street children คืออะไร สัมผัสประสบการณ์เรื่องราวครั้งแรกในการเป็นจิตอาสาต่างแดนของพวก อัดแน่นในสองหน้านี้

ขอเล่าถึงช่วงปฐมนิเทศน์ก่อนที่จะเริ่มทำงานอาสาสมัครก่อนนะคะ ตอนไปถึงที่ Training centre วันแรกเกร็งมาก แต่ทุกคนเดินเข้ามาทักอย่างเป็นมิตรมาก สำเนียงคนที่นี่ฟังง่าย อาจเป็นเพราะทุกคนทำงานกับชาวต่างชาติมานาน สัปดาห์ของการปฐมนิเทศน์เป็นช่วงที่มีความสุขมาก ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอินเดีย วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ได้ไปฝึกสอนเด็กๆ ในโรงเรียนของรัฐบาล เด็กๆ ตื่นเต้นกันมากเหมือนกับไม่เคยเห็นชาวต่างชาติมาก่อน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีอาสาสมัครนานาชาติมาฝึกสอนที่นี่อยู่ตลอดเวลา

ตอนทำกิจกรรมกันเสร็จเด็กๆ วิ่งเข้ามาจับมือ หนูโดนเด็กคนนึงหยิกแก้ม หลังจากนั้นเด็กผู้หญิงทั้งหมดก็กรูกันเข้ามารุมทึ้งหน้าหนู โชคดีมากที่เจ้าหน้าที่เข้ามาบอกให้หยุด ไม่งั้นคง…

เวลาผ่านไปเร็วมากจนกระทั่งเราต้องย้ายไปอยู่บ้านโฮสต์หรือครอบครัวที่เราจะต้องพักอยู่ด้วยในสัปดาห์ต่อมา กลายเป็นว่าเกิดความรู้สึกวิตกกังวลหวาดกลัวทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะตอนนั้นรู้สึกว่าที่ Training centre เป็น comfort zone ของเราไปแล้ว หนูนั่งรถประจำทางไปกับนัทสองคน เราต้องแยกกันอยู่คนละบ้าน ต้องลงจากรถประจำทางคนละป้าย และบ้านขอหนูถึงก่อน ความรู้สึกตอนก้าวลงจากรถรู้สึกเรากำลังจะเข้าไปในเขตแดนอันตราย แต่พอลงจากรถ มองซ้ายมองขวาสักพักเจอน้องสองคนชี้หน้าตะโกนดังลั่นเลยว่า ใช่เธอรึเปล่า? วินาทีนั้นโล่งใจมาก เพราะสมาชิกบ้านของเรามารอรับที่ป้ายรถประจำทางเลย

บ้านนี้มีสามคนค่ะ เป็นคุณแม่กับลูกสาวสองคน สรุปคือทั้งบ้านเป็นผู้หญิงหมดเลย ดีใจมากเพราะว่าใส่กางเกงขาสั้นในบ้านได้ ฮ่าฮ่า

ใช้ชีวิตในบ้านสองเดือน ตามความรู้สึกจริงๆ โดยรวมๆ ก็ไม่ค่อยชอบบ้านนี้นะ เค้าพูดกันเสียงดังตลอดเวลา เปิดทีวีเสียงดัง ทำกิจกรรมทุกอย่างเสียงดัง หนวกหู แล้วบ้านก็สกปรกด้วย แต่โชคดีที่ห้องของเราแยกออกจากตัวบ้าน เราจึงไม่คิดมาก

ที่หนักสุดคือจานชามหม้อกระทะก็สกปรกด้วย! เพิ่งจะมาคิดได้ตอนที่ท้องเสียและไข้ขึ้น ว่าน่าจะมาจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์ หลังจากนั้นจึงบอกคุณแม่ว่าเราชอบล้างจานมาก ๆ เอามาให้หนูล้างหมดเลยนะคะ ฮ่าฮ่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่ท้องเสียอีกเลย

คุณแม่บ้านนี้ทำอาหารแต่ละมื้อใช้อุปกรณ์เยอะมาก คือมื้อนึงมีหม้อสองใบกระทะหนึ่งใบ จานชามอีกเพียบ จำนวนอุปกรณ์ในการกินสี่คนอาจเท่ากับกินสิบคน เราล้างทุกวันตอนเย็นวันละชั่วโมง มือแห้งขนาดที่กลับไทยมาเพื่อนบอกว่ามือเหมือนต้นไม้ขาดน้ำ แต่งานนี้ทำให้ค้นพบว่าเราสนุกกับการล้างจานมาก ชอบ มีความสุข วันไหนไม่ได้ล้างจะรู้สึกหงุดหงิด ฮ่าฮ่า

สิ่งที่ประทับใจที่สุดของการอยู่บ้านนี้คือ สวัสดิการอาหารยอดเยี่ยมมากๆ อยู่ดีกินดีทุกวัน เสาร์อาทิตย์นี่แทบไม่อยากจะออกจากบ้านไปเที่ยวไหนเลย เพราะรอกินอาหารที่คุณแม่ทำ จนป่านนี้ยังคิดถึงอยู่เลย นี่สินะ เสน่ห์ปลายจวัก

ตัดภาพมาที่โปรเจค โครงการที่เรามาเป็นอาสาสมัคร ที่นี่เรียกกันว่า Tent school ซึ่งพอไปถึงที่ทำงาน สภาพเป็นเต๊นท์จริงๆ ลองจินตนาการถึงสภาพชุมชนแออัดบ้านเราเปรียบเทียบกัน แต่ที่นี่อาจจะไม่แออัดขนาดเท่ากับที่บ้านเรา ตัวบ้านเป็นสังกะสี และคนที่นี่เป็นคนที่มาจากที่อื่น เพื่อมาทำงานเพราะรายได้ดีกว่า บ้านสังกะสีที่อาศัยอยู่กันก็เป็นแค่บ้านชั่วคราว ส่วนเด็กๆ ที่เราสอน บางคนก็อยู่นาน บางคนเรียนไปสักพักก็แวะกลับบ้านบ้างแล้วก็กลับมาใหม่ พวกเราก็สอนอยู่ในเต๊นท์สังกะสีเล็กๆ นี่แหละ

คุณครูที่นี่มีคนเดียวชื่อชาลินี เป็นผู้หญิงอินเดียอายุเกือบสามสิบแล้ว แต่ยังดูเด็กมากเลย ช่วงที่เราไปไม่ค่อยได้คุยกับชาลินีมากนัก เพราะเค้าไม่สบาย (อ้อ ลืมบอกไปว่าช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาที่เราไปเป็นฤดูมรสุม ผู้คนจะไม่สบายกันเยอะมาก) แต่ทุกครั้งที่เจอเค้าก็น่ารัก เป็นมิตรดี แต่เวลาสอนจะเหมือนเป็นคนละคนเลย ดุมาก แต่เด็กๆ ก็รักเค้านะ เวลาเค้าไม่มาเด็กๆ จะถามตลอดเลยว่าครูชาลินีไปไหน

นอกจากชาลินีก็ยังมีอาสาสมัครจากเยอรมันสองคน ชื่อโจฮานนากับโมนิก้า โจฮานนาเป็นผู้หญิงตัวใหญ่มาก สูงกว่านัท พูดภาษาอังกฤษชัดและฟังง่ายมาก เธอเป็นคนตลก ชอบเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง เป็นคนให้ความสุขกับเพื่อนๆ ส่วนโมนิก้าจะบอกว่าเป็นคนเยอรมันก็ดูไม่น่าจะใช่ เพราะพ่อแม่ไม่ได้เป็นคนเยอรมัน เพียงแต่อาศัยอยู่ที่เยอรมันเท่านั้น โมนิก้าตัวเล็ก เสียงเบา น่ารักน่าแกล้งมาก ตอนแรกคิดว่าจะนิสับนิ่งๆ แต่พอรู้จักกันไปสักพักนี่ไม่เลย เธอตลกหน้าตายตลอด สองคนนี้เรารักมาก แอบคิดในใจว่าทำไมเราไม่เจอกันก่อนหน้านี้นะ

เด็กๆที่เราสอนมีประมาณ 40 คน ที่บอกว่าประมาณเพราะบางวันก็มาเรียกนันเยอะ บางวันก็มาน้อย ตามแต่อารมณ์เด็กๆ หน้าที่ของพวกเราคือต้องจูงใจเด็กๆ ให้อยากมาเรียน และเห็นคุณค่าของการเรียน ซึ่งน่าภูมิใจแทนชาลินีมาก เพราะเมื่อห้าปีก่อนที่เค้าเริ่มสอนมีเด็กๆ แค่ 4-5 คนเท่านั้น

ช่วงแรกๆ ที่ไปสอน ยังไม่มีกลุ่มของตัวเอง แต่หลังจากนั้นชาลินีเริ่มแบ่งกลุ่มให้เราสอน 4 คน (ไม่นับเด็กเล็กๆ) เด็กแต่ละคนก็จะมีลักษณะความชอบต่างกัน ด้วยความที่เป็นกลุ่มเล็ก จึงมีโอกาสได้เอาใจใส่เด็กๆ มากเป็นพิเศษ เรากับนัทจะคุยกันว่าเด็กแต่ละคนควรจะเน้นตรงไหน และไม่ใช่ว่าเราจะสนิทกับเด็กในกลุ่มเท่านั้น เพราะที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนอย่างเป็นทางการ ฉะนั้นเวลาเลิกเรียนทุกวันจะมีเวลาเล่นกับเด็กๆ ตลอด นัทชอบเล่นกับเด็กมาก ชอบเตะบอล ชอบวิ่งเล่น จากคนที่ไม่ค่อยชอบเด็ก ตอนนี้พอเจอลูกใครก็อยากจะเข้าไปอุ้มตลอด

สองเดือนผ่านไปเร็วมากจริงๆ มีบางช่วงเหมือนกันที่รู้สึกเนือยๆ แต่การทำงานกับเด็กมีข้อดีคือเวลามีเรื่องเครียดๆ พอมาเจอพวกเค้าเราจะลืมเรื่องความรู้สึกก่อนหน้าไปเลย ดีใจจริงๆ ที่ตัดสินใจมาที่นี่ ได้มีโอกาสทำงานแบบนี้แล้วก็ได้เจอคนหลากหลาย จนตอนนี้เราคิดถึงเพื่อน แล้วก็เด็กๆ ทุกคนมาก คุยกับนัทไว้ว่าจะกลับไปอีกแน่นอน ไว้เจอกันใหม่นะ อินเดีย

พลอย

ก่อนจะไปอินเดียกังวลหลายเรื่องมากครับ เพราะสิ่งที่เราเคยได้ยินกันมา ถ้าพูดถึงอินเดียก็มักจะคิดถึงเรื่องไม่ค่อยที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะไป เช่น สกปรก คนแขก อาหารทานยาก เป็นต้น แต่พอได้ไปถึงที่นั่นจริงๆ แล้ว ทุกอย่างต่างจากที่เคยได้ยินมามาก เพราะคนแขกที่เราเรียกกันนั้นใจดีมาก นิสัยเหมือนคนไทย มีน้ำใจช่วยเหลือตลอดเวลา ขนาดเค้าไม่รู้ทางก็พยายามจะช่วยบอกทาง จนเราไปผิดทาง ฮ่าฮ่า แต่ผู้คนน่ารักมากครับ ผมไปทางตอนใต้ของอินเดีย ก็คงคล้ายๆ คนใต้บ้านเรา ใจดีมาก

ถ้าพูดถึงเรื่องอาหารการกินแล้วที่นี่จะใช้มือในการกินอาหาร และอาหารที่กินก็ไม่ใช่ข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ปั้นกินง่าย ๆ เหมือนกับที่เมืองไทย แต่ที่นี่กินเป็นแกง เป็น โอ้ ตอนแรกก็ยังไม่ค่อยกล้ากินหรอกครับ แต่พอได้ลองกินเท่านั้นก็เปลี่ยนความคิด กินแกงกับมือก็ได้ แถมอร่อยดีด้วย กลับมายังอยากจะเปิปข้าวกะเพราะหมูกรอบด้วยมือเลย

โปรเจคที่ทำคือการสอนเด็กๆ ด้อยโอกาสของอินเดีย เพราะเค้าไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเนื่องจากพ่อแม่จะต้องทำงาน ซึ่งจะต้องย้ายที่ทำงานตลอดทำให้ไม่สามารถที่จะส่งลูกตัวเองเข้าโรงเรียนรัฐบาลได้ ที่ๆ เด็กๆ อยู่จะเป็นบ้านสังกะสีทำเป็นเต็นท์ ซึ่งก็เป็นที่มาของโปรเจคคือ Tent School นั่นเอง ถ้าจะให้อธิบายก็ให้ลองนึกถึงสลัมบ้านเราที่บ้านติดกันแออัดหลายๆ หลัง แต่บ้านที่นี่เป็นสังกะสี ส่วนห้องเรียนที่เราสอนนั้นก็จะเป็นลักษณะสังกะสีเช่นเดียวกัน จุคนได้ประมาณ 20-30 คน หลังคามุงด้วยใบอะไรสักอย่างก่อนในชั้นแรก ปูสังกะสีทับอีกชั้น ซึ่งถ้าฝนตกน้ำก็จะรั่วลงมาหยดติ๋งๆ

ระหว่างสอนหากฝนตกก่อนจะสอน เราก็จะช่วยกันอุดรูรั่วของหลังคาก่อนถึงจะสอนได้ เพราะน้ำจะหยดลงสมุดของเด็กๆ เด็กๆ ที่สอนจะมีอายุตั้งแต่ 2-12 ขวบ เรียกได้ว่าพี่ชายอุ้มน้องชายมาเรียนด้วยเลย พี่ชายก็เรียนไปน้องชายก็ไปเล่นอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน เนื่องจากเราไม่สามารถพูดภาษาที่เด็กพูดได้ เด็กก็ฟังอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เลยต้องใช้มือช่วยในการสื่อสาร หรือบางครั้งก็ต้องวาดรูปอธิบาย วิชาที่สอนไม่ได้กำหนดว่าจะต้องสอนอะไร วันไหนอยากสอนอะไรก็สอน แต่ผมจะสอนจากที่คุณครูคนเก่าสอนไว้ เช่น การบวก การลบ ภาษาอังกฤษ การมาเป็นอาสาสมัครที่นี่ทำให้เราได้รู้จักกับคนชาติอื่นด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ดีมากๆ

โครงการของเรามีชาวเยอรมันสองคนมาช่วยกันด้วย ซึ่งก็ทำให้เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชาติอื่นไปด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีอาสาสมัครจากประเทศอื่นๆ แวะเวียนมาทำอาสามัครระยะสั้นด้วย เช่น สเปน โคลัมเบีย :

การได้มาเป็นอาสาสมัครครั้งนี้ทำให้ได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความอดทนเพราะเราจะได้ทำงานกับเด็ก ต้องอดทน ไม่ใช้อารมณ์ ค่อยๆ สอน นอกจากนี้คือเรื่องการปรับตัว ตอนที่ไปช่วงแรกๆ จะระแวงไปหมด สะพายกระเป๋าก็สะพายข้างหน้ากลัวโดนล้วง มองผู้คนรอบตัว กลัวว่าเค้าจะมาขโมยของ ในขณะเดียวกันพอหันไปดูเพื่อนเยอรมัน เค้ากลับเดินหน้าตาเฉยเหมือนเป็นที่ของเค้า หลังๆ มาเราก็เลยทำบ้าง สุดท้ายมันก็เหมือนเดินอยู่ประเทศเราเอง

ที่สำคัญอีกเรื่องคือ ภาษา แน่นอนครับการเดินทางทำให้ต้องใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาเราอยู่แล้ว และที่อินเดียก็มีภาษาที่ใช้ในประเทศเยอะมาก ทำให้ต้องค่อยๆศึกษาเรียนรู้ไป หากไปนานกว่านี้หน่อยต้องพูดภาษาเค้าได้แน่นอน

สุดท้านคือการทำงานร่วมกับคนอื่น เรามาทำโปรเจคแบบนี้ยังไงเราก็ต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม ต้องรับฟังความเห็นคนอื่น และหัดที่จะเสนอความคิดของเราเข้าไปช่วยแก้ปัญหาด้วย สรุปแล้วไปอินเดียครั้งนี้คุ้มค่ามากครับ และจะกลับไปแน่นอน ขอบคุณพี่ๆ ทีมงานของ VSA ทุกคนนะครับที่ตั้งองค์กรดีๆ แบบนี้ขึ้นมา สุดยอดจริงๆ ครับ สู้ๆ ต่อไปนะครับพี่ๆ

นัท