วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดรับสมัครผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา เข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) รุ่นที่ 48 ประจำปีการศึกษา 2559

รายละเอียดตามประกาศที่แนบมาพร้อมนี้ คลิก

่อ่านรายละเอียดหลักสูตร คลิก

รายละเอียดตามประกาศที่แนบมาพร้อมนี้ คลิก

หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร)
(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558)

ชื่อสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยาเขต/คณะ/ภาควิชา ศูนย์รังสิต / วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

รหัสและชื่อหลักสูตร
รหัสหลักสูตร : 25350051100397
ภาษาไทย : ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร)
ภาษาอังกฤษ : Graduate Diploma Program (Graduate Volunteer)

ชื่อประกาศนียบัตรบัณฑิต
ภาษาไทย ชื่อเต็ม ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร)
ชื่อย่อ ป.บัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร)
ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม Graduate Diploma (Graduate Volunteer)
ชื่อย่อ Grad. Dip. (Graduate Volunteer)

วิชาเอก
ไม่มี

จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 30 หน่วยกิต

รูปแบบของหลักสูตร
1) รูปแบบ
หลักสูตรพหุวิทยาการ ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ศึกษา 1 ปีการศึกษา
2) ภาษาที่ใช้
ภาษาไทย
3) การรับเข้าศึกษา
รับทั้งนักศึกษาไทยและต่างประเทศที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
4) ความร่วมมือกับสถาบันอื่น
เป็นหลักสูตรเฉพาะของสถาบันที่จัดการเรียนการสอนโดยตรง
5) การให้ประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ให้เพียงสาขาวิชาเดียว

ความพร้อมในการเผยแพร่หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
หลักสูตรมีความพร้อมเผยแพร่คุณภาพและมาตรฐานตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
ในปีการศึกษา 2560

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

  • นักพัฒนาสังคม
  • เจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์
  • เจ้าหน้าที่ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน
  • นักพัฒนาชุมชน
  • นักวิจัยสนาม
  • ผู้ประกอบการทางสังคม

 

สถานที่จัดการเรียนการสอน
ศูนย์ฝึกอบรมวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สถานการณ์ภายนอกหรือการพัฒนาที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนหลักสูตร

1) สถานการณ์หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
การสำรวจสัดส่วนคนยากจนในปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่ามีสัดส่วนคนยากจนซึ่งวัดจากเส้นความยากจนด้านรายจ่ายอยู่ร้อยละ 12.64 ของประชากรทั้งประเทศ แต่หากรวมคนยากจนกับคนเกือบจนเข้าด้วยกันแล้วจะมีประมาณ 15.6 ล้านคน หรือร้อยละ 23.5 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าาความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจนยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตชนบทกล่าวคือ สัดส่วนคนยากจนในเขตเทศบาลมีร้อยละ 8.8 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ขณะที่นอกเขตเทศบาลมีสัดส่วนคนยากจนถึงร้อยละ 15.96 ซึ่งประเทศไทยถือว่านอกเขตเทศบาลคือเขตชนบท
ในปี 2554 ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ไม่อยู่ในสถานที่ดีขึ้น แต่ยังคงเป็นปัญหาในระดับปานกลางค่อนข้างสูง จากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ (gini coefficient) ในช่วง 5 ปีที่อยู่ในระดับ 0.48 – 0.49 โดยรายได้กระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มคนรวยที่สุด 10% ถือครองรายได้ถึง 39.3% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด 10% ถือครองรายได้เพียง 1.6% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น โดยมีความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุดกับกลุ่มคนจนที่สุดห่าง กันถึง 25.2 เท่า
ความเหลื่อมล้ำยังคงดำรงอยู่และขยายกลายเป็นประเด็น ความขัดแย้งทางสังคม แม้ว่างานวิจัยจำนวนมากจะเสนอผลตรงกันว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชนบท จากการติดต่อสัมพันธ์กับเมือง คนชนบทเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในเขตเมือง มีอาชีพที่หลากหลาย ได้พบเห็น และรับรู้สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านประสบการณ์ตรง และเทคโนโลยีสารสนเทศ จนเกิดชนชั้นใหม่ขึ้นในชนบท นักวิชาการเรียกชนชั้นใหม่เหล่านี้แตกต่างกัน ชาร์ลส์ คายส์ เรียกชาวชนบทที่เข้าร่วมขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า “กลุ่มคนชนบทผู้เห็นโลกกว้าง” (cosmopolitan villagers) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มองคนชนบทว่าเป็น “ตัวตนใหม่ของพลเมืองเสรีนิยม” แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ เรียก “ชาวนาชนชั้นกลาง” (middle class peasants) ส่วนงานนฤมน ทับจุมพล กับดัลแคน แมคคาโก เรียกว่า คนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอว่าควรเรียกว่า “ชาวบ้านเมืองกรุง” (rubans) จะเห็นได้ว่าชนบท ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ห่างไกล ล้าหลัง ประชาชนขาดความรู้ นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปของ พื้นที่ชนบท และคนชนบท แต่ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เพียงปัญหาของภาคชนบท หรือคนชนบท แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้จัดทำรายงานเรื่อง 8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยสรุปไว้ในตอนท้ายว่า ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดคือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส “คงเป็นไปไม่ได้ที่จะท้าให้ทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด แต่สิ่งที่เราน่าจะทำได้และควรจะทำได้ก็คือ เราควรจะต้องทำให้คนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้น”
สถานการณ์ความขัดแย้ง ทางการเมือง ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน คือความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย ที่มีความแตกต่างกันด้านความคิด ความต้องการนโยบายสาธารณะ บริบททางสังคม วัฒนธรรม โดยสามารถจำแนกกลุ่มความขัดแย้ง จากความแตกต่างดังกล่าวได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มคนเมือง หรือสังคมไทยปัจจุบันเรียกว่า “คนชั้นกลาง” กับกลุ่มคนชนบท หรือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่” และถูกเรียกในทำนองหมิ่นแคลนในลักษณะต่างๆ ความไม่ลงรอยกันดังกล่าวมีลักษณะที่รุนแรง และถือได้ว่าเป็นวิกฤติของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งหลายฝ่ายสรุปตรงกันว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคม ชนบทกับสังคมเมือง ดังที่ได้ระบุในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่า “ความเลื่อมล้ำในสังคมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งและความเดือด ร้อนทั้งหลายของประชาชน จึงมีนโยบายที่จะดำเนินการดังนี้…”
ก่อนที่จะ มีการเปลี่ยนสถานะมาเป็นวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ได้ส่งบัณฑิตอาสาสมัคร เข้าไปเรียนรู้ และปฏิบัติงานพัฒนาชนบท เพื่อให้บัณฑิต ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากทุกสาขาวิชา และทุกสถาบัน ได้ไปเรียนรู้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหา และความต้องการของชาวชนบท ทั้งยังได้ใช้ความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนชนบทโดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ปัจจุบันช่องว่างความแตกต่าง ความไม่เข้าใจ และความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบท และเมืองยังคงดำรงอยู่ และมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในภาคชนบท ที่มีลักษณะเท่าทัน และใกล้ชิดการเมืองมากขึ้น รวมทั้งสามารถจะเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อแสดงออกถึงความต้องการ ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ทำให้การศึกษา เรียนรู้ ด้านชนบท และการพัฒนามีความซับซ้อน และทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
2) สถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
2.1) การก้าวเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรม
ความ จำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจกับลักษณะของสังคมพหุวัฒนธรรมเนื่องจาก ประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ “โลกาภิวัตน์” ได้นำไปสู่การที่มีกลุ่มคนผู้มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเคลื่อนย้ายมาอยู่ ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมักจะก่อให้เกิดอคติทางชาติพันธุ์ ภาษา และประเพณี มีการกันแยกคนกลุ่มน้อยออกไปจากการได้รับสิทธิ และบริการทางสังคม สังคมบางแห่งมีการเลือกปฏิบัติ (discrimination) เกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มโดยไม่มีเหตุผล (xenophobic) และเกิดการกดเหยีดชาติพันธุ์ (racism) ระบบเศรษฐกิจเสรี ช่วยเร่งเร้าให้สังคมพหุวัฒนธรรมเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก องค์การสหประชาชาติได้พยายามส่งเสริมการให้การศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกันใน สังคมพหุวัฒนธรรม โดยเห็นว่าเป็นประเด็นทางสังคมโลกที่เร่งด่วน และมีความสำคัญที่ทุกประเทศจะต้องส่งเสริมระบบการศึกษาที่เน้นให้เกิดการ อยู่ร่วมกันภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกัน ในบริบทของประเทศไทยไม่เพียงการเคลื่อนย้ายเข้าออกระหว่างชนบทและเมือง สังคมไทยปัจจุบันมีการย้ายเข้า-ออก ของกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ และคนต่างถิ่น เกิดสังคมที่มีคนหลากหลายมาอยู่รวมกัน เป็นสังคมรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม กล่าวคือมีความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาที่แตกต่างกันมาอยู่ร่วมกันมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างวัฒนธรรมที่แตก ต่างหลากหลาย ทั้งการซึมซับ แพร่กระจาย ปรับ ประยุกต์ และผลิตสร้างวัฒนธรรมขึ้นใหม่ สังคมไทยความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายซับซ้อน โดยมุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติ และอคติทางวัฒนธรรมซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างชาวชนบท และชนชั้นกลางในเมือง กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มคนไทยที่มองว่าแรงงานเหล่านี้เข้ามาแย่งอาชีพ และแบ่งปันการใช้จ่ายทรัพยากร รวมทั้งรับสวัสดิการจากรัฐทั้งที่ไม่ใช่ประชาชนไทย
2.2) ไทยและการร่วมกลุ่มประชาคมอาเซียน
สังคม ไทยเป็นสังคมที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อ ประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียนกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะก้าวไป สู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 (ค.ศ. 2015) และจะแสดงบทบาทสำคัญในเวทีโลกภายในปี 2565 (ค.ศ. 2022) เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในสามเสาความร่วมมือ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ไทยในฐานะเป็น 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) มีมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นเป็นอันดับ 1 โดยในปี 2553 มีมูลค่าการค้ารวม 74,696.43 ล้าน USD หรือคิดเป็นร้อยละ 19.99 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย นอกจากนั้นในปี 2553 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่า 811.36 ล้าน USD ในด้านการท่องเที่ยว ในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยรวม 4,534,235 คน คิดเป็นร้อยละ 28.45 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ไม่เพียงแต่การเข้ามาของเงินลงทุน แรงงาน และนักท่องเที่ยว ประเทศไทยได้เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียนที่ไทยเข้าไปลงทุนนี้ ประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจึงไม่ เพียงต้องการองค์ความรู้ของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลายเท่า นั้น ยังมีความต้องการบุคลากรที่สามารถปฏิบัติงานกับภาคประชาชนที่มีความแตกต่าง ทางวัฒนธรรม ทั้งกำลังแรงงาน ภาคประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ของประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่บริเวณชายแดน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นที่ต้องสร้างบุคลากรที่มีความที่เข้าใจ เข้าถึงชุมชน และสามารถทำงานประสานความขัดแย้ง และดำเนินการพัฒนาภายใต้บริบททางสังคมของโลกสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกันด้วย กลไกเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจเสรี โดยมีผู้คนจากต่างวัฒนธรรมมาอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังปรับบทบาทจากประเทศรับความช่วยเหลือไปสู่ประเทศ ผู้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมีความต้องการกำลังคนที่เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม และสามารถทำงานพัฒนาร่วมกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

1) ปรัชญา
เรียนรู้การทำงานพัฒนาในวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วยการลง มือปฏิบัติงานอาสาสมัคร จัดการเรียนการสอนโดยให้บัณฑิตอุทิศตนทำงานให้บริการแก่ชุมชนที่มีความแตก ต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรม ไปสัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิต และปัญหาของประชาชน เพื่อบ่มเพาะบัณฑิตให้มีสำนึกรับใช้สังคม ภายใต้ปรัชญาและกระบวนการการเรียนด้วยการทำงานให้บริการแก่สังคม (Service-learning)

2) ความสำคัญ
เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ อันสืบเนื่องจากการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม จากระบบเศรษฐกิจเสรี การรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสู่ประเทศไทย พร้อมไปกับการค้าการลงทุนที่มีบรรษัทข้ามชาติเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งฐานผลิต รวมทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมการบริการ ที่ไม่เพียงเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ แต่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในท้องถิ่นชนบท เมืองชายแดน และเมืองศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาค ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อน โดยไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งดังเช่นในอดีต
ขณะ เดียวกันสังคมไทยมีความต้องการจะอนุรักษ์ รักษา และผลิตสร้าง อัตลักษณ์ความเป็นไทยให้ปรากฏเป็นที่ยอมรับ เพื่อการพัฒนาประเทศภายใต้พื้นฐานแห่งความเป็นไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่สามารถจะยกชูความเป็นท้องถิ่น สามารถผลิตสร้าง ต่อยอดองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นฐานของการเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
นอก จากนั้นความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ยังคงดำรงอยู่ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างชนบทกับเมือง คนชนบทและคนกรุงเทพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างเข้มข้นในขณะนี้ ความเลื่อมล้ำแตกต่างกันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการละเลยองค์ความรู้ ภูมิปํญญาที่มาจากรากฐานของท้องถิ่น มุ่งทำความเข้าใจชนบท ท้องถิ่นจากความรู้ วิชาการจากตะวันตก มากกว่าจะสร้างองค์ความรู้ของตนเองขึ้นมาจากเบื้องล่าง
การก้าวเข้าสู่ สังคมพหุวัฒนธรรม การปะทะประสานกันระหว่างโลกาภิวัตน์ และท้องถิ่นภิวัตน์ ระหว่างความเป็นสากลกับความเป็นไทย ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างกันระหว่างชนบทและเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาจะต้องทำความเข้าใจ และสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาทางออกให้กับสังคม
ดัง นั้นจึงจำเป็นต้องบ่มเพาะบัณฑิตผู้มีจิตใจเสียสละ ต้องการทำงานเพื่อสังคม ให้มีความสามารถในเชิงพหุวิทยาการ ทั้งในด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และการบริหารจัดการ สามารถศึกษาและสร้างองค์ความรู้สังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งจะต้องใช้ความรู้ในหลาย สาขาวิชา ที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและท้องถิ่น ทั้งยังต้องสามารถทำงานพัฒนาร่วมกับประชาชนทั้งภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นคุณลักษณของบัณฑิตที่กำลังเป็นที่ต้องการของสังคมไทย และจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคตหลังจากมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมอา เซียน

3) วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีคุณลักษณะ ดังนี้
3.1) มีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม รักความเป็นธรรม พร้อมอุทิศตนทำงานเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
3.2) มีความรู้ในลักษณะพหุสาขาวิชา สามารถทำความเข้าใจสังคม มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ในการทำงานพัฒนาร่วมกับประชาชน
3.3) สามารถทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย แตกต่าง และซับซ้อนทางวัฒนธรรมได้
ระบบการจัดการศึกษา

1) ระบบ
ใช้ระบบการศึกษาแบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ 1 ภาคการศึกษาปกติ มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ และมีการศึกษาในภาคฤดูร้อน โดยใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 8 สัปดาห์ และเพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละรายวิชาให้เท่ากับภาคปกติ

2) การจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน
มีการจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน ในการเรียนชั้นปีที่ 1

3) การเทียบเคียงหน่วยกิตในระบบทวิภาค
ไม่มี
การดำเนินการหลักสูตร

1) วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน
วัน – เวลาราชการปกติ
เรียนวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น.
ภาคการเรียนที่ 1 เดือนสิงหาคม – ธันวาคม
ภาคการเรียนที่ 2 เดือนมกราคม – พฤษภาคม
ภาคฤดูร้อน เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม

2) คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาต้องเป็นไปตาม ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
2.1) ผู้เข้าศึกษาต้องสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ
2.2) คุณสมบัติอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร)
2.3) การรับเข้านักศึกษาต่างประเทศ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและเป็นไปตามระเบียบ ของมหาวิทยาลัย

3) การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา
3.1) การคัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษาให้เป็นไปตามข้อกำหนดของวิทยาลัยพัฒ ศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีการสอบข้อเขียน และการสอบสัมภาษณ์
3.2) การคัดเลือกนักศึกษาต่างประเทศให้อยู่ในความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารหลัก สูตร โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา
3.3) การคัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษาประเภทพิเศษในขั้นตอนสุดท้ายให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร

4) หลักสูตร
4.1) จำนวนหน่วยกิตรวมและระยะเวลาศึกษา
จำนวนหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร 30 หน่วยกิต
ระยะเวลาศึกษา เป็นหลักสูตรแบบเต็มเวลา นักศึกษาต้องใช้ระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 2 ภาคการศึกษาปกติ และไม่เกินกว่า 4 ภาคการศึกษาปกติ

4.2) โครงสร้างหลักสูตร
นักศึกษาจะต้องจดทะเบียนศึกษารายวิชา รวมไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต โดยศึกษาตามโครงสร้างและองค์ประกอบ ดังนี้
1. วิชาบังคับ 24 หน่วยกิต
1.1 การศึกษางานรายวิชา
• หมวดวิชาเสริมสร้างจิตสำนึกอาสาสมัคร 3 หน่วยกิต
• หมวดวิชาเสริมสร้างทักษะการทำงานพัฒนา 6 หน่วยกิต
• หมวดวิชาความรู้และโลกทัศน์ทางสังคม 6 หน่วยกิต
1.2 การปฏิบัติงานสนาม 9 หน่วยกิต
2. การค้นคว้าอิสระ 6 หน่วยกิต

4.3) รายวิชาและข้อกำหนดของหลักสูตร
1. วิชาบังคับ 24 หน่วยกิต
1.1 การศึกษารายวิชา : นักศึกษาต้องศึกษารายวิชาจากหมวดวิชาเสริมสร้างจิตสำนึกอาสาสมัคร หมวดวิชาเสริมสร้างทักษะการทำงานพัฒนา หมวดวิชาความรู้และโลกทัศน์ทางสังคม รวมจำนวน 15 หน่วยกิต ดังนี้
รหัส รายวิชา จำนวนหน่วยกิต
(บรรยาย-ปฏิบัติ-ศึกษาด้วยตนเอง)
• หมวดวิชาเสริมสร้างจิตสำนึกอาสาสมัคร
บอ.510 อาสาสมัครและความรับผิดชอบต่อสังคม 3 (3-0-9)
GV.510 Volunteerism and Social Responsibility
• หมวดวิชาเสริมสร้างทักษะการทำงานพัฒนา
บอ.520 วิธีวิทยาวิจัยทางสังคมศาสตร์ 3 (3-0-9)
GV.520 Social Science Research Methodology
บอ.521 กระบวนการทำงานชุมชน 3 (3-0-9)
GV.521 Community work Process
• หมวดวิชาความรู้และโลกทัศน์ทางสังคม
บอ.530 สังคมพหุวัฒนธรรม3 3 (3-0-9)
GV.530 Multicultural Society
บอ.531 ชนบทไทยในบริบทโลกาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์ 3 (3-0-9)
GV.531 Thai Rural Society in the Context of Globalization and Localization

1.2 การปฏิบัติงานสนาม
บอ.540 การปฏิบัติงานอาสาสมัครในสังคมพหุวัฒนธรรม 9 (0-27-8)
GV.540 Volunteer Work in Multicultural Society

2. การค้นคว้าอิสระ 6 หน่วยกิต
บอ.550 การค้นคว้าอิสระ 6 (0-12-24)
GV.550 Independent Study

 

4.4) แสดงแผนการศึกษา

ปีการศึกษาที่ 1
ภาคเรียนที่ 1
บอ.510 อาสาสมัครและความรับผิดชอบต่อสังคม     3 หน่วยกิต
บอ.520 วิธีวิทยาวิจัยทางสังคมศาสตร์      3 หน่วยกิต
บอ.521 กระบวนการทำงานชุมชน     3 หน่วยกิต
บอ.530 สังคมพหุวัฒนธรรม     3 หน่วยกิต
บอ.531 ชนบทไทยในบริบทโลกาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์     3 หน่วยกิต
รวม 15 หน่วยกิต

ภาคเรียนที่ 2
บอ.540 การปฏิบัติงานอาสาสมัครในสังคมพหุวัฒนธรรม     9 หน่วยกิต
รวม 9 หน่วยกิต
ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษาที่ 1
บอ.550 การค้นคว้าอิสระ 6 หน่วยกิต
รวม 6 หน่วยกิต

หลักเกณฑ์ในการประเมินผลนักศึกษา
1. กฎระเบียบหรือหลักเกณฑ์ในการให้ระดับคะแนน (เกรด)
การวัดผลให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตร (บัณฑิตอาสาสมัคร)
ดังนี้
1.1 การวัดผลการศึกษางานรายวิชา แบ่งเป็น 9 ระดับ ดังนี้
ระดับ      A       A-    B+   B     B-    C+   C     D    F
ค่าระดับ 4.00 3.67 3.33 3.00 2.67 2.33 2.00 1.00 0.0
นักศึกษาจะต้องได้ค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 ในการศึกษางานรายวิชาทุกวิชา ถ้าได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 3.00 ให้สอบแก้ตัวรายวิชาที่ได้ค่าระดับต่ำกว่า 3.00 ได้เพียงครั้งเดียว ตามวันและเวลาที่กำหนด หากยังได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 3.00 หลังจากสอบแก้ตัวแล้ว จะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
1.2 การวัดผลการปฏิบัติงานสนาม แบ่งเป็น 9 ระดับ ดังนี้
ระดับ       A      A-    B+   B     B-    C+   C      D   F
ค่าระดับ 4.00 3.67 3.33 3.00 2.67 2.33 2.00 1.00 0.0
นักศึกษาที่มีผลการปฏิบัติงานสนาม ได้ค่าระดับต่ำกว่า B จะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
1.3 การวัดผลการค้นคว้าอิสระ แบ่งเป็น 2 ระดับคือ S = ใช้ได้ (ผ่าน) U = ยังใช้ไม่ได้ (ไม่ผ่าน)

2. เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
2.1 ได้ศึกษางานรายวิชาต่างๆ ครบตามหลักสูตร และมีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
2.2 ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 (จากระบบ 4 ระดับคะแนน)
2.3 ได้ค่าระดับ B ขึ้นไป ในวิชาการปฏิบัติงานสนาม
2.4 ได้ค่าระดับ S ในการสอบวิชาการค้นคว้าอิสระ
2.5 ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ที่วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนด

 

สามารถสมัครออนไลน์ได้