วารสารสุขศาลา ฉบับที่ ๙
www.suksala.org
ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตวิวัฒน์ (๗)
พระไพศาล วิสาโล

องค์กร ที่ดีนอกจากเป็นองค์กรที่ฉลาดใน บริหารบุคคลและจัดการความรู้แล้ว ยังต้องฉลาดในบริหารจัดการความดี มิใช่เพื่อเป็นพลังในการสร้างประโยชน์แก่องค์กรและส่วนรวมเท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างความสุขและพัฒนาจิตของคนในหน่วยงานด้วย ก่อให้เกิดพลังในการทำความดีด้วยอัตตาที่เบาบาง

การบริหารจัดการความดีนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการส่งเสริมให้เกิดปัจจัยที่เกื้อกูลต่อความดี จะเรียกว่าปัจจัยเสริมสร้างพลังแห่งความดีก็ได้ อาทิ

๑.เห็นและใส่ใจความ ทุกข์ของผู้อื่น

 

ทุกคนย่อมมีมโนธรรมหรือความใฝ่ดีอยู่ในจิตใจ เขาจะทำความดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่ว่ามโนธรรมดังกล่าวมีพลังหรือ ถูกกระตุ้นเร้าให้แสดงตัวออกมาหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่มีพลังในการกระตุ้นมโนธรรมให้แสดงตัวออกมาก็คือ การได้เห็นความทุกข์ของผู้อื่น เป็นธรรมชาติของคนเราที่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจและไม่อยากอยู่เฉยหากเห็นคน ทุกข์ยาก (แต่ความรู้สึกดังกล่าวอาจถูกกดข่มด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างบางอย่าง รวมทั้งการแกล้งเป็นมองไม่เห็น) กรณีสึนามิเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ดังนั้นองค์กรจึงควรจัดกิจกรรมนำพาให้ผู้คนไปสัมผัสกับผู้ทุกข์ยาก เช่น เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน คนชรา คนป่วย เป็นต้น

๒.เห็นความดีของผู้อื่น

 

การเห็นความดีของผู้อื่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นมโนธรรมให้มีพลังขึ้นมา เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นคนที่เสียสละ อุทิศตนเพื่อผู้อื่น เราจะรู้สึกอิ่มเอิบ ปีติ และมีแรงบันดาลใจอยากทำความดีขึ้นมาทันที คนเราต้องการมีวีรบุรุษในดวงใจส่วนหนึ่งก็เพื่อจะได้เกิดกำลังใจในการทำความ ดี แม้ไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง แต่เพียงแค่ได้ยินคนทำความดี ก็มีผลเหมือนกับได้เห็นความดีนั้นด้วยตัวเอง ดังนั้นการชักนำให้ผู้คนไปรู้จักหรือดูงานของคนที่อุทิศตนเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน จะช่วยชุบชูจิตใจของคนในองค์กรและเกิดพลังที่จะทำความดีเพิ่มขึ้น

๓. ได้รับการปฏิบัติด้วยดีจากผู้อื่น

 

เมื่อมีใครทำความดีกับเรา นอกจากเราจะรู้สึกดีแล้ว ยังอยากทำความดีกับเขา นี้เป็นผลจากแรงผลักดันของมโนธรรมภายใน ความดีย่อมกระตุ้นความดี กฎข้อนี้เป็นจริงแม้กระทั่งกับคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร หรือชอบก่อปัญหาแก่ผู้อื่น มีวัยรุ่นเกเรคนหนึ่งที่ชอบแกล้งเด็กในโรงเรียน แต่เมื่อเด็กคนนั้นชวนวัยรุ่นมาเล่นเป็นตัวเอกในภาพยนตร์ที่ตัวเองกำลัง สร้าง หลังจากเล่นหนังเสร็จ ทั้งสองคนก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ในทำนองเดียวกัน โจรซึ่งกำลังจี้เอาทรัพย์จากเหยื่อ เปลี่ยนท่าทีไปทันทีเมื่อเหยื่อช่วยเขาแก้ตัวกับตำรวจที่เผอิญเดินผ่านมา เห็นเหตุการณ์ เขาคืนเงินให้เหยื่อและจากกันด้วยดี

เมื่อใครสักคนทำผิด จนทำให้อีกฝ่ายโกรธเคือง หากเขาได้รับการขอโทษ เขาจะเลิกแสดงอาการก้าวร้าวหยาบคาย และหันมาดีด้วย การขอโทษด้วยใจจริงเป็นการแสดงความดีอย่างง่าย ๆ แต่มีอานุภาพ สามารถปลุกเร้าความดีของอีกฝ่ายหนึ่งให้ตื่นขึ้นมาและมีพลังจนสามารถเอาชนะ ความโกรธ ความเห็นแก่ตัวหรือความชั่วได้

๔. มีคนเห็นหรือยอมรับความดีของตน หรือเชื่อว่าตนมีความดี

 

คนเราจะทำความดีได้ก็เพราะเห็นคุณค่าของตนเอง บางครั้งคุณค่าดังกล่าวจะเห็นได้ก็เพราะมีคนอื่นช่วยสะท้อนหรือยืนยัน ขณะเดียวกันการทำความดียังต้องอาศัยกำลังใจจากคนอื่นด้วย กำลังใจดังกล่าวช่วยเสริมพลังให้แก่มโนธรรมภายใน ทำให้อยากทำความดีให้ปรากฏ นักเรียนที่เกเร เหลือขอ จนครูแทบจะหมดหวัง สามารถเปลี่ยนเป็นเด็กว่าง่าย และตั้งใจเรียน เมื่อครูยกย่องความดีบางอย่างของเขาซึ่งคนอื่นมองไม่เห็น

๕.ได้รับคำชม

 

คำ ชมทำให้คนอยากทำความดีมากขึ้น เพราะมันกระตุ้นพลังใฝ่ดีจนเอาชนะพลังใฝ่ต่ำ ครูที่ติดการพนันจนถึงกับตั้งบ่อนหน้าโรงเรียน เลิกนิสัยดังกล่าวและกลายเป็นครูที่น่าศรัทธา เพราะได้ยินนายอำเภอกล่าวสรรเสริญครูว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ตนสามารถไหว้ได้ อย่างสนิทใจ แม้ตอนนั้นจะรู้สึกอับอาย แต่ก็ทำให้ความอยากเป็นครูดีเกิดมีพลังฮึดสู้ขึ้นมา จนเอาชนะนิสัยติดการพนันได้

การชื่นชมความดีของใครสักคน แม้ตอนนั้นเขาอาจไม่ได้ทำตัวให้ดีสมกับคำชื่นชม แต่ก็สามารถปลุกเร้าความใฝ่ดีในใจเขาให้มีพลังจนเปลี่ยนนิสัยได้ เช่น พนักงานทำความสะอาดห้องน้ำในปั๊มน้ำมัน ทำงานแบบพอใช้ได้ แต่เมื่อได้รับคำชมว่าขยันทำงานดี เธอก็เกิดความกระตือรือร้น กลับไปทำงานให้ดีขึ้น

๖. ได้ทำความดีด้วยตนเอง และเห็นผู้อื่นมีความสุข

 

การทำความดี โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะฝืนอยู่บ้างในตอนแรก แต่ก็ช่วยให้การทำความดีครั้งต่อไปกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น เมื่อทำแล้วได้เห็นผู้อื่นมีความสุขก็ยิ่งเกิดกำลังใจที่จะทำความดีมากขึ้น มิใช่ด้วยความฝืนใจ แต่เพราะมีความสุข หลายคนที่ไปช่วยดูแลเด็กกำพร้า ด้วยความคิดว่าตนไปให้ความสุขแก่เขา กลับพบว่าตนเป็นฝ่ายได้รับความสุขจากเด็ก นักศึกษาคนหนึ่งซึ่งขาดความรักเพราะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก ได้พบความสุขจากการให้ความรักแก่เด็ก ถึงกับกล่าวว่า “ชีวิตผมสมบูรณ์เพราะเด็ก ๗ ขวบ”

การทำความดี หากทำเป็นกลุ่ม ก็ยิ่งเสริมสร้างกำลังใจแก่กัน และช่วยให้การทำความดีกลายเป็นเรื่องสนุก แม้จะเหนื่อยก็ตาม

๗. มีความสุข เกิดความมั่นคงในจิตใจ ปลอดโปร่งผ่องใส

 

เมื่อเรามีความสุข ก็เกิดพลังที่อยากทำความดี และนึกถึงคนอื่นมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคนที่มีความทุกข์ มักจะคิดถึงแต่ตัวเอง และระบายความทุกข์ใส่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งคิดหรือทำเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้ตนมีความทุกข์เพิ่มขึ้น

ความ สุขที่เอื้อต่อความดี มิใช่ความสุขจากการเสพวัตถุ หรือการเอาเข้าตัวมาก ๆ แต่เกิดจากความอบอุ่นใจเมื่อได้รับความรัก หรือนึกถึงคนที่ให้ความรักแก่ตน รวมทั้งการได้อยู่ท่ามกลางมิตรสหายหรือคนรัก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นสุขที่เกิดจากสัมพันธภาพอันงดงาม ความสุขยังเกิดได้จากความสงบใจเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งจากการได้ทำสมาธิภาวนา นี้คือสุขจากการพัฒนาจิตและปัญญา

๘.ข้ามพ้นอคติ หัวโขน สถานภาพ หรืออัตลักษณ์

 

อคติ ทำให้เราเห็นผู้อื่นเลว ร้ายกว่าที่เป็นจริง นำไปสู่ความเกลียดและปิดกั้นพลังแห่งความรัก ขณะเดียวกันหัวโขนหรือสถานภาพ (เช่น ตำแหน่งสูง-ต่ำ เจ้านาย-ลูกน้อง ผู้อำนวยการ ภารโรง) อัตลักษณ์ (คนไทย คนพม่า พุทธ มุสลิม เสื้อเหลีอง เสื้อแดง) เป็นเสมือนม่านที่ปิดบังมิให้เรามองเห็นผู้อื่นว่าเป็นมนุษย์ที่รักสุข เกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา ทำให้เห็นเพียงบางเสี้ยวส่วนของเขา หรือเห็นแค่ยี่ห้อของเขา เช่น นับถือศาสนาอะไร อาชีพอะไร ตำแหน่งอะไร อยู่ภาคไหน

การมีสติรู้เท่าทันอคติ รวมทั้งไม่หลงติดอยู่กับหัวโขน จะทำให้เราเลือกที่รักมักที่ชังหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันน้อยลง และเห็นซึ่งกันและกันเป็นเพื่อนมนุษย์มากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถทำความดีให้แก่กันและกันได้มากขึ้น

ทั้ง ๘ ประการนี้เป็นปัจจัยเสริมสร้างพลังแห่งความดีในตัวบุคคล ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนในระดับองค์กร โดยการจัดกิจกรรมและโครงสร้างที่ส่งเสริมปัจจัยดังกล่าว ดังจะได้กล่าวในบทต่อไป ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของ “ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตวิวัฒน์”