เมื่อสถานการณ์น้ำท่วม เริ่มคลี่ คลาย สิ่งที่ตามมาคือ การทำความสะอาดบ้านเรือน และการดูแลสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านและชุมชน ซึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้รณรงค์ความปลอดภัยในโครงการร่วมด้วยช่วยกัน รื้อ ล้าง หลังน้ำลด
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวไทยในขณะที่จะเข้าไปรื้อ ล้าง หลังน้ำลด จึงขอแนะนำคือ ให้ตรวจสอบความเสียหายของระบบไฟฟ้า ที่ต้องสับคัทเอาท์หรือสะพานไฟลงก่อน ต่อมาคือ ตัวบ้านและบริเวณบ้าน ตรวจสอบความเสียหาย ชำรุดของตัวบ้าน และบริเวณโดยรอบ เช่น ประตู หน้าต่าง หลังคา ระเบียง รั้ว ฯลฯ และซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงก่อนเข้าอยู่ ทางด้าน ความสะอาดของบ้าน และวัสดุอุปกรณ์ในบ้านก็สำคัญ ก่อนทำความสะอาด ให้เก็บคัดแยกเศษวัสดุ และขยะประเภทต่างๆ ตรวจสอบความสกปรกและการดูดซึมน้ำ
ดร.นพ.สมยศ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของการจัดการน้ำดื่มน้ำดื่มบรรจุขวด ฝาต้องปิดสนิทมีพลาสติกหุ้ม และมี เครื่องหมาย อย. น้ำประปา ควรต้มให้เดือนนาน 5 นาที และ เครื่องกรองน้ำ ให้ตรวจสอบความชำรุด หากถูกน้ำท่วม ควรเปลี่ยนไส้กรอง และทำความสะอาดก่อนใช้งานสำหรับการจัดการน้ำใช้ เรื่องระบบประปา ตรวจสอบความชำรุด และซ่อมแซมก่อนใช้งาน บ่อน้ำตื้น ล้างทำความสะอาดทั้งภายใน และภายนอก เก็บกวาดขยะและสูบน้ำออกให้หมดหรือมากที่สุด รอน้ำซึมเข้ามาใหม่ และเติมน้ำปูนคลอรีนความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ต่อความลึกของน้ำ 1 เมตรภาชนะเก็บกักน้ำ ถ้าน้ำท่วมถึงให้ถ่ายน้ำออก ล้างทำความสะอาดทั้งภายในและภายนอก ก่อนเก็บน้ำใหม่
สำหรับเรื่อง อาหาร เรื่องห้องครัว หากเป็นเชื้อรา ต้องขัดล้างทำความสะอาด ปล่อยให้แห้ง หรือฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ภาชนะ เครื่องครัว ที่ยังใช้งานได้ ให้ขัดล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง หรือฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว ตรวจสอบสภาพและซ่อมก่อนใช้งาน หากเปียกชื้น ให้ตากแดดให้แห้ง
ในเรื่องของการจัดการขยะ สิ่งของเครื่องใช้ วัสดุที่เสียหาย คัดแยกขายเป็นของเก่า ส่วนที่ขายไม่ได้ให้รวบรวมไปกำจัดทิ้ง ขยะอันตรายเช่น ของมีคม ให้ใช้กระดาษหรือวัสดุอื่นห่อหุ้ม เขียนว่า “ของมีคม” ก่อนนำไปทิ้งขยะที่ย่อยสลายได้หรือขยะเปียก เช่น เศษอาหาร ใส่ถุงดำ มัด ปากให้แน่น ก่อนนำไปทิ้ง ทางด้านการทำความสะอาดเชื้อราในบ้าน หลังน้ำท่วมอาจจะมีเชื้อราเกาะตามบริเวณที่อับชื้น และปล่อยละอองสารบางอย่างล่องลอยในอากาศ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูก ภูมิแพ้ หรือโรคระบบทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทาน ไม่ดี รวมถึงเด็กและคนแก่ ไม่ควรเข้าไปในบ้านก่อนที่จะมีการทำความสะอาดเรียบร้อย ผู้ที่เข้าไปทำความสะอาดควรมีสุขภาพแข็งแรง ก่อนทำเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทดีสักครึ่งชั่วโมง สวมหน้ากากอนามัยถุงมือ แว่นตาครอบ รองเท้ายาง เพื่อมิให้สัมผัสกับเชื้อราในอากาศหรือตามพื้น และหยุดพักออกมาหายใจอากาศบริสุทธิ์ ทุก 1 หรือ 2 ชั่วโมง
หลีกเลี่ยงการใช้น้ำแรงดันสูงฉีด เพราะจะทำให้เชื้อราฟุ้งกระจาย ให้ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่เช็ดไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อออกดีแล้วเช็ดตามด้วยน้ำผสมคลอรีนหรือน้ำยาฟอกผ้าขาวที่มีขายทั่วไป เครื่องใช้ที่ทำความสะอาดแล้วควรนำมาตากแดดให้แห้งสนิทเปิดให้แดดส่องเข้า บ้านเพื่อไล่ความชื้น เครื่องปรับอากาศควรถอดออกทำความสะอาดและเปลี่ยนฟิลเตอร์หลังเข้าอยู่อาศัย แล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์