เยือนศูนย์ฝึกสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืนโขงสาละวิน…คืนวิถีสู่รากเหง้าเกษตรกรรม
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ร้านโขงสาละวิน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน ได้มีการประชุมนอกสถานที่ (At Scene Conference) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนานาชาติ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก2008 Asia and Pacific Regional Conference on Health Impact Assessment(HIA2008) โดยในวันนั้น ได้มีกิจกรรมเวทีสรุปภาพรวม ผลกระทบทางสุขภาพต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม: กรณีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ(ลำพูน)
โดยในบ่ายวันนั้น นางกัลยา ประสานใหญ่ เจ้าของร้านโขงสาละวิน ได้บอกเล่าถึงที่มาของร้านโขงสาละวิน กระทั่งกลายเป็น ‘ศูนย์ฝึกสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืนโขงสาละวิน’ ซึ่งถือว่าเป็นอีกบทบาทของภาคประชาสังคม กับการก้าวย่างต่อไปของเมืองลำพูน
กว่าจะมาเป็น ‘โขงสาละวิน’ ร้านอาหาร ที่พักเพื่อสุขภาพ
นางกัลยา ประสานใหญ่ เจ้าของร้านโขงสาละวิน บอกว่า หากลองนึกจินตนาการไปถึงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว พื้นที่ที่ทุกคนยืนอยู่ที่นี่ จะ มีแต่ทุ่งนาแล้งแห้ง ไม่มีหญ้าสักกอ ไม่มีต้นไม้สักต้น
“ตอน นั้น พอเรามาอยู่ที่นี่ ก็ปรากฏว่า ผู้คนเริ่มที่จะไม่อยากทำนากันแล้ว จำได้ตอนนั้น พ่อแม่ให้คนอื่นทำอยู่ เรามาเจอปัญหาว่า ยิ่งทำนาปลูกข้าว กลับยิ่งได้ผลผลิตน้อยลงเรื่อยๆ แล้วคนที่ทำนาอยู่เขาก็รู้สึกหมดหวังการทำนา เพราะเมื่อเรามาเริ่มต้นทำบริเวณตรงนี้ จะรู้เลยว่าดินจะแข็ง แห้ง ไม่มีชีวิต ไม่มีไส้เดือน ไม่สามารถจะปลูกแม้แต่กล้วยซักต้น ซึ่งสำหรับเราแล้วนี่คนเมืองเหนือ ถือว่ากล้วยนี่ปลูกง่ายที่สุด แต่ก็ไม่สามารถจะปลูกขึ้นได้”
นาง กัลยา บอกเล่าถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน ว่าได้ส่งผลต่อระบบเกษตรกรรมลำพูนเป็นอย่างมาก คนที่จะหันมาทำนา มาบุกเบิก มาฟื้นทำให้ดินตรงนี้มีชีวิต ให้มันเกิดเป็นนาเป็นสวนอย่างสมัยพ่อแม่ของเรา มันก็หายากไปเรื่อยๆ เพราะว่าแรงงานแถวนี้ เขาเข้าไปสู่โรงงานกันเกือบหมด
“ปี 2523 ช่วงนั้นก็เริ่มมีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูนแล้ว เราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนลำพูนและเราก็เคยอยู่เมืองที่เป็นเมืองสงบสุขมาก่อน เริ่มหายไป ตอนที่ดิฉันสร้างบ้านครั้งแรกที่ตรงนี้ ดิฉันเกือบจะหนีไปอยู่ที่อื่นเลย เพราะว่าเกิดน้ำเน่าเหม็นจากนิคมฯ มันส่งผลมาถึงที่นี่ เราก็ทนไม่ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมกับคนลำพูนที่ไปร้องเรียนกับทางจังหวัดให้แก้ไข ปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เขาก็มีการแก้ไข แต่เราก็เจอปัญหาอีก คือเริ่มมีคนตายมากขึ้น ตอนหลังๆ ก็เลยคิดว่าทางที่ดีที่สุดแทนที่เราจะไปต่อสู้เรียกร้อง ไปให้รัฐบาลเปลี่ยน หรือให้คนอื่นเปลี่ยน ก็คิดว่าเรากลับมาแก้ที่ตัวเรานั่นแหล่ะ”
นางกัลยา บอกเล่าให้ฟังว่า นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เธอและครอบครัวต้องฮึดสู้กับกระแสทุน กระแสอุตสาหกรรมที่กำลังไหล่บ่าเข้ามาสู่เมืองลำพูนอย่างบ้าคลั่ง
“คือ เราก็ไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหนแล้ว เราก็เลยอยากจะสร้างบ้านเมืองตรงนี้ให้กลายเป็นเมืองที่ร่มเย็นขึ้นมา อยากจะสร้างอาหารที่มันปลอดภัยขึ้นมา อยากจะสร้างสภาพแวดล้อมที่มันน่าอยู่ขึ้นมา เพราะรู้ว่าไม่ว่าเราจะหนีไปอยู่ที่ไหนในแผ่นดินไทยนี้ ก็จะต้องเจอกับผลกระทบที่มันเกิดจากการพัฒนาเมืองที่เลียนแบบโลกตะวันตก”
นาง กัลยา บอกเล่าให้ฟังอีกว่า ก่อนหน้านั้น เคยอยู่กับคนเมืองบนดอยมาประมาณ 4 ปี เมื่ออายุ 18 ปี ช่วงนั้นปี 2516 มันเกิดวิกฤติคนหนุ่มคนสาวอยู่เมืองไม่ได้ เลยต้องเข้าไปหลบอยู่ในป่าเพื่อหาทางออกว่าจะทำยังไงให้บ้านเมืองเป็น ประชาธิปไตย และในช่วงนั้นก็ได้มีโอกาสไปอยู่กับคนปกากะญอที่เขาใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ บนดอย ได้เรียนรู้วิธีปลูกข้าวได้เรียนรู้วิธีการดูแลรักษาตัวเองด้วยสมุนไพรพื้น บ้าน รู้วิธีที่จะสร้างบ้านวิธีที่จะทอผ้า วิธีที่จะปลูกพืชปลูกผักบนดอย ก็เลยเอาประสบการณ์ชีวิตในช่วงนั้นมาเริ่มต้นตรงนี้
เริ่มจากตัวเอง ฟื้นครอบครัว ก่อนฟื้นชุมชน
นางกัลยา บอกว่า ครั้งแรกที่กลับมาอยู่ที่ตรงนี้ มีคนกล่าวหาว่าเป็นผีบ้าบ้าง เพราะว่าที่ตรงนี้ ขุดลงไปในดินนี่ขุดไม่ลงเลย ดินนี่จะแข็งมาก ตอนแรกนั้น ที่มาทำอะไรตรงนี้ คิดแต่เพียงครอบครัว อยากให้ครอบครัวมีอาหารปลอดสารพิษ มีชีวิตที่อยู่ในที่สงบร่มเย็นมีสภาพแวดล้อมที่เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ
“แต่ หลังจากนั้น เรารู้ว่าเราอยู่ครอบครัวเดียวไม่ได้ อยู่เฉพาะพ่อแม่ลูกไม่ได้ เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะป้องกันสังคมที่มันเกิดปัญหามากขึ้น เพราะเดินออกไปนิดเดียวมีหลายครอบครัวเป็นเอดส์ตาย อย่างน้อยสามครอบครัว เลยออกไปอีกมีคนถูกจับข้อหายาเสพติด มีแต่ปัญหาที่รุมเร้าเข้ามา เราก็เลยคิดว่า วิธีที่จะป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดก็คือการมีชุมชน การมีเพื่อนที่คิดคล้ายกัน มีคนที่อยากจะเห็นสังคมนี้มันมีการช่วยเหลือเกื้อกูลแทนที่เราจะไปวิพากษ์ ว่าคนอื่นไม่ดี ทำอย่างไรเราถึงจะกลับมามองตัวเองว่า เราทำอะไรกันได้บ้าง เราสามารถจะเอาสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเข้าใจมาแปรเป็นรูปธรรมอะไรได้บ้าง”
เธอ บอกว่า หลังจากผ่านไปไม่นาน พื้นที่นาพื้นที่สวนบริเวณดังกล่าว ได้กลับมาร่มรื่น ชุ่มชื้นปกคลุมด้วยต้นไม้ใบหญ้า พืชพรรณนานาชนิด เธอก็เริ่มพัฒนาและให้ความสำคัญกับพันธุ์พืช พันธุ์ข้าวพื้นบ้านมากขึ้น
“หลัง จากเราทำนาทำสวนเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็เริ่มศึกษาว่าที่อื่นที่ไหนที่ทำอะไรสำเร็จแล้วบ้าง อย่างในตอนแรกเริ่มนั้น เรายังสีข้าวแบบใช้มือ ยังไม่มีเทคโนโลยีอะไร แต่ช่วงหลังมาเราพบว่ามีบางมหาลัยอาจารย์เขาก็คิดแปรรูปทางการเกษตรโดยการ ใช้เครื่องที่ใช้ได้ง่ายไม่ซับซ้อนไม่สิ้นเปลืองพลังงานมาก ไม่สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม เราก็เริ่ม ติดต่อเอามาใช้ที่เห็นชัดก็คือเครื่องสีข้าวแบบที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งสามารถผลิตข้าวกล้องซึ่งแต่ก่อนที่เราต้องเอามาตำ แล้วฝัดด้วยมือถ้ากินในครอบครัวเดียวอาจจะพอกิน แต่พอจะให้กับชุมชนเกิดปัญหา ก็ต้องใช้เครื่องจักรเข้ามาแต่เป็นเครื่องจักรที่ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและ มันไม่ซับซ้อนจนเกินไปแล้วก็ทำให้เราสร้างผลิตภัณฑ์ของเราได้ นั่นก็คือข้าวกล้องที่เขาเรียกว่าข้าวสารกรอกหม้อ”
ใช้เกลือทะเลไปแลกข้าวดอย
วิจัยข้าวพันธุ์บ้าน 7 หมู่บ้าน 76 สายพันธุ์
นอก จากจะได้ข้าวที่ปลูกในทุ่งนาของตนเองแล้ว ในวันว่าง เธอจะเดินทางไปตามหมู่บ้านบนดอย โดยใช้วิธีนำเกลือทะเลไปแลกกับข้าวพื้นบ้านจากบนภูเขา จากพี่น้องชนเผ่าปกากะญอ เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ผ่านความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยกันมานาน
เจ้า ของร้านโขงสาละวิน บอกอีกว่า ที่ผ่านมาได้ทำวิจัยการทำข้าวพันธุ์พื้นบ้านกับคนปกากะญอ 7 หมู่บ้าน มีข้าวพันธุ์พื้นบ้าน 76 สายพันธุ์ ที่เราทำวิจัยเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลัก
“ข้าว พื้นบ้านมีคุณสมบัติทนโรค ทนแมลง แล้วก็ทำให้คนที่ทานได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเมื่อมีการวิจัยรองรับแล้วว่าข้าวที่ปลูกบนดอยเมื่อเอามาทำเป็นกล้อง แล้วมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ”
ผลิตข้าวกล้องขายในราคาถูก
เพื่อจูงใจคนหันกลับมาให้คุณค่าเกษตรอินทรีย์
เจ้า ของร้านโขงสาละวิน บอกว่า หลังจากที่ได้ผลผลิตจากข้าวไร่ข้าวดอยรวมทั้งข้าวที่ปลูกในทุ่งนา เธอได้นำมาบรรจุถุงขายให้กับประชาชนทั่วไปในราคาต่ำกว่าท้องตลาด
“เรา ต้องการให้คนลำพูนรู้จักสถานที่แห่งนี้ โดยการขายข้าวจากที่นาเราในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด และเพื่อจูงใจให้คนหันมาบริโภคข้าวที่เราผลิตจากวิธีการเกษตรอินทรีย์แบบนี้ เพราะเราสรุปได้ว่า ความคิดของเราโลกนี้เป็นหนึ่งเดียว วิธีสร้างบ้านของเราก็คือสร้างโลกนี้ให้ดีขึ้น เราไม่สามารถที่จะสร้างเฉพาะครอบครัวเดียวให้มันดีขึ้นได้ เราต้องมีเครือข่ายเราต้องมีเพื่อน
นางกัลยา ยังบอกอีกว่า ทุกวันนี้ เราทำงานตามธรรมชาติ เมื่อเรามีเงื่อนไขไปทำงานที่ตรงไหนได้เราก็ไป ปัจจุบันมีอาสาสมัครๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาจากประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งก่อนหน้านั้นมาเป็นลูกค้าของร้านโขงสาละวิน แต่ตอนหลังเขาตัดสินใจเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติ ไม่ได้เป็นลักษณะจ้างงานหรือว่ากินเงินเดือน มาใช้ชีวิตที่นี่เพราะศรัทธาที่จะร่วมทำโครงการกับเรา
จาก ‘ร้านโขงสาละวิน’ กลายเป็น ‘ศูนย์ฝึกสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืนโขงสาละวิน’
ล่าสุด ร้านโขงสาละวิน ได้พัฒนากิจกรรมจนกลายเป็น ‘ศูนย์ฝึกสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืนโขงสาละวิน’โดยโครงการสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิไชยวนา ซึ่งได้เข้ามีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม กับการก้าวย่างต่อไปของเมืองลำพูนมาอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมหลากหลายอย่างต่อเนื่องทั้งภายในศูนย์ฯ เช่น การสัมมนา “วิถีชาวนาลำพูน” การจัดงานช่วยเหลือเศรษฐกิจชุมชนจำหน่ายข้าวสารเกษตรอินทรีย์ราคาถูก การผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ การจัดศูนย์ศึกษาและแปรรูปสมุนไพร โครงการพัฒนาผู้นำเยาวชนจิตอาสานอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ เช่น โครงการสร้างประปาภูเขา โครงการส่งเสริมทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้พี่น้องชนเผ่า เป็นต้น
“เรา จะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้และช่วยเหลือกันและกัน และทำอย่างไรถึงจะทำให้คนท้องถิ่นมีศักยภาพที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของ โลกสมัยใหม่และยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง” นางกัลยา บอกเล่าในตอนท้าย
นี่ คือเรื่องราว ภาพเปลี่ยนของเมืองลำพูน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่สงบ สันโดษและงดงาม แต่วิถีดังกล่าวนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อลำพูนได้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม คนลำพูนอีกหลายกลุ่ม หลายองค์กร เริ่มตื่นตัว รวมตัวกัน พยายามปรับตัว ให้รู้เท่าทันเข้ากับกระแสโลกทุนนิยม โลกอุตสาหกรรม ที่กำลังไหลบ่าเข้ามาท่วมเมืองลำพูนอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
ที่มา ประชาไท 27/5/2552
http://www.prachatai.com/05web/th/home/16979