25 ธันวาคม 2547
หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุการณ์ “สึนามิ”ในเมืองไทย แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกทั้งเพื่อนๆ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง จัดประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนงานอาสาในสังคม
ยุคนั้น กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป ไล่เรียงตั้งแต่กิจกรรมนักศึกษาตลอดจนงานอาสาเพื่อส่วนรวม แม้แต่การทำดีในที่สาธารณะก็คล้ายสิ่งไม่คุ้นชิน ดังเช่นเรื่องจริงที่เคยมีการเล่าในที่ประชุมเพื่อสื่อความรู้สึกในช่วงเวลาดังกล่าว :
“ชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนรถไฟฟ้า เก้าอี้ในตู้โดยสารมีคนนั่งอยู่เต็ม เมื่อขบวนรถเข้าจอดที่สถานีแห่งหนึ่งก็มีผู้หญิงท้องเดินเข้ามา ชายคนดังกล่าวจึงลุกขึ้นให้ผู้หญิงท้องนั่ง จากนั้นเขาก็เดินไปยังตู้โดยสารอีกตู้หนึ่งที่ห่างออกไป.. ไม่ได้เตรียมตัวลง แต่ไปยืนอยู่เฉยๆ
“สรุปคือเขาต้องการลุกให้คนอื่นนั่ง ขณะเดียวกันก็รู้สึกขัดเขินที่จะทำความดีจึงต้องทำท่าว่ากำลังจะลง แต่จริงๆแล้วไปยืนหลบอยู่อีกมุมหนึ่ง”
ประเด็นพูดคุยคือ ทำอย่างไรให้คนกลับมาเห็นความสำคัญของการมีสำนึกทางสังคม และจะกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างไร *
26 ธันวาคม 2547
เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิทางภาคใต้ ตามด้วยปรากฏการณ์คลื่นอาสาสมัครในเมืองไทย คณะทำงานบางส่วนได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่อีกส่วนก็นัดหารือต่อเนื่อง
ต้นปี 2548
เมื่อกระแสอาสาสมัครก่อตัว แม้จะมาจากเหตุไม่คาดคิด ภารกิจต่อมาของคณะทำงานคือ ส่งเสริมให้ผู้คนเข้ามาทำงานอาสาสมัครเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง จนนำไปสู่การยกระดับจิตใจและพัฒนาจิตวิญญาณ
โจทย์ข้อหนึ่งคือการเฟ้นหาคำที่จะสื่อแนวคิดดังกล่าว.. บางคำที่ผุดขึ้นในความคิดช่วงนั้น เช่น จิตสาธารณะ เป็นต้น
ช่วงต้นปี ผู้ที่เป็นแกนหลักสามคน คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) แห่งมูลนิธิกระจกเงา ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ (เอเชีย) และ ธีระพล เต็มอุดม (หนุ่ม) จากแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ นัดพบพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนกัน เกิดความคิด และได้ข้อสรุปที่คำว่า “จิตอาสา”
พร้อมการรวมกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านอาสาสมัครในนาม “เครือข่ายจิตอาสา”
“จิตอาสา” จึงเป็นคำที่หมายถึง “อาสาสมัคร” และ “คุณค่า” ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานอาสาสมัคร
โดยมุ่งเน้นที่การยกระดับจิตสำนึก และพัฒนาจิตวิญญาณของทุกคน ทั้งอาสาสมัครและองค์กรที่สร้างงานหรือประสานงานอาสาสมัครด้วย
* ส่วนหนึ่งของการเข้ามาขับเคลื่อนงานด้านจิตอาสามาจากแนวคิด “ธรรมจักรแห่งจิตวิวัฒน์” ในหนังสือ “การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สู่สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ” ของอาจารย์ประเวศ วะสี ซึ่งกล่าวถึงช่องทางพัฒนาจิตใจหลายรูปแบบ เช่น การศึกษา, ศิลปะ, สิ่งแวดล้อม, สื่อสร้างสรรค์, วิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นต้น
1 Comment
anekvetchaphan, April 20, 2017 at 1:03 pm
จิตอาสาเป็นการพัฒนาตัวเราที่เป็นประโยชน์ในทุกด้าน และจะดีขึ้นไปอีกถ้าเราทำสมาธิเป็นประจำทุกวันด้วยครับ