มหาอุทกภัย ’54 ได้สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่แต่เท่านั้น เมื่อมหาอุทกภัยคลี่คลายไปแล้ว ได้ทิ้งความเครียดไว้ให้แก่ผู้คนอย่างมากที่เรียกว่า โพสต์ ทรอมาติกสเตรสส์ (post tramuatic stress) โดยเฉพาะการฆ่าตัวตาย
จึงข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นข้อบ่งชี้ที่แน่นอนว่า การฆ่าตัวตายอาจเกิดขึ้นได้เสมอหากขาดการเอาใจใส่ระมัดระวัง
1. บุคคลผู้นั้นเคยมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน โดยเฉพาะเคยมีการวางแผนฆ่าตัวตายไว้ ซึ่งแสดงว่ามีความตั้งใจแน่วแน่หากสบโอกาส เช่น ปลอดคน ความต้องการก็จะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วและลงมือกระทำตามแผนทันที
2. บุคคลผู้นั้นเคยมีประวัติของความแปรปรวนทางจิตหรือมีปัญหาสุขภาพจิตขั้นรุนแรงมาก่อน
3. เคยมีบันทึกหรือพร่ำบ่นเนืองๆ ถึงความต่ำต้อยอาภัพอับวาสนาของตนเอง ซึ่งส่อว่าอาจกระทำการฆ่าตัวตายได้
4. เคยมีพฤติกรรมรุนแรง เช่น ชอบวิธีเลือดตกยางออก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ถึงลูกถึงคน หรือเน้นความสะใจในการแก้ปัญหาต่างๆเป็นหลัก หรือไม่สนใจวิธีการที่นุ่มนวลประนีประนอม
5. มีโรคเรื้อรังประจำตัว มีความระทดท้อต่อการรักษาซึ่งมีแนวโน้มว่าสิ้นหวัง มีอาการอมทุกข์และเศร้าจัดเป็นเจ้าเรือน
6. เป็นคนมีอารมณ์เศร้าโศกหลังการผ่าตัดใหญ่ หรือคลอดบุตรใหม่ๆ ที่บ่งชี้การสูญเสียอย่างแรกกรณีถูกตัดแขนหรือขา หรืออวัยวะสำคัญบางส่วนออกไป ส่วนการคลอดบุตรใหม่ๆ อาจนำมาซึ่งความเศร้าสำหรับสตรีบางคนที่ควรประคับประคองดูแลให้ดี
7. ผู้ติดสุราและยาระดับรุนแรง มักถูกกระตุ้นให้ฆ่าตัวตายได้ง่าย
8. เป็นผู้เจริญโรคและขี้บ่นบอกอาการเป็นโรคนั้นโรคนี้อยู่เนืองๆ โดยไม่มีสาเหตุอาการอันชวนให้เชื่อว่าเป็นโรคเช่นนั้นเลย การพร่ำบ่นบอกอาการอาจปิดบังอารมณ์เศร้าจัดที่แอบซ่อนไว้ ทำให้โอกาสการฆ่าตัวตายมีมากขึ้น
9. ความสิ้นหวังของผู้สูงวัย ด้วยความรู้สึกว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่ง จะล้มหายตายลงเมื่อไรก็ไม่รู้ชีวิตไม่มีหวัง ไร้คุณค่า และไร้ความหมาย
10. เพื่อนรัก-คู่รักมาจากกันด้วยความตายหรืออะไรก็ตาม ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายและโน้มนำให้อารมณ์เศร้าจัด
11. เป็นคนเข้ากับใครๆ ได้ยาก ปรับตัวไม่ค่อยดี แยกตัวออกจากเพื่อนๆ เพื่อนบ้านหรือสังคม จึงขาดผู้ช่วยเหลือดูแล
12. เป็นผู้ตกอยู่ในภาวะสูญเสียทรัพย์สินและเกียรติยศชื่อเสียงอย่างมาก โดยขาดเพื่อนหรือผู้อุปถัมภ์ จึงมีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้ง่าย
13. เป็นผู้ถูกทอดทิ้ง ขาดความเห็นอกเห็นใจจากคนอื่นๆ มีโอกาสฆ่าตัวตายสูง
กรณีของผู้ประสบมหาอุทกภัย เพียงผู้มีจิตอาสา ผู้บริหารในท้องถิ่นไปเยี่ยมเยือนดูแลถามสารทุกข์สุกดิบบ้าง ผู้ประสบภัยจะรู้สึกว่าได้อะไรบางอย่างที่ไม่ธรรมดา (secondary gain) นอกเหนือจากภาครัฐที่ประกาศชดเชยเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่งเป็นเบื้องต้น
ทางป้องกัน 1. ท่านให้นึกไว้เสมอว่า ผู้ประสบอุทกภัยที่มีอาการไม่สบายรุนแรงนั้น มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายหรือทำอันตรายตนเองได้เสมอโดยเฉพาะผู้มีอารมณ์เศร้าซึม เบื่ออาหารหมดเรี่ยวแรง น้ำหนักลด ท้องผูก นอนไม่หลับบ่นบอกว่าไม่สบายอย่างนั้นอย่างนี้ ขาดความสนใจสิ่งแวดล้อม และมีความรู้สึกทางเพศลดลง
2. ให้เก็บสิ่งของอันอาจใช้ฆ่าตัวตาย หรือเป็นอันตรายไว้ให้มิดชิด หยิบฉวยลำบากได้แก่ของมีคมต่างๆ เช่น มีด กรรไกร ส้อมเป็นต้น ทั้งนี้ รวมทั้งน้ำยาฆ่าแมลง น้ำยาชะล้างทำความสะอาดและสารพิษต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เชือก ผ้าขาวม้า หรือเข็มขัดที่อาจใช้แขวนหรือรัดคอได้
3. ต้องดูแลใกล้ชิด กรณีที่ได้เคยกระทำการรุนแรง หรือมีแผนฆ่าตัวตายชัดเจน ต้องไม่ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง
4. หาโอกาสพูดคุย ให้สติ ให้รู้สึกว่ามิได้อยู่โดดเดี่ยว มีผู้ช่วยเหลือและมีผู้รับรู้ความคับแค้นใจของพวกเขา และบอกให้พวกเขารู้ว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ทรัพย์สินสูญเสีย และสามารถจะหาทดแทนได้โดยรักษาชีวิตให้รอดไว้ก่อน
5. การบ่นบอกอาการอยากตายบ่อยๆ ต้องไม่ละเลย โดยต้องไม่คิดว่า “ไม่มีทางทำจริงบ่นแบบนี้มานานแล้ว” ต้องพยายามคิดใหม่ว่าเป็นไปได้และก็ไม่ประมาท
6. ผู้ประสบภัยที่บ่นบอกอาการบ่อยๆ และมีอารมณ์เศร้าจัดผู้นั้น อาจเกิดมีอารมณ์ดีขึ้นอย่างฉับพลันทันที ต้องไม่ไว้วางใจ เพราะเขาอาจรู้สึกสบายอกสบายใจขึ้นมาโดยพลันที่คิดได้ว่า ควรตายดีกว่า ผู้ประสบภัยอารมณ์เศร้าบางคนอาจคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นการหนีจากโลกที่ทุกข์ ยากนี้ไปสู่โลกใหม่ที่สวยงามกว่า นั่นย่อมเป็นการคิดผิด เพราะการฆ่าตัวตายเป็นปาณาติบาต เมื่อโลกนี้ภพนี้ยังไม่ดีเลย โลกหน้าภพหน้าจะดีได้อย่างไร
นักสุขภาพจิตบอกว่า การฆ่าตัวตายอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถ้าไม่ระมัดระวัง
การฆ่าตัวตายบางครั้งเป็น A cry for help ต้องเร่งช่วยเหลือ และอย่าช่วยแค่ชั่วคราวต้องให้เข้มแข็งพอให้เขายืนได้
ต้องเยี่ยมเยือน ติดตามถามทุกข์สุขด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ โดย กิติกร