เวที “การศึกษาทางเลือก ทางเลือกของการศึกษา” ..นับเป็นก้าวย่างทางเดินเล็กๆ ของผู้รัก และเลือกการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่น….ถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ โดย มงคล ด้วงเขียว อาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ธานี
“นี่การศึกษาทางเลือกได้ขับเคลื่อนมาถึงขนาดนี้แล้วหรือ” เป็นประโยคคำถามที่เกิดขึ้นมา ณ ขณะนี้ เราเองซึ่งเป็นอาสาสมัครโครงการ “ครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก” ทำงานด้านการศึกษาทางเลือกโดยตรง ยังไม่ค่อยลึกซึ้งกับการศึกษาทางเลือกมากเท่าใดเลย แต่ ณ ตอนนี้ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน รวมทั้งองค์กรหลายองค์กรที่เห็นความสำคัญของการศึกษาทางเลือก ได้ร่วมกันผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
เวทีการศึกษาทางเลือก …ทางเลือกการศึกษา เป็นเวทีระดับประเทศอีกเวทีหนึ่ง ซึ่งเป็นการบอกเล่าถึงสถานการณ์การศึกษาในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนจะมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ด้าน วิชาการ มีความฉลาดทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และอีกหลายๆ วิชา แต่ในขณะเดียวกันการศึกษาในระบบ ก็ยังมีด้านลบอีกเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเราอาจมองข้ามภาพเหล่านั้นไป เนื่องจากว่าสังคม ความคิดของคนยุคนี้ส่วนใหญ่แล้ว จะเน้นให้เด็ก ให้ลูกหลานของตนเองเข้าเรียนในโรงเรียน ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนที่ดี มีชื่อเสียงแล้ว ไม่ว่าจะเสียเงินทองมากเท่าไรก็ไม่เป็นไร ขอเพียงแต่ให้ลูกหลานของตนเองได้เข้าเรียนเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นเกียรติของครอบครัวมากพอแล้ว
แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ในระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนยังมีอีกหลายมุม หลายเส้นทางให้นักเรียนสามารถเลือกเดินได้ ถ้าเลือกเส้นทางที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเลือกเล้นทางที่ผิดแล้ว สิ่งเลวร้ายต่างๆ ก็จะตามมาด้วย ซึ่งสิ่งเลวร้ายที่ว่านี้ก็มีหลายด้านเช่นกัน ทั้งด้านการจัดระบบการเรียนการสอน การคบเพื่อน การปลูกฝังอะไรบางอย่างให้กับนักเรียน บางครั้งผู้ปกครองอยู่ที่บ้าน ไม่อาจสามารถรับรู้ได้ว่า ลูกหลานของตนเองวันนี้เป็นอย่างไร ได้รับความรู้จากโรงเรียนเรื่องอะไร
หลายคนอาจมองว่า ในโรงเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้ ความสามารถ ทำให้อนาคตของเด็กนักเรียนสดใส ดังคำกล่าวของบรรดาผู้ปกครองว่า “เรียนไปเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน” คำกล่าวนี้ในอดีตอาจใช้ได้และเป็นความจริง แต่ในยุคปัจจุบันคำกล่าวนี้อาจมีความเป็นได้น้อย หรือน้อยมาก นอกจากว่าเด็กจะเรียนได้เกรดมากกว่าเพื่อนในห้อง สอบได้ที่ 1 ตลอด แต่จะแน่ใจได้หรือไม่ว่าในขณะที่เด็กเรียนเก่งนั้น ภาวะภายในของเขาจะเป็นอย่างไร ความเสียสละ ความเห็นใจคนอื่น การรู้จักแบ่งบัน จะยังมีหลงเหลือในตัวเขาอยู่หรือเปล่า?
เราคงจะสังเกตได้จากสังคมปัจจุบันว่า คนเรียนจบระดับสูงมีมากขนาดไหน แล้วแต่ละคนมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร คำถามนี้ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เป็นคำถามเพื่อให้ได้มองถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จากระบบการศึกษาในปัจจุบัน
ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นการโจมตีระบบการศึกษา เพราะว่าผมเองก็จบการศึกษาในโรงเรียนเหมือนกับท่านอื่นๆ แต่ก่อนหน้านี้เราอาจไม่คิดเช่นนี้ เนื่องจากเราเองก็ถูกปลูกฝังเช่นนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน และครูในโรงเรียน จึงไม่น่าแปลกเลยที่คนส่วนใหญ่จะคิดเช่นนี้ คือ จบมาแล้วต้องได้ทำงานดีๆ มีเงินเดือนสูง เป็นข้าราชการ และอีกหลากหลายความต้องการจากคนรอบข้าง รวมถึงตัวเราเองด้วย แต่ ณ ตอนนี้เราอาจมองกลับมุมจากครั้งก่อน นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราได้รับการปลูกฝังใหม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ แต่หลายคนมองข้ามไป หรือทำเป็นไม่เห็นปัญหาเหล่านั้น
การเสียสละเพื่อส่วนรวม การมีภาวะผู้นำ การรู้จักให้มากกว่ารับ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ สิ่งต่างเหล่านี้ได้ค่อยๆ เลือนหายไปอยู่ทุกขณะ แต่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาแทนที่คือ ความเห็นแก่ตัว การต้องการเอาชนะ ต้องการเป็นที่หนึ่ง ต้องสอบได้คะแนนสูงๆ เมื่อจบมแล้วต้องได้ทำงานที่ดี แม้ว่าจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่ก็ยอม อย่างนี้หรือที่ระบบการศึกษาได้ปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็น แล้ววันข้างหน้าอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร
เวทีการศึกษาทางเลือก เป็นเวทีระดับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาอีกเวทีหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเวทีที่ค่อนข้างใหญ่และเปิดกว้าง มีผู้ใหญ่ซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนด้านการศึกษาหลายๆ ท่านให้เกียรติเข้ามาร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนทัศนคติด้านการศึกษา ซึ่งจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดก็อยู่กับพลังการขับเคลื่อนของคณะทำงาน ผู้ที่เห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่ หรือผลักดันในระบบการศึกษาทางเลือกให้สามารถก้าวเดินควบคู่ไปกับการศึกษาใน ระบบได้ โดยในเวทีนี้ได้จัดขึ้นในวันที่ 26-27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ในวันที่ 26 กรกฎาคม มีการเปิดเวทีเสวนาการจัดระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน รวมถึงการมองปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยได้จัดเวทีนี้ที่โรงเรียนบ้านเกาะแรต มีการชูประเด็นของโรงเรียนบ้านเกาะแรตในส่วนของการเรียนรู้ชุมชนโดยเด็กใน ชุมชน ซึ่งการเรียนรู้ชุมชนดังกล่าวเป็นการปลูกฝังการรักถิ่นฐานของตนเองโดยที่ เด็กๆ อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป และมีหลายเรื่องราวที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้
วันที่ 27 กรกฎาคม เป็นการเปิดเวทีใหญ่ ณ โรงแรมร้อยเกาะ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี โดยมีผู้ใหญ่หลายท่าน ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังสถานการณ์และข้อเสนอ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาในอนาคต ที่ประชุมได้เสวนาถึงเรื่องการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้อย่างแท้จริง การเรียนรู้จากฐานการปฏิบัติ และช่วงบ่ายมีการเปิดเวทีย่อยอีก 3 เวที คือ เวทีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เวทีภูมิปัญญาท้องถิ่น และเวทีโรงเรียนยุวชน ซึ่งทั้ง 3 เวทีย่อยนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดการเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด โดยนำมาเป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญและใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ละเวทีย่อยมีประเด็นแลกเปลี่ยนกันมากเหลือเกิน ความจริงแล้วเวทีแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาน่าจะใช้เวลามากกว่านี้ อาจจะได้เนื้อหา ประเด็นสำคัญเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ระดับนโยบายได้ดียิ่งขึ้น
หลังจากเสร็จสิ้นเวทีการศึกษาทางเลือกครั้งนี้ เชื่อว่าแต่ละท่านที่เข้าร่วมเวที ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดเวทีครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นในการเปลี่ยน แปลงระบบการศึกษาทางเลือกให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็น่าจะมีการยอมรับให้เทียบเท่ากับการศึกษาในระบบ จริงอยู่ที่การศึกษาทางเลือกจะไม่ได้เห็นเรื่องทฤษฎีมากนัก เนื่องจากว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในทางกลับกันการศึกษาทางเลือก ได้เน้นด้านการปฏิบัติเป็นสำคัญ เน้นเรื่องภาวะทางจิตใจ การรู้จักเสียสละ การทำงานเพื่อส่วนรวม สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ความรู้ หรือทฤษฎีต่างๆ มันสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมกันได้ มีคำกล่าวที่มาจากผลงานวิจัยฉบับหนึ่งว่า “เรียนไปตั้งเยอะ พอจบมาก็ต้องฝึกใหม่อยู่ดี” “เรียนแล้ว จบแล้ว ออกห่างจากชุมชนไปเรื่อยๆ” “ยิ่งเรียนสูงแล้วทำให้ลืมรากเหง้าของตนเอง” ประโยคต่างๆ เหล่านี้ คงจะเป็นบทสะท้อนให้กับการศึกษาในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
การศึกษาทางเลือกจะก้าวเดินไปได้ไกลขนาดไหนนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้ที่ขับเคลื่อนด้านการศึกษาทางเลือก อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไปไม่น้อยไปกว่ากันคือ บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายที่จะมองเห็นถึงสถานการณ์การศึกษาในระบบ และเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือก อีกส่วนหนึ่งคือผู้เรียนรู้ หรือตัวเยาวชนเองที่มีความสนใจระบบการศึกษาทางเลือกมากน้อยเพียงใด
ผมคิดว่าการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบ สามารถก้าวเดินควบคู่กันไปได้ ทุกคน ทุกฝ่ายให้การยอมรับการศึกษาทางเลือกมันคงจะดีไม่น้อย และผมก็มีความเชื่อมั่นว่า การศึกษาในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเอง ทั้งในด้านชุมชน ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ฯลฯ เหล่านี้ มันจะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับผู้เรียนรู้ในการรักท้องถิ่นของตนเอง ไปจนถึงระดับชาติเลยก็ว่าได้ และการที่การศึกษาทางเลือกจะเดินไปได้นั้น พลังจากหลายภาคส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะนำพาความสำเร็จมาสู่ลูกหลานของตนในภายภาคหน้า….
เขียนโดย มงคล ด้วงเขียว | |
วันจันทร์ ที่ 16 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553
ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=… |