ชื่อโครงการ  ค่ายระยะสั้นบ้านเรียนท่ายาง

(เตรียมกิจกรรม ครบรอบ3ปีบ้านเรียนท่ายาง สอนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์

และกิจกรรมกรรมกับเด็ก)                                                                                                                                    ระยะเวลาโครงการ 13 -26 มีนาคม  2559 * จองตั๋วกลับ วันที่ 27 มีนาคม 2559 **

ประวัติองค์กร

“กลุ่มดาหลา” ได้รวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 โดยเพื่อนผู้รักงานอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จัดกิจกรรมค่ายอาสาสมัครขึ้นครั้งแรกในปี 2548 และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 สำนักงานตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนถึงวันนี้ดาหลาได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเข้าสู่ปีที่ 12 ด้วยเจตนารมณ์แห่งความปรารถนาดีต่อสังคมร่วมกัน

นอกเหนือจากการจดทะเบียนเป็นสมาคมในประเทศไทย ในเครือข่ายระหว่างประเทศนั้นดาหลาก็ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CCIVS หรือ (คณะกรรมการประสานงานเพื่ออาสาสมัครนานาชาติ) ซึ่งมีกลุ่มองค์กรเครือข่ายงานเกี่ยวกับอาสาสมัครทั่วโลก และกลุ่มองค์กรเครือข่ายในเอเชีย NVDA หรือ (เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ซึ่งทั้งสองเครือข่ายนี้ เสมือนตัวกลางในการประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนอาสาสมัครนานาชาติ เข้าร่วมโครงการที่ดาหลาและองค์กรเครือข่ายจัดขึ้น

เป้าหมาย องค์กร

                เป้าหมายหลักของเรา คือ “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” เพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว เราได้แยกย่อยเป็น 3 แนวทางคือ                                                                                                                                                                                                1. ส่งเสริมหรือการร่วมผลักดันกิจกรรมกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆเช่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น การทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียน                                                                                                                                                 2. เสริมสร้างมิตรภาพ กิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมจะนำกลุ่มอาสาสมัครไทยและต่างชาติและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกัน                                                                                                               3. สงวน และดูแลรักษา สงวน และดูแลสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย จากรุ่นสู่รุ่น

ประวัติโครงการ

นายทวี หมีนหวัง (บังหลีม) ผู้ริเริ่มโครงการบ้านเรียนท่ายาง เชื่อว่าชุมชนและครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของทุกกระบวนการเรียนรู้ ทั้งทักษะชีวิต วีถีชีวิต ภาษา ความสัมพันธ์เครือญาติ และเรื่องราวของชุมชน  ในขณะที่ปัจจุบันการจัดการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้และความต่อเนื่องของเด็ก ผู้ปกครองขาดความเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาโดยโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน จึงส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนซึ่งเชื่อว่ามีระบบการศึกษามีคุณภาพกว่า ทำให้ชุมชนประสบปัญหา โรงเรียนชุมชนเริ่มมีขนาดเล็กลง และอาจทำให้รัฐบาลใช้นโยบายควบรวมโรงเรียนหรือยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ กลายเป็นปัญหาที่เข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้การริเริ่มโครงการบ้านเรียนท่ายาง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะดำรงไว้ซึ่งโรงเรียนชุมชน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของลูกหลานในชุมชน โดยคนในชุมชนร่วมมือกับโรงเรียน ครูและหน่วยงานในท้องถิ่น พัฒนาการจัดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและวิถีของชุมชน

แนวคิดบ้านเรียนท่ายาง เริ่มต้นจากการที่บังหลีมต้องการเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ได้เรียนรู้ทักษะทางด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคต ชุมชนท่ายาง และผู้ประสานงานจากดาหลา(ศักรินทร์ สีหมะ) จึงเริ่มเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษในชุมชน ในระยะแรกมีนักเรียนให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงวางแผนโครงการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มโครงการค่ายอาสาสมัครระยะสั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 ดาหลาได้จัดค่ายอาสาสมัครระยะสั้น เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ บริเวณบ้านพักของบังหลีม จัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากชุมชน

ในเดือนเมษายน 2557 ดาหลาเปิดศูนย์อาสาสมัครระยะยาว โดยใช้ชื่อศูนย์ว่า  บ้านเรียนท่ายาง และเริ่มเปิดรับอาสาสมัครนานาชาติ เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการด้านการสอนและสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ขึ้นในชุมชน เป็นสถานที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาสาสมัคร ชาวบ้าน เด็ก เยาวชนในชุมชน ตลอดจนอาสาสมัครไทย ได้มีพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันในบ้านเรียนท่ายาง

บริบทชุมชน

ชุมชนบ้านท่ายาง เป็นชุมชนมุสลิมฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 5 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล โดยมีสะพานท่ายางเชื่อมระหว่างชุมชนกับตัวเมืองละงู เนื่องจากลักษณะของชุมชนที่เป็นเกาะ มีลำคลองล้อมรอบ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง

การใช้ประโยชน์จากต้นจาก เป็นอาชีพหลักที่อยู่คู่ชาวบ้านมายาวนาน ชาวบ้านสามารถนำส่วนต่างๆ ของต้นจากมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น การนำยอดอ่อนของจากมาผลิตเป็นใบจาก ใช้มวนยาเส้นพื้นบ้าน การนำใบมามุงหลังคา การทำน้ำตาลจาก ลูกจาก เครื่องจักสาน เป็นต้น

ชุมชนท่ายางมีโรงเรียนประถมศึกษา เปิดสอนในระดับชั้น อนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  มีมัสยิดบ้านท่ายางเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชุมชน มีศูนย์การศึกษาอิสลาม ประจำมัสยิด(ตาดีกา) บ้านท่ายาง เป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้ทางด้านศาสนา คุณธรรม จริยธรรม มีศูนย์เรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นจาก มีผู้รู้ภูมิปัญญาด้านการประมงพื้นบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางทรัพยากรของชุมชน

 

 

กิจกรรมที่จะทำ  ** รายละเอียดและตารางกิจกรรมที่จะแจ้งให้ทราบก่อนค่าย 2 อาทิตย์**

– เตรียมความพร้อมจัดงานครบรอบ3ปีบ้านเรียนท่ายาง “แรกก้าวย่าง Tayang learning home”

– กิจกรรมภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ที่โรงเรียนบ้านท่ายางและบ้านเรียนท่ายาง

– เรียนรู้ชุมชน วิถีชีวิต ทรัพยากร และการประกอบอาชีพของคนในชุมชน

อาหาร

ในระหว่างค่าย อาสาสมัครจะแบ่งกลุ่มรับผิดชอบทำอาหารร่วมกับอาสาสมัครนานาชาติ โดยใช้ห้องครัวในบ้านบังหลีม มีภรรยาบังหลีมเป็นผู้ดูแลการปรุงอาหาร อาหารที่ปรุงต้องเป็นอาหารฮาลาล ตามหลักการอิสลาม สามารถหาซื้อได้ในชุมชนหรือตลาดในตัวอำเภอ *** อาสาสมัครที่ต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูปมารับประทานระหว่างค่าย กรุณาตรวจสอบเครื่องหมายฮาลาลก่อนซื้อ***

ที่พัก  ห้องน้ำ

บ้านเรียนท่ายาง มีห้องสำหรับรองรับอาสาสมัคร 3 ห้อง บริเวณอาคารบ้านเรียนมีสถานที่เปิดโล่ง ที่สามารถกางเต้นท์นอนได้ประมาณ 4-5 หลัง

ห้องน้ำ 2 ห้อง แยกหญิงชาย

ซักผ้า ซักมือ ผงซักฟอกของตนเอง(มีจำหน่ายในร้านค้าชุมชน)

ข้อควรทราบ

เนื่องจากชุมชนบ้านท่ายาง เป็นชุมชนมุสลิม อาสาสมัครสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมุสลิมและเคารพตากหลักการศาสนาอิสลาม งดเว้นการประการอาหารที่มีส่วนประกอบของหมู และต้องเป็นอาหารฮาลาล ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแต่งการมิดชิด ผู้ชายใส่กางเกงเลยเข่า ผู้หญิงแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย

ในชุมชนมีร้านขายของชำ ที่อาสาสมัครสามารถหาซื้อของที่จำเป็นได้  สำหรับการซื้อของอื่นๆที่ไม่มีขายในชุมชน หรือติดต่อธนาคาร ใช้อินเตอร์เน็ต หรือติดต่อโรงพยาบาล สามารถเดินทางไปในตัวเมืองละงูได้  ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนท่ายางประมาณ 5 กิโลเมตร โดยอาสาสมัครต้องติดต่อผู้ดูแลโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ กรณีที่ต้องออกไปในตัวเมืองละงู

คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม

  • ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
  • มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ
  • รักเด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
  • ไม่ยึดติดกับวัตถุและค่านิยมเมือง สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้
  • เคารพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น พร้อมเปิดใจรับและเข้าใจความเป็นชุมชน

จำนวนอาสาสมัครที่เปิดรับ

  • อาสาสมัครนานาชาติ เปิดรับไม่เกิน 15 คน
  • อาสาสมัครไทย เปิดรับไม่เกิน5 คน
  • *** ในเดือนมีนาคม บ้านเรียนท่ายาง มีอาสาสมัครระยะยาวประจำอยู่ จำนวน 4 คน

จุดนัดพบ

นัดพบอาสาสมัครทุกท่านที่สถานีคิวรถตู้  ปากปารา – หาดใหญ่  (ติดกับไปรษณีย์ละงู)  อำเภอ ละงู จังหวัด สตูล  ในวันอาทิตย์ที่ 13 เดือน มีนาคม 2559  เวลา 11.00 น.หากอาสาสมัครท่านใดไม่สามารถเดินทางไปยังจุดนัดพบได้ตามวันเวลาที่กำหนด กรุณาโทรแจ้งผู้นำค่าย ( 085 081 7180,090-267 2127 ) ล่วงหน้า

** หากนั่งรถตู้มาจากหาดใหญ่ ให้แจ้งว่า ลงที่ สถานีคิวรถตู้ ไม่ใช่ ลงที่ท่าเรือปากบารา หากลงที่ท่าเรือ จะต้องนั่งรถสองแถวกลับมาที่คิวรถตู้อีกคะ***  

จุดนัดพบ *** อ่านดี ๆ นะคะ จัดนัดพบ อยู่ ละงู จังหวัดสตูลคะ ไม่ใช่ อำเภอหาดใหญ่

การเดินทางไปยังจุดนัดพบ    

-รถไฟ จากกรุงเทพ ขึ้นที่สถานีหัวลำโพง มาลงที่สถานีชุมทางหาดใหญ่หลังจากนั้นนั่งรถสองแถว (เดินมาขึ้นที่บริเวณตลาดกิมหยง) หรือมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ไปที่สถานีรถตู้ตลาดเกษตร แล้วนั่งรถตู้ สายหาดใหญ่-ปากบารา ค่าโดยสาร 110 บาท ลงที่ลง ณ สถานีรถตู้ละงู (ติดกับไปรษณีย์ละงู) ใช้เวลาในการเดินทางจากหาดใหญ่ไปละงู ประมาณ 2 ชั่วโมง

-รถทัวร์ จากสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ ซื้อตั๋ว กรุงเทพ-ตรัง-สตูล ลงหน้าไปรษณีย์ละงู*** หากซื้อตั๋ว สายกรุงเทพ-พัทลุง-สตูล รถจะไม่ผ่านอำเภอละงู อาสาสมัครต้องลงที่สามแยกฉลุง (ก่อนถึงตัวเมืองสตูล) แล้วนั่งรถตู้ หรือรถสองแถวมาลงที่อำเภอละงู

-เครื่องบินจากกรุงเทพ ลงสนามบินหาดใหญ่ วิธีการเดินทางจากหาดใหญ่ไปละงู ให้นั่งรถสองแถว สายสนามบิน-สถานีขนส่ง (รถสีฟ้า) ไปลงที่สถานีรถตู้ตลาดเกษตร แล้วนั่งรถตู้ สายหาดใหญ่-ปากบารา ไปลงที่คิวรถตู้ (ติดกับไปรษณีย์ละงู) ค่าโดยสาร 110 บาท เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง** หากจะมาหาดใหญ่ก่อนต้องจองเที่ยวเช้าที่สุดค่ะ หรือบินมาก่อน 1 วัน มานอนที่สำนักงาน หรือ โรงแรมในหาดใหญ่ค่ะ

เงื่อนไขการร่วมโครงการ

  1. ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมค่าย 2,500 บาท เพื่อนำไปเป็นค่าอาหาร ค่าดำเนินกิจกรรม ค่าสถานที่ และค่าบำรุงสมาคม
  2. อายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ
  3. ผู้เข้าร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของตนเอง
  4. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้ง 2 สัปดาห์
  5. เตรียมของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสระผม แป้ง ผงซักฟอก ยารักษาโรค เป็นต้น

สิ่งที่ต้องเตรียมมาค่าย

  1. ถุงนอน
  2. เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ ผู้หญิงไม่ควรสวมใส่เสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้นเลยเข่า
  3. เสื้อผ้าสำหรับใส่ทำงาน สามารถสกปรกได้ และไม่เสียดายทีหลังค่ะ
  4. อุปกรณ์กันแดด หมวก ครีมกันแดด ถุงมือ และรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหุ้มส้น สำหรับทำงาน
  5. รูปถ่าย หรืออาหารท้องถิ่นของตนเอง สำหรับมาแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมค่ายคนอื่น
  6. สเปรย์กันยุง (กรุณาเลือกชนิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
  7. ไฟฉาย (เลือกแบบที่สว่างมาก ๆ และควรเป็นแบบชาร์จแบตเตอรี่)
  8. ของฝากสำหรับเด็ก ๆ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ได้
  9. ความคิดสร้างสรรค์ เกมส์ เพลง เพื่อความบันเทิงในค่าย
  10. ความคิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี และรอยยิ้มที่สดใส

สิ่งที่ห้ามนำมาในค่าย

  1. สารเสพติด
  2. แอลกอฮอล์

 

 

 

 

 

สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)

15/2 ม.3 ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จ. สงขลา 90230

โทร. 074-242 300

www.dalaa-thailand.com

อีเมล์: dalaa.thailand@gmail.com

พี่เอ๋ ผู้ประสานงาน   089 738 7417

 

ค่าใช้จ่าย : 2500