เราควรปฏิบัติอย่างไรกับผู้ป่วยโคม่า?

ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผู้ป่วยโคม่านั้น ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ เพราะไม่มีอาการตอบสนองใด ๆ เลย จึงมักปฏิบัติกับเขาเหมือนกับคนที่สลบไสลไร้สัมปฤดี

แต่การรับรู้ของคนเรานั้นซับซ้อนกว่าที่เข้าใจกัน มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ว่าผู้ป่วยโคม่าซึ่งดูเหมือนหมดสตินั้นยังสามารถได้ ยินเสียงจากญาติหรือผู้ที่อยู่รอบเตียงได้ แม้จะไม่ตลอดเวลาก็ตาม

คุณยายวัย ๗๐ หัวใจหยุดเต้น แต่หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือจนหัวใจเต้นใหม่ ก็นอนแน่นิ่งไม่ตอบสนองใด ๆ นานนับเดือน ระหว่างนั้นมีญาติมิตรมาเยี่ยมมากมาย ใครต่อใครก็บอกคุณยายว่า “หายไว ๆ แล้วกลับบ้านนะ ” แต่คุณยายไม่แสดงอาการรับรู้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามลูกชายที่เฝ้าไข้สังเกตว่า เวลาพลิกตัวแม่ จะมีน้ำตาไหลออกมาเหมือนกับว่าแม่รู้สึกเจ็บ วันหนึ่งจึงพูดกับแม่ว่า “แม่เหนื่อยไหม ทรมานไหม ถ้าแม่เหนื่อย แม่ทรมาน จะไปก็ได้นะ ไม่ต้องเป็นห่วง” จากนั้นก็ชวนแม่สวดมนต์ทำสมาธิ พอทำไปได้แค่ ๕ นาที ความดันของคุณยายก็ตกจนเหลือศูนย์ แล้วก็จากไปอย่างสงบ

กรณีนี้ไม่เพียงชี้ว่าผู้ป่วยโคม่าสามารถได้ยินเสียงของคนรอบข้างเท่า นั้น หากยังย้ำให้เราพึงตระหนักว่า คำพูดของญาติพี่น้องหรือหมอพยาบาลมีความสำคัญมากต่อผู้ป่วย ยิ่งผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งหมดหวังที่จะรักษาแล้ว การพูดให้เขาปล่อยวาง เพื่อจากไปอย่างสงบ น่าจะดีกว่าการพูดเหนี่ยวรั้งเขาเอาไว้ เพราะการพูดอย่างหลังนั้นอาจทำให้เขาพยายามยื้อสู้กับความตายด้วยความรู้สึก ห่วงใยผู้ที่ยังอยู่ หรือรู้สึกผิดที่จะต้องตาย ซึ่งมีแต่จะทำให้เขาทุกข์มากขึ้น

หมอผู้หนึ่งบินกลับจากอเมริกาทันทีที่รู้ว่าแม่ป่วยหนัก แต่มาเยี่ยมแม่ได้แค่ ๒ วัน แม่ก็หัวใจหยุดเต้น จึงถูกปั๊มหัวใจอย่างเต็มที่ ผู้เป็นลูกทำใจไม่ได้ที่แม่จากไปกะทันหัน ถึงกับร่ำไห้ขณะเขย่าตัวแม่ แล้วพูดกับแม่ว่า “แม่อย่าเพิ่งไป แม่ทิ้งผมไปทำไม ผมอุตส่าห์รีบกลับมาหาแม่ ทำไมแม่อยู่กับผมแค่สองวัน” ผ่านไปสักพักแม่ก็ฟื้น เมื่อรู้สึกตัวก็พูดกับลูกว่า “ทีหลังอย่าเรียกแม่กลับมาอีกนะ” แล้วแม่ก็เล่าว่า ตอนที่หัวใจหยุดเต้นนั้น รอบตัวมีแต่ความมืดมิด สักครู่ก็เห็นแสงสว่างอยู่ไกล ๆ ขณะที่กำลังลอยไปยังแสงนั้นจนเกือบถึงแล้ว ได้ยินเสียงลูกร้องไห้ รู้สึกเป็นห่วงลูกมาก จึงตัดสินใจกลับมาเพื่อบอกลูกให้ปล่อยแม่ไปเถิด

ไม่เพียงได้ยินเท่านั้น ผู้ป่วยโคม่ายังสามารถเห็นสิ่งรอบตัวได้ด้วย แม้ดูเหมือนสลบไสลอยู่ก็ตาม มีชายผู้หนึ่งหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ทันทีที่ถึงโรงพยาบาล พยาบาลก็ทำการกระตุ้นหัวใจอย่างเร่งด่วน พร้อมกับใส่ท่อช่วยหายใจ แต่เนื่องจากผู้ป่วยสวมฟันปลอม จึงต้องถอดออกก่อนที่จะใส่ท่อ หลังจากช่วยชีวิตไว้ได้ ผู้ป่วยได้พักฟื้นที่โรงพยาบาล หลายวันต่อมาชายผู้นี้เห็นพยาบาลคนหนึ่งเดินผ่านมา จึงทักและถามว่า “คุณใช่ไหมที่ถอดฟันปลอมผม?” พยาบาลประหลาดใจมากว่าเขารู้ได้อย่างไรเพราะตอนนั้นเขาหมดสติอยู่

มิใช่แต่ผู้ป่วยโคม่าเท่านั้น กระทั่งผู้ป่วยที่หมอวินิจฉัยว่ามีสภาพคล้าย “ผัก” ก็มีหลักฐานว่าเขาสามารถรับรู้ได้ ไม่เพียงได้ยินและสามารถคิดตามได้เท่านั้น หากยังรับรู้สัมผัสและความเจ็บปวดได้ด้วย

ผู้ป่วยรายหนึ่งมีเส้นเลือดในสมองแตกทั้งสองข้าง และหมดสติไป จากนั้นก็ไม่แสดงอาการตอบสนองอีกเลย หมอวินิจฉัยว่าเป็นผัก คือแน่นิ่งเหมือนเจ้าชายนิทรา แต่ต่อมาได้รับการเยียวยารักษาจนสามารถฟื้นขึ้นมาได้ รวมทั้งได้รับการบำบัดจนมีชีวิตเหมือนคนปกติ เขาได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่หมอพยายามวินิจฉัยว่าเขาเป็นผักหรือไม่ หมอได้บีบหัวแม่โป้งของเขาอย่างแรง ตอนนั้นเขาปวดมาก อยากตะโกนให้หมอหยุดบีบ แต่ก็พูดไม่ได้ จากนั้นก็ได้ยินหมอพูดกันเองว่า “คนไข้คนนี้เป็นผักถาวร”

แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ผู้ป่วยโคม่าหรือผู้ที่มีสภาพคล้ายผักทุกคนสามารถได้ยิน เห็น หรือรับรู้สัมผัสทางกายได้ แต่ย่อมเป็นการดีกว่าหากเราปฏิบัติต่อผู้ป่วยดังกล่าวเสมือนคนปกติที่สามารถ รับรู้ได้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวหรือกับตัวเอง นั่นคือปฏิบัติกับเขาด้วยความอ่อนโยน เวลาจะใส่ท่อ ฉีดยา ขยับตัวเขา ก็ควรบอกให้เขารู้ก่อน

นอกจากการดูแลทางกายแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ การบรรเทาความทุกข์ทางใจ ลูกหลานหรือญาติมิตรควรพูดกับเขาด้วยความใส่ใจ แสดงความรักต่อเขาด้วยสัมผัสหรือน้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่านหนังสือธรรมะหรือหนังสือเล่มโปรดให้เขาฟัง ชวนเขาสวดมนต์พร้อมกับเรา หรือสวดมนต์ให้เขาฟัง จะชวนเขาทำสมาธิ ด้วยการรับรู้ลมหายใจเข้าออก โดยบริกรรมว่า “พุท-โธ”ด้วยก็ได้

หากผู้ป่วยอาการทรุดหนัก จนมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ลูกหลานญาติมิตรควรน้อมใจให้เขานึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งดีงามที่เขา นับถือ พูดถึงความรักและความภาคภูมิใจที่เรามีต่อเขา ชวนเขาย้อนระลึกถึงความดีที่เขาเคยทำ ให้ความมั่นใจแก่เขาว่าทุกคนที่อยู่ข้างหลังจะอยู่ได้แม้ไม่มีเขา รวมทั้งแนะนำให้เขาปล่อยวางสิ่งทั้งปวง รวมทั้งสังขารร่างกายนี้

มีผู้ป่วยโคม่าหลายคนถึงกับพนมมือเมื่อได้ยินเรื่องการทำบุญใส่บาตร บางคนหายกระสับกระส่าย มีอาการนิ่งสงบ แต่ถึงแม้เขาจะไม่แสดงอาการตอบสนองใด ๆ ก็มิพึงคิดว่าเขาไม่รับรู้ ในยามนั้นเขาอาจมีปีติ อิ่มเอิบ ปล่อยวาง และพร้อมจะจากไปก็ได้

การปฏิบัติกับผู้ป่วยโคม่าด้วยการมอบสิ่งดีที่สุดในทางจิตใจให้แก่เขา นอกจากจะดีกับผู้ป่วยแล้ว ยังดีต่อผู้ปฏิบัติด้วย เพราะช่วยให้ใจสงบ เป็นบุญ สงบ และคลายจากความเศร้าโศกเสียใจ กล่าวอีกนัยหนึ่งลูกหลานญาติมิตรก็ได้รับการเยียวยาทางจิตใจด้วย

พระไพศาล วิสาโล
ที่มา http://www.visalo.org/article/secret255309.htm