มธ.จัดนิทรรศการภาพถ่าย Portrait of Courage พร้อมมอบรางวัล 26 ผู้กล้าท้าทายอำนาจ อุทิศตนเพื่อความยุติธรรมของสังคม
านนี้ (27 มี.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อชีวิต Portrait of Courage พร้อม มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 26 สุดยอดคนกล้าของไทย ผู้อุทิศตนเพื่อความถูกต้องและยุติธรรมในสังคม ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 5 เมษายน 2552 หวังปลูกจิตสำนึกเยาวชนกล้าคิด กล้าทำ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อพิทักษ์ความถูกต้องในสังคมไทย
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการบริหาร สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สำนักงานเขตปทุมวัน มูลนิธิฟรีดริช เนามัน มูลนิธิเอเชีย เครือข่ายจิตอาสา และทีวีไทย ทีวีสาธารณะ จัดพิธีมอบรางวัลให้กับพลเมืองที่มีความกล้าหาญ ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องในสังคม ซึ่งทุกๆ ผลงานสะท้อนความเป็นต้นแบบของความกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งท้าทาย หรืออันตรายจากกลุ่มอิทธิพล พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและยุติธรรมในสังคมไทย
“รางวัลนี้ ถือเป็นรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจแก่ผู้รับ เพราะบุคคลเหล่านี้ ได้ทำคุณประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมอย่างกล้าหาญ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันให้เห็นคุณค่าของความกล้าหาญ การกล้าเปิดเผยความจริง” ดร.ปริญญา กล่าว
โดยผู้ที่ร่วมมอบรางวัลให้กบัทั้ง 26 พลเมืองคนกล้า ได้แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการอำนวยการสถาบัน สัญญาฯ และคณบะีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์
นอกจากการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายของพลเมืองคนกล้า “Portrait of Courage” โชว์ภาพถ่ายและผลงานของพลเมืองคนกล้าทั้ง 26 คน ให้กับเยาวชน และประชาชนได้เข้าชม ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 5 เมษายน 2552 ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลป์กรุงเทพฯ รวมทั้งมีการถ่ายทอดเรื่องราวของความกล้าหาญ และการต่อต้านความ อยุติธรรมเป็นวิดีทัศน์ ซึ่งได้นำเสนอทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ในรายการพลเมืองคนกล้า
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ ประกอบด้วย
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ : เภสัชกรยิปซี…คนไทย คนดีที่โลกยกย่อง
พื้นเพ เดิมเป็นคนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2526 ได้เริ่มเข้าทำงานที่องค์การเภสัชฯ เพราะนโยบายคือ ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และอยากมาผลิตยาที่มีคุณภาพให้กับคนไทย จนกระทั่งปี 2535 ประเทศไทยเริ่มมีผู้ป่วยเอดส์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้หญิงและเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องเริ่มต้องมารับผลกระทบไปด้วย นี่คือจุดที่ทำให้ดร.กฤษณาตัดสินใจค้นคว้าและวิจัยผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ขึ้น มา ซึ่งใช้เวลากว่าสามปี และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ผลิตยาชื่อสามัญว่า ยาเอดส์ ในปี2538 ได้ กว่าจะศึกษาและค้นคว้ายาได้สำเร็จ ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย เช่น อุปสรรคจากบริษัทยาต่างๆ ที่ไปขัดผลประโยชน์ และถูกฟ้องร้องคดีความ เนื่องจากยาที่ผลิตได้กับที่บริษัทเอกชนผลิตขายก่อนหน้านี้ราคาแตกต่างกัน มาก แต่ท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในและต่างประเทศ
ดร.กฤษณา ยังเดินทางไปยังประเทศในทวีปต่างๆ ที่กันดารทั่วโลกที่เป็นแหล่งแพร่ขยายของเชื้อเอดส์ เช่น อาฟริกา เพื่อทำการสอนผลิตยาต้านไวรัสเอดส์
บุญยืน ศิริธรรม : นักสู้ชาวบ้าน …บนเส้นทางของความบ้า
ประธานสหกรณ์ประมงบางจะเกร็ง-บางแก้ว จ.สมุทรสงคราม และแกนนำเครือข่ายประชาชนรักษ์ท้องถิ่นสมุทรสงครามและผู้ประสานงานเพื่อผู้ บริโภคภาคตะวันออก เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องในการระงับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน และใบขออนุญาตใช้อาคารของบริษัทปิกนิก กรณีปัญหาคลังก๊าซมหันตภัยขนาดใหญ่ ที่เก็บก๊าซมากกว่า 4,000,000 ลิตร ตั้งอยู่ที่ตำบลบางจะเกร็ง (ใกล้ดอนหอยหลอด) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ลำดับที่ 1099 ที่ควรจะต้องได้รับการอนุรักษ์ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ จึงควรปฏิบัติตามมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานา ชาติ
นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวและต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวด ล้อมชุมชนอีกหลายกรณี เช่น การต่อต้านการเดินเรือบรรทุกน้ำมันในแม่น้ำแม่กลอง การต่อต้านโรงงานขยะ การคัดค้านการประกาศให้พื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามเป็นนิคมอุตสาหกรรม และการคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็มในแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น
กรณ์อุมา พงษ์น้อย : คนเสื้อเขียว… แห่งบ่อนอก
ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก (ภรรยาของเจริญ วัดอักษร อดีตผู้นำชุมชนบ่อนอก ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิต) ที่ทำงานด้วยจุดมุ่งหวังเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและขยายเครือข่าย “คนเสื้อเขียว” อันเป็นเจตนารมณ์ของเจริญ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้านและชุมชนพิทักษ์สิทธิในการดูแล ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง
กรณ์อุมาเริ่มต้นทำงานด้วยการร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า บ่อนอกของบริษัท กัลฟ์เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนรัฐบาลต้องระงับโครงการดังกล่าว หลังจากนั้น ได้ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านกลุ่มนายทุนที่ได้เข้ามาบุกรุกพื้นที่สาธารณะและ การทำนากุ้งเพื่อรักษาสิทธิ ในขณะที่ผู้นำกลุ่มหลายคนในชุมชนถูกซื้อและหลายคนไม่ได้ต่อสู้เพื่อปกป้อง ทรัพยากรอย่างจริงจังซ้ำยังถูกหลอกอีกหลายครั้ง จนทำให้คิดว่าไม่อาจฝากความหวังกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นหรือใครได้อีกต่อ ไป แต่ชาวบ้านจะต้องช่วยตัวเองเท่านั้น
จากนั้นกรณ์อุมาก็ร่วมสร้างเครือข่ายอนุรักษ์หินกรูด-บ่อนอก เพราะมุ่งหวังที่เห็นชุมชนต่างๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้ยืนหยัดปกป้องท้องถิ่นด้วยความเข้มแข็ง ส่งทอดและสืบสานอุดมการณ์รักท้องถิ่นให้แก่ชุมชนอื่นๆต่อไป การทำงานดังกล่าวมีอุปสรรคมากมาย และไม่ใช่เรื่องง่าย ในวันนี้การต่อสู้ของชาวประจวบฯเองก็ยังไม่จบสิ้น แม้โรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูดจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่โรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทั้งถ่านหิน ก๊าซและนิวเคลียร์ ยังคงรอจังหวะที่จะรุกเข้ามา อีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างสหวิริยาก็ต้องการขยายอาณาจักรมา รุกรานทำลายทรัพยากรและสุขภาพของชาวประจวบฯให้แย่ลงไปอีก ซ้ำที่ดินสาธารณะคลองชายธงก็ยังคงตกอยู่ในมือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นอีกด้วย
แยนะ สะแลแม : ปกป้องสิทธิมนุษยชน… เพราะฉันคือคนไทย
หญิงเหล็กแห่ง ต.ศาลาใหม่ ตากใบ ในวัยเฉียดห้าสิบ ที่มีความรู้เพียงชั้น ป.4 ได้รับรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประจำปี 2550 เพื่อสนับสนุนผู้หญิงที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน และรณรงค์เผยแพร่ให้สังคมตระหนักถึงบทบาทและภารกิจของผู้หญิงในการทำงานด้าน นี้
ลูกชายของแยนะเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธ บริหาร จ.ปัตตานี และต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในชาวตากใบ 58 คน ที่ถูกทางการดำเนินคดีในฐานะกลุ่มแกนนำและมีส่วนร่วมวางแผนเพื่อก่อให้เกิด การชุมนุม นอกจากนี้ในจำเลยอีก 17 คนยังเป็นญาติและเพื่อนบ้านของแยนะ นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้แยนะต้องลุกขึ้นช่วยเหลือผู้ถูกฟ้องร้องดำเนิน คดี แยนะทำหน้าที่นี้ทั้งในฐานะแม่ ญาติ และเพื่อนบ้านผู้ร่วมทุกข์ ให้แก่ผู้ที่เธอรู้จักหรือกระทั่งไม่รู้จักเพราะเธอไม่สามารถทนเห็นคนไม่ผิด แต่กลับต้องรับผิด ในขณะที่คนผิดกลับลอยนวล
นอกจากงานข้างต้นแล้วเธอยังเป็นหนึ่งในตัวแทนของกลุ่มสตรีสานสัมพันธ์สู่ สันติสุข ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่ลูกชาย สามี พ่อ หรือญาติเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบและเหตุรุนแรงอื่นๆแยนะทำหน้าที่ประสาน งานการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมกับกลุ่มเยาวชนใจอาสาเพื่อครอบครัวผู้สูญเสีย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์พร้อมให้ความรู้และความช่วยเหลือด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแก่สมาชิกครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นฤมล บัวงาม : อิสระแห่งชีวิต…กับความคิดที่ไม่เคยพิการ
หญิงพิการ วัย 29 ปี ชาวนนทบุรี แกนนำอาสาสมัครผู้พิการ ที่ชักนำผู้คนมากมายร่วมกันทำสิ่งดีๆให้กับสังคม เคยแม้กระทั่งตื่นไปเดินขบวนเรียกร้องสิทธิผู้พิการตั้งแต่ตี 3 ถึง 5 โมงเย็นมาแล้ว สำหรับเธอ ความพิการไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม
จุดเริ่มต้นการทำงานอาสาสมัครของเธอ คือเมื่อปี 2547 เมื่อเธอได้รู้จักกับศูนย์ดำรงชีวิตอิสระผู้พิการ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งทำงานกับผู้พิการที่มีอาการหนัก ช่วยเหลือตนเองแทบไม่ได้เลย โดยจะมีการไปเยี่ยมบ้าน เพื่อพูดคุย ให้กำลังใจ ทั้งตัวผู้พิการเองและญาติผู้พิการ การพูดคุยดูราวกับเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่ใครๆก็ทำได้ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเธอ การพูดกลายเป็นสิ่งวิเศษสุด ที่เธอสามารถให้เป็นของขวัญแก่เพื่อนผู้พิการที่หมดกำลังใจนอกจากการลง เยี่ยมผู้พิการในพื้นที่ต่างๆแล้ว เธอยังไปช่วยงานกลุ่มอาชีพผู้พิการในพื้นที่ ได้แก่การช่วยขายของตามงานออกร้านต่างๆ และยังไปเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตและการทำงานอาสาสมัครตามเวที ต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับในวงการผู้พิการ
ชูชาติ ดุลยประภัทศร : สาวประเภทสองผู้กลายมาเป็นผู้ใหญ่บ้านขวัญใจชุมชน
ชูชาติ หรือ “ผู้ใหญ่กบ” เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น จนกระทั่งได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็หันมาช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าใครจะเดือดร้อนอะไร ทั้งคดีจี้ปล้น งูเหลือมเข้าบ้าน หรือใครถูกทำร้าย ก็ช่วยออกติดตาม และ ต่อสู้กับคนร้ายมาแล้ว โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่มีฐานะยากจนและผู้สูงอายุ ในพื้นที่อย่างสุดสามารถจนเป็นขวัญใจของชาวบ้าน
ผู้ใหญ่กบกล่าวว่า “เชื่อมั่นว่า ทุกคนยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ได้ ถึงแม้จะเป็นสาวประเภทสอง แต่ก็สามารถทำงานได้เหมือนกับผู้ชายและผู้หญิง และอาจจะทำได้ดีกว่า เวลาที่ผ่านไปวันๆ ไม่อยากให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ เมื่อเห็นบางคนมีชีวิตน่าสงสาร ไม่มีใครช่วย ก็อดจะช่วยเหลือไม่ได้ ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ ดีกว่ามีเงินแล้วใช้หมดไป ชอบสายตาคนที่เคยช่วยเหลือที่มองกลับมา ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่ใช้เงินไปวันๆ อย่างไม่รู้ค่า เหมือนวัยรุ่นทั่วไป เพราะชีวิตมีสุนัขเป็นเพื่อน และได้ช่วยเหลือสังคมก็มีความสุขแล้ว”
กฤษฎา บุญราช : รองผู้ว่าคนกล้า…ของคนยะลา
ข้าราชการที่อยู่เคียงข้างและเป็นที่พึ่งชาวบ้าน มีการลงพื้นที่ เข้าใจและช่วยหาทางแก้ไขปัญหา ดังเช่นเมื่อครั้งชาวแม่อายถูกถอดสัญชาติ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อปี2545 ซึ่งนายกฤษฎา แม้ในขณะนั้นไม่ได้เป็นนายอำเภอที่แม่อาย แล้วก็ยังคงยืนหยัดต่อสู่เรียกร้องความยุติธรรมเคียงข้างกับชาวบ้านจนในที่ สุดศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้คำสั่งถอน สัญชาติเป็นคำสั่งโดยมิชอบและให้นำรายชื่อชาวบ้านกลับเข้าสู่ทะเบียนราษฎร ทั้งหมด
ปัจจุบันนายกฤษฎาเข้ารับตำแหน่งรองผวจ.ยะลาและยังคงทำหน้าที่อย่างเต็ม ความสามารถ เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น นายกฤษฎาก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุกับทางตำรวจอยู่บ่อยครั้ง โดยไม่ได้เกรงกลัวอันตราย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นนายกฤษฎาก็ใช้สันติวิธีในการเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์กลุ่มชาวบ้านผู้หญิงและเด็กออกมาชุมนุมประท้วง ปิดถนนสายยะหา-ปะแต หมู่ 4 บ้านซีเซ๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 4 ศพ ที่ถูกคนร้ายยิงขนำในสวนยาง บ้านสะปอม ต.ปะแต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา นายกฤษฏาก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเองพร้อมเจ้าหน้าที่ทีเกี่ยวข้อง พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จนชาวบ้านรับปากสลายการชุมนุม
ณัฐพล รัตนพันธุ์ : คนกล้าสู้ เพื่อสมบัติของชาติ (อุทยานแห่งชาติตะรุเตา)
หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ยืนหยัดต่อสู้กับการลักลอบทำประมงอวนลากในเขตอุทยานหน้าเกาะตะรุเตา และลักลอบตัดไม้กฤษณาบนเกาะ ล้วนแต่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดของคนเพียงกลุ่มหนึ่ง เท่านั้น นอกจากนี้แล้วปัญหาที่น่าหนักใจอีกอย่างคือเกาะหลีเป๊ะ ที่เป็นหนึ่งในเกาะภายใต้การดูแลของอุทยาน ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยเอกชนผู้เช่าพื้นที่ มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มากมาย ทำให้มีปัญหาน้ำเสียและขยะ และอ้างถึงเอกสารสิทธิที่ดิน จึงไม่ยอมรับการเข้าไปดูแลจากอุทยาน ทำให้มีปัญหาการฟ้องร้องเรื่องสิทธิ์บนที่ดินบนเกาะ จากเดิมที่มีการออกเอกสารสิทธิอย่างถูกต้องให้แก่ชาวเลดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ ก่อนจะประกาศเป็นอุทยาน ประมาณ 40 แปลงเท่านั้น
แต่เมื่อมีกลุ่มนายทุนเข้ามาทำให้มีการเช่าที่ดินต่อ และพยายามที่จะครอบครองสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่พักร้านอาหาร และพยายามสร้างอิทธิพล โดยกลุ่มนายทุนพยายามทำให้วิถีชีวิตชาวเลเปลี่ยนจากทำประมงเพื่อยังชีพสู่ การค้า นอกจากนี้ณัฐพลยังเป็นผู้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความเรื่องการ ให้เช่าพื้นที่ในเขตอุทยานฯ แห่งชาติโดยกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็น ที่ถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้างในขณะนี้ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะให้เอกชนเข้ามาดูแลสมบัติของชาติเหล่านี้ และผลดีผลเสียของการใช้เอกชนเข้ามาดำเนินการอย่างไรจะมีมากกว่ากัน
คำ นายนวล : หญิงบ้านป่า กับคำว่าผู้บุกรุก
ชาวเขาเผ่าปะหล่องตัวแทนชาวบ้านปางแดง หนึ่งในจำเลยคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านถูกจับอย่างไม่มีความชอบธรรม เช่น เมื่อมีการจับกุมก็ไปจับตอนตี 5 ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่ตื่นและยังไม่มีหมายจับ ที่สำคัญการจับกุมชาวบ้านครั้งนี้เป็นการจับกุมครั้งที่ 3 แล้ว หลังจากที่การจับกุม 2 ครั้งก่อนหน้านี้คือในปี 2532 และในปี 2541 ก็มีการตั้งข้อหาเดียวกัน อีกทั้งชาวบ้านบางคนที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาในครั้งนี้ก็เคยถูกจับกุมในปี 2541 มาแล้วด้วย
จากกรณีที่เกิดขึ้นชาวบ้านยังมีการร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งยืนยันมาโดยตลอดว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุกป่า แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านกลับไปเรียกร้องให้ทางป่าไม้นำพื้นที่เหล่านั้นมาจัด สรรให้ชาวบ้าน ซึ่งกรณีนี้มีความขัดแย้งกัน และศาลมีความเห็นว่าชาวบ้านน่าจะสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง แล้วหลังจากนั้นค่อยไปเรียกร้องให้ทางป่าไม้นำพื้นที่เหล่านั้นมาจัดสรรให้
ทิชา ณ นคร: “ป้ามล..คนพลิกด้านดีให้ชีวิตเด็ก” จ.นครปฐม
ผู้บุกเบิกและต่อสู้เพื่องานส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จากความพยายามของคุณทิชาที่บ้านกาญจนาภิเษก คุณทิชาได้สร้างกระบวนการดูแลเด็กเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจอย่าก้าวหน้า รวมถึงการดูแลและสร้างการพัฒนาศักยภาพรวมทั้งจิตใจของเด็กๆ ทำให้บ้านกาญจนาภิเษกเป็นต้นแบบของการดูแลเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ที่จะช่วยให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีโอกาสกลับตัวอีกครั้งและสร้างความเชื่อมั่น ในคุณค่าความดีงามของตนเองอีกด้วย
สันติพงศ์ มูลฟอง “คนกล้าสู้..เพื่อคนไร้สัญชาติ” จ.แม่ฮ่องสอน
นักต่อสู้เรื่องคนไร้สัญชาติภาคเหนือ สันติพงศ์ เริ่มดำเนินงานต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อคนไร้สัญชาติที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงการสร้างศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี จัดให้คำปรึกษากรณีเด็กและผู้หญิงที่ถูกละเมิด ตลอดจนจัดบ้านพักฉุกเฉินนอกจากนั้นยังส่งเสริมงานพัฒนาอาสาสมัครเยาวชนใน ชุมชนและนำพาเด็กพลัดถิ่นมาร่วมกิจกรรมและพัฒนาศักยภาพตนเองรวมทั้งเป็นอาสา สมัครเฝ้าระวังที่จะเกิดในชุมชน
บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี: “เสียงจากเมืองกาญจน์ เสียงชุมชน เพื่อคนเพื่อป่า”
คุณบุญส่งเป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ในการเคลื่อนไหวต่อต้านการบุกรุก ตัดไม้ในทุ่งใหญ่นเรศวรของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และความ อยุติธรรมในสังคมอื่นๆ ผ่านทางรายการวิทยุท้องถิ่นของคุณบุญส่งการเคลื่อนไหวเรื่องนี้นั้นทำให้ เกิดการคุกคาม จากทั้งกลุ่มนายทุนค้าไม้และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ คุณบุญส่งและกลุ่มพยายามเรียกร้องจากภาครัฐ ในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดกระบวนการดูแลรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอย่าง จริงจัง เพราะป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกที่มีความสำคัญและเป็นหน้าที่ของประชาชน ทุกคนที่ต้องร่วมกันปกป้องรักษา
นอกจากนี้นายทุนยังพยามยามเข้ายึดครองพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและ โดยเจ้าหน้าที่ก็ไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์จึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อประจานความบกพร่องของหน่วย ราชการที่ปล่อยให้มีการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและยังตีแผ่ พฤติกรรมเจ้าหน้าที่ที่รับส่วยอีกด้วย
ปราณี บุญทอง: “คน บ้าน ป่า กับงานพัฒนาขั้นพื้นฐาน” จ.กาญจนบุรี
ปราณีเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือประชาชนในชุมชนท่ากระดาน จ.กาญจนบุรี โดยให้การช่วยเหลือและไม่รับสิ่งตอบแทน โดยคุณปราณีทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนให้ได้รับการดูแลและมีคุณภาพ ชีวิตที่ดี หลายครั้งที่ต้องใช้ทรัพย์สินส่วนตัวเองไปเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือคนในชุมชนในการต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินจากนายทุนหรือกลุ่มคนที่ เอารัดเอาเปรียบอย่างไม่ย่อท้อและไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ
วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ (เป๊าะ): “เป๊าะ ลูกเหรียงเมือง ยะลา” จ.ยะลา
เป๊าะเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นผู้นำชุมชนและมีส่วนร่วมกับงานพัฒนา ชุมชนมาโดยตลอด หลังจากที่ต้องสูญเสียพ่อและพี่ชายอีก3คน ไปในเหตุลอบสังหาร ในเหตุการณ์ความไม่สงบใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เธอและกลุ่มเพื่อนๆ น้องๆ ในชุมชนมารวมตัวกันเมื่อปี2547 เพื่อทำกิจกรรมให้แก่ครอบครัวที่สูญเสียสามีไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ ช่วยคิดกิจกรรมที่จะไปเยียวยาเด็กๆ ในครอบครัวเหล่านั้น โดยไม่หวั่นว่าการเคลื่อนไหวของเธอจะทำให้เป็นเป้าถูกลอบสังหารเหมือนคนใน ครอบครัว จึงได้เกิดเวทีครั้งแรกที่รวมเด็กๆ ที่เจอกับความสูญเสียมาเจอกัน จัดทำกระบวนการเยียวยาและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยใช้กิจกรรมศิลปะ ดนตรี ในการช่วยเปิดความรู้สึกและการสร้าง “นิทาน” เพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งโครงการนี้ได้ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากกิจกรรมของกลุ่มลูกเหรียงเป๊าะยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเครือ ข่ายเยาวชนอื่นๆ ในภาคใต้ เพื่อดำเนินกิจกรรมโดยเฉพาะเรื่องการยุติความรุนแรงและการสร้างสันติภาพใน พื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทวิทย์ สายไหม : “คนกล้า แห่งผืนป่าแม่ยม” จ.แพร่
ทวิทย์ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากถูกกลุ่มลักลอบตัดไม้ใช้มีดฟันนิ้วนางซ้าย ขาด ส่วนนิ้วกลาง และนิ้วชี้กระดูกแตกเหตุเกิดขณะเข้าจับกุมกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้บริเวณป่า ห้วยตาดตลาด บ้านดอกคำใต้ ต.แม่ตีบ เขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ถึงแม้การออกลาดตระเวนในพื้นที่แต่ละครั้งจะมีอันตรายจากการปะทะกับกลุ่ม ลักลอบตัดไม้สูงมาก แต่ด้วยความฝันและความผูกพันตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ทวิทย์ทุ่มเทที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้อย่างสุดความสามารถโดยมิได้หวั่น เกรง
จากการสูญเสียนิ้วของเขาทำให้เจ้าหน้าที่และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการ ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ในจังหวัดใกล้เคียงหันมาใส่ใจดูแลผืนป่าอย่างจริง จัง จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างต่อเนื่องหลายราย สำหรับทวิทย์แม้นิ้วจะต้องขาดไปตลอดกาล แต่เขาก็มิได้รู้สึกเสียดายแต่อย่างใดในทางตรงกันข้ามกลับสัมผัสได้ถึงความ คุ้มค่าบางประการของชีวิต “การที่นิ้วมือของผมเป็นอย่างนี้มันไม่เคยทำให้ผมคิดอยากจะเลิกทำงานเลยนะ กลับกันผมว่ามันเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผมยิ่งอยากทำงานมากขึ้น”
นิวัตน์ ร้อยแก้ว : “ครูตี๋..ผู้ลับคมปัญญา เพื่อรักษาลุ่มน้ำโขง” จ.เชียงราย
นิวัตน์หรือครูตี๋ ผู้เป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนบนดอย เชียงราย ครั้งเมื่อการพัฒนาและการค้าเสรี แปรเป็นการคุกคามแม่น้ำและบ้านเกิดอดีตครูใหญ่ผู้นี้ก็พร้อมที่จะเปลี่ยน สนามการค้าให้เป็นสนามรบของชาวบ้านธรรมดาที่ใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นเป็น อาวุธ เมื่อหน้าแล้งปี 2539 ชาวอำเภอเชียงของ พากันแตกตื่นกับเหตุการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว ในช่วงไม่กี่วันทั้งที่ฝนไม่ได้ตก
หลังจากนั้นก็ค้นพบว่าการลดลงของแม่น้ำโขงเป็นผลมาจากการเปิดเขื่อนผลิต ไฟฟ้ากั้นลำน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ครูตี๋และเพื่อนอาสาสมัครจึงเข้าไปช่วยงานด้านกระบวนการและข้อมูลรวมทั้ง เป็นบรรณาธิการ “แม่โขงโพสต์” เมื่อเกิดข่าวลือเรื่องการจะระเบิดแก่งจำนวน21แก่ง พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อล่ารายชื่อชาวบ้านยื่นเสนอต่อกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาจากนั้นพวกเขาได้ทำการรวบรวมเอกสารและค้นคว้าเพื่อหาหลักฐานเรื่องผล กระทบเชิงสิ่งแวดล้อม งานวิจัยของชาวบ้านได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ชัดว่าระบบนิเวศน์อันซับซ้อนที่ เกิดจากแก่ง ผา คอน ดอน ปริมาณน้ำที่แตกต่างในแต่ละช่วงฤดู เอื้อต่อชีวิตจากสาหร่าย ไก่ พืชน้ำ คางคก ไปถึงคน พิสูจน์ว่าธรรมชาติกับชีวิตมนุษย์ริมฝั่งโขงที่ผูกโยงกันอย่างแยกไม่ออก
พุทธิพร ลิมปนดุษฎี: “ชุมชนคนตึก 9 แห่งสถาบันบำราศนราดูร”
พุทธิ พรเป็นพยาบาลรุ่นแรกๆ ที่ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ในสมัยที่โรคนี้เพิ่งปรากฏในประเทศไทยกว่า20ปีที่ แล้ว แม้จะได้รับความรังเกียจจากผู้คนรอบข้าง รวมถึงผู้ร่วมงาน รวมถึงการต้องทนรับความลำบากในการปฏิบัติงานมากมาย แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นดูแลผู้ป่วยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
“สมัครใจรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่แรกและทำงานกับผู้ป่วยเอดส์มา นาน20ปี บางครั้งรู้สึกเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่ก็มีความสุขดี เพราะรู้สึกพี่น้องคนไข้เหมือนคนในครอบครัวแต่การทำงานในช่วงแรกลำบากมากทีม งานยุคบุกเบิกถูกรังเกียจจากคนรอบข้างไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เดียวกันทุกคนถูกรังเกียจเหมือนเป็นคนไข้โรคเอดส์เสียเอง ครั้งจะไปซื้อข้าวก็ถูกแม่ค้ารังเกียจ เจ้าหน้าที่ที่นั่งทานข้าวอยู่พากันลุกหนี คนที่เคยรับซักเสื้อผ้าก็ไม่ยอมซักให้ ต้องซักเอง ชุดพยาบาลก็ใส่ไม่ได้ ต้องใส่ชุดอื่นเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเป็นพยาบาลรักษาโรคเอดส์”
สารี อ๋องสมหวัง: “กรุงเทพฯ 20ปี แห่งการต่อสู้เพื่อผู้บริโภคไทย”
สารีเป็นผู้นำการรณรงค์การปลุกให้สังคมไทยตื่นตัวกับคำว่าสิทธิผู้บริโภค และรู้เท่าทัน ความโหดร้ายของเหล่านายทุนผู้แสวงหาผลกำไรเกินควร เธอต้องเผชิญอุปสรรคและการต่อสู้มายาวนาน โดยแรกเริ่มก่อนหน้าการตั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชื่อองค์กรเดิมคือ คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณสุขมูลฐาน
สารีเคยรณรงค์ให้มีการถอนทะเบียนยาหลายชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาเด็ก ยาผู้หญิง เป็นต้น แต่เมื่อพบว่าการถอนทะเบียนยาได้แล้วก็จริง แต่ถ้าผู้บริโภคยังใช้งานอยู่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานกับผู้บริโภคโดยตรง และเกิดมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี2539 เพื่อจัดทำวารสารเพื่อผู้บริโภค ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ์โดยเน้นการทำงาน3เรื่อง คือ จัดทำวารสารเพื่อผู้บริโภค ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ และเปิดเวทีเพื่อผู้บริโภค
บรรจง นะแส: “คนกล้า…แห่งท้องทะเลใต้” จ.สงขลา
บรรจงเข้าร่วมเรียกร้องกรณีความขัดแย้งท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ20 ธันวาคม 2545 ภายหลังการปะทะกลางเมืองหาดใหญ่ก็ถูกจับพร้อมแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านจำนวน หนึ่ง รวมถึงถูกตั้งข้อหารุนแรง และถูกกลไกรัฐกำหนดว่าเป็นเอ็นจีโอ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่นิยมความรุนแรง ทำให้ถูกคุมขังอยู่หลายคืน กว่าจะได้รับการประกันตัวออกมา
เขาพูดถึงทัศนคติในการทำงานเมื่อได้รับเลือกให้เป็นปาฐกถาโกมลคีมทอง เมื่อปี 2546 ว่า “งานพัฒนาคือการปลดปล่อยนั้น…ต้องมองให้รอบคอบ มองให้ทะลุมิติ.. เพื่อให้จิตวิญญาณได้ดำเนินตามวิถีอย่างถูกต้อง หรือแม้แต่อำนาจรัฐก็ตาม ถ้าเข้ามามากก็ต้องต่อสู้ออกไปเพื่อปลดปล่อย สู้ได้แค่ไหนก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปก็เหมือนกับสมัยเผด็จการทหาร เมื่อถึงจุดๆหนึ่งชาวบ้าน นักศึกษาก็ลุกขึ้นมาปลดปล่อยกลายมาเป็นประชาธิปไตยและถ้าวันหน้าประชาธิปไตย มันไม่ดีก็ต้องปลดปล่อยประชาธิปไตยไปสู่รูปแบบอื่นๆ ไม่สิ้นสุด แต่หัวใจสำคัญก็คือ ‘สังคมต้องเป็นผู้ปลดปล่อยพันธนาการตนเอง’”
สมเกียรติ พ้นภัย : “นักสู้เพื่อวิถีคนปากมูล”
สมเกียรติเป็นแกนนำชาวบ้านในการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล ที่เป็นกรณีตัวอย่างของความล้มเหลวของโครงการพัฒนา ที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ สมเกียรติและพวกได้นำชาวบ้านไปร่วมชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด อุบลราชธานี เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ แก้ไขปัญหาหลังจากนั้นก็นำขบวนไปชุมนุมที่หน้าที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่ออ่าน แถลงการณ์จุดยืนชาวบ้านรวมทั้งเป็นตัวแทนเข้าไปเจรจาปรึกษากับ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในขณะนั้น
โดยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตของชาวบ้านแถบลุ่มน้ำ โขงที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขงเป็นหลัก ทั้งการหาปลาในแม่น้ำ และเกษตรริมฝั่งน้ำในช่วงน้ำลด ซึ่งการสร้างเขื่อนปากมูลสร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านและปลามาก
สุรชัย ตรงงาม : “ทนายคนกล้า…เพื่อสิ่งแวดล้อมไทย”
สุรชัยเป็นอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและ อนุกรรมการช่วยเหลือคดีสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ผู้ประสานงานโครงการและทนายความประจำโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และยังเป็นทนายความให้กับสมาชิกกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ละเมิดสิทธิการชุมนุมต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2545 รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคดีที่ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ 13 ราย ได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ของลำห้วยคลิตี้ที่เป็น แหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญ
ผลคือศาลมีคำตัดสินให้กลุ่มชาวบ้านชนะคดี ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่ชาวบ้านฟ้องร้องแล้วชนะหน่วยงานของรัฐและยัง ร่วมรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาความบกพร่องของระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็น อยู่ในปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่ง แวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
กาญจนาภา กี่หมัน : “หญิงเหล็ก..ของข้าราชการไทย” ผู้ว่า จ.ระนอง
กาญจนาภาเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงคนแรกของ จ.ระนอง และที่ 5 ของประเทศ จังหวัดระนองมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าบกและป่าชายเลนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ถูกนายทุนบุกรุกจำนวนมาก จึงนำกำลังเข้าจับกุม ยึดพื้นที่ถูกแผ้วถางหลายครั้ง จนถูกนายทุนและผู้สูญเสียผลประโยชน์ข่มขู่จะเอาชีวิต นอกจากนี้ยังถูกทำหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงพยายามจะปลุกม็อบต่อต้าน
แต่ถูกกาญจนาภาไม่สนใจหรือเกรงกลัวเพราะไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแต่ยัง คงเดินหน้าจนสามารถยึดผืนป่ากลับมาทำการฟื้นฟูได้หลายแปลง ซ้ำยังเป็นการสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บุญ พงษ์มา : “ทนายตีนเปล่า ผู้ปิดตำนานแม่อายสะอื้น”
บุญเป็นหนึ่งในชาวบ้านแม่อายที่เคยถูกถอนสัญชาติ และความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของบุญนั้น เกิดจากประสบการณ์ตรงของบุญ ที่ภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ชาวมาอายเหล่านี้มีสิทธิมีชื่อ ทะเบียนราษฎรต่อนายอำเภอแม่อายยังปฏิเสธที่จะเพิ่มชื่อบุตรของชาวแม่อาย 1,243 คน ที่เกิดในระหว่าง3ปีของการสู้คดีในศาลปกครอง นอกจากนั้น ธ.ก.ส.ยังไม่ยอมคืนสิทธิในการกู้เงินให้แก่สมาชิก ธ.ก.ส.ที่ชนะคดีในศาลปกครอง โรงเก็บกระเทียมของคุณบุญถูกใช้เป็น “คลินิกกฎหมาย” และมีแกนนำชาวบ้านมาช่วยอีก 2 คน คือ นายใสแดง แก้วธรรม และนางสุ ดวงใจ และได้การสนับสนุนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และ UNICEF
คลินิกกฎหมายนี้ให้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ตุลาคม 2549 บุญมักจะบอกว่า บุญไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือมากนักในวัยเด็ก แต่ในวันนี้เราเชื่อว่าบุญมีความรู้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความไร้รัฐและความ ไร้สัญชาติอย่างมาก
ดร.จิรากรณ์ คชเสนี : “ดร.คนกล้า เพื่อสิ่งแวดล้อมไทย” อดีตผอ.กรีนพีซ
จิรากรณ์อุทิศตนให้กับการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่ รุนแรงขึ้น เมื่อครั้งที่ทำงานกับกรีนพีซต้องชัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทเอกชน ยักษ์ใหญ่ เช่น ในกรีนพีซได้เปิดโปงว่าสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่นได้ขาย และแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์รวมถึงต้นกล้ามะละกอแขกดำท่าพระปนเปื้อนจีเอ็มโอให้ กับเกษตรกร แต่ถูกกรมวิชาการเกษตรยื่นฟ้อง ในข้อกล่าวหาร่วมกันบุกรุกที่ราชการศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิจารณายกฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานและพยานเพียงพอ การปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทำให้ผู้มีอำนาจต้องเสียผลประโยชน์ ซึ่งอาจจะทำให้ถูกทำร้ายได้
แต่ ดร.จิรากรณ์ บอกว่า “ผมเชื่อว่าทำดีมันต้องได้ดี ถึงทำงานอย่างนี้ผมก็ไม่กลัว ผมตั้งใจทำงานให้กับองค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมก็จะต้องรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น เมื่อผมตั้งใจทำในสิ่งที่ดี สิ่งที่ผมจะได้รับคือสิ่งที่ดี ผมไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่มีส่วนได้เสียทาง การเมือง ผมทำเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม”
เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ : “สื่อ…ผู้เรียกร้องสิทธิ์ การรับรู้สารของประชาชน” (อดีตนักข่าว บางกอกโพสต์)
อดีตหัวหน้าข่าวความมั่นคง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และได้รับรางวัลนักข่าวเกียรติยศประจำปี 2549 จากสมาคมนักข่าวฯ จากข่าว ‘รันเวย์ร้าว” ในยุครัฐบาลทักษิณ หลังจากไม่ยอมยกเลิกการรายงานต่อการข่มขู่ กดดันด้วยอำนาของรัฐจนถูกฟ้องและถูกปลดจากตำแหน่ง
ปัจจุบันเสริมสุขเป็น บก.ศูนย์ข่าวอิศราฯ ทำการรายงานข่าวสถานการณ์ภาคใต้ กาลเวลาได้พิสูจน์ความถูกต้องของข่าวชิ้นนั้นและสร้างบรรทัดฐานให้กับวงการ สื่อ หลังจากที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องมาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม สำหรับการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมที่ถูก บริษัท โพสต์ พับลิชชิง เลิกจ้างจากกรณีเสนอข่าวรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิมีรอยร้าวระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2548 ที่ในที่สุดศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาว่าการกระทำของนายเสริมสุข ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อกำหนดในการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ จะนำไปสู่การถูกเลิกจ้างแต่อย่างใด
พิเชษฐ กลั่นชื่น : ศิลปินโขนร่วมสมัย
เป็นนักเต้นร่วมสมัยที่ใช้ร่างกายในการรำและการสื่อสารในรูปแบบประเพณี และสากลได้อย่างลงตัว มีผลงานทั้งการออกแบบท่า และการเต้นใหญ่ๆ มากมาย ทั้งในพิธีเปิด-ปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์และงานแสดงแม่น้ำของแผ่นดินเขาได้เข้า ร่วมงานแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในหลายประเทศ ทั้งเอเชียและยุโรปอย่างต่อเนื่อง มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ แต่ในฐานะลูกนอกคอกที่ไม่ได้เรียนศิลปะโขนแบบกรมศิลปากร จึงถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มโขนดั้งเดิม เขาถูกกลั่นแกล้ง บีบคั้นป้ายสีต่างๆ เขาจึงได้หนีไปทำสิ่งที่ตัวเองฝันไว้ที่นิวยอร์ก ได้ทดลองผสม เปลี่ยน แก้ไข ทำลายความเป็นโขนดั้งเดิม ที่ตัวเองมีให้หมดแต่เมื่อกลับมาเมืองไทย การต่อต้านกลับรุนแรงกว่าเดิม
“เขาไม่ใช่โขน เขาไม่ใช่ Modern มันเป็นของมันเอง ไม่มีหัวนอนปลายตีน” พิเชษฐก็ไม่หวั่น จึงได้เปิดสถาบัน LifeWork Dance Company เพื่องานด้านการสร้างนักเต้นอาชีพโดยเน้นการฝึกฝนทางด้านรำไทยเป็นพื้นฐาน เพราะเขาเชื่อว่า วิธีการสืบทอดศิลปะอย่างหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและจินตนาการของ คนแต่ละสมัย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 28 มีนาคม 2552