ประวัติองค์กร
“กลุ่มดาหลา” ได้รวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 โดยเพื่อนผู้รักงานอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จัดกิจกรรมค่ายอาสาสมัครขึ้นครั้งแรกในปี 2548 และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 สำนักงานตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนถึงวันนี้ กลุ่มดาหลาได้ดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันมาเข้าสู่ปีที่ 10 เสมือนเด็กน้อย ที่เริ่มด้วยวัยแห่งการเรียนรู้ รอวันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและเพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ของความปรารถนาดีต่อสังคมร่วมกัน
นอกเหนือจากการจดทะเบียนเป็นสมาคมในประเทศไทย ในเครือข่ายระหว่างประเทศนั้นดาหลาก็ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CCIVS หรือ (คณะกรรมการประสานงานเพื่ออาสาสมัครนานาชาติ) ซึ่งมีกลุ่มองค์กรเครือข่ายงานเกี่ยวกับอาสาสมัครทั่วโลก และกลุ่มองค์กรเครือข่ายในเอเชีย NVDA หรือ (เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ซึ่งทั้งสองเครือข่ายนี้ เสมือนตัวกลางในการประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนอาสาสมัครนานาชาติ เข้าร่วมโครงการที่ทางกลุ่มดาหลาและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้น
เป้าหมาย องค์กร
เป้าหมายหลักของเรา คือ “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” เพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว เราได้แยกย่อยเป็น 3 แนวทางคือ
- ส่งเสริม หรือการร่วมผลักดันกิจกรรมกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆเช่น การสร้างศาลา หรือศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น การทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียน
- เสริมสร้างมิตรภาพ กิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมจะนำกลุ่มอาสาสมัครไทยและต่างชาติและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกัน
- สงวน และดูแลรักษา สงวน และดูแลสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย จากรุ่นสู่รุ่น
ประวัติโครงการ
โครงการค่ายอาสาสมัครระยะสั้น โรงเรียนบ้านเกาะนางคำเหนือ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และคนในพื้นที่ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ในชุมชนของตนเอง ซึ่งยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม การทำประมงพื้นบ้านในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เด็ก เยาวชน สามารถเรียนรู้ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการเปิดโอกาสได้เรียนรู้โลกในยุคแห่งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ผ่านการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครนานาชาติ อาสาสมัครไทย ชาวบ้านในพื้นที่ ได้เปิดโลกทัศน์ แห่งการเรียนรู้ได้กว้างขึ้น เพราะเราเชื่อว่า การศึกษา คือหน้าต่างของการเปิดโลกกว้าง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การหันกลับมาศึกษาภูมิปัญญาที่มีอยู่คู่ชุมชน การสร้างแรงบันดาลใจและการใฝ่รู้ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความหลากหลายและความเข้าใจกัน ได้อย่างลงตัว โดยการสร้างกระบวนการกิจกรรมกับเด็กมาเป็นตัวนำ ที่ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาไปสู่การดำเนินการค่ายอาสาสมัครระยะยาวในโอกาสต่อไป
กิจกรรมที่จะทำ
- การจัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์
- ภูมิปัญญาชุมชน การทำประมงพื้นบ้าน เครื่องมือการทำประมง
- เรียนรู้การทำขนมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้าน
- กิจกรรมอื่นๆ เช่นร่วมกิจกรรมในชุมชน ศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเกาะนางคำ เป็นต้น
บริบทชุมชน
ชุมชนบ้านเกาะนางคำเหนือ เป็นชุมชนมุสลิม ในตำบลเกาะนางคำ ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ในอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยมีสะพานเกาะหมาก-เกาะนางคำ เป็นตัวเชื่อมระหว่างชุมชนกับเกาะหมาก ไปจนถึงตัวเมืองปากพะยูน เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นเกาะ มีทะเลสาบล้อมรอบ ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก โดยอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง เป็นปัจจัยสำคัญ และบางส่วนประกอบอาชีพทำสวนยาง ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ เลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่คู่ชาวบ้านเกาะนางคำมาอย่างช้านาน นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีอาชีพเสริม ในเวลาว่างเช่นการทำขนมพื้นบ้าน การทำลูกหยีกวน เป็นต้น
ชุมชนบ้านเกาะนางคำเหนือ มีโรงเรียนประถม ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ 2499 ในระดับชั้น อนุบาล- ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 146 คน ครู 12 คน มีมัสยิดบ้านเกาะนางคำเหนือเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพี่น้องมุสลิม และมีภูมิปัญญาด้านการทำประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม) และระบบนิเวศรอบลุ่มทะเลสาบ ที่เป็นต้นทุนทางทรัพยากร ในชุมชนได้ใช้ประโยชน์และคงคุณค่าแก่การเรียนรู้และการอนุรักษ์ไว้สืบไป
นายสมจิต ชอบงาม รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะนางคำเหนือ หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ได้ติดต่อกับสมาคมฯ เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิดสร้างสรรค์ผ่านการทำกิจกรรมที่มีความหลากหลาย โดยการดึงอาสาสมัครนานาชาติไปดำเนินการในการนำกระบวนการกิจกรรม ทำให้เด็กได้ฝึกกระบวนการฟัง คิด พูด อ่าน เขียน และสามารถแลกเปลี่ยนภาษา และวัฒนธรรมกับอาสาสมัครนานาชาติได้
แนวคิดการเปิดโรงเรียนเป็นสถานที่จัดค่ายอาสาสมัคร โรงเรียนบ้านเกาะนางคำเหนือเริ่มต้นจาก การที่ครูสมจิต ชอบงาม ต้องการเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ ได้เรียนรู้ทักษะทางด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคต ประกอบกับ นายวิโรจน์ รัตนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของดาหลา ได้เข้าไปติดต่อประสานงานกับคุณครู เพื่อดำเนินการเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษในชุมชน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กในชุมชน จึงได้ริเริ่ม โครงการค่ายอาสาสมัครระยะสั้นขึ้น ในช่วงแรกเริ่มของการดำเนินโครงการเพื่อรับอาสาสมัครนานาชาติที่เป็นเจ้าของภาษา ได้เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการด้านการสอนให้มีความชัดเจนขึ้น และเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ระหว่างเด็กในชุมชน และอาสาสมัครนานาชาติ รวมทั้งอาสาสมัครไทย ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ในชุมชนบ้านเกาะนางคำเหนือ
อาหาร
อาหารจะเน้นอาหารท้องถิ่น เนื้อสัตว์ ผัก ปลา ที่หาซื้อได้ง่ายในหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีการประกอบอาชีพประมง อาหารของคนในชุมชน จึงเป็นอาหารประเภทปลาเป็นส่วนใหญ่ และเป็นอาหารฮาลาล (อาหารที่ปรุงตามหลักการของอิสลาม) อาสาสมัครสามารถช่วยประกอบอาหารร่วมกับผู้ดูแลโครงการ ในระหว่างค่ายจะจัดให้ มี international food day อาสาแต่ละชาติจะทำอาหารของบ้านตัวเอง
ที่พัก ห้องน้ำ
อาสาสมัครพักที่บ้านพักของครู ในพื้นที่บริเวณใกล้ๆกับโรงเรียน ตั้งอยู่ในชุมชน มีห้องน้ำ ห้องครัวในตัว และชุมชนบ้านเกาะนางคำเหนือ เป็นชุมชนมุสลิม การปรุงอาหารจึงต้องเป็นอาหารฮาลาล ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแต่งการมิดชิด ผู้ชายใส่กางเลยเข่า ผู้หญิงแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย
ข้อควรทราบ
ในชุมชนมีร้านขายของชำ ที่อาสาสมัครสามารถหาซื้อของที่จำเป็นได้ สำหรับการซื้อของอื่นๆที่ไม่มีขายในชุมชน อาสาสมัครสามารถเข้าไปซื้อของ ติดต่อธนาคาร ใช้อินเตอร์เน็ต หรือติดต่อโรงพยาบาล ในตัวเมืองปากพะยูนได้ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนบ้านเกาะนางคำประมาณ 10 กิโลเมตร อาสาสมัครสามารถติดต่อประสานงานผู้ดูแลโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกได้
คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม
- ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
- มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ
- รักเด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
- ไม่ยึดติดกับวัตถุและค่านิยมเมืองสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้
- เคารพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น พร้อมเปิดใจรับและเข้าใจความเป็นชุมชน
จำนวนอาสาสมัคร
- อาสาสมัครระยะสั้น เปิดรับทั้งหมดไม่เกิน 15 คน
- อาสาสมัครไทยเปิดรับไม่เกิน10 คน
การติดต่อสื่อสาร สามารถใช้โทรศัพท์ ได้ทุกระบบตามปกติ ไม่มีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถใช้ได้ผ่านเครือข่ายมือถือ แต้ต้องไม่ใช้เกินความจำเป็น
จุดนัดพบ** หากใครมาถึงก่อนหนึ่งคืน สามารถหา เกสเฮ้าส์ ในตัวเมืองหาดใหญ่ พักได้ ราคา 250-500 บาท
นัดพบ วันอาทิตย์ ที่ 29 มกราคม 2560 เวลา 10.00 น. หน้าห้องขายตั๋ว สถานีรถไฟหาดใหญ่
หากอาสาสมัครท่านใดไม่สามารถเดินทางไปยังจัดนัดพบได้ตามวันเวลาที่กำหนด กรุณาโทรแจ้งผู้นำค่าย (สำนักงานดาหลา 074 242 300) ล่วงหน้า
การเดินทางไปยังจุดนัดพบ
– รถไฟ จากกรุงเทพ ขึ้นที่สถานีหัวลำโพง มาลงที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมง
– เครื่องบินจากกรุงเทพ ลงสนามบินหาดใหญ่ *จองเที่ยวเช้า ๆ นะคะ ** ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชม.
– จากสนามบิน หาดใหญ่ มายังสถานีรถไฟ นั่งสองแถว 20 บาท หรือ รถตู้ 80 บาท หรือ แท็กซี่ 300 บาท ใช้ เวลา ประมาณ 15-20 นาที ลง หน้าตลาดกิมหยง แล้วเดินไปยังสถานีรถไฟประมาณ 5 นาที
– ทางรถบัส ขึ้นรถ จาก สถานีขนส่งสายใต้ มาหาดใหญ่ *ใช้เวลาประมาณ 12 ชม. ถึงสถานีรถบัสหาดใหญ่ นั่ง รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างหรือ ตุ๊กตุก มายังสถานีรถไฟหาดใหญ่ ใช้เวลา ประมาณ 10-20 นาที
เงื่อนไขการร่วมโครงการ
- ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมค่าย 2,500 บาท เพื่อนำไปเป็นค่าอาหาร ค่าดำเนินกิจกรรม ค่าสถานที่ และค่าบำรุงสมาคม
- อายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ
- ผู้เข้าร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของตนเอง
- สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้ง 2 สัปดาห์
- เตรียมของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสระผม แป้ง ผงซักฟอก ยารักษาโรค เป็นต้น
สิงที่ต้องเตรียมมาร่วมค่าย
- ถุงนอน หรือผ้าห่ม และ มุ้ง หรือ ยากันยุง (อุปกรณ์เสริม สำหรับ นอนของตัวเอง)
- เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ผู้หญิงไม่ควรสวมใส่เสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้นเลยเข่า
- อุปกรณ์กันแดด หมวก ครีมกันแดด
- รูปถ่าย หรืออาหารท้องถิ่นของตนเอง สำหรับมาแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมค่ายคนอื่น
- สเปรย์กันยุง (กรุณาเลือกชนิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
- ของฝากสำหรับเด็ก ๆ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถทำกิกจรรมกับเด็ก ๆ ได้ (ไม่ควรนำขนมขบเคี้ยว หรือน้ำอัดลมมาฝากค่ะ)
- ความคิดสร้างสรรค์ เกมส์ เพลง เพื่อความบันเทิงในค่าย
- ความคิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี และรอยยิ้มที่สดใส
สิ่งที่ห้ามนำมาในค่าย
- สารเสพติดทุกชนิด
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อคติ หรือความคิดด้านลบ
สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)
15/2 ม.3 ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จ. สงขลา 90230
www.dalaa-thailand.com
อีเมล: dalaa.thailand@gmail.com
โทร. 074-242 300, พี่เอ๋ ผู้ประสานงานอาสาสมัครไทย 089 738 7417
ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม มีขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษารายละเอียดของค่ายและกิจกรรมที่สนใจ
2. ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ ใบสมัครสำหรับอาสาสมัครไทย
3. กรอกใบสมัคร แจ้งชื่อ /ความประสงค์ที่จะเข้าร่วมกิจกรรม (ระบุว่าสนใจร่วมค่ายไหน) / ทราบรายละเอียดโครงการจากที่ใด ระบุหัวข้อ “สมัครค่ายระยะสั้น (ชื่อค่าย)” ส่งอีเมล์แจ้งรายละเอียดและส่งใบสมัครมาที่ dalaa.thailand@gmail.com
4. เจ้าหน้าที่สมาคมฯ จะแจ้งรายละเอียดกิจกรรม และการเตรียมตัวก่อนเข้าร่วมกิจกรรมให้กับอาสาสมัครเพื่อศึกษาข้อมูล
5. เจ้าหน้าที่สมาคมฯ จะทำการรวบรวมรายชื่ออาสาสมัครตามจำนวนที่ระบุไว้ว่าสามารถรับได้กี่ท่าน (สมัครก่อนมีสิทธิ์ก่อน) แล้วจะแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติม และนัดหมายการเดินทางอีกครั้ง
ค่าใช้จ่าย : 2500