“สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้การศึกษา อบรม ฝึกฝน การให้บริการแก่ชุมชน และสร้างเสริมประสบการณ์เกี่ยวกับท้องถิ่นชนบทให้แก่ บัณฑิตไทย ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากทุกสาขาวิชา และทุกสถาบัน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2512 ในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ (พ.ศ. 2509 – 2513) มีความแตกต่างระหว่างเมือง และชนบทอย่างเด่นชัด ชนบทเป็นภาคที่ประสบความขาดแคลนอย่างมาก ทั้งด้านวัตถุและบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “”ปัญญาชน คนหนุ่มสาว”” ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาระดับสูง มีความสนใจในปัญหาของชนบทไม่มากนัก ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และบุคลากรในวงการศึกษาได้นำเสนอความคิดจัดส่ง “”บัณฑิต”” ออกไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวชนบท เพื่อเรียนรู้และหาประสบการณ์จากสภาพความเป็นจริง ในการดำรงชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นชนบท ด้วยเชื่อว่าเป็นการสร้างให้ “”บัณฑิต”” เกิดความสำนึกห่วงใย และความรับผิดชอบต่อชนบท และส่วนรวมในระยะยาว ในปี 2558 ตามมติของสภามหาวิทยาลัย สำนักฯ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยภายในปี 2561 วิทยาลัยฯ จะเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทุกระดับ โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาบัณฑิตให้มีจิตสำนึกรักความเป็นธรรม มีทักษะในการทำงาน สนใจเข้าร่วมในการพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์และสอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยได้จะได้จัดหลักสูตรปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต ซึ่งใช้วิธีคัดเลือกผู้เรียนแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป สร้างการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทผู้เรียน ฝึกแก้ปัญหา และทำโครงงานเพื่อการเรียนรู้เป็นทีม การปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) ที่สร้างประสบการณ์ชีวิต ความชำนาญในการปฏิบัติงานสนาม และงานวิจัยในพื้นที่ เพิ่มโอกาสทำงานอาสาสมัครที่มีคุณค่าต่อสังคม หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต เพื่อต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง”
จิราวุธ สุปัญญา
นักวิชาการศึกษา
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร)