หลิกรอกระ 

กลุ่มเสียงชาวบ้าน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ฤดูฝนเวียนมาอีกครั้ง คนปกาเกอะญอมุ่งหน้าไปยังนาไร่บนดอยในขณะที่ลูกหลานหิ้วกระเป๋าไปโรงเรียน ผมนั่งอยู่บนชานบ้านหลังน้อย สายฝนที่โปรยปราย กิ่งไม้ที่ไหวด้วยสายลม และแสงฟ้าแปลบปลาบจาง ๆ บนผืนฟ้าไกลพาให้ใจให้หวนกลับไปยังวันเวลาหนึ่งเนิ่นนานมาแล้ว

 

วันแรกที่ผมได้ไปโรงเรียนนั้นเป็นฤดูฝน ผมเติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านในป่าเขาของรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ที่นั่นไม่มีโรงเรียน ถึงวัยเรียนแล้วผมก็ยังวิ่งเล่นอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ฝนโปรยปรายลงมาเหมือนวันนี้ ผมอายุได้เกือบสิบขวบ แม่ก็ห่อเสื้อผ้าผมด้วยผ้าอ้อมของน้อง แล้วพาผมออกเดินดอยไปหาป้าที่อยู่ในหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง

 

แม่พาผมไปหาป้า แล้วก็พาผมไปฝากไว้ที่โรงเรียน จากนั้นแม่ก็แอบกลับไป เย็นวันนั้นพอโรงเรียนเลิก ผมวิ่งกลับมาที่บ้านป้าแล้วถามหาแม่ พอป้าบอกว่าแม่กลับบ้านไปแล้วและผมต้องอยู่ที่นี่เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ผมก็ร้องไห้โฮ ปากโวยวายทั้งน้ำตาว่าแม่ไม่รักผม จึงได้ทิ้งผมไว้แบบนี้ ผมคร่ำครวญให้ป้าพากลับไปหาแม่ ในที่สุดป้าก็ใจอ่อน พาผมเดินดอยหลายชั่วโมงกลับไปบ้าน พ่อแม่ของผมพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผมกลับไปอยู่กับป้า แต่มิใยที่พวกเขาจะพร่ำบอกว่าการศึกษานั้นสำคัญแค่ไหน ผมก็อาละวาดยืนกรานว่าจะไม่ไปไหนทั้งนั้น ในที่สุด ผมจึงไปโรงเรียนที่ว่าได้เพียงวันเดียว

 

จากนั้นไม่นาน สงครามระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติก็เคลื่อนเข้ามาใกล้หมู่บ้านของเรา กองทัพพม่าออกคำสั่งให้หมู่บ้านผมย้ายไปยังเขตที่พวกเขาควบคุมเเพราะกลัวเราจะสนับสนุนทหารกะเหรี่ยงแน่นอนว่าไม่มีใครอยากไปอยู่ในพื้นที่ควบคุมอย่างนั้น พ่อแม่ของผมตัดสินใจทิ้งบ้านและไร่นาของเราเพื่อหนีมาชายแดน เรามาอยู่ที่ชุมชนคนพลัดถิ่นในพม่าชื่อ “ป้อปาท่า” ติดฝั่งไทย ไม่ไกลจากค่ายผู้ลี้ภัยโชโกลในอำเภอท่าสองยางมากนัก ตอนนั้นค่ายผู้ลี้ภัยยังไม่ทำทะเบียนรับคนมาใหม่ เราจึงพักอยู่ที่ “ป้อปาท่า” กันไปก่อน

 

ที่ป้อปาท่านี้เอง ผมได้เริ่มไปเรียนหนังสือจริงจัง แต่ก็ไม่ต่อเนื่องอยู่ดี เพราะค่ายพักนี้อยู่ในฝั่งพม่า เมื่อไรก็ตามที่การสู้รบใกล้เข้ามา พวกเราก็ต้องหนีไปซ่อนตัวในป่า หรือหนีมาฝั่งไทย ซึ่งเมื่อทหารไทยรู้ว่าทหารพม่ากลับไปแล้ว เขาก็จะมาบอกให้เรากลับไป เมื่อทหารพม่ามาอีก เราก็ต้องหนีอีก ผมเรียนไปหนีไปอยู่แบบนั้นทั้งปี จนกระทั่งฤดูฝนปีนั้น ฝนตกหนักและฟ้าแลบแปลบปลาบเหมือนวันนี้ น้ำหลากจนไม่มีที่หลบภัยในฝั่งพม่า เราก็ข้ามแม่น้ำเมยเข้ามาแอบอยู่ในซอกผาตีนดอยใหญ่ในประเทศไทยอีกครั้ง ขณะที่หลบอยู่ที่นั่น น้าสาวคนเล็กของผมซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยอยู่แถว ๆ อำเภอพบพระก็มาตามหา สมัยนั้นเจ้าหน้าที่ไทยไม่เข้มงวดกับการเดินทางของผู้ลี้ภัยนัก แกเลยหาเราเจอได้ไม่ยาก น้าสะเทือนใจที่เห็นพวกเราต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แถมผมกับพี่น้องก็ไม่ได้เรียนหนังสือ แกเลยว่าจะพาพี่สาวกับผมไปด้วยกัน พี่สาวผมจะได้ไปอยู่กับน้า ส่วนผมจะต้องไปอยู่กับญาติของเราอีกคนที่ค่ายผู้ลี้ภัยห้วยกะโหลก อำเภอแม่สอด

 

ผมมองแม่ยัดกางเกงปะตูดกับเสื้อตัวเก่าสีมอ ๆ สองชุดลงในย่าม คราวนี้ผมไม่ได้อาละวาด ยอมขึ้นรถไปกับน้าโดยดี ในใจก็อยากไปเรียนหนังสือสบาย ๆ ไม่ต้องหลบหนีอยู่แบบนี้ บางทีผมคิดว่าที่ที่จะไปนั้นน้าบอกว่านั่งรถแค่สามชั่วโมง ผมคงไปมาหาพ่อแม่ได้ง่าย ๆ ด้วย วันรุ่งขึ้นป้าที่ผมไปอยู่ด้วยพาผมไปฝากเข้าโรงเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยห้วยกะโหลก ครูจัดให้ผมไปเข้าห้องป.หนึ่ง ผมเดินเข้าห้องไปเจอครูกำลังเขียนตัวหนังสือฝรั่ง ผมมองมันอย่างงุนงง ใจเต้นตูมตาม แอบนึกในใจว่า แย่แล้วเรา เขียนหนังสือตามเขาไม่ได้สักตัว

 

ถึงเวลาพักเที่ยง ผมต้องเดินกลับไปกินข้าวบ้านป้า แต่ผมจำทางไม่ได้ ค่ายผู้ลี้ภัยห้วยกะโหลกใหญ่โตกว่าหมู่บ้านทุกแห่งที่ผมเคยไป ผมจึงนั่งแอบอยู่แถว ๆ โรงเรียนจนถึงบ่าย ตอนที่เดินกลับเข้าห้องเรียน ผมรู้ว่าเพื่อนบางคนจ้องมองผม มีบางคนส่งเสียงหัวเราะคิกคักด้วย เขาคงหัวเราะกางเกงตูดปะของผมแน่ ๆ ผมลงนั่งที่เก้าอี้ตัวเดิมแต่แล้วก็มีครูอีกคนเดินเข้ามาบอกว่า ผมต้องไปเริ่มเรียนชั้นอนุบาลหนึ่ง ไม่ใช่ป.หนึ่ง  ผมเดินตามครูคนนั้นไปนั่งในห้องอนุบาลหนึ่งกับเด็กเล็ก จนตอนเย็นครูก็มาคุยด้วยเพื่อตรวจสอบพื้นฐานความรู้ของผมอีกแล้วก็สรุปว่า ผมพอจะรู้จักตัวหนังสือกะเหรี่ยงบ้าง ดังนั้น ผมจึงควรไปเรียนชั้นอนุบาลสอง

 

ป้ามารับตอนโรงเรียนเลิก ผมไม่ได้เล่าให้ป้าฟังเลยว่าวันนี้ผมถูกลดชั้นไปอนุบาลหนึ่งและพรุ่งนี้จะไปเรียนชั้นอนุบาลสอง ผมบอกป้าแต่ว่า ไปส่งผมหาพ่อกับแม่เถอะ ผมไม่รู้หนังสือเลยและผมควรจะกลับไปเรียนที่ป้อปาทะมากกว่า แต่ป้าไม่ว่าอะไรสักคำ วันรุ่งขึ้นแกบอกให้ผมเก็บเสื้อผ้าที่ขนมาจากบ้านไว้ แล้วเอาเสื้อผ้าชุดใหม่มาให้ใส่ไปโรงเรียน ป้าเข้าไปคุยกับครูอีกที ผลปรากฎว่าผมถูกจัดให้ไปเรียนอนุบาลหนึ่งเหมือนเมื่อวาน แล้วตอนเย็นก็จะต้องไปเรียนพิเศษที่บ้านของครูทุกวัน

 

ผ่านไปเกือบสองเดือน พ่อกับแม่ผมก็มาเยี่ยม ผมดีใจมาก ไม่ยอมอยู่ห่างพวกเขาเลย ไม่ยอมไปเรียนหนังสือด้วยใครจะว่ายังไงก็ไม่ฟัง พอพ่อแม่บอกว่าจะกลับ ผมก็ร้องไห้จะตามกลับ จนในที่สุดพวกเขาก็หลอกว่าจะเดินไปบ้านคนรู้จักเดี๋ยวเดียว แล้วก็หายกลับบ้านไป ผมแอบร้องไห้อยู่คนเดียวหลายวัน คิดว่าพ่อแม่ไม่รักผมถึงได้เอาผมมาปล่อยไว้แบบนี้ พ่อแม่ไม่สงสารผมเลยที่ผมต้องมาอยู่อย่างอับอายที่นี่ ผมคิดเคียดแค้นตามประสาเด็กว่า คอยดูเถอะ ถ้าเรียนจบออกจากที่นี่ไปเมื่อไหร่ ผมจะไม่ไปช่วยงานพ่อแม่เด็ดขาด

 

ปีนั้น พอผลสอบปลายภาคออกมา ครูก็มาบอกว่า ผลจากการที่ผมเรียนพิเศษอย่างหนัก ผมจึงได้คะแนนดีจนสามารถข้ามชั้นไปเรียนประถมสองได้เลยในปีหน้า ผมรู้สึกดีขึ้น แล้วก็เรียนหนังสืออยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยนั้นต่อจนจบมัธยมปลายโดยที่พ่อแม่ไม่เคยมาเยี่ยมอีกเลย ผมเป็นคนแรกในบรรดาพี่น้องที่เรียนจบ และเป็นคนเดียวได้เรียนต่อในคอร์สพิเศษที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้ลี้ภัยในค่ายจะเรียนได้ ผมกลับมาเจอพ่อแม่ที่ยังอาศัยอยู่ไม่ไกลจากซอกผาที่เราหลบกันอยู่วันนั้น แล้วผมก็ได้เป็นครูและทำงานชุมชนอีกหลายอย่าง ผมลืมเรื่องที่ผมโกรธพ่อแม่ไปแล้ว ผมไม่ได้นึกถึงเรื่องตอนเด็ก ๆ มากนัก

 

เช้าวันนี้ สายฝนสายฟ้าพาผมกลับไปยังอดีต ผมนึกถึงวันที่ผมร้องไห้จะกลับบ้าน แล้วผมก็คิดถึงเจ้าลูกชายที่อายุแค่สามขวบกว่า เขาจะร้องไห้เหมือนผมไหมนะ เขาจะคิดอย่างไรนะ ผมเพิ่งตัดใจส่งเขาไปอยู่กับพ่อแม่ของผมที่ตอนนี้อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเข้าโรงเรียนดี ๆ ผมคิดอยู่นานกว่าจะตัดสินใจได้ มันไม่มีหนทางอื่นแล้วจริง ๆ ไม่มีโรงเรียนที่ลูกจะเรียนได้ในสถานที่ที่ผมอยู่เลย

 

ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าพ่อแม่ผมรู้สึกอย่างไรในวันที่ยอมให้ผมไปกับน้า พอจะเดาได้แล้วว่าเขาจะต้องอดทนขนาดไหนที่ให้ลูกไปอยู่ไกลตาเป็นสิบปี ชีวิตพวกเราไม่มีทางเลือกมากนัก และเขาก็ทำในสิ่งที่เขาเชื่อว่าดีที่สุดสำหรับผม ผมลืมคิดไปว่าอันที่จริงผมก็ได้รับจดหมายที่เขาเขียนให้กำลังใจมาทุกปี จดหมายนั้นส่งมาถี่ยิ่งขึ้นในยามที่ผมโตขึ้น ในแต่ละปีแม่จะบอกให้ผมขออะไรก็ได้เพื่อเป็นรางวัลที่สอบผ่าน และของขวัญชิ้นแรกที่ผมดีใจอย่างที่สุดที่ได้มาก็คือรองเท้าฟุตบอลคู่หนึ่ง นั่นคือสิ่งแทนความรักของแม่ที่ผมไม่เคยเข้าใจ ผมได้แต่คิดว่าทำไมเขาไม่มาเยี่ยมผม แต่ตอนนี้ผมเองกลับไม่แน่ใจว่าผมควรจะไปเยี่ยมลูกชายไหม เขาคงจะร้องไห้ขอตามกลับมา คงจะไม่มีใจเรียนหนังสือ แล้วในที่สุดผมหรือแม่ของเขาก็อาจจะใจอ่อน

 

ในชีวิตเราที่มีข้อจำกัด ผมจำเป็นต้องเลือกทำในแบบที่ลูกชายจะคิดว่าผมไม่รักเขา ผมหวังว่าเขาจะไม่เจ็บปวดเกินไปและรับรู้ความรักของผมได้ในวันหนึ่ง เหมือนที่ผมรับรู้ความรักของพ่อแม่ผมได้ในวันนี้

—————————–

 



ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th