” เรามาให้  ไม่ได้ต้องการมาเพื่อสนุก
พี่นุช ผู้หญิงที่ปลูกกำลังใจ
ได้วยความรัก และ รอยยิ้ม
กับการเป็น  อาสาสมัครสร้างสุข ”

พี่เลือกที่จะทำเรื่องนี้เพราะว่าไม่มีใครอยาก
ป่วย หรอก แต่เราก็เป็นคนหนึ่งที่ทำให้ช่วงเวลา นั้นมีรอยยิ้มเพิ่มขึ้น พี่ว่าการเป็นอาสาสมัคร ต้องทำด้วยใจอย่างเต็มร้อย และเต็มที่ นั่นคือ “อาสาสมัครที่แท้จริง”  พี่นุช หรือคุณอร วิมลเอกะจิต อดีตเจ้าหน้าที่ทหารอากาศ วัย 57 ปีกล่าวถึงนิยามการเป็นอาสาสมัคร

หลัง จากการทำงานให้กับประเทศ ตลอด 30 ปี พี่นุชได้ออกจากราชการก่อนวัยเกษียร สาเหตุว่าอิ่มตัวในหน้าที่การเป็นทหารอากาศ หลังจากออกจากงานประจำ  พี่นุชได้มีงานหนึ่งซึ่งวันนี้พี่นุชจะมาถ่ายทอดความรู้สึก  ถ่ายทอดประสบการณ์อีกบทบาทหนึ่งที่พี่นุชทำอยู่  ณ ตอนนี้ ให้เราฟัง คือ งานอาสาสมัครในโรงพยาบาล หรือเรามักจะเรียกสั้น สั้น ว่า”อาสาสร้างสุข” มันทำให้พี่นุชยิ้มอย่างมีความสุขทุกครั้งเวลาเล่า เรื่อง “อาสาสร้างสุข”

จุดเริ่มต้นของการมาเป็นอาสาสมัครของพี่นุชเริ่มจากไหน

ได้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ แล้วก็โทรมาคุยกับทางโครงการฯ ด้วยตัวพี่ชอบการทำงานกับเด็กอยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่พี่อยากทำ “อาสาสมัคร” และนี่ยิ่งเป็นเด็กป่วยแล้ว พี่ว่ากำลังใจต้องมีมากกว่าเด็กปกติ เราให้เขาได้

พี่นุชร่วมเป็นอาสาสมัครกับโครงการฯนี้นานหรือยัง

ไม่ ถือว่านานนะ ตั้งแต่พฤษภาคมปีนี้ และพี่ทำทุกวันพุธ และวันศุกร์ พี่อายุมากแล้ว ทำทุกวันไม่ไหว ก็ขอพักบ้าง อีกอย่างระเบียบของโครงการฯ ก็คุยกันได้ ว่าจะทำวันไหน เอาอาสาสมัครสะดวก พี่ว่าดีกว่าที่อื่น คือ เขาเอาเราเป็นหลัก แต่ก็ต้องเคารพกฏของเขาด้วย
หลายคนบอกว่าอายุเป็นอุปสรรคในการเป็นอาสาสมัคร เป็นการเพิ่มภาระ เพราะไม่ได้อะไรตอบแทนไปเลยพี่นุชคิดอย่างไงกับเรื่องนี้

อาจจะมีที่เป็นอุปสรรค เพราะว่าอายุมากแล้ววิ่งตามเด็กๆคงไม่ไหวเลย เลือกทำกับเด็กป่วยถามว่าเป็นการเพิ่มภาระ พี่ไม่ได้
มองเรื่องการตอบแทน แต่สิ่งที่พี่ทำอยู่กับเด็กป่วยในโรงพยาบาลทุกวันนี้ เขาเหมือนเป็นครอบครัวมากกว่า มีหลายคนถาม
เหมือนกันว่า ไปทำไม เหนื่อยก็ เหนื่อย มีค่ารถอีก แต่พี่ว่ามันมี

“ความสุข” นะ ตรงนี้ เด็กๆ เรียนพี่ว่า “คุณป้า” เหมือนพี่เป็นครอบครัวของเขา โน่นก็หลาน นี่ก็ลูก พ่อแม่เด็กก็เหมือนญาติ เราเป็น “กำลังใจเล็กๆ” ให้เขา พี่จะบอกเด็กๆเสมอว่า รีบหายนะลูก ดูสิคุณพ่อ คุณแม่เขาเหนื่อยนะ หนูต้องรีบหาย เขาก็ยิ้มให้เรา คือ ลูกป่วยนะ พ่อแม่ก็เครียด หมอพยาบาลเขาก็มีหน้าที่ของเขา เราก็ทำได้ในส่วนของเราให้การผ่อนคลายพูดคุย ให้กำลังใจกันไป

มีอาสาสมัครหลายคนเข้าร่วมโครงการ แล้วถอดใจไปเยอะ เพราะทนเห็นน้องๆป่วยไม่ได้ ทำไมพี่นุชไม่เลิก?

มันยากนะ ที่จะให้ทุกคนเข้าใจ ในสิ่งที่เด็กๆเป็น ให้กำลังใจ ดูแลกัน ยากนะ ยิ่งเด็กป่วยยากใหญ่ แต่พี่ว่าเด็กนี่เป็น “โจทย์” ที่เราต้องเข้าใจเขา เด็กเป็นโรคอะไร เราก็ต้องทำความเข้าใจกับโรคนั้นๆ และช่วยเขาอย่างเหมาะสม ถ้าคิดถึงแต่ข้อจำกัดการ “ให้” มันก็ไม่ได้ผลอะไรหรอก เพราะ “ผู้ให้ที่แท้จริง” คือ คนที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม อย่างมุ่งมั่น

อยากให้พี่นุชเล่าความประทับในการเป็น “อาสาสมัครสร้างสุข”
อืม…ก็มีเด็กๆที่ประทับใจหลายคนนะ พี่ก็คุยกับทุกคน แต่ที่พิเศษก็เป็นน้องคนหนึ่งที่เป็นโรคมะเร็ง คือ ตอนแรกที่เห็น
น้อง เขาก็ไม่ได้อ้วน แต่ทุกๆวันศุกร์ที่เข้าไป เด็กคนนี้จะผอมลงเรื่อยๆ มันเห็นได้ชัด มันนักขึ้น อาการของโรคมันหนักขึ้น เราก็ถามพ่อว่า
เป็นอย่างไรบ้าง พ่อก็ว่าแย่เลย เราก็เป็นกำลังใจให้พ่อเขาไป ดูแลกันเท่าที่ทำได้ ตอนนี้ “กำลังใจ” นี่ สำคัญที่สุดแล้ว

เคยมีเด็กที่พี่นุชให้กำลังแล้วน้องเสียชีวิตไปพี่นุชทำอย่างไรกับเหตุการณ์แบบนี้

ถือ ว่าเรื่องนี้เป็นการฝึกเหมือนกันนะ พี่เป็นคนหนึ่งที่อ่านหนังสือธรรมะเยอะ ทำให้เราต้องรับให้ได้ถึงเรื่องการสูญเสีย มีเด็กอยู่คนหนึ่ง น้องคนนี้เป็นมะเร็ง หมอบอกว่าให้ทำใจ มันเหมือนกับช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ตัวแม่ก็ร้องไห้ เราก็บอกว่าแม่ต้องเข้มแข็งนะ คือ เด็กยังเล็กมาก แม่ก็ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เสียใจ เราเข้าใจนะ แต่ตอนนี้เด็กต้องการกำลังใจมากที่สุด เราก็เข้าไปจับมือ บีบแขนบอกว่าหนูต้องหายนะ ป้าเป็นกำลังใจให้ ต้องสู้นะลูก เด็กก็มีการตอบรับทางร่างกายบ้าง คือ มือกระตุก เขารับรู้นะ พี่ก็บอกเขาว่าต้องเข้มแข็ง กอดเขา ดูแลเขาจนสุดท้าย แต่ก็ยังเสียใจ แม่เขาก็รับไม่ได้ เราก็เตือนสติกันไป สิ่งที่ทำได้ คือ “กำลังใจ” ให้เขา ตอนนี้เวลานี้ พี่ว่าเขาต้องการเรื่องนี้มากที่สุด

“พี่ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่นี่ ทุกข์แค่ไหน สิ่งที่เราทำได้คือ “กำลังใจมันเป็นยาทางใจ” นะ เหมือนเป็นคำพูดเล็กๆ แต่มันยิ่งใหญ่สำหรับหลายคนที่นี่นะ อาสาสมัครนี่ มันเป็นเรื่องของการให้ อย่างแท้จริง เพราะเด็กเหล่านี้เขาไร้เดียงสามากๆ ยิ่งป่วยแล้ว ร่างกายเขายิ่งแย่ ใจก็แย่นัก อาสาสร้างสุข ที่พี่ทำ คือการเข้าไปทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยความเต็มใจ และพี่จะเป็นอาสาสมัครต่อไป” พี่นุช ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่อบอุ่น

ยังมีอีกหลายท่านที่มี “ใจ” เป็นอาสาสมัคร ท่านอาจจะไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ แต่ท่านก็สามารถสร้าง “รอยยิ้ม” และ “เสียงหัวเราะ” ให้กับเด็กๆได้ ด้วยการบริจาคทุนทรัพย์ กับโครงการโรงพยาบาลมีสุข

โครงการ โรงพยาบาลมีสุข โดยมูลนิธิกระจกเงา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อย เซ็นจูรี่ เดอะ มูฟวี่ พลาซ่า  เลขที่บัญชี  208 – 202928 – 4
หรือสนใจร่วมทำกิจกรรม สามารถติดต่อได้ที่โครงการโรงพยาบาลมีสุขในเวลาทำการค่ะ

 

ที่มา http://www.mirror.or.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=982&auto_id=18…