Read for change
” What better book can there be than the book of humanity?” Mohandas K. Gandhi
เชื่อว่าคนที่ทำงานจิตอาสา ต้องมีแรงบันดาลใจที่ทำให้ลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆเพื่อสังคม ในแรงผลักดันในใจเหล่านั้น จากบุคคล เหตุการณ์ เชื่อว่าสิ่งที่หนึ่งที่ส่งผ่านแรงบันดาลใจเหล่านั้น ต้องมีหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ถือได้ว่าช่วยจุดประกาย ให้ ทั้งก่อนที่เราจะเริ่มตัดสินใจ เลือกทางเบี่ยงในชีวิตที่ต่างออกไป หรือเหมือนเป็นบ่อน้ำที่เติมกำลังใจให้เรา ในยามที่เจออุปสรรคไร้หนทางก้าวไป แม้สื่อในปัจจุบันที่สำเร็จรูปนอกจากหนังสือ ที่สมบูรณ์แบบ มีเกิดขึ้นมากมาย แต่ จะมีสักกี่สื่อที่ ได้เปิดพื้นที่ให้เราได้จินตนาการเองได้เท่าหนังสือ ให้เราได้คิด วิเคราะห์ ได้มีส่วนร่วมแต่งเติมได้ทั้งความคิดและการกระทำ
จริงๆแล้วการอ่าน ในชีวิตของเราใช่เพียงแค่อ่านหนังสือที่เป็นเล่ม ในชีวิตประจำวันจริงๆแล้วตั้งแต่ตื่นจนนอน เราต้องอ่านเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวสาร บุคคล กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น แต่หนังสือบางเล่มก็ทำให้เรา “อ่าน” ชีวิต ได้ชัดเจนยิ่ง ให้เราได้มองโลกในมุมที่ต่างออกไปจากที่เคยเป็น ทำให้ทัศนคติในชีวิตของเราได้เบ่งบาน จนส่งผลไปยังวิถีการดำเนินชีวิตในทุกขณะ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ลองชวนพี่ๆเพื่อนๆ ในเครือข่ายจิตอาสาได้ลองมาแบ่งปันหนังสือ 5 เล่มในดวงใจ แรงบันดาลใจที่ได้รับ ซึ่งคงไม่ได้บอกว่าเป็นหนังสือเล่มที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่หนังสือเหล่านี้ทำให้พวกเราเกิดความรักในการอ่าน การเรียนรู้ จนมีความตั้งใจที่จะลองลุกขึ้นมาแบ่งปันอะไรดีๆเพื่อสังคม
A real book is not one that’s read, but one that reads us. ~ W. H. Auden
ท่านแรกที่เราได้หารือคือ พระอาจารย์ ไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา ถึงหนังสือในดวงใจของท่าน ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ นักอ่านหนังสือตัวยงท่านนึง ถ้าใครได้มีโอกาสไปเยี่ยมกุฎิท่านที่ภูหลง จะเห็นถึงกองหนังสือ มากกว่าครึ่ง เราได้ถามถึงหนังสือเล่มแรกในชีวิตท่าน คำตอบที่ทำให้เราประหลาดใจมากคือ การ์ตูนไทย มนุษย์เหล็ก เจ้าชายผมทอง สามเกลอ ซึ่งสมัยนี้พวกเราก็ไม่รู้จักแล้ว ท่านชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ เริ่มอ่านตั้งแต่ ป.4 ที่ชอบมากตอนนั้นเป็นประวัติบุคคลไม่ว่าจะเป็น เอดิสัน ไอน์สไตน์ พระยาอนุมานราชธน พระยาพิชัยดาบหัก คลีโอพัตรา ดอนกีโฮเต้ เชอร์ลอก โฮล์มส์ ที่มาเริ่มอ่านหนังสือ ส่วนตอนเด็กๆเหงา หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด และท่านก็แสวงหา ท่านได้เลือกหนังสือ ในดวงใจดังนี้
1. ส. ศิวรักษ์ เป็นหนังสือที่เปิดประตูสู่โลกหนังสือ เกิดความตื่นตัวทางสังคมและการเมือง
2. มนุษย์ที่แท้ มรรควิถี ของจางจื๊อ, ส. ศิวรักษ์ มีความลุ่มลึก
3. พุทธธรรม พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านยอมรับคำกล่าวหนังสือนี้ว่าสมควรแล้วที่คนจะพูดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุด ในยุครัชกาลที่ 9 และถือว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของรัตนโกสินทร์ ถ้ามีเล่มเดียวที่สามารถติดไปได้ในชีวิตก็เล่มนี้แหละ
4. เหยื่ออธรรม วิคเตอร์ อูโก ปลุกมโนธรรมให้ไม่ดูดายกับสังคม
5. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, พุทธทาสภิกขุ ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกลับพระพุทธเจ้ามากขึ้น
หนังสือเล่มอื่นๆ นอกจากนั้นก็มี วิถีแห่งเต๋า (พจนา จันทรสันติ), ตีนติดดิน (ส. ศิวรักษ์), บึงหญ้าป่าใหญ่ ( เทพศิริ สุขโสภา), ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ( ติช นัท ฮันห์ แปลโดย พระประชา ปสนฺธมฺโม) ข้าพเจ้าทดลองความจริง / THE STORY OF MY EXPERIMENTS WITH TRUTH ( มหาตมา คานธี แปลโดย: กรุณา-เรืองไร กุศลาสัย )
Tell me what you read and I shall tell you what you are. ~ Anonymous Proverb
ท่านที่สองก็คือ พี่หนูหริ่ง หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธาน มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมีหนังสือในดวงใจดังนี้
1. เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ของ วิทยากร เชียงกูล
2. ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เขียน / รสนา โตสิตระ แปล
3. ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน ของ จิตร ภูมิศักดิ์
4. ทฤษฏีอัตตะภาวะวิสัย
5. โจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล แต่งโดย Richard Bach แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เราสามารถมองเห็นความอยุติธรรมในสังคมได้จากการสังเกตจากการใช้ชีวิตประจำ วัน เราสามารถให้คุณค่าหรือวางบทบาทของตนเองต่อปัญหาเหล่านั้นในฐานะผุ้เฝ้ามอง ผู้ร่วมกระทำ หรือ ผู้แก้ไขปัญหานั้น หนังสือบางเล่มทำให้เรามองเห็นพลังภายในตัวเราเอง ในฐานะฟาง หรือ มนุษย์คนเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ แม้จะต้องทวนกระแสลม หรือ ออกจากฝูง เพื่อเดินทางโดยลำพัง
หนังสือเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้คุยกับนักคิด นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ชีวิตจริงเราไม่มีโอกาสได้คุยกับพวกเขา การอ่านสิ่งที่พวกเขาเขียนทำให้เราเข้าใจระบบคิดที่ฝังแน่นอยู่เบื้องหลัง และสืบสานต่อความคิดที่เป็นสากลนั้น และการหนังสือยังเหมือนกับการได้สนทนากับตัวเราเองด้วย
As a rule people don’t collect books; they let books collect themselves. ~ Arnold Bennett
ท่านที่สาม น้องเก๋ ผู้จัดการกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม YIY ซึ่งได้อธิบายการอ่านเอาไว้ว่า…
การทำงานภาคสังคมเป็นความใฝ่ฝันส่วนตัวอยู่แล้วตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ทำให้มี “ใจ” เป็นทุนเดิม ส่วน “หนังสือ” แต่ละเล่มที่อ่านเป็นปุ๋ยที่คอยเสริมพลังใจ แรงบันดาลใจให้ตัวเราเองและเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้างเราได้ด้วย หนังสือที่เป็นแรงบันดาลในชีวิตมี ละเลียดเล็มโลก, เจ้าชายน้อย, เต๋าแบบหมีพูห์ และ The Tipping Point
หนังสือแต่ละเล่มก็ให้แรงบันดาลใจทั้งต่างกันและคล้ายกัน อย่างเล่ม “ละเลียดเล็มโลก” เป็นประสบการณ์การเดินทางของคนเขียน พออ่านแล้วทำให้อยากออกเดินทางสู่โลกกว้างบ้าง เวลาตัวเองต้องเดินทางไปที่ใหม่ๆหลากเรื่องที่พบเจอทั้งทุกข์-สุขก็เป็นสิ่ง ที่เราได้เรียนรู้ระหว่างทางกับเรื่องราวนั้น เมื่อกลับมาก็จะอมยิ้มให้กับมัน และแอบบันทึกเรื่องราวการเดินทางของตัวเราเองบ้าง (แม้จะดูได้เพียงคนเดียวก็ตาม^^) หนังสือที่ประทับใจ 5 เล่มก็คือ
1. “เจ้าชายน้อยและเต๋าแบบหมีพูห์” เป็นเล่มที่ถูกบังคับให้อ่านเพราะเป็นหนังสือที่จะต้องสอบในวิชาพื้นฐานตอน ปี 1 ที่ม.ธรรมศาสตร์ แต่พอได้อ่านแล้วต้องขอบคุณอาจารย์ที่คัดหนังสือเหล่านี้ให้พวกเราได้เรียน รู้ ถ้าไม่ได้เรียนก็ไม่รู้ว่าจะได้อ่านเมื่อไหร่
2. “เจ้าชายน้อย” อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความเป็นเด็กในตัวที่ได้ออกมาวิ่งเล่นอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งคนทุกคนมีความเป็นเด็กนี้อยู่ในตัวแต่อาจหลงลืมไป หรือถูกหลบซ่อนอยู่ภายในโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมหรือบทบาทต่างๆที่กลืนความเป็นเด็กของเราไปจน หมด และทำให้คนเรามองสิ่งๆเดียวกัน แต่เกิดมุมมองที่แตกต่างกัน และระลึกถึง “สิ่งที่สำคัญ” ดังท่อนหนึ่งในหนังสือกล่าวว่า “It is only with the heart that you can see fully; what is essential is invisible to the eyes” และทำให้เรากล้าที่จะจินตนาการตามความฝันของตัวเองต่อไปด้วย แม้จะเลยวัยเด็กมาแล้วก็ตาม
3. “เต๋าแบบหมีพูห์” เป็นหนังสือที่อธิบายปรัชญาเต๋า ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจยากให้เข้าใจได้ง่ายโดยผ่านชีวิต บุคลิกและการกระทำของตัวละครต่างๆ และเราก็มาวิเคราะห์ว่าตัวละครแต่ละตัวได้สะท้อนหลักคิดแบบเต๋าอย่างไร อ่านแล้วทำให้กลับมาดูความเป็นตัวเราทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะเวลาที่ความรู้สึกภายในของเรากำลังสับสน วุ่นวาย จมกับความรู้สึกต่างๆ ต้องลองอ่านและหาคำตอบให้กับตัวเราเองและสิ่งรอบตัวดูนะคะ เพราะเชื่อว่าแต่ละคนอาจพบคำตอบที่ไม่เหมือนกันในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ คล้ายๆกัน
4. “The Tipping Point” : How little things can make a big difference. หนังสือเล่มนี้ได้รับคำแนะนำจากพี่สาวคนหนึ่งที่กลุ่ม YIY ให้อ่าน เป็นหนังสือที่ไม่ได้สนุก แต่มากด้วยเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ยากและท้าทายเรา ว่าจะให้เรื่องดีๆ สามารถแพร่ระบาดได้เหมือนเชื้อโรคอย่างไร เพราะถ้าทำได้แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมของเราอย่างแน่นอน คงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือแล้วละค่ะ
5. “หนังสือ” เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้เปิดโลกทั้งภายในและภายนอกตัวเรา สะท้อนอะไรหลายๆอย่างทั้งความคิด ความรู้สึกที่อยู่ภายในแต่อาจจะไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างตรงๆ หากเราพบเจอข้อความเพียงไม่กี่คำ หรือกี่ประโยค แต่ถ้ามันตรงกับเรื่องราว ความนึกคิด และอารมณ์ความรู้สึกของเราในตอนนั้น มันก็จะกลายเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกริยากระตุ้นพลังภายในใจบางอย่างของเราขึ้น มาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเรามีพลังใจที่แข็งแรง สิ่งที่เราทำหรืแสดงออกก็จะมีพลังไปด้วยค่ะ
A room without books is like a body without a soul. ~ Cicero
ท่านที่สี่ อาจารย์ มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ กรรมการผู้จัดการของสถาบันการบริหารและจิตวิทยา ผู้ร่วมขับเคลื่อนงานในภาคสังคม เช่น จิตอาสา จิตตปัญญาศึกษา อาจารย์ท่านได้กล่าวเรื่องแรงบันดาลใจก่อนที่จะพูดถึงหนังสือในดวงใจเอาไว้ ว่า
“ผู้เขียนได้รับคำถามจากน้องจอยจิตอาสาว่าอ่านหนังสืออะไรถึงมาสนใจงานจิต อาสาแบบนี้ ผู้เขียนตอบไปเร็วๆว่า สงสัยจะไม่ใช่เพราะหนังสือกระมัง น่าเริ่มจากใจที่เป็นห่วงเพื่อนมนุษย์ที่กำลังได้รับความทุกข์ยากแล้วเราทน ไม่ได้เลยลงมือกระมัง คงบอกไม่ได้ว่าเล่มไหนเป็นแรงบันดาลใจหรอก แต่เมื่อมีเวลาใคร่ครวญคำถามที่น้องถามอีกครั้ง ผู้เขียนพบว่ามีหนังสือต่างๆมากมายในอดีตฝังเมล็ดพันธ์แนวความคิดจิตใจพื้น ฐานบางอย่างให้เราไว้ จนผลิดอกออกผลมาเป็นรูปแบบต่างๆในปัจจุบัน
ย้อนคิดถึงอดีตตั้งแต่เด็กเราก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือมากคนหนึ่งทีเดียว ใช้ชีวิตวนเวียนในร้านหน้งสือแถวบ้านจนคุ้นเคยกัน อ่านหนังสือหลากหลายประเภทตั้งแต่วิชาการ ความคิด ปรัชญา ศาสนา ฝึกทักษะ เรื่องสั้น ฯลฯ จนกระทั่งการ์ตูนขำขัน เน้นน้ำหนักต่างกันตามเวลาที่เปลี่ยนแปลง ถ้านับรวมหนังสือตลอดจนบทความชนิดต่างๆตลอดชีวิตน่าจะมีสองกลุ่มใหญ่ที่มี ปริมาณมากกว่ากลุ่มอื่น นั่นคือหมวดการบริหารคน และหมวดศาสนาปรัชญา”
น้องจอยให้เลือกมา ๕ เล่ม ลำบากมาก พบว่าแต่ละเล่มมีคุณค่าที่แตกต่างและทำให้เราได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆแต่ละ ช่วงชีวิต ผู้เขียนจึงใช้เกณฑ์ว่าเล่มใดหนอที่เรารู้สึกว่ามีผลกระทบต่อชีวิตมากที่สุด พบว่าเรื่องที่มีผลต่อกรอบความคิดของเรามากๆเหลือขึ้นมาไม่กี่เล่ม
1. คู่มือมนุษย์ โดยท่านพุทธทาสภิกขุ หนังสือที่อ่านครั้งแรกตอนเป็นวัยรุ่นซึ่งกำลังเริ่มสนใจพุทธศาสนาในเชิงลึก มากขึ้น อ่านแล้วเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องมีเหตุผลน่าสนใจ เป็นศาสตร์หนึ่งที่จำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์ จึงทำให้ติดตามอ่านผลงานของท่านพุทธทาสทั้งหมดเท่าที่มีในท้องตลาดขณะนั้น และตามไปปฏิบัติที่สวนโมกข์ในที่สุด ทำให้สนใจศึกษาศาสนาพุทธอย่างจริงจัง และเสาะหาเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ในสายต่างๆ บนกรอบของการเปิดรับนิกายหรือศาสนาที่แตกต่างได้ อย่างที่ท่านพุทธทาสสอนพวกเราไว้ตั้งแต่แรก
2. จิตวิทยาสัมพันธ์ โดย ดร.หลุย จำปาเทศ บิดาของผู้เขียนเอง ข้อความที่ประทับอยู่ในใจคือ “มนุษย์ทุกคนล้วนมีเกียรติและศักดิ์ศรี…” ทำให้เราหยุดคิดแม้ว่าตอนนั้นเรายังเป็นเด็กว่า จริงซินะ เขาก็รักและเห็นตัวเขาเองเป็นพระเอกนางเอกในชีวิตของเขาทั้งสิ้นเหมือนที่ พ่อชอบสอนเรา ไม่ว่าคนอื่นอาจเห็นเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็หล่อสวยที่สุด เด็ดที่สุด ทำดีที่สุด…ของเขา หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจิตวิทยา พฤติกรรมมนุษย์ การปฏิสัมพันธ์ การบริหาร ทำให้เราเรียนรู้เข้าใจที่มาของพฤติกรรมคนระดับหนึ่ง และใช้ปรับพฤติกรรมของเราเองในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์มากจนถึงปัจจุบัน คือทำให้เรารักผู้คนได้ง่าย เพราะเชื่อว่าเขาเป็นอย่างที่เขาเป็นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆไม่ว่าจะเป็นพันธุ กรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่สร้างเขาขึ้นมา ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์อย่างเขา เราก็อาจจะทำอย่างเดียวกัน จะไปอะไรกับเขานัก แต่นี่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้เขียนดูแลจิตใจพฤติกรรมตัวเองดีนักหรอกนะคะ แค่พยายามเข้าใจเรียนรู้บนฐานคิดเหล่านี้ 🙂
3. Cultures and Organizations: software of the mind โดย Geert Hofstede ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือครูของ cross-cultural management ที่ใช้สอนนักบริหารจัดการข้ามชาติกันโดยทั่วไป หนังสือเล่มนี้จุดประกายให้ผู้เขียนเข้าใจคนในมิติที่กว้างกว่าเดิม ทำให้ยอมรับและเคารพความแตกต่างระหว่างชาติพันธ์ได้ชัดเจนขึ้น ยิ่งพอได้ทำวิจัยการบริหารคนและองค์กรข้ามชาติด้วยยิ่งทำให้ได้ค้นคว้าเจาะ ลึกลงไปในความเหมือนและแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน นักบริหารต่างๆชอบถามผู้เขียนหลังจากสอนเรื่องพวกนี้ว่าแล้วอะไรคือวิธีการ บริหารความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมล่ะ ้จากหนังสือเล่มนี้และการยันยันจากอาจารย์ผู้แนะนำเรื่องนี้ให้ (ดร.เฟรดดริก สเวียเชค) พบว่า “การเปิดรับ” (openness) เป็นแนวทางที่ง่ายและได้ผลจริงที่ผู้เขียนก็ทดลองใช้มาเรื่อยๆไม่ว่าจะในการ ทำงานหรือการเดินทางไปกว่า ๓๐ ประเทศที่ผ่านมา เราพบว่าผู้คนเป็นมิตรกับเราง่ายมากเมื่อเราเองเป็นผู้เปิดรับเขาเหล่านั้น เข้ามาในหัวใจ
4. ทางเอก โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช ได้เริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ในปีที่ ๑๕ ของการปฏิบัติภาวนา ทำให้ผู้เขียนได้ปรับแต่งจัดระบบวิธีคิดวิธีการปฏิบัติภาวนาของผู้เขียนเอง ที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์แต่เรายังไม่เข้าใจถ่องแท้ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด และส่งการบ้านสอบถามหลวงพ่อฯจนพอจะปฏิบัติได้บ้างระยะหนึ่ง เราก็รู้สึกได้ถึงกราฟการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลง ความแสบของอัตตาที่เปลี่ยนแปลงลดลงไปบ้าง (แม้ว่ายังเหลืออีกไม่น้อย) จนเอาจริงเอาจังมากขึ้นโดยจะไปวิปัสสนาภาวนาระยะยาวทั้งปีกับหลวงพ่อมนตรี สายหลวงปู่ดุลย์หลวงปู่มั่นตามที่ท่านแนะนำ
5. Journal of Transformative Education หลายบทความ เพิ่งอ่านปีนี้เองหลังจากที่รวมกลุ่มนักวิจัยจิตตปัญญากัน เป็นบทความวิชาการที่ทำให้ผู้เขียนย้อนถอยดูแนวความคิดของตนเองจนถอดกรอบ จากกรอบที่คิดว่าถอดแล้วออกมาได้อีก แม้ว่าผู้เขียนจะมีชอบเรียนรู้เรื่องคนและจิตใจของคน ตลอดจนสอนเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) มากว่า ๑๐ ปี เราก็ยังพบว่าเราเองถูกกรอบของสังคม กรอบของระบบการเรียนรู้ต่างๆครอบอยู่อีก ไม่ใช่เพียงกรอบของวัฒนธรรมศีลธรรม องค์กร และครอบครัวสิ่งแวดล้อมที่เราคิดว่าตระหนักว่ามีอิทธิพลสร้างเราแต่ละคนมา อยู่แล้ว ทำให้เราตระหนักรู้ทันกรอบความคิดชนิดต่างๆอีกมากที่อาจทำให้เราเผลอใช้เป็น เกณฑ์ไปตัดสินสิ่งต่างๆในชีวิต
“เมื่อดูภาพรวมของหนังสือที่มีผลต่อชีวิต ๕ เล่มนี้ ผู้เขียนเห็นชัดขึ้นถึงสิ่งต่างๆที่มีอิทธิพลประกอบสร้างเป็นตัวเราขึ้นมา โดยเฉพาะทางความคิดและจิตใจ เห็นถึงที่มาของพฤติกรรมและกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาและในปัจจุบัน เห็นชัดเจนขึ้นว่าทำไมเราจึงมีเป้าหมายชีวิตอยากเป็นสะพานความดีจากนามธรรม สู่สังคมรูปธรรมกระแสหลักตั้งแต่อายุ ๑๙ เห็นได้ชัดขึ้นว่าเหตุใดงานจิตอาสาหรืองานพัฒนาสังคมจากมุมของเราจึงเริ่ม ต้นจากการเสาะหาวิธีการพัฒนาจิตใจคนที่มากขึ้นอีกไม่ใช่เพียงแค่การเข้า กรรมฐาน” อ.มิชิตากล่าว
“What is the use of a book,” thought Alice, “without pictures or conversations?
Alice’s Adventures in Wonderland~ Lewis Carroll
ท่านต่อไปก็คือ พี่แหวน ผู้จัดการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ และหนังสือในดวงใจแต่ละเล่มของพี่แหวนก็คือ
1. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง (คุโรนายางิ เท็ตสึโกะ เขียน ผุสดี นาวาวิจิต แปล)
ในวัยเด็กตัวเองเป็นคนที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาค่อนข้างมาก เพราะเราไม่สนุกกับการเรียน แต่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่โรงเรียนน่าจะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นและสนุกที่สุด เรื่องหนึ่งในชีวิต อ่านโต๊โตะจังแล้วรู้สึกประทับใจครูใหญ่ของโรงเรียนโทโมเอมาก ที่เข้าใจความรู้สึกของเด็กและละเมียดละไมในการจัดการเรียนการสอนให้เด็ก มาก ทำให้เรายิ่งเชื่อมั่นว่าความรักและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาเด็ก ให้เขาเติบโตไปอย่างมีคุณภาพตามธรรมชาติที่เค้าควรจะเป็น และเป็นกำลังใจให้เราไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำเรื่องการศึกษา อย่างน้อยเส้นทางที่เราอยากจะเดินก็มีคนอื่นเดินมาแล้ว และประสบความสำเร็จด้วย ในปัจจุบันเวลาทำกิจกรรมกับเยาวชนก็ยังแอบหวนคิดถึงหนังสือเล่มนี้บ้างบาง ครั้ง ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เราไม่ลืมว่าสิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดคือความรัก ความเข้าใจในสิ่งที่เค้าเป็น
2. ถ้ามีเพียง ๑๐๐ คนบนโลกนี้ (คาโยโกะ อิเคดะเรียบเรียง สุจินดา นวกานนท์ อิซูมิดะ แปล)
เป็นหนังสือเล่มบาง ที่นำเสนอความเป็นจริงของสังคมโลกเรา โดยย่อมันเหลือเพียงหมู่บ้านของคน ๑๐๐ คน เป็นการนำเสนอง่ายๆ แต่ถึงใจ เพราะมันทำให้เราตระหนักว่า เราไม่ได้อยู่บนโลกนี้เพียงคนเดียว และมีคนอีกหลายล้านคนที่ทุกข์ทรมานกว่าเรา ปัญหาประจำวันที่เราเคยมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต กลายเป็นเรื่องเล็กไปในทันที เมื่อเรารู้ว่ามีคนถึง 48% บนโลกนี้ที่ไม่สามารถพูดและแสดงออกตามความเชื่อของตนเองได้ มีคน 20% ที่ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวงกลัวตายเพราะโดนเหยียบกับระเบิดหรือถูกข่มขืน และที่สำคัญคือได้รับรู้ว่าเราโชคดีขนาดไหนที่อ่านออกเขียนได้ ได้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย มีคอมพิวเตอร์ใช้ มีรถขับ เพราะยังมีคนถึง 14% ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก และอีก 98% ที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ เมื่อเรารู้ว่าเราโชคดีขนาดนี้ มีพร้อมขนาดนี้แล้ว เราจะไม่อยากทำอะไรให้คนอื่นบ้างหรือ
3. เพียงข้าวเมล็ดเดียว (อาจารย์ระพี สาคริก)
เป็นหนังสือรวบรวมงานเขียนของอาจารย์ระพี สาคริกตั้งแต่เริ่มสอนหนังสือเรื่อยมา งานเขียนจะสะท้อนถึงการให้อย่างไม่มีตัวตนของอาจารย์ ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาให้กับงานโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ เวลาทำงานอาจารย์จะกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับงานที่ทำ อย่างตอนสอนหนังสือ อาจารย์ก็เป็นเหมือนพ่อและเพื่อนของนิสิตที่ใช้ชีวิตคลุกดินคลุกฝุ่น ดูแลชีวิตลูกศิษย์เหมือนลูกหลานของตัวเอง อีกประเด็นหนึ่งที่ได้คือเรื่องการคืนกลับสู่แผ่นดิน อาจารย์จะพูดถึงแผ่นดิน ผืนดิน อยู่ตลอดเวลาคือหมายถึงรากเหง้าและสิ่งที่ทำให้เราได้มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ หากไม่มีมันก็ไม่มีเรา และจริงๆ แล้วเราเองก็คือผืนดินผืนนั้นเอง อ่านแล้วทำให้เราไม่ลืมตัวเอง ไม่ลืมว่าชีวิตเรามันโยงใยและผูกพันกับชีวิตทุกชีวิตบนโลกนี้
4. ต้นไม้ใต้โลก (ทรงกลด บางยี่ขัน)
งานเขียนอารมณ์ดีของคุณก้องที่รวบรวมเอาเรื่องราวแปลกแหวกแนวแบบสร้างสรรค์ ที่คนเค้าทำกันบนโลกนี้เพื่อช่วยดูแลรักษาโลก อ่านแล้วจะคิดตลอดเวลาว่าทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างนี้บ้าง หลายเรื่องเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้เลยและทำได้จริง ตัวเองก็มีกลุ่มที่ตั้งกันขึ้นมา กับเพื่อนเมื่อสองปีก่อน ชื่อ กลุ่มคนซับเหงื่อโลก ที่อยากจะทำอะไรเล็กๆ แต่ทำได้จริงเพื่อช่วยโลกของเรา พอมาอ่านหนังสือเล่มนี้ก็เกิดไอเดียมากมายที่กลุ่มสามารถจะชักชวนคนมาร่วมทำ กันได้ ตัวอย่างดีๆ ก็เป็นแรงบรรดาลใจที่ดีได้เสมอ
5. The Wisdom of Forgiveness (Victor Chang)
เป็นงานเขียนเกี่ยวกับชีวิตของท่านดาไลลามะ จากมุมมองคนใกล้ชิดที่พยายามนำเสนอภาพของท่านในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ทำให้เราเห็นว่าท่านเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นมนุษย์ที่มีความพิเศษมาก เวลาอ่านจะแอบยิ้มตามอารมณ์ขันของท่านดาไลลามะ ทึ่งในจิตใจที่เปี่ยนด้วยเมตตาของท่าน และประทับใจอย่างยิ่งกับมุมมองและความคิดเห็นที่ล้ำลึกที่ทำให้ท่านเป็นทั้ง ผู้นำทางศาสนาและผู้นำประเทศที่มากด้วยความสามารถคนหนึ่งของโลก อ่านหนังสือแบบนี้แล้วจะรู้สึกว่าอยากพัฒนาตนเอง อยากก้าวให้ไกลยิ่งไปกว่านี้ ทำให้รู้สึกว่าการทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นเรื่องที่ท้าทาย สนุก และน่าตื่นเต้น รู้สึกมีกำลังใจที่จะทำงานทั้งด้านการศึกษาและด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่านิสัยรักการอ่านมันต้องค่อยๆ บ่มเพาะมาตั้งแต่เล็ก การให้เด้กได้คลุกคลีกับหนังสือและมีความรู้สึกที่ดีกับหนังสือเป็นสิ่ง ง่ายๆ แต่สำคัญมากที่ผู้ใหญ่จะสามารถทำให้กับเด็กได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีหนังสือสำหรับเด็กดีๆ มากมายในท้องตลาด เมื่อเด็กรักหนังสือแล้วเค้าก็จะรู้จักเลือกที่จะอ่านหนังสือและหาความรู้ ให้กับตัวเอง และเมื่อเราหยิบยื่นตัวอย่างดีๆ เรื่องราวดีๆ ให้เค้า เค้าก็จะซึมซับและเอาสิ่งที่เค้าได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของเค้าเอง
ท่านที่หก พี่ยุ้ย สุวรรณี จันทรดำเนินพงศ์ อาสาสมัครกระบวนกรจิตตปัญญา
หนังสือเล่มแรก..ที่คิดว่าเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจปัญหาสังคม สนใจเรื่องความเท่าเทียมของคนในสังคม น่าจะเป็นหนังสือเล่มนี้ค่ะ “อัตชีวประวัติ มาติน ลูเธอร์ คิง” ย้อนไปเมื่ออายุราว 9 ขวบ เรียนหนังสือชั้น ป.3 มีการขายหนังสือในโรงเรียน โดยคนขายจะเอาใบปลิว ที่มีชื่อหนังสือและราคามาแจกในโรงเรียน การสั่งซื้อหนังสือทำโดยไม่เห็นหน้าตาและเนื้อหาในหนังสือ เรียกง่ายๆ ว่าต้องเดาเอาเองนั่นแหละ….
เมื่อได้หนังสือมาแล้ว อ่านรวดเดียวจนจบ จำได้ว่าร้องไห้กับหนังสือเล่มนี้ รู้สึกได้ว่า โลกมันโหดร้าย ทำไมโลกไม่เท่าเทียมกัน ทำไมต้องมีการกดขี่ข่มเหงกันด้วย ….ความรู้สึกคือ เห็นใจ สงสาร มาร์ติน ลูเธอร์คิง ที่ต้องถูกกลั่นแกล้งจากคนขาว…. ปณิธานในใจคือ เราจะช่วยคนให้หลุดพ้นจากความไม่เท่าเทียมการกดขี่ข่มเหง ของมนุษย์ด้วยกันเอง นับได้ว่าหนังสือเล่มนี้บ่มเพาะให้เราสนใจเพื่อนมนุษย์ สนใจปัญหาสังคม และเข้ามาทำงานด้านสังคมกว่า 19 ปีในปัจจุบัน
เล่มต่อมา..อ่านตอนเรียนชั้น ม.5 อ่านในเวลาไล่เลี่ยกัน “ลูกอีสาน” เป็นหนังสือนวนิยายของ คำพูน บุญทวี ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี พ.ศ. 2522 และได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน ในปีพ.ศ. 2525 รวมทั้งยังได้รับการจัดให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านอีกด้วย และ “บ่ฮักบ่ต้องสงสาร” นวนิยายแต่งโดย มานพ ถนอมศรี หนังสือทั้งสองเล่มนี้ยืมพี่ชายของเพื่อนมาอ่าน ทั้งๆ ที่ไม่มีญาติพี่น้องหรือสายเลือดที่เกี่ยวพันกับคนอีสาน แต่เมื่ออ่านหนังสือ 2 เล่มนี้จบ สัมผัสได้ถึงความแร้นแค้นแต่แฝงไว้ซึ่งความสุขของคนอีสาน ทำให้รู้สึกอยากจะไปเห็น อยากจะไปเหยียบแผ่นดินอีสาน ในช่วงสอบเอ็นทรานส์เข้ามหาวิทยาลัยเมื่อปี 2531 จึงมุ่งมั่นที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ได้ ไม่ใช่เพื่อไปเรียนปริญญาอย่างเดียว แต่เพื่อไปช่วยคนอีสาน..ตลอดเวลาที่ทั้งเรียนและออกมาทำงานพัฒนาชนบท เวลา 7 ปีที่อยู่ในแผ่นดินอีสาน (หลายจังหวัด) มีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนอีสาน ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของครูบาอีสานหลายๆ ท่าน ได้ร่วมงานกับนักพัฒนาอีสานมากมาย เป็นปฐมบทของการทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง…
“The world is a book, and those who do not travel, read only a page.” St. Augustine
ท่านที่เจ็ด พี่แว่น ไพโรจน์ วิสุทธิวงศ์รัตน์ อาสาสมัครช่วยงานโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา หนังสือในดวงใจก็คือ
1. ” ตื่นอย่างเซน” จำไม่ได้ว่าใครเขียนเพราะให้เพื่อนยืมไป แบบไม่คืน ( เราได้หาข้อมูลเพิ่ม ผู้เขียนคือ ชิว ฮั่นเจี๋ย ผู้แปลคือ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม) ได้อ่านในช่วงที่ยังเรียนปริญญาตรีไม่จบ ( ปี 5 แล้ว เครียดมาก ) นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมากมาย จิตใจว้าวุ่น ไม่สงบจำได้ว่ายืนอ่านหนังสือในร้าน แล้วซื้อเล่มนี้มาอ่าน เป็นเรื่องพิเศษในช่วงนั้นเพราะโดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบเรื่องธรรมะหรือศาสนา ได้แรงบันดาลใจจากประเด็น การปล่อยวาง ทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น
2. ”ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน” เป็นหนังสือรวมเรื่องราวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้ซื้อ เป็นหนังสือเก่า ยืมเพื่อนมา ( ป่านนี้ยังไม่คืนเลย )โดยส่วนตัวเป็นคนชอบฟัง เล่นดนตรีและร้องแต่เพลงเพื่อชีวิต 1 ในนั้นคือเพลง จิตร ภูมิศักดิ์ ของวงคาราวาน รู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ แต่ไม่เคยรู้ว่าคนๆนี้คิดและทำอะไรมาบ้าง เมื่อได้อ่านจึงได้แรงบันดาลใจจากประเด็น การเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำให้ได้ต้นแบบที่ดี
3. ”ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นหนังสือหายาก ที่มาของคำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ไม่ได้ซื้อ มีผู้ชายค่อนข้างแก่ที่ไม่รู้จักนำมาให้อ่าน หลังจากที่ชอบมานั่งฟังผมเล่นกีต้าร์ร้องเพลงอยู่หลายวัน ( ขณะนั้นเปิดร้านขายของเล็กๆที่ด้านข้างห้างเดอะมอลล์รามฯ ) ชายคนนั้นถามว่า “ชอบเพลงเพื่อชีวิตหรือ” พอตอบว่าใช่ เขาก็เอามาให้อ่าน จำได้ว่าเอาหนังสือมาสิบกว่าเล่มและบอกด้วยว่า ต้องคืนทุกเล่มนะและต้องภายในสิ้นเดือน ตอนพูดน่ะกลางเดือนแล้ว ถามชื่อก็ไม่บอก มารู้ทีหลังว่าเคยเป็นแนวร่วม พคท.มาก่อน ได้แรงบันดาลใจจากประเด็น การสร้างประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่มากกว่าส่วนน้อย
4. ”ศิลปะคืออะไร” ของ ลีโอ ตอลสตอย อยากรู้จักรากเหง้าของคำว่า “เพื่อชีวิต” รู้จากหนังสือ ” ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” และเพื่อนว่า ต้องอ่านเล่มนี้จะเข้าใจได้ลึกกว่าเพราะเป็นแรงบันดาลใจให้ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนหนังสือเล่มนั้น เป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ทำให้ องค์การยูเนสโก ต้องยอมรับว่า ศิลปะที่ดีนั้นควรตอบสนองต่อผู้คนโดยรวม ได้แรงบันดาลใจจากประเด็น ไม่มีใครทำลายเราได้เท่ากับเราทำลายตัวเอง
5. ”THE 7 HABITS OF HIGHLY EFFECTIVE PEOPLE” อุปนิสัย 7 ประการเพื่อพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง ของ สตีเฟน อาร์. โควีย์ไม่ได้ซื้ออีกเหมือนกัน ขอยืมเพื่อนอ่าน ตอนนั้นเพื่อนทำงานเขายเครื่องมือแพทย์ ตั้งใจจะไม่คืนแต่มันทวง ( นิสัยไม่ดี หมายถึงเรานะ ) ความสนใจคือตอนลองเปิดอ่าน สะดุดใจที่การใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลที่แท้จริง ทำให้หลายอย่างในชีวิตอาจเปลี่ยนไปอย่างไม่ควรหรือทำให้ไม่กล้าเผชิญสิ่ง ต่างๆ ได้แรงบันดาลใจจากประเด็นนี้ คือ ไม่ควรด่วนตัดสินสิ่งใดก่อนทำความรู้จักและเข้าใจกับมัน
ซึ่งทั้งหมดนี่พี่แว่นเองก็ได้ฝากเอาไว้ว่า
– อย่าตกอยู่ในกระแสหลัก หนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องได้รางวัล มาตรฐานของคนไม่เคยเท่ากัน
– อ่านหนังสือให้ถึงหน้าสุดท้าย เหมือนที่เรารักใครก็ควรรู้จักให้ครบทุกมุม ทุกด้าน
– ไม่มีหนังสือเล่มใดไร้สาระ อย่ากลัวที่เพื่อนรู้ว่าเรากำลังอ่านมันอยู่
– การอ่านหนังสือ คือการใช้จินตนาการ จงใช้มันอย่างเต็มที่
– การอ่านหนังสือคือการเรียนรู้สังคม เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้จักมัน
ท่านที่แปด พี่นุ้งนิ้ง อาสาจัดค่ายฯ มีหนังสือที่เป็นหนึ่งในดวงใจ หรือเป็นแรงบันดาลใจ ดังนี้
1. หนังสือธรรมะไตรลักษณ์ จำชื่อผู้แต่งไม่ได้จำได้แต่เป็นพระตอนท่านแต่งเหมือนเป็นอะไรสักอย่าง ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ( น่าจะเป็น ของ พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตฺโต ))
ทุกขัง ความเป็นทุกข์คือภาวะที่สังขารทั้งปวงทนได้ยาก ไม่สามารถดำรงตนอยู่อย่างเดิมได้
อนิจจัง ความเป็นของไม่เที่ยงคือภาวะที่สังขารทั้งปวงไม่อยู่คงที่ วนเป็นเรื่องแปรป
อนัตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวตนคือภาวะที่สังขารและวิสังขารเป็นของมิใช่ตัวตน
เป็นหนังสือธรรมะเล่มแรกที่ได้อ่านและเป็นหนังสือธรรมะที่อ่านง่ายเข้าใจ ง่ายและนำมาปรับใช้ได้ง่ายสาเหตุหนึ่งที่อ่านเนื่องจากช่วงหนึ่งของชีวิตเรา มีเรื่องไม่สบายใจเข้ามาแล้วมีเพื่อนเอามาให้อ่านแรกๆก็เฉยๆแต่พออ่านแล้วก็ เกิดความเข้าใจหลายๆอย่างมากขึ้นทั้งที่บอกว่าสังขารไม่เที่ยงไม่มีตัวตนมี พบก็มีจากสักวันไม่มีอะไรอยู่กับเรายั่งยืนจึงเป็นเหตุหนึ่งที่มาทำงานอาสา ด้วยว่าเราอยากให้หลายๆคนมีความสุขที่ได้กระทำอะไรสักอย่างเพราะเราเองก็คง ไม่อยู่ในโลกนี้แน่นอนยั่งยืนเสมอไปดังนั้นตอนที่มีชีวิตอยู่ก็อยากทำให้ตัว เองและคนรอบๆตนมีความสุขให้มากที่สุดถึงแม้ความสุขที่ว่าไม่เที่ยงไม่มีตัว ตนก็ตามแต่อย่างน้อยๆการทำอะไรเพื่อคนอื่นนั้นก็ทำให้อะไรหลายอย่างดีๆเกิด ขึ้นสำหรับหลายท่านที่กำลังมีทุกข์หรือสูญเสียอะไรไปลองศึกษาหลักไตรลักษณ์ ดูสำหรับผู้เขียนเองก็ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้งอาจจะบอกอะไรแนะนำอะไร ได้ไม่ดีเท่าที่ควรที่อ่านแค่อยากให้รู้ไม่ใช้อ่านแล้วพูดเพื่อให้คนอื่นดู ว่าตัวเราเป็นคนดีแต่เพียงเพื่อให้เรารู้สึกดีๆกับการใช้ชีวิตมากกว่า
2. พ่อภาค 1 และ พ่อภาค 2 ผู้แต่งปองพลอดิเรกสาร หนังสือว่าด้วยความเป็นพ่อของพระมหากษัตย์เป็นหนังสือที่แต่งนิยายอิง ประวัติศาสตร์และสอดแทรกธรรมะพูดถึงพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาสมัยสมเด็จพระ ศรีสุริโยไทมาจบภาคสองสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแต่ผู้อ่านจำเรื่องราวได้ ไม่เยอะเนื่องจากนานมากแล้วแต่เป็นหนังสืออีกสองเล่มที่ชอบและผู้แต่งจะ เขียนได้ดีทั้งแนวประวัติศาสตร์และแฝงธรรมะ
3. กรรมพยากรณ์ภาคสอง ผู้แต่งดังตฤณเป็นนักเขียนหนังสือธรรมะสมัยใหม่อ่านเข้าใจง่ายเป็นหนังสือ นวนิยายอิงธรรมะจะพูดถึงการทำความดีทำให้รู้ว่าทำดีแล้วรู้สึกดี
I do not read a book: I hold a conversation with the author. ~ Elbert Hubbard
ท่านที่เก้า พระอาจารย์ดุษฎี เมธงกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร
1. พุทธธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)
2. ปรัชญาชีวิต คาลิล ยิบราน แปลโดย อ.ระวี ภาวิไล
3. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, พุทธทาสภิกขุ ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกลับพระพุทธเจ้ามากขึ้น
4. หนังสือของท่าน ติช นัท ฮันห์
5. หนังสือ อ โกวิท เขมานันทะ “ชีวิตคุณมีเพียงขณะเดียว” และ “ลิงจอมโจก”
What is reading but silent conversation? ~ Walter Savage Landor
จากที่เราได้มีโอกาสสนทนากับ พระอาจารย์ ดุษฎี เมธงกุโร ผู้ที่ได้รับใช้ท่านพุทธทาสภิกขุช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต ช่วยจัดทำหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาส เผยแผ่ธรรมะแก่เยาวชน นักศึกษา ทำให้เราเกิดคำถามว่า หนังสือในดวงใจท่านพุทธทาส มีอะไรบ้าง เพราะเราคงไม่สามารถย้อนเวลาไปสนทนากับท่านได้ ถือได้ว่าท่านเป็นผู้ที่อ่านหนังสือมากมายนับไม่ถ้วนจนฝากผลงานมรดกไว้มาก มาย อาจารย์ดุษฎีได้ บอกเล่าถึงหนังสือที่ท่าน อาจารย์พุทธทาส ได้เอ่ยถึงตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราจึงขอนำมาแบ่งปันดังนี้
1. At the Feet of the Master J.Krishnamurti
2. (พระ)สูตรของเว่ยหล่าง แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษโดย มร.ว่อง มู ล่ำ แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย (ในภาคต้น) โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
3. ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ( ติช นัท ฮันห์ แปลโดย พระประชา ปสนฺธมฺโม) เป็นหนังสือที่ ท่านพุทธทาสให้ อาจารย์ดุษฎีอ่านออกเสียงให้ฟัง ตอนบั้นปลายชีวิต
4. The path of Purification โดย ท่านภิกขุญาณโมลี ( แปลเป็นภาษาอังกฤษจากคัมภีร์บาลี พระวิสุทธิมัคค์ –พระพุทธโฆษะ) ทำให้ท่านรจนา อริยสัจ ธรรมโฆษณ์ขึ้น
5. A Young People’s Life of the Buddha by Bhikkhu Silacara ( เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านอาจารย์พุทธทาส แปลและเรียบเรียง จากฉบับภาษาอังกฤษเป็น พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน )
6. Work of dhammapala งานเขียนของอนาคาริกธรรมปาละ ผู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ และเป็นผู้เรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธ
“The road to knowledge begins with the turn of the page.” Anonymous
หนังสือที่ได้นำมาแบ่งปันเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นแรงบันดาลที่ได้รับของ อาจารย์ พี่ๆเพื่อนๆ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังเห็นได้ว่า หนังสือ เป็นเสมือนสิ่งที่เชื่อมร้อย คนระหว่างยุคสมัย ถ่ายทอด อุดมการณ์ แรงบันดาลใจ ภูมิปัญญา ที่ข้ามพ้นกาลเวลาเพียงแค่ชั่วพริบตาของอายุคน
แล้วคุณล่ะ มีหนังสืออะไรที่อยู่ในดวงใจบ้าง?
สามารถเข้าแชร์หนังสือที่คุณประทับใจ พร้อมเหตุผลได้ที่
http://www.facebook.com/topic.php?uid=114083371235&topic=11952