ลอหว่าดิ
“ลุงฝากลูกไว้กับครูที่โรงเรียนไม่ได้ฝากไว้กับตำรวจ ลูกลุงทำผิดทำไมไม่บอกลุงก่อน ทำไมต้องรีบส่งให้ตำรวจ เด็กก็มีพ่อมี
แม่เหมือนกัน” เพื่อนบ้านวัย 50 ต้น ๆ เล่าให้ผมฟังถึงความคับข้องใจ ที่ลูกชายของแกถูกครูพาไปส่งให้กับตำรวจ เนื่องจากขโมยจักรยานเพื่อน
ลุงเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อนบ้านมาบอกว่าตำรวจทำร้ายร่างกายลูกชายแก แต่ลุงก็ไม่ได้ปักใจเชื่อ เพราะลูกชายแกเป็นเพียงเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และไม่เคยทำผิดร้ายแรงเลยสักครั้ง แต่เมื่อเพื่อน ๆ ของลูกชายมาเล่าให้ฟังว่า ครูพาลูกแกไปส่งให้ตำรวจเพราะขโมยจักรยานเพื่อน แกจึงถามความจริงจากลูกชาย ลูกลุงก็สารภาพว่าเอาจักรยานของเพื่อนไปขี่จริง แต่ไม่ได้ตั้งใจจะขโมยจักรยาน เขาแค่อยากลองขี่จักรยานมีเกียร์ดูสักครั้ง
ลูกชายของลุงเล่าว่าระหว่างที่เดินออกจากโรงเรียนมากินข้าวกลางวันที่บ้าน เขาเห็นรถจักรยานของเพื่อนจอดไว้ในโรงรถ ด้วยความคิดชั่ววูบเขาจึงใช้ก้อนหินทุบแม่กุญแจ แล้วชวนเพื่อนที่เดินมาด้วยกันปั่นจักรยานกลับบ้าน แต่ด้วยความที่กลัวว่าพ่อจะรู้ว่าตนเอารถจักรยานของเพื่อนมา เขาจึงจอดจักรยานทิ้งไว้ที่ข้างถนนคอนกรีตก่อนถึงบ้าน
คงมีใครสักคนที่เห็นเหตุการณ์นำเรื่องไปฟ้องครู ครูและเด็กเจ้าของจักรยานจึงออกตามหารถ จนมาเจอรถที่เขาจอดไว้ข้างทาง เขาเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บนบ้านด้วยความกลัวว่าครูจะลงโทษ จนหมดเวลาพักเที่ยงเขาและเพื่อนที่มาด้วยกันจึงกลับเข้าไปที่โรงเรียนเพื่อ เรียนหนังสือในช่วงบ่าย
บ่ายวันนั้นครูได้เรียกพบเด็ก ม.1-ม.2 ทุกคน แล้วถามว่าใครเป็นคนขี่จักรยานของเพื่อนไปทิ้งไว้นอกโรงเรียน ลูกชายของลุงกับเพื่อนที่ซ้อนท้ายไปก็ยอมรับสารภาพ จากนั้นครูก็พาเขาทั้งสองไปที่ป้อมตำรวจ ที่นั่นตำรวจตบหน้าและใช้สันมีดเคาะหัวเขาทั้งคู่ โดยที่ไม่มีตำรวจคนไหนถามถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวที่เกิดขึ้น จนบ่ายสองเขาทั้งคู่จึงถูกปล่อยตัวกลับโรงเรียน แต่เขาก็ไม่กล้าบอกพ่อว่าโดนตำรวจทำร้ายเพราะกลัวว่าพ่อจะตี จนเมื่อเพื่อน ๆ มาบอกพ่อในวันนี้ ความจึงแตกในที่สุด
เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากลูกชาย ลุงก็มาคิดว่าลูกแกไม่ได้ไปฆ่าใครหรือไปทะเลาะชกต่อยกับใคร ทำไมครูถึงต้องพาเด็กไปส่งตำรวจแทนที่จะมาบอกพ่อแม่ก่อน เวลาที่เด็กถูกตำรวจทำร้ายครูก็ยังไม่ห้ามปรามอีก ตำรวจเองก็ไม่น่าทำร้ายเด็กได้ลงคอ
วันต่อมาลุงจึงชวนพ่อแม่ของเด็กที่ถูกนำไปส่งตำรวจพร้อมกับลูกชาย ไปพบกับคณะกรรมการผู้ปกครองของโรงเรียน และขอพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อขอคำอธิบายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในวงประชุมมีครูในโรงเรียนมาร่วม 4 คน แต่ครูที่พาลูกชายของแกไปส่งตำรวจกลับไม่มา ลุงเองก็ไม่รู้ว่าในที่ประชุมเขาคุยอะไรหรือตกลงกันอย่างไร เพราะแกพูดและฟังภาษาไทยไม่ได้ มารู้จากเพื่อนผู้ปกครองที่เล่าให้ฟังหลังการประชุมว่า ผู้อำนวยการขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะปรับปรุงมาตรการการลงโทษนักเรียนให้มีความเหมาะสม
ถ้าลุงพูดภาษาไทยได้ ลุงอยากจะบอกที่ประชุมว่า บทบาทหน้าที่ของครูกับนักเรียนในมุมมองของลุง คือครูควรรักลูกศิษย์เหมือนลูก ครูต้องไม่ลงโทษเด็กเพียงเพื่อให้กลัว แต่ต้องลงโทษเพื่อสั่งสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนดี ลุงเองก็ไม่ว่าอะไรหากครูจะลงโทษลูกชายถ้าเขาทำผิด แต่ไม่ใช่นำเด็กไปส่งให้ตำรวจลงโทษ เหตุการณ์คราวนี้ลุงเองก็ลงโทษลูก แต่ก่อนตีลุงก็ถามถึงที่มาที่ไปในการทำผิดและสอนลูกก่อน เพราะลุงตีลูกด้วยความเมตตา อยากให้ลูกคิดได้ว่าทำผิดอะไรแล้วจดจำเพื่อจะได้ไม่ทำผิดซ้ำสอง
เรื่องที่ลุงเล่า เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครูคนนี้ที่ผมได้ยินมาตลอด 2 – 3 ปีที่เขาย้ายมาสอนในหมู่บ้านของเรา เด็ก ๆ เคยเล่าให้ผมฟังว่าถูกทำโทษด้วยการตบหน้า บางทีเขาก็ขู่เด็กโดยเอาลูกปืนให้เด็กดู แต่สิ่งที่เด็ก ๆ รับไม่ได้ที่สุดคือคำพูดที่ว่า “เกลียดเด็กกะเหรี่ยง” ขนาดเด็กทาแป้งทานาคามาโรงเรียนซึ่งเป็นเรื่องปรกติของคนกะเหรี่ยงในหมู่ บ้าน เขายังพูดกับเด็กว่า “ไปล้างออกซะ ก่อนที่จะโดนตบหน้า”
หลังจากเหตุการณ์ที่ครูพาลูกของลุงไปส่งตำรวจเพียงหนึ่งวัน นักเรียนประมาณ 40-50 คน ที่ไม่พอใจกับการประพฤติตัวไม่เหมาะสมของครู ได้รวมตัวกันเพื่อไปพบกับครูคนนี้ แต่ครูก็ไม่กล้าออกมาพบ จนผู้อำนวยการต้องขอร้องให้นักเรียนสลายตัวและสัญญาว่าจะพูดกับครูคนนี้ให้ เขาปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น
ผมเห็นใจผู้ที่ทำอาชีพครูที่ต้องมาสอนในหมู่บ้านตามแนวชายแดน เพราะพวกเขาต้องอยู่กับสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างจากในเมือง แต่ถ้าครูได้เปิดใจและเรียนรู้กับสังคมใหม่ที่เขาได้พบ ให้เกียรติและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกศิษย์และชาวบ้าน ผมเชื่อว่าปัญหาที่เกิดกับโรงเรียนในหมู่บ้านชายแดนของผมจะไม่เกิดขึ้นกับ ที่อื่นอีก
—
ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th