ประวัติองค์กร
“กลุ่มดาหลา” ได้รวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 โดยเพื่อนผู้รักงานอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จัดกิจกรรมค่ายอาสาสมัครขึ้นครั้งแรกในปี 2548 และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 สำนักงานตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนถึงวันนี้ดาหลาได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเข้าสู่ปีที่ 12 ด้วยเจตนารมณ์แห่งความปรารถนาดีต่อสังคมร่วมกัน
นอกเหนือจากการจดทะเบียนเป็นสมาคมในประเทศไทย ในเครือข่ายระหว่างประเทศนั้นดาหลาก็ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CCIVS หรือ (คณะกรรมการประสานงานเพื่ออาสาสมัครนานาชาติ) ซึ่งมีกลุ่มองค์กรเครือข่ายงานเกี่ยวกับอาสาสมัครทั่วโลก และกลุ่มองค์กรเครือข่ายในเอเชีย NVDA หรือ (เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ซึ่งทั้งสองเครือข่ายนี้ เสมือนตัวกลางในการประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนอาสาสมัครนานาชาติ เข้าร่วมโครงการที่ดาหลาและองค์กรเครือข่ายจัดขึ้น
เป้าหมาย องค์กร
เป้าหมายหลักของเรา คือ “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว เราได้แยกย่อยเป็น 3 แนว คือ
1. ส่งเสริมหรือการร่วมผลักดันกิจกรรมกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆเช่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น การทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียน
2. เสริมสร้างมิตรภาพ กิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมจะนำกลุ่มอาสาสมัครไทยและต่างชาติและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกัน
3. สงวน และดูแลรักษา สงวน และดูแลสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย จากรุ่นสู่รุ่น
ประวัติโครงการ
นายทวี หมีนหวัง (บังหลีม) ผู้ริเริ่มโครงการบ้านเรียนท่ายาง เชื่อว่าชุมชนและครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของทุกกระบวนการเรียนรู้ ทั้งทักษะชีวิต วีถีชีวิต ภาษา ความสัมพันธ์เครือญาติ และเรื่องราวของชุมชน ในขณะที่ปัจจุบันการจัดการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้และความต่อเนื่องของเด็ก ผู้ปกครองขาดความเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาโดยโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน จึงส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนซึ่งเชื่อว่ามีระบบการศึกษามีคุณภาพกว่า ทำให้ชุมชนประสบปัญหา โรงเรียนชุมชนเริ่มมีขนาดเล็กลง และอาจทำให้รัฐบาลใช้นโยบายควบรวมโรงเรียนหรือยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ กลายเป็นปัญหาที่เข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้การริเริ่มโครงการบ้านเรียนท่ายาง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะดำรงไว้ซึ่งโรงเรียนชุมชน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของลูกหลานในชุมชน โดยคนในชุมชนร่วมมือกับโรงเรียน ครูและหน่วยงานในท้องถิ่น พัฒนาการจัดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและวิถีของชุมชน
แนวคิดบ้านเรียนท่ายาง เริ่มต้นจากการที่บังหลีมต้องการเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ได้เรียนรู้ทักษะทางด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคต ชุมชนท่ายาง และผู้ประสานงานจากดาหลา จึงเริ่มเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษในชุมชน ในระยะแรกมีนักเรียนให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงวางแผนโครงการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มโครงการค่ายอาสาสมัครระยะสั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 ดาหลาได้จัดค่ายอาสาสมัครระยะสั้น เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ บริเวณบ้านพักของบังหลีม จัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากชุมชน
ในเดือนเมษายน 2557 ดาหลาเปิดศูนย์อาสาสมัครระยะยาว โดยใช้ชื่อศูนย์ว่า บ้านเรียนท่ายาง และเริ่มเปิดรับอาสาสมัครนานาชาติ เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการด้านการสอนและสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ขึ้นในชุมชน เป็นสถานที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาสาสมัคร ชาวบ้าน เด็ก เยาวชนในชุมชน ตลอดจนอาสาสมัครไทย ได้มีพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันในบ้านเรียนท่ายาง
**ความพิเศษของค่ายนี้ คือ จะมีอาสาสมัคร กลุ่มลูกเสือ จากประเทศเบลเยี่ยม มาร่วม กิจกรรม ตลอดทั้งค่าย ประมาณ 11 คน อายุระหว่าง 17-22 ปี **
บริบทชุมชน
ชุมชนบ้านท่ายาง เป็นชุมชนมุสลิมฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 5 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล โดยมีสะพานท่ายางเชื่อมระหว่างชุมชนกับตัวเมืองละงู เนื่องจากลักษณะของชุมชนที่เป็นเกาะ มีลำคลองล้อมรอบ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง
การใช้ประโยชน์จากต้นจาก เป็นอาชีพหลักที่อยู่คู่ชาวบ้านมายาวนาน ชาวบ้านสามารถนำส่วนต่างๆ ของต้นจากมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น การนำยอดอ่อนของจากมาผลิตเป็นใบจาก ใช้มวนยาเส้นพื้นบ้าน การนำใบมามุงหลังคา การทำน้ำตาลจาก ลูกจาก เครื่องจักสาน เป็นต้น
ชุมชนท่ายางมีโรงเรียนประถมศึกษา เปิดสอนในระดับชั้น อนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีมัสยิดบ้านท่ายางเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชุมชน มีศูนย์การศึกษาอิสลาม ประจำมัสยิด(ตาดีกา) บ้านท่ายาง เป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้ทางด้านศาสนา คุณธรรม จริยธรรม มีศูนย์เรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นจาก มีผู้รู้ภูมิปัญญาด้านการประมงพื้นบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางทรัพยากรของชุมชน
กิจกรรมที่จะทำ
– เพาะพันธ์กล้าไม้ ปลูกป่าชายเลน
– ปรับปรุงศูนย์เรียนรู้จักรสานของชุมชน
– กิจกรรมภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ที่โรงเรียนบ้านท่ายางและบ้านเรียนท่ายาง
– เรียนรู้ชุมชน วิถีชีวิต ทรัพยากร และการประกอบอาชีพของคนในชุมชน
อาหาร
ในระหว่างค่าย อาสาสมัครจะแบ่งกลุ่มรับผิดชอบทำอาหารร่วมกับอาสาสมัครนานาชาติ โดยใช้ห้องครัวในบ้านบังหลีม มีภรรยาบังหลีมเป็นผู้ดูแลการปรุงอาหาร อาหารที่ปรุงต้องเป็นอาหารฮาลาล ตามหลักการอิสลาม สามารถหาซื้อได้ในชุมชนหรือตลาดในตัวอำเภอ *** อาสาสมัครที่ต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูปมารับประทานระหว่างค่าย กรุณาตรวจสอบเครื่องหมายฮาลาลก่อนซื้อ***
ที่พัก ห้องน้ำ
บ้านเรียนท่ายาง มีห้องสำหรับรองรับอาสาสมัคร 3 ห้อง บริเวณอาคารบ้านเรียนมีสถานที่เปิดโล่ง ที่สามารถกางเต้นท์นอนได้ประมาณ 4-5 หลัง
ห้องน้ำ 2 ห้อง แยกหญิงชาย
ซักผ้า ซักมือ ผงซักฟอกของตนเอง(มีจำหน่ายในร้านค้าชุมชน)
ข้อควรทราบ
เนื่องจากชุมชนบ้านท่ายาง เป็นชุมชนมุสลิม อาสาสมัครสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมุสลิมและเคารพตากหลักการศาสนาอิสลาม งดเว้นการประการอาหารที่มีส่วนประกอบของหมู และต้องเป็นอาหารฮาลาล ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแต่งการมิดชิด ผู้ชายใส่กางเกงเลยเข่า ผู้หญิงแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย
ในชุมชนมีร้านขายของชำ ที่อาสาสมัครสามารถหาซื้อของที่จำเป็นได้ สำหรับการซื้อของอื่นๆที่ไม่มีขายในชุมชน หรือติดต่อธนาคาร ใช้อินเตอร์เน็ต หรือติดต่อโรงพยาบาล สามารถเดินทางไปในตัวเมืองละงูได้ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนท่ายางประมาณ 5 กิโลเมตร โดยอาสาสมัครต้องติดต่อผู้ดูแลโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ กรณีที่ต้องออกไปในตัวเมืองละงู
คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม
- ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
- มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ
- รักเด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
- ไม่ยึดติดกับวัตถุและค่านิยมเมือง สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้
- เคารพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น พร้อมเปิดใจรับและเข้าใจความเป็นชุมชน
จำนวนอาสาสมัครที่เปิดรับ
- อาสาสมัครนานาชาติ เปิดรับไม่เกิน 15 คน
- อาสาสมัครไทย เปิดรับไม่เกิน5 คน
จุดนัดพบ
นัดพบอาสาสมัครทุกท่านที่สถานีคิวรถตู้ ปากปารา – หาดใหญ่ อำเภอ ละงู จังหวัด สตูล ใน วันพฤหัสบดี ที่ 6 กรกฎาคม 2560 เวลา 11.00 น.
หากอาสาสมัครท่านใดไม่สามารถเดินทางไปยังจุดนัดพบได้ตามวันเวลาที่กำหนด กรุณาโทรแจ้งผู้นำค่าย (พี่ซัน 0902672127 ) ล่วงหน้า
** หากนั่งรถตู้มาจากหาดใหญ่ ให้แจ้งว่า ลงที่ สถานีคิวรถตู้ ไม่ใช่ ลงที่ท่าเรือปากบารา หากลงที่ท่าเรือ จะต้องนั่งรถสองแถวกลับมาที่คิวรถตู้อีกคะ***
จุดนัดพบ *** อ่านดี ๆ นะคะ จัดนัดพบ อยู่ ละงู จังหวัดสตูลคะ ไม่ใช่ อำเภอหาดใหญ่
การเดินทางไปยังจุดนัดพบ
–รถไฟ จากกรุงเทพ ขึ้นที่สถานีหัวลำโพง มาลงที่สถานีชุมทางหาดใหญ่หลังจากนั้นนั่งรถสองแถว (เดินมาขึ้นที่บริเวณตลาดกิมหยง) หรือมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ไปที่สถานีรถตู้ตลาดเกษตร แล้วนั่งรถตู้ สายหาดใหญ่-ปากบารา ค่าโดยสาร 110 บาท ลงที่ลง ณ สถานีรถตู้ละงู (ติดกับไปรษณีย์ละงู) ใช้เวลาในการเดินทางจากหาดใหญ่ไปละงู ประมาณ 2 ชั่วโมง
–รถทัวร์ จากสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ ซื้อตั๋ว กรุงเทพ-ตรัง-สตูล ลงหน้าไปรษณีย์ละงู*** หากซื้อตั๋ว สายกรุงเทพ-พัทลุง-สตูล รถจะไม่ผ่านอำเภอละงู อาสาสมัครต้องลงที่สามแยกฉลุง (ก่อนถึงตัวเมืองสตูล) แล้วนั่งรถตู้ หรือรถสองแถวมาลงที่อำเภอละงู
-เครื่องบินจากกรุงเทพ ลงสนามบินหาดใหญ่ วิธีการเดินทางจากหาดใหญ่ไปละงู ให้นั่งรถสองแถว สายสนามบิน-สถานีขนส่ง (รถสีฟ้า) ไปลงที่สถานีรถตู้ตลาดเกษตร แล้วนั่งรถตู้ สายหาดใหญ่-ปากบารา ไปลงที่คิวรถตู้ (ติดกับไปรษณีย์ละงู) ค่าโดยสาร 110 บาท เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง** หากจะมาหาดใหญ่ก่อนต้องจองเที่ยวเช้าที่สุดค่ะ หรือบินมาก่อน 1 วัน โรงแรมในหาดใหญ่ค่ะ
เงื่อนไขการร่วมโครงการ
- ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมค่าย 2,250 บาท เพื่อนำไปเป็นค่าอาหาร ค่าดำเนินกิจกรรม ค่าสถานที่ ค่าเสื้อที่ระลึก และค่าบำรุงสมาคม
- อายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ
- ผู้เข้าร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของตนเอง
- สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้ง10 วัน
- เตรียมของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสระผม แป้ง ผงซักฟอก ยารักษาโรค เป็นต้น
สิ่งที่ต้องเตรียมมาค่าย
- ถุงนอน หรือผ่าห่ม และอุปกรณ์การนอนสำหรับตัวเอง (หมอนลม แผ่นโยคะ)
- เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ ผู้หญิงไม่ควรสวมใส่เสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้นเลยเข่า
- เสื้อผ้าสำหรับใส่ทำงาน สามารถสกปรกได้ และไม่เสียดายทีหลังค่ะ
- อุปกรณ์กันแดด หมวก ครีมกันแดด
- อาหารท้องถิ่นของตนเอง สำหรับมาแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมค่ายคนอื่น
- สเปรย์กันยุง (กรุณาเลือกชนิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
- ของฝากสำหรับเด็ก ๆ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ได้
- ความคิดสร้างสรรค์ เกมส์ เพลง เพื่อความบันเทิงในค่าย
- ความคิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี และรอยยิ้มที่สดใส
สิ่งที่ห้ามนำมาในค่าย
- สารเสพติด
- แอลกอฮอล์
1. ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://drive.google.com/open?id=0ByQQ4JcERbn-QVNYQnhwUFd2aFE
2. ส่งใบไฟล์ใบสมัครมายัง e-mail : dalaa.thailand@gmail.com
3. รอ e-mail ตอบรับเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ค่าใช้จ่าย : 2,250 บาท