คุณยังจำกันได้ไหมกับชายชื่อ “ดาบวิชัย นักปลูกต้นไม้” หรือ ด.ต.วิชัย สุริยุทธ คนต้นแบบที่ปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้น! เมื่อราวสิบปีที่แล้ว เขาโด่งดังจากการออกไปปลูกต้นไม้ตามที่รกร้างที่ว่างสาธารณะทุกๆวัน เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ปลูกเรื่อยมานับสิบกว่าปีคนจะรู้ซึ้งถึงความตั้งใจของเขา เพราะช่วยพลิกพื้นดินแห้งแล้งของอำเภอปรางค์กู่ จังหวัด
ศรีสะเกษ ที่ขึ้นชื่อว่ากันดารและจนที่สุดในประเทศให้กลายเป็นอำเภอที่ร่ำรวยต้นไม้ ให้ความร่มเย็นหลากหลายชนิด เช่น ต้นตาล คูน ถ่อน ยางนา แค และต้นขี้เหล็ก

20160331-4-1

  “ผมจะปลูกต้นไม้ไปจนกว่าผมจะตาย” คำ พูดของดาบวิชัยจากหนังโฆษณาเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง ที่ถ่ายทอดชีวิตจริงของนักปลูกต้นไม้ออกมาให้คนทั้งประเทศได้รู้จักจวบจน วันนี้ ดาบวิชัยมุ่งมั่นปลูกต้นไม้อย่างไม่เคยย่อท้อจึงทำให้เขาได้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว ประจำปี พ.ศ. 2545” จาก ปตท. และรางวัลอื่นๆ อีกมากมายจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันดาบวิชัยเกษียณราชการมาได้ 6 ปีแล้ว ด้วยวัยที่ย่างเข้า 67 ปี ตำแหน่งสุดท้ายที่ราชการมอบให้เพื่อเป็นเกียรติยกย่องการทำความดี คือ ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ แม้วันนี้จะไม่ติดยศดาบแล้วแต่เขาก็ยังเรียกตัวเองว่า “ดาบวิชัย” อยู่ดี เขาบอกกับเราอย่างภาคภูมิใจว่า “ถึงวันนี้ผมปลูกต้นไม้ไปกว่า 3 ล้านต้นแล้วครับและอาจจะเป็นคนเดียวที่ปลูกต้นไม้ได้มากที่สุดในโลกอีกด้วย ” ซึ่งไม่ผิดความจริงแน่น เพราะทุกวันนี้ดาบวิชัยยังออกไปปลูกต้นไม้ตามที่ต่างๆ ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 – 400 ต้นเช่นเคย ส่วนใหญ่จะปลูกจากเมล็ดพันธุ์ที่เก็บสะสมไว้จากต้นที่ปลูกมาก่อน เพื่อขยายพื้นที่สีเขียวให้กับโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาจะเริ่มต้นการปลูกในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เพราะเป็นวันแรงงาน “ผมเป็นปฏิบัติกร(หมายถึงแรงงานทำด้วยมือและปฏิบัติการจริงๆ) ผู้ใช้แรงงานครับ” เขาให้เหตุผลไว้เช่นนั้นดาบวิชัยจะเตรียมเมล็ดพันธุ์ในหน้าแล้งแล้ว เริ่มปลูกในวันที่ 1 พฤษภาคม ก่อนเข้าหน้าฝนปลูกไปเรื่อยๆ จนถึงปลายปีตามสภาพฟ้าฝนจนเข้าหน้าแล้ง ก็จะเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์อีกครั้ง วนอยู่เช่นนี้มา 25 ปีแล้ว

วันนี้ดาบวิชัยไม่เพียงเป็นนักปลูกต้นไม้ แต่ยังใช้ประสลการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอ เพียงรณรงค์การปลูกต้นไม้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น ธกส. อบต. กองทุนฟื้นฟู ฯลฯ เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยชีวิต เพื่อสร้างเศรษฐกิจพอเพียงให้อำเภอปรางค์กู่อีกด้วย

หาไม่ได้ง่ายๆเลย ที่ชีวิตคนๆ หนึ่งจะทำประโยชน์เพื่อสังคมได้มากมายเช่นนี้ จนสงสัยว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากไหน “แนวคิดนี้ผมได้มาหลังจากที่เข้าร่วมอบรมโครงการแผ่นดินธรรม-แผ่นดินทองในปี 2530 – 2531 แผ่นดินธรรมคือเราอยู่กันด้วยความสงบ ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีการข่มเหงรังแกกัน แผ่นดินทองคือการที่เรามีทรัพยากรธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ห้วยหนองคลองบึงควรจะมีกุ้งหอยปูปลาอุดมสมบูรณ์ และใช้แผ่นดินอย่างคุ้มค่า”

จากการอบรมในครั้งนั้นดาบวิชัยจึงยึดอุดมการณ์ 3 ข้อ เป็นเป้าหมายในชีวิตการดำเนินชีวิตและปฏิบัติเพื่อสังคมตลอดมาคือ
1.พึ่งตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่เบียดเบียนใคร
2.มีความขยันอย่างฉลาดและปราศจากอบายมุข
3.เมื่อเห็นเพื่อนบ้านเป็นทุกข์ เป็นภารกิจที่เราต้องร่วมกันแก้ไขเพราะถ้าเรามีเพื่อนบ้านที่ดี บ้านเราก็ไม่จำเป็นต้องมีรั้วบ้าน แล้วเราก็จะมีความเข้มแข็ง

และนี่คือพลังที่ผลักดันให้ดาบวิชัย พยายามขับเคลื่อนให้ชาวบ้านศรีสะเกษร่วมกันสร้างแผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง ภายใต้โครงการต่างๆ เช่น โครงการปลูกต้นยางนา การทำไร่นาสวนผสม เพราะการปลูกต้นไม้ไม่เพียงลดโลกร้อนแล้วยังช่วยแก้จนได้อีกด้วยนอกจากนี้ เขาได้ตั้ง “มหาวิทยาลัยธรรมชาติ” ขึ้นมาเองเพื่อปลูกจิตสำนึกชาวบ้าน ทั้งคนที่ทิ้งที่นาไปรับจ้างในเมือง และข้าราชการที่เป็นลูกชาวนาที่รับมรดกมาจากพ่อแม่ให้สืบสานวัฒนธรรมในการทำ กินเหมือนบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดความรักในถิ่นฐานบ้านเกิด ตระหนักว่าตนเองนั้นมีมรดกตกทอดเป็นไร่นาให้กลับมาสร้างฐานะด้วยทรัพย์สิน ที่ตนมีอยู่ ซึ่งในวันนี้โครงการสำคัญที่ดาบวิชัยกำลังผลักดันขยายองค์ความรู้สู่ชาวบ้าน มีอยู่สองโครงการคือ โครงการพืชสวนนาป่าและโครงการอีสานบ้านแตก ดาบวิชัยบอกว่าทั้งสองโครงการนี้กำลังจะนำเสนอรัฐบาล เพราะว่าจะเป็นทางรอดของคนรากหญ้าอย่างแท้จริง

   โครงการพืชสวนนาป่า เป็น การรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ที่ทนทานตายยาก ให้หมากผลเป็นอาหาร ใช้ประโยชน์ได้ เช่น ต้นตะกู ถ่อน สะเดา ขี้เหล็ก ยางนา ฯลฯ เป็นการเติมเต็มที่ดินที่มีโฉนดของตัวเองให้มีมูลค่าเหมือนเป็นกระปุกออมสิน เพราะมีต้นไม้ที่มีคุณค่าเติบโตงอกงามขึ้น โครงการนี้นอกจากจะช่วยเศรษฐกิจแล้วยังช่วยคืนธรรมชาติให้แผ่นดินและช่วยลด โลกร้อน

ส่วนอีกโครงการคือโครงการอีสานบ้านแตก ซึ่ง คิดขึ้นมาเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับโครงการพืชสวนนาป่า ซึ่งคำว่า “บ้านแตก” ในภาษาอีสานก็คือ “บ้านหลังที่สอง” ของชาวนาที่อยู่กลางนาที่นา สร้างไว้พักพิงยามทำนา บ้านหลังที่หนึ่งคือบ้านที่มีทะเบียนบ้านไว้อยู่อาศัยจริง บ้านหลังที่สองนี้จะกระจายไปอยู่ตามท้องไร่ท้องนา เดิมเป็นแค่เถียงนาตามทุ่งนาโล่งๆ ดาบวิชัยรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ล้อมบ้านไว้อยากให้มีถนนตัดถึง มีไฟสำหรับใช้ในการเกษตรพอเพียง ปลูกพืชสวนนาป่าให้พื้นที่ไม่โล่งเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ แต่ให้มีต้นไม้สารพัดเหมือนปลูกป่าไว้ในทุ่งนา เป็นไม้โตเร็วตัดขายได้เร็วมีราคา เช่น ยางนา ไม้แดง สัก พยุง ถ้าทุกคนทำก็จะสร้างความเข้มแข็ง เกิดเป็นป่าคุณภาพที่มีเจ้าของดูแลรักษา เขาพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของป่าไม้ที่มีคุณค่าในพื้นที่ตัวเองที่ มีโฉนด ดาบวิชัยเองก็ทำมาได้ 2 ปีแล้ว

แนวคิด ดีๆที่ดาบวิชัยคิดขึ้น มีเจตนาสร้างความร่มเย็นเป็นสุข พึ่งตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชาวศรีสะเกษโดยเขาฝากทิ้งท้ายให้ กับเราทุกคนว่า…..

  “ขอให้ทุกท่านมีจิตสำนึกรักครอบครัวตัวเอง โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีที่ดินของตัวเอง เราต้องสร้างฐานะอย่าล้างผลาญตัวเอง เติมเต็มชีวิตให้มีอุดมการณ์ ต้องขยันอย่างฉลาดและมีจิตสำนึก คนที่มีผืนนา มีที่ว่างเปล่าพยายามเติมเต็มให้เป็นสีเขียว ลองหายใจเข้าเป็นสีเขียวหายใจออกเป็นสีเขียว ธรรมชาติจะกลับคืนมาเองผมปลูกมา 3 ล้านต้นแล้ว และมาร่วมกับโครงการทั้ง 2 นี้ที่ดินก็จะมีมูลค่า สร้างฐานะให้ตัวเองได้ดี”

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือระหว่างวารสารสื่อชุมชน และวิชาการดอทคอม
www.pttplc.com