โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา apiwut@riverorchid.com

หลัง จบการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องทักษะการบริหารคน ซึ่งผมเป็นวิทยากร มีหัวหน้างานท่านหนึ่งเดินเข้ามานั่งข้างๆ ผม เขาเอาผลทดสอบที่ทำระหว่างการสัมมนามาให้ผมดู โดยแบบทดสอบแสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่ชอบลงในรายละเอียด เป็นคนที่รักษากฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ชีวิตมีแต่ถูกกับผิด ไม่มีอะไรที่อยู่สายกลาง

จากนั้นผู้ร่วมสัมมนา ท่านนี้ก็ถอนหายใจ พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า เขาเข้าใจแล้วว่า ทำไมเขาจึงเป็นคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์เลย ด้วยลักษณะของเขาที่เป็นเช่นนี้ ทำให้เขาเป็นคนที่ทำอะไรอยู่ในกรอบ คิดอะไรออกนอกกรอบไม่เคยได้ คำถามของเขาคือ เขาควรจะทำอย่างไรดี เพื่อให้เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้บ้าง

ผมเข้าใจเลยว่า เขารู้สึกอย่างไรใน ตอนนี้ พูดจริงๆ แล้ว การที่คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ ไม่ได้แปลว่าคุณต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ คนบางคนมีความคิดใหม่ๆ มากมาย แต่ใช้จริงไม่ได้สักอย่าง ดังนั้นจงอย่าน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์

สิ่ง ที่ผมอยากแนะนำคือ ถ้าเราสร้างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่ได้ ทำไมเราไม่มาบริหารความคิดสร้างสรรค์แทน แทนที่เราจะมานั่งคิดจนหัวแตกเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ซึ่งคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เราก็ควรมา บริหารความคิดสร้างสรรค์ดีกว่า

อย่า เพิ่งงงครับว่า การบริหารความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างไร ผมกำลังจะอธิบายวิธีการและขั้นตอนต่อจากนี้ สำหรับการบริหารความคิดใหม่ๆ สิ่งที่คุณควรทำ คือ

– หยุดละเหี่ยใจกับตนเอง หรือมัวแต่โทษตัวเอง ว่าทำไมไม่มีความคิดใหม่ๆ เปิดใจตัวเองให้กว้าง รับฟังความคิดใหม่ๆ จากคนอื่น ฟังแล้วเอาไปคิดต่อ พิจารณาและวิเคราะห์ในความคิดเหล่านั้น ไม่แน่คุณอาจจะมีความสามารถในการต่อยอดความคิดของคนอื่นก็เป็นได้

– เปิดใจรับฟังความคิดใหม่ๆ จากคนรอบข้างทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง จงรับฟังความคิดสร้างสรรค์จากคนที่มีระดับการศึกษาที่ ต่างกัน มีภูมิหลังที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ระดับการทำงานที่แตกต่างกัน เพราะความแตกต่างเหล่านี้จะทำให้คุณได้มุมมองที่ แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิงจากคนแต่ละกลุ่ม

– จงสร้างแรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้คนอื่นกล้าที่จะพูดหรือเสนอความคิดของตนเองออกมา คนไทยโดยส่วนมากจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวว่าความคิดของตนเองจะผิด หรือกลัวเสียหน้าถ้าถูกปฏิเสธหรือไม่มีคนฟัง ดังนั้นคุณจะต้องทำให้พวกเขาเห็นว่า ความคิดทุกความคิดของพวกเขามีค่า จะเป็นความคิดที่ดีหรือไม่ดี ขอให้เขาเสนอมาก่อน คุณต้องทำให้เขาเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่ความผิดหรือการเสียหน้าอย่างที่เขาคิด

– ฟังอย่างตั้งใจ เพราะคนเราทุกคนจะพูดก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ามีคนฟัง ถ้าเราไม่รู้จักฟัง เขาก็คงไม่อยากจะพูดหรือเสนอความคิดเห็นเหมือนกัน

– หลายครั้งที่ไอเดียดีๆ จากคนข้างล่างไปไม่ถึงคนข้างบน และเหตุผลหลักๆ ก็เป็นเพราะว่า ไอเดียเหล่านั้นจะถูกกลั่นกรองโดยคนที่อยู่ในระหว่างกลางเสมอ ดังนั้นทางที่ดี องค์กรควรจะมีวิธีการที่จะทำให้ ไอเดียเหล่านั้นไปให้ถึงเป้าหมายที่ควรไป เช่น การมีกล่องเปิดรับไอเดียใหม่ๆ หรือ มีอีเมล์ที่พนักงานสามารถส่งไอเดียใหม่ๆ ไปให้ผู้บริหารได้ เป็นต้น

– ถ้ามีการระดมสมองเพื่อ ให้ทุกคนช่วยกันคิดหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ คุณต้องรู้ว่าในระหว่างการระดมสมอง จังหวะไหนในระหว่างการประชุมที่ควรจะเข้าไปควบคุมกระบวนการสร้างสรรค์ (เช่น ช่วงที่กำลังออกนอกประเด็น) และเวลาไหนไม่ควรเข้าไปควบคุม (เช่น ช่วงเริ่มต้นของกระบวนการคิด)

– และสุดท้ายคือการตอบกลับไอเดียที่ได้รับมา ไม่ว่าคุณจะตอบรับหรือปฏิเสธ ไอเดียที่ได้รับมา คุณต้องแจ้งให้กับคนที่ เสนอไอเดียได้ทราบถึงเหตุผลว่าทำไมถึงปฏิเสธไอเดียของเขา ในขณะเดียวกันถ้าคุณตอบรับไอเดียของเขา คุณก็ต้องบอกถึงขั้นตอนที่จะทำต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น พนักงานจะเริ่มเบื่อหน่ายและไม่ต้องการ ที่จะเสนอความคิดใหม่ๆ อีกต่อไป เพราะรู้สึกว่าบอกไปก็ไม่เห็นมีใครสนใจ หายไปกับสายลมแสงแดดตลอด

ตอน นี้คุณคงพอจะมองเห็นแล้วว่าถึงแม้คุณจะเป็นคนที่คิดหาไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่เก่ง แต่การบริหารไอเดียก็สามารถช่วยคุณได้เช่นกัน ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู แล้วคุณอาจจะพบว่าการบริหารความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อาจเป็นอะไรที่ง่ายกว่าการคิดสร้างขึ้นมาเองก็ได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02hmc03010652&day=2009-06-01&sectionid=0220