ประวัติองค์กร

“กลุ่มดาหลา” ได้รวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 โดยเพื่อนผู้รักงานอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จัดกิจกรรมค่ายอาสาสมัครขึ้นครั้งแรกในปี 2548 และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 สำนักงานตั้งอยู่ที่ 15/2 หมู่ที่ 3 ต.โคกม่วง อำเภอคอลงหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ถึงวันนี้กลุ่มดาหลาได้ดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันเข้าสู่ปีที่ 12 เสมือนเด็กน้อย ที่เริ่มด้วยวัยแห่งการเรียนรู้ รอวันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและเพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ของความปรารถนาดีต่อสังคมร่วมกัน
นอกเหนือจากการจดทะเบียนเป็นสมาคมในประเทศไทย ในเครือข่ายระหว่างประเทศนั้น กลุ่มดาหลาก็ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CCIVS หรือ (คณะกรรมการประสานงานเพื่ออาสาสมัครนานาชาติ) ซึ่งมีกลุ่มองค์กรเครือข่ายงานเกี่ยวกับอาสาสมัครทั่วโลก และกลุ่มองค์กรเครือข่ายในเอเชีย NVDA หรือ (เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ซึ่งทั้งสองเครือข่ายนี้ เสมือนตัวกลางในการประสานงานเพื่อการจัดส่งหรือแลกเปลี่ยนอาสาสมัครนานาชาติเข้าร่วมโครงการที่ทางกลุ่มดาหลาและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้น

เป้าหมาย

 

       เป้าหมายหลักของเรา คือ “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” เพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว เราได้แยกย่อยเป็น 3 แนวทางคือ

  1. ส่งเสริม หรือการร่วมผลักดันกิจกรรมกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆเช่น การสร้างศาลา หรือศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น การทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียน
  2. เสริมสร้างมิตรภาพ กิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมจะนำกลุ่มอาสาสมัครไทยและต่างชาติและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกัน

3.  สงวน และดูแลรักษา สงวน และดูแลสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย จากรุ่นสู่รุ่น

ประวัติโครงการ

เกาะยาวใหญ่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วในจังหวัดเกาะภูเก็ต ซึ่งได้ขยายตัวสู่พื้นที่เกาะยาว ทำให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยว การค้าขาย          การก่อสร้างบังกะโลและรีสอร์ท มากมายในพื้นที่ ประชากรหลายคนเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตจากอาชีพประมงชายฝั่งหรือทำสวนมาเป็นการดำเนินกิจการบริการนักท่องเที่ยว และประกอบธุรกิจขนาดย่อมภายในครอบครัว ส่งผลให้วิธีคิดเปลี่ยนจากเดิมที่เคยดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ประชากรขาดจิตสาธารณะ ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนในอดีต สิ่งแวดล้อมในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นปัญหาขยะ เป็นต้น

ปี 2558 นายวีระ สืบพงษ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองเหียได้ร่วมมือกับนายบีดีน  เชษฐพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ  ประธานศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาอำเภอเกาะยาว  ร่วมกับโรงเรียน  13 โรงเรียนในศูนย์เครือข่าย  ได้หาแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ที่จะสามารถส่งเสริมให้นักเรียนมีโอกาสในการเรียนรู้อย่างมีความสุขตลอดจนการส่งเสริมจิตสาธารณะที่สามารถส่งผลต่อนักเรียนให้เป็นคนดี มีความรู้และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนของตนเอง   ในการดำเนินงานโครงการได้รับการประสานงานให้การช่วยเหลืออำนวยความสะดวกโดยนายบุญฉันท์ แสงไฟ (พี่เอก) ซึ่งเคยร่วมงานกับสมาคมอาสาสมัครนานาชาติฯ (ดาหลา) มาก่อนจึงหารือร่วมกันที่จะดำเนินโครงการค่ายอาสาสมัครนานาชาติเพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาการศึกษาดังกล่าว

ต้นเดือนมกราคา 2559 จึงได้มีการประชุมหารืออย่างเป็นทางการเพื่อดำเนินโครงการค่าย อาสาสมัครนานาชาติระยะสั้น 2 สัปดาห์ร่วมกัน เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์และกิจกรรมร่วมกับชุมชน ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต

ทางดาหลา ได้จัดกิจกรรมค่ายระยะสั้น 2 ครั้งในปี ในเดือนสิงหาคม ปี 2559 และปี 2560 ระยะเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งทางโรงเรียน และชุมชน ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดีและต้องการสานต่อกิจกรรมให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

กิจกรรมที่จะทำ

  1. กิจกรรมส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษอย่างสร้างสรรค์ โรงเรียนในศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาอำเภอเกาะยาว
  2. กิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและการเรียนรู้วิถีชุมชนเกาะยาว
    • กิจกรรมครอบครัวอุปถัมภ์และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน
    • กิจกรรมส่งเสริมการเกษตรในชุมชน เช่น ปลูกผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว
    • กิจกรรมเรียนรู้วิถีประมงชายฝั่ง
  3. กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์

3.1 กิจกรรม Big Cleaning Day  ร่วมเก็บขยะและทำความสะอาดพื้นที่ชุมชนร่วมกับชาวบ้าน

**กิจกรรมที่แน่นอนจะส่งให้ก่อนค่ายเริ่มประมาณ 1 สัปดาห์ค่ะ

 

บริบทชุมชน   

บรรพบุรุษของชาวเกาะยาวได้อพยพมาจากจังหวัดตรังตั้งถิ่นฐานที่เกาะยาวน้อย และที่อพยพ

มาจากสตูล จะตั้งถิ่นฐานที่เกาะยาวใหญ่ และอื่น ๆ ที่อยู่แถบนั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2328) ขณะที่พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองต่าง ๆ ผู้ที่หนีมาเห็นว่าเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่มีความเหมาะสมที่จะหลบภัย จึงได้ตั้งหลักแหล่งบริเวณนี้

พ.ศ. 2446 ทางราชการยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอเกาะยาว แยกออกมาจากมาจากเมืองพังงา

และขึ้นต่อเมืองพังงา ได้สร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอหลังแรกเมื่อปี พ.ศ. 2463 ต่อมาได้ย้ายมาในที่ว่าการปัจจุบันในปี พ.ศ. 2508

ต่อมาข้าราชการและประชาชนต้องการให้ยกกิ่งอำเภอเกาะยาวเป็นอำเภอเกาะยาว

ตลอดจนจังหวัดพังงาได้สนับสนุนให้ทางราชการยกฐานะให้ รวมได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย จนในที่สุดก็ได้รับการยกฐานะจากกิ่งอำเภอเกาะยาวเป็น อำเภอเกาะยาว ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 รวมระยะเวลาการเป็นกิ่งอำเภอ 85 ปี นับว่าเป็นกิ่งอำเภอที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

เกาะยาว มีพื้นที่ประมาณ 137.6 ตร.กม. ประกอบด้วย 2 เกาะ คือ เกาะยาวน้อย

และเกาะยาวใหญ่ อีกทั้งยังถูกล้อมรอบด้วยเกาะเล็ก ๆ อีกมากมาย  มีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ และอ่าวพังงา จังหวัดพังงา

ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดกระบี่

ทิศใต้  ติดต่อกับทะเลอันดามัน มหาสมทรอินดีย

ทิศตะวันตก ทะเลอันดามันและจังหวัดภูเก็ต

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอเกาะยาวแบ่งเขตการปกครองออกเป็น  3 ตำบล 18 หมู่บ้าน

  • เกาะยาวน้อย เป็นที่ตั้งของตำบลเกาะยาวน้อย 7  หมู่บ้าน
  • เกาะยาวใหญ่ เป็นที่ตั้งของตำบลเกาะยาวใหญ่และตำบลพรุใน
  • ตำบลเกาะยาวใหญ่ 4  หมู่บ้าน
  • ตำบลพรุใน 7  หมู่บ้าน

สถานศึกษา  จำนวน  15  แห่ง

  • โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษาพังงา 13 โรงเรียน

ตำบลเกาะยาวน้อย  4  โรงเรียน

  1. โรงเรียนเกาะยาว
  2. โรงเรียนบ้านท่าเขา
  3. โรงเรียนบ้านน้ำจืด
  4. โรงเรียนบ้านริมทะเล

ตำบลเกาะยาวใหญ่  4  โรงเรียน

  1. โรงเรียนบ้านช่องหลาด (โรงเรียนขยายโอกาส อนุบาล-ม.3)
  2. โรงเรียนบ้านคลองเหีย
  3. โรงเรียนบ้านย่าหมี
  4. โรงเรียนบ้านคลองบอน

ตำบลพรุใน

  1. โรงเรียนอ่าวมะม่วง
  2. โรงเรียนบ้านท่าเรือ
  3. โรงเรียนบ้านพรุใน (โรงเรียนขยายโอกาส อนุบาล-ม.3)
  4. โรงเรียนอ่าวกะพ้อ (โรงเรียนขยายโอกาส อนุบาล-ม.6)
  5. โรงเรียนบ้านคลองดินเหนียว
  • โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นการศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 ตั้งอยู่ตำบลเกาะยาวน้อย  จำนวน 1  โรงเรียน
  • โรงเรียนเอกชน โรงเรียนศรัทธาธรรม ตั้งอยู่ตำบลเกาะยาวน้อย  1  โรงเรียน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอเกาะยาวประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  4 แห่ง ได้แก่

1)  เทศบาลตำบลเกาะยาว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเกาะยาวน้อย

2)  เทศบาลตำบลพรุใน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพรุในทั้งตำบล

3)  เทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะยาวใหญ่ทั้งตำบล

  • องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะยาวน้อย (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลเกาะยาว)

ประชากร    14,000  คน

การประกอบอาชีพ  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมงและเกษตรกรรม

ศาสนา    การนับถือศาสนาส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมร้อยละ 99.9 ชาวไทยพุทธและอื่น ๆ

ร้อยละ 0.1

 

อาหาร ** งดเนื้อหมู เนื่องจากเป็นชุมชนอิสลาม**

อาสาสมัครอยู่ร่วมกันแบ่งเวรทำความสะอาดและปรุงอาหารเอง  ในบางมื้ออาจมีครูหรือตัวแทนชาวบ้านมาช่วย (ในบางมื้ออาจจะไปร่วมรับประทานกับชาวบ้านตามครัวเรือน โดยแบ่งกันครัวเรือนละ 2-3 คน เพื่อได้สัมผัสสนิทสนมกับชาวบ้าน ผู้ปกครองนักเรียน)

คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม

 

–          สามารถใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนได้

–          ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

–          มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ

–          ไม่ยึดติดกับโลกออนไลน์

เงื่อนไขการร่วมโครงการ

  1. ต้องเสียค่าบำรุงสมาคม 2 สัปดาห์จำนวน 3,500 บาท ซึ่งจะนำมาเป็นค่าอาหารสำหรับผู้เข้าร่วม ค่าที่พัก ค่าเดินเรือ ค่าเสื้อที่ระลึก และค่ากิจกรรมต่างๆ ของสมาคม
  2. ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ
  3. ผู้เข้าร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของตนเอง
  4. ผู้เข้าร่วมต้องร่วมกิจกรรมได้เต็มเวลา 2 สัปดาห์
  5. ผู้เข้าร่วมต้องเคารพ กฎ ข้อตกลงของตัวโครงการ และให้ ความร่วมมือกับผู้ประสางาน

 

ภาษาที่ใช้ ภาษาอังกฤษกับภาษาไทย

สิ่งที่ห้ามนำมาในค่าย

  1. สารเสพติด
  2. แอลกอฮอล์
  3. อคติ หรือความคิดด้านลบ

 

  1. อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1FlY3q8LrNTob4kjHteG0dGH12mz8lueS/view?usp=sharing
  2.  ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://drive.google.com/open?id=1Td0jMry9NJpVTIZHMu_q7H5GecB3wSRy
  3. ส่งใบสมัครมายัง www.dalaa.thailand@gmail.com
  4. รอการตอบรับจากเจ้าหน้าที่
  5. ชำระค่าเข้าร่วม

 

ค่าใช้จ่าย : 3,500 บาท