ชื่อโครงการ  เกี่ยวข้าว เก็บแตงโม กิจกรรมกับเด็กและเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง
 (รหัสโครงการ 5912)

บ้านเกาะสุกร ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

วันที่ 15-28  ธันวาคม 2559

แยกย้ายวันที่ 23 ประสานตอนสาย ๆ ค่ะ

 

 ประวัติองค์กร

“กลุ่มดาหลา” ได้รวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 โดยเพื่อนผู้รักงานอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จัดกิจกรรมค่ายอาสาสมัครขึ้นครั้งแรกในปี 2548 และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 สำนักงานตั้งอยู่ที่ 15/2 หมู่ที่ 3 ต.โคกม่วง อำเภอคอลงหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ถึงวันนี้กลุ่มดาหลาได้ดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันเข้าสู่ปีที่ 13 เสมือนเด็กน้อย ที่เริ่มด้วยวัยแห่งการเรียนรู้ รอวันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและเพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ของความปรารถนาดีต่อสังคมร่วมกัน
นอกเหนือจากการจดทะเบียนเป็นสมาคมในประเทศไทย ในเครือข่ายระหว่างประเทศนั้น กลุ่มดาหลาก็ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CCIVS หรือ (คณะกรรมการประสานงานเพื่ออาสาสมัครนานาชาติ) ซึ่งมีกลุ่มองค์กรเครือข่ายงานเกี่ยวกับอาสาสมัครทั่วโลก และกลุ่มองค์กรเครือข่ายในเอเชีย NVDA หรือ (เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ซึ่งทั้งสองเครือข่ายนี้ เสมือนตัวกลางในการประสานงานเพื่อการจัดส่งหรือแลกเปลี่ยนอาสาสมัครนานาชาติเข้าร่วมโครงการที่ทางกลุ่มดาหลาและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้น

 

เป้าหมาย

 

         เป้าหมายหลักของเรา คือ “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” เพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว เราได้แยกย่อยเป็น 3 แนวทางคือ

  1. ส่งเสริม หรือการร่วมผลักดันกิจกรรมกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆเช่น การสร้างศาลา หรือศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น การทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียน
  2. เสริมสร้างมิตรภาพ กิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมจะนำกลุ่มอาสาสมัครไทยและต่างชาติและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกัน
  3. สงวนและดูแลรักษา สงวน และดูแลสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย จากรุ่นสู่รุ่น

ประวัติโครงการ

เป้าหมายของโครงการค่ายอาสาสมัครระยะยาวตำบลเกาะสุกร เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และคนในพื้นที่เรียนรู้ทักษะชีวิตของชุมชนตนเอง วิถีชีวิตดั้งเดิม ทักษะด้านภาษาอังกฤษ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการเปิดโอกาสเรียนรู้โลกในยุคแห่งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ผ่านการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครนานาชาติ อาสาสมัครไทย ซึ่งจะทำชาวบ้านในพื้นที่ ได้เปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ได้กว้างขึ้น เพราะเราเชื่อว่า การศึกษา คือการเปิดโลกกว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การหันกลับมาศึกษาภูมิปัญญาที่มีอยู่คู่ชุมชนและวิถีชีวิตของคนในชุมชน เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและการใฝ่รู้ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความหลากหลายและความเข้าใจกัน ได้อย่างลงตัว โดยการสร้างกระบวนการกิจกรรมกับเด็กและศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนที่ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน

 

กิจกรรมที่จะทำ

-เกี่ยวข้าว เก็บแตงโม หรือผลผลิตทางการเกษตร

– กิจกรรมกับเด็ก เกมส์ ร้องเพลง วาดรูป

– การสอนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ในตอนบ่าย-เย็น

– ภูมิปัญญาท้องถิ่น หาปู หาปลา

– เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมและบริบทชุมชน

 

**กิจกรรมที่แน่นอนจะส่งให้ก่อนค่ายเริ่มประมาณ 2 สัปดาห์ค่ะ

 

บริบทชุมชน

เกาะสุกรเป็นเกาะเล็กๆอยู่ฝั่งทะเลอันดามันในเขตอำเภอปะเหลียน  ประกอบด้วย 4หมู่บ้านมีประชากรประมาณ 2,566 คน มีเนื้อที่ประมาณ 8,750ไร่ มีท่าเทียบเรือ 2 แห่งคือท่าเทียบเรือหาดทรายทองขึ้นฝั่งท่าตะเสะ อำเภอหาดสำราญและท่าเทียบเรือบ้านแหลมขึ้นฝั่งท่าข้าม อำเภอปะเหลียน สถานที่ราชการของเกาะสุกร มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง โรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 โรง โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส 1 โรง มัสยิด 3 หลัง สถานีอนามัย 1 แห่ง และป้อมตำรวจ 1 แห่ง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สภาพพื้นที่ของเกาะสุกรมีลักษณะเป็นที่ราบสลับภูเขาเตี้ยๆมีป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งบ้างบางพื้นที่

การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่ขึ้นอยู่สภาพ ดิน ฟ้า อากาศและฤดูกาล อาชีพหลักคือการทำประมง รองลงมาคืออาชีพเกษตรกรรมได้แก่ การทำสวนยางพารา การทำนา ปลูกพืชหมุนเวียน เช่น แตงโมง ข้าวโพด ผักต่างๆ โดยเฉพาะแตงโมงถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของเกาะสุกรมีรสชาติอร่อย นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น ควาย วัว แพ และอาชีพรับจ้างทั่วไป

มีโรงเรียนประถม ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมีโรงเรียนขยายโอกาสตั้งอยู่ในชุมชน รวมทั้งยังมีภูมิปัญญาด้านการทำประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตและบริบทชุมชนทางการเกษตรที่เป็นต้นทุนทางทรัพยากรที่คงคุณค่าแก่การเรียนรู้และการอนุรักษ์ไว้สืบไป

นางสาวรัตนา  ไชยมล หนึ่งในชาวบ้านชุมชนเกาะสุกรเชื่อว่าชุมชนและครอบครัวของเด็กและเยาวชน สามารถเป็นพื้นที่ให้เด็กๆได้เรียนรู้ทักษะชีวิต วีถีชีวิต และทุกกระบวนการเรียนรู้จากชุมชนทั้งวิถีชีวิตและบริบทชุมชนต้องเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่เรียนรู้ทักษะทางด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคตและที่สำคัญการสร้างจิตสำนึกในการรักษามรดก วิถีชีวิตของชุมชนเกาะสุกรไว้

ในช่วงเดือนรอมฎอน ชุมชนมุสลิมจะมีเทศกาลถือศีลอด ชาวบ้านจะไม่มีกิจกรรมในช่วงกลางวันมากนัก อาสาสมัครสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของมุสลิมในช่วงถือศีลอดได้ ในชุมชนมีร้านขายของชำ ที่อาสาสมัครสามารถหาซื้อของที่จำเป็นได้  สำหรับการซื้อของอื่นๆที่ไม่มีขายในชุมชน อาสาสมัครสามารถเข้าไปซื้อของ ติดต่อธนาคาร ใช้อินเตอร์เน็ต หรือติดต่อโรงพยาบาล ในตัวเมืองย่านตาขาวและตัวอำเภอเมืองตรัง โดยอาสาสมัครต้องติดต่อผู้ดูแลโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ กรณีที่ต้องออกไปในตัวเมือง

อาหาร

จะต้องทำอาหารด้วยตัวเอง สามารถออกทะเลไปหาอาหารกับชาวบ้านได้ หรือซื้ออาหารในร้านของหมู่บ้านได้เช่นกัน

 

ที่พัก  

อาคารเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านแหลม ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

ซักผ้า
ซักผ้าด้วยมือ  ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เตรียมมาเอง

 

ห้องน้ำ

มีห้องน้ำสำหรับอาสาสมัคร4 ห้อง สามารถใช้ส้วมและอาบน้ำในห้องเดียวกัน

 

คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม

–  สามารถใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนได้

–   ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

–    มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ

–   ไม่ยึดติดกับโลกออนไลน์

 

จำนวนอาสาสมัครที่เปิดรับสมัคร

–          อาสานานาชาติ 15 คน

–          อาสาสมัครไทย 5 คน

 

 

การติดต่อสื่อสาร

สัญญาณโทรศัพท์ใช้ได้ทุกระบบ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้เมื่อเป็นเวลาพักผ่อนเท่านั้น

 

จุดนัดพบ

วันพฤหัสที่ 15 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ณ สนามบินตรัง เวลา 11.00 น. (เครื่องบินอาจะมาก่อน แนะนำให้รอในสนามบิน ไม่จำเป็นต้องนั่งรถเข้าเมืองมาค่ะ )และหรือสถานีรถไฟจังหวัดตรัง เวลา 11.00 น.

 การเดินทาง

  • จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางโดยรถไฟ มาลงที่สถานีรถไฟตรัง
  • ขึ้นรถบัสที่สถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ใหม่ รถบัส กรุงเทพฯ – ตรัง แจ้งลงที่ บขส. ตรัง สามารถขึ้นรถสองแถวบริเวณบขส.ได้เลย เป็นรถสองแถวและรถบัสของเทศบาลเขียนว่าไปสถานนีรถไฟตรัง ราคาประมาณ 12 บา
  • เครื่องบินจากกรุงเทพ ลงสนามตรัง

 เงื่อนไขการร่วมโครงการ

  1. ต้องเสียค่าบำรุงสมาคม 2 สัปดาห์จำนวน 2,500 บาท ซึ่งจะนำมาเป็นค่าอาหารสำหรับผู้เข้าร่วม ค่าที่พัก ค่ากิจกรรมต่างๆ ของสมาคม
  2. ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ
  3. ผู้เข้าร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของตนเอง
  4. ผู้เข้าร่วมต้องร่วมกิจกรรมได้เต็มเวลา 2 สัปดาห์

 

สิ่งที่ต้องเตรียมมาร่วมค่าย

  1. ถุงนอน หรือผ้าห่ม แผ่นโยคะ สำหรับนอน มุ้งสำหรับนอนคนเดียว (กรณีแพ้ยุง)
  2. เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ 2 สัปดาห์ (ผู้หญิงเสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้นไม่อนุญาตใส่ระหว่างค่าย)
  3. เสื้อผ้าสำหรับใส่ทำงาน สามารถสกปรกได้ และไม่เสียดายทีหลังค่ะ
  4. อุปกรณ์กันแดด หมวก ครีมกันแดด
  5. ถุงมือ และรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหุ้มส้น สำหรับทำงาน
  6. รูปถ่าย หรืออาหารท้องถิ่นของตนเอง (สำหรับมาแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมค่ายคนอื่น ๆ)
  7. สเปรย์กันยุ่ง (กรุณาเลือกอันที่เป็นมิตรกับสิงแวดล้อม)
  8. ไฟฉาย (เลือกแบบที่สว่างมาก ๆ และควรเป็นแบบชาร์จแบตเตอรี่ )
  9. ความคิดสร้างสรรค์ เกมส์ เพลง เพื่อความบันเทิงในค่าย
  10. ความคิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี และรอยยิ้มที่สดใส
  11. เมล็ดพันธ์ผัก (ถ้ามี)
  12. ของส่วนตัวผู้เข้าร่วมต้องเตรียมเอง (ยาสระผม ผงซักฟอก แป้ง สบู่ )

 

สิ่งที่ห้ามนำมาในค่าย

  1. สารเสพติด
  2. แอลกอฮอล์
  3. อคติ หรือความคิดด้านลบ

 

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)

15/2 หมู่3 ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา

เว็ปไซต์ : www.dalaa-thailand.com    Email: dalaa.thailand@gmail.com    Tel. 074 -242-300

สำหรับอาสาสมัครไทยที่สนใจ เข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. ศึกษารายละเอียดโครงการที่สนใจ และสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ลิงค์ข้างล่าง

2. กรอกใบสมัคร แจ้งชื่อ /ความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการ(ระบุว่าสนใจร่วมค่ายไหน) /ทราบรายละเอียดโครงการจากที่ใด ระบุหัวข้อ สมัครค่ายสาสาสมัครระยะสั้น (ชื่อค่าย) ส่งเมลล์มาที่ dalaa.thailand@gmail.com

3. ดาหลาจะแจ้งรายละเอียดค่าย และการเตรียมตัวก่อนไปค่ายให้กับอาสาสมัครศึกษาข้อมูลก่อนไปค่าย

4. ดาหลาจะรวบรวมรายชื่อผู้เข้าร่วมค่ายตามจำนวนที่ระบุไว้ว่าสามารถรับได้กี่คน(สมัครก่อนมีสิทธิก่อน) แล้วแจ้งรายละเอียดและนัดหมายการเดินทาง

5. อาสาสมัครไทย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมค่าย   เพื่อนำเงินนี้ไปซื้อกับข้าวสำหรับอาสาสมัครตลอดทั้งค่าย ค่าบำรุงที่พัก ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าบำรุงสมาคม

6. สำหรับค่าเดินทาง อาสาสมัครต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด

 

*** ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.dalaa-thailand.com/wordpress/projects/short-term-thai

ค่าใช้จ่าย : สอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายรับสมัคร