จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง..หากลูกชาวนาที่ถูกสอนให้เกลียดอาชีพชาวนามาตั้งแต่เด็ก จะต้องสอนคนอื่นให้รู้สึกรักและภาคภูมิใจในความเป็นชาวนา?
นี่คือคำถามที่ทำให้ลิ นราภรณ์ ดีมาก สาวสุรินทร์ เชื้อสายกูย ซึ่งจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอับดับ 2 จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคามมาหมาดๆ ฝ่าข้ามความท้าทายนั้นมาได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ 3 ส่วน จากการบ่มเพาะทีละน้อยของโรงเรียนชุมชนชาวนา จากคำสอนของพ่อแม่ที่เป็นชาวนา และจากการเรียนรู้ด้วยตัวของตัวเอง ทำให้ 2 ปีของการเป็นครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือกของลูกสาวชาวนาอย่างลิ “เกิดความรักและภาคภูมิใจในความเป็นชาวนา” ขึ้นแล้ว โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
“จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอับดับสอง แต่กลับนึ่งข้าวกินเองไม่เป็น” กลายเป็นชื่อเสียงที่เลื่องลือไปทั่วชุมชน หลังจากนราภรณ์ ดีมาก ชาวสุรินทร์ เชื้อสายกูย ต้องเข้ามาทำงานที่โรงเรียนชุมชนชาวนาในบทบาทครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก รุ่นแรก [กรกฎาคม 2552-กรกฎาคม 2554] ซึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เหมือนเพื่อนครูอาสาคนอื่น ๆ แต่เป็นการคัดเลือกจากองค์กร เพื่อเข้าร่วมโครงการครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก
การใช้ชีวิตในฐานะครูอาสาฯที่โรงเรียนชุมชนชาวนา ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าการฝึกทักษะชีวิตนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เราเอา ตัวรอดในสังคมได้ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องเล็ก ๆ อย่างการนึ่งข้าวจึงเกิดขึ้นภายในห้องครัวที่ถูกต่อจากฉางข้าว ต่อมากลายเป็นห้องทดลองในการฝึกนึ่งข้าว และทำกับข้าวอย่างง่ายๆ ของฉัน ถึงแม้ว่าหวดนึ่งข้าวจะขาดไปหลายใบ แต่นั่นก็เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ฉันสามารถช่วยเหลือตัวเองเรื่องอาหารได้ เมื่ออยู่ลำพัง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นี้ทำให้ฉันคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ ฉันจำได้ว่าพ่อแม่สอนให้เรียนหนังสือเก่ง ๆ เรียนให้สูง ๆ จะได้มีอาชีพการงานที่ดี ไม่ต้องกลับมาทำนาเหมือนพ่อกับแม่ การทำนาเป็นอาชีพที่ลำบาก นี่คือความคิดที่ถูกปลูกฝังในตัวฉันเมื่อยังเป็นเด็ก เมื่อฉันเข้ามาทำงานที่โรงเรียนชุมชนชาวนา โรงเรียนสอนให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของชาวนา แล้วลูกชาวนาที่ถูกสอนให้เกลียดอาชีพชาวนามาตั้งแต่เด็กอย่างฉัน จะต้องสอนคนอื่นให้เห็นคุณค่าของชาวนา จะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองบ้าง นี่คือคำถาม ในขณะนั้นของฉัน…
ชีวิตของการเป็นครูอาสาผ่านมา 2 ปี คำถามเดิม ๆ ที่ฉันเคยถามตนเอง ถูกกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งหนึ่ง แต่ผลของคำตอบนั้น ทำให้ฉันรู้ว่า “ความภาคภูมิใจในอาชีพชาวนาได้เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว ตั้งแต่เมื่อไหร่ฉันก็ไม่อาจรู้” ต้องกลับไปคิดทบทวนอีกครั้งว่า ช่วงเวลาใดบ้างที่มีผลทำให้ฉันรู้สึกเช่นนี้ ความภาคภูมิใจในอาชีพชาวนาที่เกิดขึ้นกับฉัน การถูกหล่อหลอมและบ่มเพาะทีละน้อยนิด ด้วยกระบวนการของโรงเรียนชุมชนชาวนา คำสอนของพ่อแม่และการเรียนรู้ของฉันเอง ทั้งสามส่วนนี้มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ที่นำไปสู่การลงมือทำ เพื่อการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของตนเอง
ในบทบาทการเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ทำให้ฉันเข้าไปสัมพันธ์กับคน หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และองค์การปกครองท้องถิ่น ที่มีระดับความสัมพันธ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งตนเองมีความสัมพันธ์กับเด็กและเยาวชนมากที่สุด เพราะฉันคือ “คนเล่นกับเด็ก” นี่เป็นคำนิยามในตำแหน่งการทำงานในองค์กรที่ฉันได้ตั้งขึ้นเอง สืบเนื่องจากมุมมองของการทำงานกับเด็กและเยาวชน คือ ทำเรื่องอะไรก็ได้ที่เด็กสนใจ โดยที่ยึดหลักการเรียนรู้เป็นสำคัญ เพราะนี่คือการเรียนรู้ไม่ใช่การศึกษาจากตำรา
จากบทเรียนขององค์กรสอนให้ฉันรู้ว่า การเรียนรู้ที่ดีควรเกิดจากครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นสถาบันของการบ่มเพาะและปลูกจิตสำนึกที่ดีต่อลูกหลาน และพ่อแม่เองเป็นครูคนแรกของลูก พฤติกรรมของเด็กขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดเพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ที่เกิดจากครอบครัวร่วมกับ องค์กรขึ้นในปีที่ 2 ของการเป็นครูอาสา เป็นความพยายามที่จะสร้างกิจกรรมให้กับคนในครอบครัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และเรียนรู้ร่วมกัน ที่โรงเรียนชุมชนชาวนาพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การสืบทอดคุณค่า ท้องถิ่น
โรงเรียนชุมชนชาวนาคือโรงเรียนที่สอนคนในชุมชนให้เห็นคุณค่าของความ เป็นชาวนา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง องค์การปกครองท้องถิ่น และบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยการเริ่มต้นด้วยการทำกิจกรรมเล็ก ๆ กับกลุ่มเด็กฯ อย่างการทำผ้ามัดย้อม การเลี้ยงกบ การทำข้าวต้มมัด ที่ใต้ร่มมะขาม ต่อมามีเพิงขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่ท้ายหมู่บ้าน จากน้ำพักน้ำแรงของคนในหมู่บ้านที่ช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของลูกหลานในชุมชน
เมื่อปี พ.ศ. 2549 ด้วยการนำของลูกสาวพ่อใหญ่เป และแม่ใหญ่เส็ง ที่เด็ก ๆ ทุกคนต่างเรียกกันว่าป้าแล่ม (นางสาวธีรดา นามให) ป้าแล่มเคยเล่าให้ฉันฟังว่า สร้างที่นี้ขึ้นได้เพราะใช้จินตนาการ ซึ่งตนเองมีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าที่สำคัญของความเป็นชาวนา นอกจากนี้ป้าแล่มบอกว่า “ต่อให้การเดินทางยิ่งไกลจากบ้านมากเท่าไร แต่กลับทำให้ความรู้สึกรักถิ่นฐานยิ่งใกล้เข้ามาเท่านั้น” และนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาสร้างสิ่งที่แตกต่างในชุมชนของป้าแล่มที่ ฉันรู้จัก
การดำเนินงานของโรงเรียนชุมชนเกิดการขยายผลที่กว้างมากขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งมีการขยายผลทางพื้นที่ กลุ่มเป้าหมาย และแนวคิด การดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดรูปธรรมคือ เกิดศูนย์เรียนรู้เพิ่มขึ้นสองแห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ศิลปะมัดย้อมและศูนย์เรียนรู้ดนตรีพื้นบ้าน(มโหรี) ซึ่งศูนย์เรียนรู้นี้จะเปิดสอนนักเรียนจากบ้านโสกยาง จำนวน 25 คน ทุกวันพฤหัสบดี เกิด “เครือข่ายเยาวชนตะวันปั้นฝัน” เป็นเครือข่ายแกนนำเยาวชนจาก 10 หมู่บ้าน ซึ่งมีเป้าหมายของการดำเนินกิจกรรม คือ การพัฒนาความเป็นจิตอาสาแก่เด็กและเยาวชน
เกิด “กลุ่มชาวนาน้อย” เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทวนกระแส หันกลับบ้านมาทำนา จำนวน 10 คน เกิด “เครือข่ายเกษตรฮักแพง เบิ่งแญงท้องถิ่น” เป็นเครือข่ายเกษตร โดยเกิดจากการรวมตัวของผู้นำชุมชนตำบลหนองแสง จำนวน 19 หมู่บ้าน การดำเนินงานของโรงเรียนชุมชนชาวนาที่ผ่านมาก่อให้เกิดรูปธรรมที่เกิด จากกระบวนการสร้างการเรียนรู้มากกว่า 4 ปี โดยเน้นการเรียนรู้ที่ทำให้คนเข้าใจตนเองและคุณค่าของความเป็นชาวนาเป็น สำคัญ
การเรียนรู้ของฉันที่โรงเรียนชุมชนชาวนาเกิดขึ้นเมื่อฉันได้ลงมือทำ บางอย่าง และจะพัฒนามาเป็นประสบการณ์ชีวิตของฉัน เมื่อการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นคือการสั่งสมความชำนาญและทักษะชีวิต การเรียนรู้บางอย่างที่เป็นเรื่อง่าย ๆ ที่พ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ชุมชน คนเป็นพี่หรือใครก็มักจะมองข้าม จึงละเลยต่อการสอนลูก การเรียนรู้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิติอย่างการทำอาหารและมารยาท ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และไม่อาจสร้างสรรค์สังคมได้
การศึกษามีส่วนสำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การที่เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ต่อผ่านการเรียนรู้ที่มากพอที่จะเป็น เครื่องมือของการดำเนินชีวิต มีหลายคนเคยบอกฉันว่าการศึกษาคือการลงทุน โดยที่ไม่รู้ว่าการลงทุนนั้นจะทำให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนหรือไม่ หรือเป็นเพียงการซื้อเครดิตให้กับคนเองเท่านั้น.