ชื่นชมอย่างจริงใจ
ใน ช่วงที่ตนเองยังอยู่ในวาระของการเป็นอาสาสมัครครูอาสาฯ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือมอส. ได้จัดเวทีให้อาสาสมัครได้แลกเปลี่ยนความคิดถึงมุมมองต่อชีวิต และการทำงานในบทบาทอาสาสมัครร่วมกันหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมถึงระหว่างการทำงานในช่วงระยะเวลา ๑ ปีของการเป็นอาสาสมัคร
วงสนทนาขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกร่วมวงเป็นจำนวนมาก ได้เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็น เป็นสิ่งหนึ่งที่ตนเองไม่มีประสบการณ์มาก่อน หรือมีก็น้อย แต่เมื่อได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวงสนทนาเช่นนี้บ่อยครั้ง จึงค่อยๆ เกิดความคุ้นเคยมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งบรรยากาศในวงสนทนาก็ค่อนข้างเป็นอิสระ ไม่มีกรอบ เปิดกว้างและให้ความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น จึงทำให้ตนเองเริ่มกล้าแสดงทัศนะที่มีต่อเรื่องต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
เมื่อมาทำงานที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งมักมีกิจกรรมในลักษณะของวงสนทนาใหญ่เช่นกัน ทำให้ตนเองไม่รู้สึกอึดอัด กังวลใจอย่างที่น่าจะเป็นตามลักษณะนิสัยส่วนตัว แต่กลับสามารถพูดแสดงความคิดเห็น-ความรู้สึกได้บ้างในบางครั้ง โดยไม่รู้สึกขัดเขินมากจนเกินไป
นอกจากนี้ กิจกรรมในกระบวนการของมอส. ได้ทำให้อาสาสมัครสัมผัสกับความรู้สึกที่ดี ที่เกิดขึ้นจากการชื่นชมกันและกันอย่างตรงไปตรงมา เมื่อได้สัมผัสว่าการชื่นชมอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาทำให้เกิดความรู้สึกที่ ดี สร้างกำลังใจให้มีพลังมากเพียงใดนั้น ตนเองจึงอยากส่งผ่านความรู้สึกเช่นนี้ให้เกิดกับคนรอบข้างบ้าง จึงได้เริ่มปรับตัวเอง ให้กล้าพูดชื่นชมการกระทำหรือสิ่งที่ดีงามของผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา เพราะตามปกติ ตนเองมักแอบชื่นชมผู้อื่นอยู่แต่เพียงเงียบๆ ในใจ แม้ว่าการพูดชื่นชมผู้อื่นในครั้งแรกๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกขัดเขินอยู่บ้าง แต่หากทำบ่อยครั้งโดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องเป็นการชื่นชมอย่างจริงใจเท่านั้น น่าจะทำให้ตนเองกลายเป็นคนที่มีบุคลิกของความกล้าแสดงออกในทางที่ดีงามได้ อีกทางหนึ่งในที่สุด
เติมพลังใจไฟฝัน
กระบวนการของมอส. ที่จัดให้อาสาสมัครได้กลับมาพบปะพูดคุยกันนั้น เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครได้เปิดโลกทัศน์ของตนจากการได้ฟังหลาก หลายเรื่องราว จากประสบการณ์การทำงานของวิทยากร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน ทำให้ตนเองได้มีความรู้ เปิดโลกให้กว้างขึ้นว่า “การศึกษาคือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา” และเปลี่ยนมุมมองความคิดในการทำสิ่งต่างๆ จากการบอกตัวเองว่ากำลัง “ทำ” บางสิ่งบางอย่างอยู่ เป็นการบอกว่าเรากำลัง “เรียนรู้” ที่จะทำสิ่งนั้นแทน เพราะในขณะที่เราบอกตัวเองว่ากำลัง “ทำ” นั้น เรามักกลัวว่าจะเกิดความ “ผิดพลาด” ซึ่งกลายเป็นความกังวลตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้นลงมือทำ แต่เมื่อบอกตัวเองว่าเรากำลัง “เรียนรู้” ความพร้อมที่จะลองผิดลองถูก จะทำให้เรากล้าก้าวผ่านความกลัวและกังวล จนสามารถลงมือทำและเรียนรู้ในสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่
เพราะ “เรียนรู้” ย่อมหมายถึง “ผิดพลาด” ได้ รวมถึงมีโอกาสที่จะแก้ไขสิ่งดังกล่าวได้เช่นกัน
เหนือสิ่งอื่นใด การมีพื้นที่ให้อาสาสมัครได้แลกเปลี่ยนและพูดคุยแบบใจถึงใจระหว่างกัน รวมถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างอาสาสมัครรุ่นพี่และรุ่นน้อง ทำให้รู้สึกเหมือนได้เพิ่มพลังใจเมื่อยามที่เริ่มเหน็ดเหนื่อย และอ่อนแรงจากการทำงาน และทำให้เรายังอยากคงความเป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่พร้อมจะทำดีในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ว่าสุดท้ายเราจะเลือกยืนอยู่ในจุดไหนของสังคม
เพราะรู้ว่าแท้จริงแล้วเราไม่ได้คิดอะไรแปลกหรือแตกต่างจากคนอื่น แต่ยังมีอีกหลายชีวิตที่คิดคล้ายกัน เพียงแต่เราไม่ได้ยืนอยู่ในพื้นที่เดียวกันเท่านั้นเอง…
ก้าวย่างสู่ทางที่เลือก
คำถามที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อทำหน้าที่ในฐานะครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือกมา ๑ ปี ตัวเองเข้าใจกับการศึกษาทางเลือกว่าอย่างไร คำตอบในวันนี้คงไม่แตกต่างจากคำตอบที่เคยให้ไว้ในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมามากนัก
…การศึกษาทางเลือก เป็นวิธีหนึ่งในการศึกษา เป็นเพียงแค่คำเรียกขานที่มิได้บ่งบอกว่า ตนเองมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เป็นทางเลือกแบบหนึ่งที่มุ่งไปสู่วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายตามแบบของเส้น ทางนั้น และแน่นอนว่าทางเลือกนี้ มีความแตกต่างจากกระแสหลัก แต่แตกต่างมากน้อยเพียงใดนั้น ไม่มีหลักกติกาบ่งบอกที่ตายตัวชัดเจน…
หากถามว่า ทางเลือกนี้ดีกว่ากระแสหลักหรือดีกว่าทางเลือกอื่นหรือไม่…ตอบไม่ได้… ขึ้นอยู่กับการที่แต่ละคนให้คุณค่าและตีความว่า “ดี” หมายถึงสิ่งใด หาก “ดี” ของคนหนึ่ง พ้องและสอดรับกับวัตถุประสงค์ตามแบบของทางเลือกนั้น…ก็น่าจะ “ดี” แต่หากทางเลือกเดียวกันนี้ไม่สัมพันธ์กับ “ดี” ของอีกคนหนึ่ง ทางเลือกนี้ก็อาจถูกประเมินว่า “ไม่ดี” ได้เช่นกัน
ย่างก้าวต่อไปหลังจากวันนี้ คือ การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วง ๑ ปี ในฐานะครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือกที่โรงเรียนรุ่งอรุณไปใช้ในการดำเนิน ชีวิต เพื่อเรียนรู้ เติบโต และทำประโยชน์ตามความถนัดของตนเองให้ส่วนรวมได้ไม่มากก็น้อย ในฐานะต้นกล้าเล็กๆ ต้นหนึ่งที่ทุกคนได้ร่วมกันหย่อนเมล็ด และรดน้ำให้ปุ๋ยไว้ตลอดช่วงเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา…
เขียนโดย เปรมวดี เสรีรักษ์
ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…