หลักการและเหตุผล
เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย คุ้มค่า และสมประโยชน์ มุ่งสู่สังคมสุขภาพดี ได้เล็งเห็นถึงการทำให้คนในสังคมหรือชุมชนมีสุขภาพที่ดี มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จึงได้จัดทำโครงการ “จิตอาสาสร้างสรรค์ อย. สร้างเสริม” ขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นการดำเนินโครงการในปีแรก ภายใต้แนวคิด “FDA VOLUNTEER TEAM” โดยจะเน้นประเด็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งเคยมีความพยายามแก้ไขปัญหา อีกทั้งรณรงค์ให้ความรู้ในวงกว้าง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังคงไม่ทั่วถึง เช่น ปัญหาการใช้ยาชุด การใช้ยาน้ำแผนโบราณผิดกฎหมายที่มีการลักลอบใส่สารสเตียรอยด์เพราะยาดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าหายป่วยได้อย่างรวดเร็ว แต่แท้ที่จริงกลับมีอันตรายแฝงมาโดยไม่รู้ตัว ถึงขั้นเสียสุขภาพและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงที่ยังคงพบอยู่มากมาย เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างลดความอ้วน อวดอ้างรักษาโรคหรืออวดอ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ โฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอวดอ้างรักษาสิว แก้ฝ้า อวดอ้างทำให้ขาว อวดอ้างขยายทรวงอก ฯลฯ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนกลวิธีโดยใช้สื่อบุคคลให้เข้าถึงตัวชาวบ้านที่อยู่ในชนบทหรือในพื้นที่ที่พบปัญหานั้น ๆ โดยเฉพาะสื่อบุคคลดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มจิตอาสาที่มีหัวใจที่จะช่วยเหลือสังคมและชุมชนที่ตัวเองรักด้วยแล้ว น่าจะทำให้เข้าถึงบริบทของชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง ซึ่งอาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมได้
จากเหตุผลดังกล่าว ทาง อย. จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มจิตอาสาในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เป็นนิสิต นักศึกษา ที่มีทั้งความรู้และความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีหัวใจจิตอาสา มาช่วยกันแสดงถึงพลังและศักยภาพในการปกป้องคุ้มครอง และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับชุมชนและสังคมที่ท่านรัก โดย อย. จะมีการเปิดรับสมัครจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้ส่งโครงการที่จะรณรงค์ในพื้นที่ที่เป็นปัญหาให้รู้และตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ยาชุด ยาน้ำแผนโบราณที่ลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ และปฏิเสธที่จะไม่ใช้ยาประเภทดังกล่าวในที่สุด รวมถึงไม่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยโครงการจิตอาสาที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบ ๕ ทีมสุดท้าย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการให้โครงการละ ๕๐,๐๐๐ บาท และเมื่อจิตอาสาดำเนินการแล้วเสร็จ ให้มานำเสนอเพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการที่จะได้รับรางวัลโครงการดีเด่น ซึ่งมีเงินรางวัล ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมมอบเหรียญและใบประกาศเกียรติคุณต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้จิตอาสานิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ไม่ซื้อไม่ใช้ยาชุด และ/หรือยาน้ำแผนโบราณผิดกฎหมายที่มีการลักลอบใส่สารสเตียรอยด์รวมถึงไม่ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง
- เพื่อให้จิตอาสาเป็นกระบอกเสียงและเป็นตัวแทนของ อย. ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและช่วยประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้แก่ผู้บริโภคในสังคมชนบททราบ รวมถึงเพื่อน ๆ และคนรอบข้างของจิตอาสาแต่ละคนด้วย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
จิตอาสามีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงอันตรายจากยาชุด ยาน้ำแผนโบราณผิดกฎหมายที่มีการลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ การไม่หลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และการลดความอ้วนที่ใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพแบบผิดวิธี โดยนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่ผู้บริโภคในสังคมชนบท ชุมชนของตนเองและบุคคลรอบข้างจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ซื้อ ไม่ใช้ยาชุดยาน้ำแผนโบราณที่คาดว่าลักลอบผสมสารสเตียรอยด์ไม่หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงนำไปสู่สังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
ลักษณะโครงการ
- โครงการที่ส่งเข้าร่วมแข่งขันต้องเป็นโครงการที่ช่วยเหลือชุมชนหรือพื้นที่ที่พบปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง
- กิจกรรม และสื่อของโครงการ จะต้องสามารถวัดผลความรู้ และพฤติกรรมของคนในชุมชนหรือพื้นที่ที่พบปัญหาให้ดีขึ้น
ประเด็นในการนำเสนอโครงการ
- ปัญหาการใช้ยาชุด
- ปัญหาการใช้ยาน้ำแผนโบราณผิดกฎหมายที่มีการลักลอบใส่สารสเตียรอยด์
- ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ หรือจากรถเร่ แผงลอย ตลาดนัด และวัด
- ปัญหาผลิตภัณฑ์ยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างลดความอ้วน/รักษาโรคได้สารพัดโรค/เสริมสมรรถภาพทางเพศ
- ปัญหาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ทำให้หน้าพัง เสียโฉม
- ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง
กำหนดการการดำเนินโครงการ
วัน เดือน ปี |
รายละเอียด |
วันที่ ๑ ม.ค. – ๑๕ ก.พ. ๕๙ |
เปิดรับสมัครทีมจิตอาสา พร้อมให้ส่งโครงการเข้าประกวด (ตามแบบฟอร์มการเขียนโครงการ) |
วันที่ ๑๖ – ๑๗ ก.พ.๕๙ |
คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรอบที่ ๑ (รอบ ๑๕ ทีม) พร้อมประกาศผลผ่านทาง www.oryor.com/volunteer |
วันที่ ๒๙ ก.พ.๕๙ |
จัดอบรมให้ความรู้แก่ทีมจิตอาสา และอาจารย์ที่ปรึกษา ที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ ๑ เพื่อนำความรู้ไปปรับปรุงแก้ไขโครงการ |
วันที่ ๑ – ๑๐ มี.ค.๕๙ |
ส่งโครงการที่ปรับปรุงแก้ไข |
วันที่ ๑๘ มี.ค. ๕๙ |
ทีมจิตอาสาส่งตัวแทนนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกโครงการรอบที่ ๒ (รอบ ๕ ทีม) |
วันที่ ๒๑ มี.ค.๕๙ |
ประกาศผลทีมจิตอาสาที่ผ่านการคัดเลือกโครงการรอบที่ ๒ (รอบ ๕ ทีม) ทาง www.oryor.com/volunteer |
วันที่ ๒๑ – ๒๕ มี.ค.๕๙ |
ทีมจิตอาสาส่งโครงการที่ปรับปรุงแก้ไขให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการจริง |
วันที่ ๑ เม.ย. – ๒๐ พ.ค.๕๙ |
ทีมจิตอาสาลงพื้นที่ทำกิจกรรมและรายงานผล |
วันที่ ๓๑ พ.ค. ๕๙ |
|
หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
รางวัลเกียรติยศแด่ผู้ที่มีหัวใจจิตอาสา
อย. จัดงานแถลงข่าวเพื่อยกย่องและชมเชยจิตอาสาที่อุทิศตนและทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยเชิญทีม จิตอาสาเข้าร่วมงานแถลงข่าว ดังนี้
- ทีมจิตอาสาที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ ๒ (รอบ ๕ ทีม) ทุกท่าน พร้อมกับอาจารย์ที่ปรึกษา
- ทีมจิตอาสาที่ไม่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ ๒ แต่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบที่ ๑ จำนวน ๑๐ ทีม (ส่งตัวแทนทีมละ ๒ ท่าน เพื่อเข้าร่วมงาน)
โดยมีการมอบรางวัล ดังต่อไปนี้
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ สำหรับโครงการที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ ๒ (รอบ ๕ ทีม) โครงการละ ๕๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลดีเด่นสำหรับโครงการที่ได้รับคัดเลือกรอบชิงชนะเลิศ ๑ โครงการ ได้รับเงินรางวัล ๒๐,๐๐๐ บาท
- เหรียญและใบประกาศเกียรติคุณ มอบให้แก่จิตอาสาทุกท่านที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบที่ ๑
หลักเกณฑ์ของการสมัครเข้าร่วมโครงการ
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ
๑. นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี โท เอก หรือเทียบเท่า
๒. สมัครเป็นทีม ๆ ละ ๓ - ๗ คน (โดยไม่มีการเปลี่ยนสมาชิกในทีมตลอดการดำเนินโครงการ และสมาชิกแต่ละทีมต้องไม่ซ้ำกัน)
๓. สมาชิกในทีมทุกคนจะต้องมาจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน
๔. ผู้สมัครทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรอง จำนวน ๑ คน และอาจารย์
ที่ปรึกษาจะต้องมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำของสถาบันการศึกษานั้น ๆ
หลักเกณฑ์การสมัครเข้าแข่งขัน
๑. สถาบันการศึกษา สามารถสนับสนุนนิสิต นักศึกษา ได้ โดยส่งทีมเข้าร่วมโครงการได้ไม่จำกัดจำนวน
๒. จิตอาสาที่ผ่านการคัดเลือกโครงการรอบที่ ๑ พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาต้องเดินทางมาเพื่อรับการอบรมและชี้แนะแนวทางในการดำเนินโครงการ โดย อย. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหารว่างและอาหารกลางวันให้กับทีมจิตอาสา ตามหลักเกณฑ์ที่ อย.กำหนด
๓. อย. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินโครงการ (วงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท) ให้แก่ทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ ๒ (รอบ ๕ ทีม) โดย อย. จะจัดทำหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานให้ทีมจิตอาสาขอยืมเงินกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ในโครงการ โดย อย. จะมอบทุนคืนหลังจากที่ดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว
วิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ
จิตอาสาที่สนใจสามารถดูรายละเอียดวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการจิตอาสาสร้างสรรค์ อย.สร้างเสริม ได้ทาง www.oryor.com/volunteer
หลักเกณฑ์การให้คะแนน
หลักเกณฑ์การให้คะแนนรอบคัดเลือกรอบที่ ๑ (เต็ม ๑๐๐ คะแนน)
- กลยุทธ์และรูปแบบการดำเนินโครงการ (๓๐ คะแนน)
- ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (๒๕ คะแนน)
- การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย (๒๕ คะแนน)
- โครงการมีการเขียนได้ความชัดเจนและครอบคลุม (๒๐ คะแนน)
หลักเกณฑ์การให้คะแนนรอบคัดเลือกรอบที่ ๒ (เต็ม ๑๐๐ คะแนน)
- การพัฒนา/ปรับปรุงโครงการตามข้อเสนอแนะของ อย. หรือตามความเหมาะสม (๔๐ คะแนน)
- กลยุทธ์และรูปแบบ
- ความคิดสร้างสรรค์
- การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย
- สามารถเป็นต้นแบบเพื่อนำไปขยายผลได้ (๓๐ คะแนน)
- โครงการสามารถปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน (๓๐ คะแนน)
หลักเกณฑ์การให้คะแนนรอบชิงชนะเลิศ (รางวัลดีเด่น)
- ความสำเร็จตามตัวชี้วัดของโครงการ (๓๐ คะแนน)
- การตอบรับและการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย (๓๐ คะแนน)
- แนวทางการขยายผล (๒๕ คะแนน)
- การติดตามและรายงานผลโครงการ (๑๕ คะแนน)
ติดต่อโครงการ
ผู้ประสานงานโครงการ : คุณพัชรวรรณ แก้วก่า
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กลุ่มพัฒนาพฤติกรรมการบริโภค กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
สถานที่ติดต่อ : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
เลขที่ ๘๘/๒๔ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐
(โครงการจิตอาสาสร้างสรรค์ อย. สร้างเสริม)
โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๙๐ ๗๑๑๐
โทรสาร : ๐ ๒๕๙๑ ๘๔๗๒
E-Mail : fdavolunteerteam@gmail.com
Website : www.oryor.com/volunteer
Facebook Fanpage : fdathai