งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 3
(The 3nd National Conference on Volunteerism)
“กระบวนการอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

หลักการและเหตุผล

อาสาสมัคร เป็นภาคส่วนสำคัญในการมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงการทำงานด้านการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ นับตั้งแต่ภัยพิบัติสึนามิในปี 2547 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความเคลื่อนไหวด้านการทำงานอาสาสมัครในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันที่ผู้คนในสังคมหันมาสนใจการทำงานอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น อาสาสมัครมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปช่วยเสริมเติมเต็มให้กับงานพัฒนาในหลากหลายภาคส่วนและหลากหลายประเด็น อาทิ อาสาสมัครในสถานการณ์ภัยพิบัติ, งานอาสาสมัครในภาคการศึกษา, งานอาสาสมัครกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม, งานอาสาสมัครกับประเด็นด้านการสาธารณสุข เป็นต้น ในปัจจุบันกระแสงานด้านอาสาสมัครในประเทศไทยกำลังเติบโตและได้รับความสนใจจากหลากหลายภาคส่วนมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนปัจเจกบุคคลที่ต้องการเป็นอาสาสมัครที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และทั้งองค์กรในภาคส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐที่มีอาสาสมัครเป็นกำลังสำคัญอยู่ในเกือบทุกกระทรวง, ภาคเอกชนที่มีความตื่นตัวในการทำงานด้านการรับผิดชอบต่อสังคม, ภาคประชาสังคมที่ใช้อาสาสมัครเป็นตัวขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนา, องค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนอาสาสมัครต่างชาติมาช่วยงานด้านการพัฒนาต่างๆ, ภาคส่วนสถาบันการศึกษา ที่มีนโยบายในการส่งเสริมงานอาสาสมัครทั้งในวิชาเรียนและกิจกรรมนักศึกษา และจากการศึกษาวิจัยสถานะงานอาสาสมัครในประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องการบริหารจัดการอาสาสมัครถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้งานอาสาสมัครที่ทำประสบผลสำเร็จ และเกิดความพยายามในการสร้างกลไกบริหารจัดการอาสาสมัครในระดับต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งในระดับประเทศนั้น เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา เครือข่ายจิตอาสาได้รับมอบหมายจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายในการเป็นกลไกกลางในการประสานเครือข่ายองค์กรอาสาสมัคร และการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานอาสาสมัครเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

จากกระแสการเติบโตดังกล่าว ทำให้ในปี 2558 ที่ผ่านมาเครือข่ายจิตอาสาร่วมกับภาคีเครือข่ายจำนวน 21 องค์กร ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดงานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัครครั้งที่ 1 ขึ้น ในวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีแนวคิดหลักในการจัดงานคือ “อาสาสมัครกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” อันเป็นการรวบรวมความรู้และประสบการณ์ ด้านการทำงานอาสาสมัครในประเด็นด้านการพัฒนาและเครื่องมือในการทำงานอาสาสมัคร ซึ่งจากการจัดงานครั้งที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดียิ่งในการเป็นเวทีสื่อสารเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ด้านการทำงานอาสาสมัคร และเป็นการเชื่อมร้อยเครือข่ายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอาสาสมัครในทุกภาคส่วน ซึ่งการจัดประชุมครั้งที่ 1 นั้นมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรวมทั้งสิ้น ประมาณ 800 คน ตลอดทั้ง 2 วัน ทำให้คณะผู้จัดงานเล็งเห็นว่าการประชุมดังกล่าวเป็นที่สนใจและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนงานอาสาสมัครในประเทศไทยอย่างยิ่ง จึงได้เกิดการประชุมระดับชาติด้านอาสาสมัคร ครั้งที่ 2 ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2559 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 800 คน และประสบความสำเร็จในการได้ข้อสรุปและนำเสนอแนวทางการพัฒนาอาสาสมัครไทยในด้านต่างๆ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จำนวนกว่า 100 คน มาร่วมแลกเปลี่ยน นำเสนอ แนวคิดและองค์ความรู้ในการพัฒนางานอาสาสมัครของประเทศไทยและระหว่างประเทศ

การจัดประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร 2 ครั้งที่ผ่านมา (2558-2559) ได้พิสูจน์และยืนยันความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้และการต่อยอดขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรอาสาสมัครทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือ ภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับการทำงานอย่างทั่วถึงและคลอบคลุม อีกทั้งมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อเป็นการสานต่อวาระการพัฒนางานอาสาสมัครไทย ภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมมือกันจัด งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 3 ประจำปี 2560 ขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 มกราคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

แนวคิดของการจัดงาน

กระบวนการอาสาสมัครเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อาสาสมัครกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน”อาสาสมัครเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานด้านการพัฒนามายาวนาน และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่ประสบความสำเร็จนั้น องค์ประกอบหนึ่ง คือ การมีอาสาสมัคร เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำกิจกรรมด้านต่างๆ โดยอาสาสมัครจะเป็นพลัง หนุนเสริมการดำเนินกิจกรรมซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสังคม ในบรรดาประเทศต่างๆที่มีการพัฒนาทางสังคมที่ก้าวหน้ามีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเป็น อาสาสมัคร เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2014 มีจำนวนอาสาสมัคร 62.8 ล้านคน คิดเป็น 25.3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร (สถิติจากระทรวงแรงงาน สหรัฐฯ) , ประเทศแคนาดา ปี 2013 มีจำนวนอาสาสมัคร 12.7 ล้านคน คิดรวมเวลาของการอาสาสมัครได้ประมาณ 2 พันล้านชั่วโมง (สถิติจาก Volunteer Canada)

เดือนธันวาคมปี 2015 สหประชาชาติ ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals , SDGs) ประกอบไปด้วยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย

อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นาย บัน คี มุน ได้กล่าวถึงความสำคัญของ กระบวนการอาสาสมัคร กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า “อาสาสมัครคือเครื่องมือของการทำงานด้านการพัฒนาต่างๆซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนไปสู่การร่วมวางแผนและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ให้เกิดขึ้นจริงได้ นอกจากนั้นยังเป็นการวางรากฐานวาระทางสังคมใหม่ๆทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆสำหรับการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชาชนอันจะนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมที่เป็นรูปธรรมและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น”

การทำงานอาสาสมัครจึงเป็นวาระร่วมระดับโลกในปัจจุบัน และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระดับพื้นที่และระดับโลก คุณค่าที่เกิดขึ้นจากการทำงานอาสาสมัคร สร้างผลกระทบสำคัญแก่สังคม คือ ช่วยปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ในสังคม ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในสังคมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมกับสังคม เนื่องจากการเป็นอาสาสมัครทำให้ประชาชนเข้าใจปัญหาสังคม และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเกิดสังคมพลเมือง (Civic Society) ที่ประชาชนมีความเข้าใจปัญหาของประเทศ และพร้อมจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสำรวจสถานการณ์งานอาสาสมัครในภาพรวมระดับประเทศ และเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านงานอาสาสมัครกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ
2. เพื่อเผยแพร่และนำเสนอองค์ความรู้ ด้านงานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนา อันจะนำมาสู่การยกระดับการทำงานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
3. เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนด้านงานอาสาสมัครในประเทศไทย

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. เกิดการยกระดับความเข้าใจและตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับคุณค่าของงานอาสาสมัครต่อการพัฒนาประเทศ
2. เกิดชุดความรู้และตัวอย่างปฏิบัติการด้านงานอาสาสมัครซึ่งสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
3. เกิดเครือข่ายและเกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคส่วนต่างๆในการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครในประเทศไทย

รูปแบบการดำเนินงาน

เป็นการจัดงานประชุมเชิงวิชาการ ในประเด็นเรื่องงานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาในมิติต่างๆ โดยมีทั้งรูปแบบ การจัดเวทีเสาวนา, การนำเสนอกรณีศึกษา/ ผลงานทางวิชาการ, การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อนำเสนอและเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานอาสาสมัคร

องค์กรเจ้าภาพร่วม

• เครือข่ายจิตอาสา (Volunteer Spirit Network) : องค์กรประสานงานกลาง
• มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : เจ้าภาพร่วมหลักในการจัดงาน
• กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
• ศูนย์ประสานงานองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติ
• องค์การหน่วยอาสาสมัครประเทศอังกฤษ Voluntary Service Overseas (VSO)
• หน่วยอาสาสมัครสหประชาชาติ (United Nation Volunteer)
• มหาวิทยาลัยมหิดล
• มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
• มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
• มูลนิธิกระจกเงา
• มูลนิธิวายไอวาย (Why,I,Why)
• มูลนิธิเพื่อคนไทย
• โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ
• มูลนิธิยุวพัฒน์
• มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก
• องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
• เครือข่ายอาสาสมัคร Creative Citizen
• สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• โครงการธนาคารจิตอาสา
• วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• สถาบันคลังสมองของชาติ

ผู้สนับสนุนหลักของการจัดงาน
• สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วัน/ เวลา/ สถานที่ในการจัดงาน
• วันที่ 9-10 มกราคม 2561
• เวลา: 09.00 – 17.00 น
• สถานที่: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

การติดต่อประสานงาน
เครือข่ายจิตอาสา
ที่อยู่: อาคาร Happy Workplace
เลขที่ 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม.
เว็บไซต์: www.volunteerspirit.org (ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน)

 

————————–

กำหนดการ งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 3



เอกสารโครงการ กำหนดการ


การลงทะเบียน

อัตราค่าลงทะเบียน: วันละ 300 บาท
– ลงทะเบียน 1 วัน ชำระค่าลงทะเบียน = 300บาท
– ลงทะเบียนทั้ง 2 วัน
ชำระค่าลงทะเบียน = 600บาท

*** หมดเขตลงทะเบียนวันที่ 3 มกราคม 2561 เวลา 17.00
เงื่อนไขในการลงทะเบียน
– หลังจากลงทะเบียนแล้ว กรุณาชำระเงินภายใน 3 วัน นับจากวันลงทะเบียน และกรุณากรอกแบบฟอร์มแจ้งการชำระเงินทันที หลังจากโอนเงินแล้ว
– ที่นั่งจะถูกสำรองให้แก่ ผู้ที่ชำระค่าลงทะเบียนและแจ้งการชำระเงินมาในระบบก่อน ผู้แจ้งจะได้รับหมายเลข ID เพื่อใช้สำหรับลงทะเบียนที่จุดรับลงทะเบียนหน้างาน


วิธีการ และขั้นตอนการลงทะเบียน
1. กรอกข้อมูล และเลือกห้องประชุมที่ท่านต้องการเข้าร่วมให้ครบถ้วน และกดส่งข้อมูล
2. ท่านจะได้รับอีเมลสรุปข้อมูลการลงทะเบียน กรุณาแจ้งการชำระเงินตามช่องทางที่ระบุ โดยโอนค่าลงทะเบียนเข้าบัญชีดังกล่าว
3. เมื่อชำระเงินแล้ว กรุณากรอกแบบฟอร์ม “แจ้งการชำระค่าลงทะเบียน” พร้อมแนบหลักฐานการโอน และส่งข้อมูล
4. เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าลงทะเบียนของท่าน กรุณาตรวจเช็คชื่อและหมายเลขID ได้ที่ “ตรวจสอบรายชื่อผู้ลงทะเบียน หมายเลขID”
5. นำหมายเลขรหัส iD ที่ได้รับ มาแจ้งที่จุดลงทะเบียนในวันงาน