ชายวัยห้าสิบปี ผู้กร้านแดด และเต็มไปด้วยหนวดเคราสีขาวผู้นี้คือ “ลุงโชค” หรือ โชคดี ปรโลกานนท์ ชาวสวนผู้สามารถแปรเปลี่ยนดินแดงเสื่อมสภาพให้กลายเป็นสวนวนเกษตรที่มีชื่อ ว่า“สวนลุงโชค” อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา สถานที่ที่เปิดให้บุคคลทั่วไป ชาวบ้าน และเด็กๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีเกษตรธรรมชาติ อีกทั้งเขายังเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เขาแผงม้า ฟื้นคืนจากสภาพภูเขาหัวโล้นมาเป็นป่าใหญ่ ให้สัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้กลับบ้าน คืนต้นไม้ และอากาศให้คนรุ่นต่อไปหายใจได้อย่างเต็มปอด
หากอยากคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับเรื่อง ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้ชีวิต ลุงโชคผู้คนอารมณ์ดีคนนี้ยินดีเปิดบ้านนั่งคุยกับเราในทันที ท่ามกลางแมกไม้ คูน้ำ ป่าไผ่ และนาข้าว เราได้นั่งฟังลุงโชคเล่าเรื่องราวเล่าขานของเขาแผงเม้า
ครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นป่าดิบชื้น และแหล่งต้นน้ำขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ด้วยการใช้ทรัพยากรเติบมือของมนุษย์เราและนโยบายของภาครัฐ ทำให้ภูเขาแห่งนี้ถูกถางเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เมื่อดินทรุดโทรมก็กลายเป็นภูเขาหัวโล้น จนถูกเรียกขานว่า “ภูเขาไฟ” ที่เกิดไฟป่าทุกครั้งในช่วงหน้าแล้ง
“รัฐคิดว่าการสัมปทานป่าจะเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ แต่เราลงทุนเยอะ เราถางป่าดงดิบมาทำไร่ แทนที่คนทำเกษตรจะอยู่ดีมีสุข ไม่มีหนี้สิน กลายเป็นว่าป่าหมด น้ำน้อย เพราะพื้นที่ต้นน้ำถูกทำลาย สัตว์ป่าโดนล่าหมด ดินเสื่อม ใช้สารเคมีเยอะ แม้แต่หญ้าก็ยังไม่ขึ้น ส่งผลลูกโซ่กับคนในพื้นที่ ดิน สายน้ำ ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม”
ด้วยความเข้าใจที่ผิด ทำให้พื้นดินแห่งนี้กลายเป็นดินแดงแห้งแล้ง สำหรับตัวลุงโชคก็ไม่ต่างกัน เมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากเรียนจบมาด้านเกษตร ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เขาตั้งใจอยากเป็นเกษตรกรจึงได้ย้ายมาอยู่ที่นี้ แต่การเป็นเกษตรกรใช่ว่าง่าย ยิ่งต้องการผลผลิตสูง ก็ยิ่งเบียดเบียนต้นทุนทางเม็ดเงินและทุนธรรมชาติมากเท่านั้น ไม่นานนักเขาถูกชักชวนร่วมทำงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่ง ประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ การทำงานที่นี้ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรของสังคม ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ทดลองสร้างรูปแบบการจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องสมดุล คือ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ฟื้นฟูเขาแผงม้า
“เราใช้คำว่า “ฟื้นฟูป่า” เพราะมนุษย์เราปลูกป่าไม่ได้หรอก ป่ามันลึกซึ้งมาก ยิ่งใหญ่เกินกว่าใครจะปลูกได้ สัตว์ป่า ปริมาณน้ำฝน ภูมิอากาศ มันกำหนดมา เราทำแค่ฟื้นฟูระบบ ฟื้นฟูดิน ปลูกต้นไม้ ดูแลสายน้ำ เราไม่ได้ใช้หลักวิชาการอะไรนัก ปลูกตรงไหนก็ปลูก ไม่มีแถว ไม่มีระยะ หลีกเลี่ยงการเผา การไถ่พรวน การใช้สารเคมี เน้นการมีส่วนร่วมของทุกส่วน”
ลุงโชคเล่าว่าในช่วงแรกนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา โดยเฉพาะกับกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล แต่ด้วยความตั้งใจดี และการทำงานที่จริงจังที่เป็นตัวพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า พวกเขาทำจริง ไม่เหลาะแหละ ทุกสิ่งอย่างจึงค่อยๆ ผ่านพ้นไปได้
ในทุกๆ ปี เขาแผงม้าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น พวกเขาชวนชาวบ้าน เยาวชน และอาสาสมัคร มาร่วมกันฟื้นฟูป่า ในหน้าฝนก็ปลูกต้นไม้ หน้าหนาวก็ทำแนวกันไฟ หากเห็นท่าว่าปีนี้จะแล้งหนักก็ทำฝายชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื่นให้ป่า หน้าแล้งก็ช่วยกันตรวจตรา เฝ้ายามไฟ บ้างก็สร้างโป่งให้สัตว์ป่าได้มาหากิน
“ป่าในเขตร้อนมันต้องพึ่งพิงกัน ไม้เล็กไม้ใหญ่เกื้อกูลกัน ถึงเบียดกันก็ปล่อยมันให้ธรรมชาติมันคัดสรร สวนลุงก็เป็นอย่างนี้แหละ เราใช้หลักการเดียวกันในการฟื้นฟูป่า และให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพันธุ์พืช เราไม่มีวัชพืช เพราะทุกชีวิตที่เขาแผงม้าถือว่ามีบทบาทหน้าที่หมด เราไม่ทำลายเขา เราเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าตามหลักวิชาการเราผิดนะ เขาบอกให้เราปลูกป่าเป็นระยะเป็นแนว ถามเพื่ออะไร? ก็เพื่อการเก็บเกี่ยวง่าย ระยะที่เว้นห่างของต้นก็เท่ารถเก็บเกี่ยว ซึ่งรถเราก็ต้องซื้อเขา พอดินเสื่อม เราก็ต้องไปซื้อปุ๋ยของเขาอีก เมล็ดพันธุ์ก็ต้องซื้อ เพราะเมล็ดเขาแข็งแรงทนสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า แต่ปลูกได้ชั่วเดียว พอซื้อเขาไปนานๆ ก็กลายเป็นว่าการเก็บเมล็ดพันธุ์ของชาวบ้านก็หายไปโดยปริยาย”
หากมองตามระบบสายพานบนผลผลิต การเร่งปัจจัยการผลิตแบบเต็มรูปแบบย่อมได้ผลผลิตมากกว่า แต่ถ้ามองให้รอบด้าน เกษตรวิถีธรรมชาติตอบสนองผลผลิตได้ควร สามารถรักษาระบบนิเวศให้สมดุล ในขณะเดียวกันชุมชนก็ยังมีได้โอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียงที่เรียบง่ายและ เปี่ยมสุข
“มนุษย์คิดอหังการว่าทำอะไรหมด แต่อย่างไรเราชนะธรรมชาติไม่ได้ สังคมตะวันออก คนต้องอยู่กับป่า แต่อยู่เพื่อยังชีพ ไม่ใช่เพื่อบริโภค อยู่บนวิถีที่ไม่สะสม ไม่โลภ ไม่มองป่าเป็นมูลค่า ยิ่งคนเมือง เขาห่างป่าเหลือเกิน คนไทยไม่รู้จักคนไทย ไม่รู้จักฐานทรัพยากร ถ้าดูทางทีวีอาจคิดว่าชีวิตชนบทนี่มันดีจัง แต่จริงๆ มันคนละเรื่องเลยนะ เพราะคุณมาต่างจังหวัดก็มาซื้อบริการ มาบริโภคอย่างเดียว แต่ถ้ามาเรียนรู้วิถีแบบนี้ เป้าเราไม่ได้อยู่กับเงิน แต่อยู่ที่ความสุข การเรียนรู้ การได้คืนอะไรให้สังคม ซึ่งมันคนละเป้าเลย”
จากการลงแรงลงใจมากว่า 10 ปี เขาแผงม้าก็กลับฟื้นคืนมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง สิ่งชี้วัดทางระบบนิเวศ คือ จำนวนกระทิง ปัจจุบันมีจำนวน100-150 ตัว รวมทั้งสัตว์ต่างๆ เช่น หมาไน เม่น หมี เป็นต้น
ในขณะเดียวกันทุกวันนี้วังน้ำเขียวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนเมือง ด้วยความที่ใกล้กรุงเทพ และถูกอ้างว่าเป็นแหล่งโอโซนลำดับต้นๆ ของโลก ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ถูกจับจองโดยรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศ
“คนแห่มาซื้อที่ดินเพราะได้ยินว่าเป็นแหล่งโอโซน แต่ถามหน่อยเถอะว่าใครยืนยันได้ ไหนจะข่าวน้ำจะท่วมกรุงเทพอีก แล้ววังน้ำเขียวออกรายการทีวีบ่อยมากเลยนะ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ออกด้วย (หัวเราะ) ผมคิดว่าอนาคตจะลำบาก เพราะผู้นำของเราไม่มีการวางแผนสัดส่วนที่เหมาะสม ความเป็นท้องถิ่นต้องมี ต้องกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง แต่ทุกวันนี้คนหันทำอาชีพรับจ้างเฝ้าไร่หมด ไร่ที่ตัวเองเคยเป็นเจ้าของนะแหละ
ส่วนคนที่มาใหม่ ข้อดีของเขาคือ ชอบปลูกต้นไม้ แต่ข้อเสียคือ เขาไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่เข้าใจสังคม เขาใช้ชีวิตแบบเมือง เสาร์อาทิตย์เราจะยินเสียงคาราโอเกะดังถึงตี 3-4 และเริ่มมีปัญหาแย่งชิงทรัพยากรกัน เช่น สายน้ำที่ชาวบ้านเคยหากุ้งหอยปูปลา ตอนนี้ก็ลงไม่ได้แล้ว กลายเป็นที่ส่วนตัวของฉันไปแล้ว”
ในขณะเดียวกันลุงโชคพบว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคนที่หันกลับมาท้องถิ่นมากขึ้น หลายคนมาตั้งชุมชนหรือสวนเกษตรธรรมชาติเล็กๆ เพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปจากในเมือง “สังคมเกษตรอยากเป็นแบบสังคมเมือง ชนชั้นกลางในเมืองบางคนหันกลับมาเลือกวิถีเกษตร เพื่อหาคำตอบให้กับวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และการใช้ชีวิต ด้วยระยะและเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ทำให้เขาไม่ตัดขาดจากเมือง เสาร์อาทิตย์ก็มาปลูกผัก พักผ่อนที่นี้ วันธรรมดาก็กลับกรุงเทพ”
แน่นอน ในความมืดมนย่อมยังมีความหวัง เช่นเดียวกับมูลนิธิฯ ของพวกเขา หลังจากปิดตัวลงปีที่ผ่านมาด้วยปัญหาภายใน ปัจจุบันพวกเขาประสานงานกันอย่างหลวมๆ และส่วนหนึ่งรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า” ทำกิจกรรมหนุนเสริมการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากร รวมทั้งพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นต่อไป
สำหรับลุงโชค ชีวิตทุกวันนี้มีความสุขดี ความสุขของลุง คือ การให้ การได้พูดคุยกับคนคอเดียวกัน และการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
“พูดคุยกับลูกหลายอย่างนี้ก็เป็นความสุข ไม่ต้องใช้เงินก็มีความสุข บางคนเข้าใจว่าอยากมีความสุขต้องมีเงิน ต้องซื้ออะไรเยอะแยะ แต่จริงๆ ความสุขเป็นอะไรที่ง่ายๆ ถ้าเราสุขเป็น เราอยู่คนเดียว อยู่กับตัวตนของเร าไม่ฟุ้งซ่านไปไหนก็มีความสุขแล้ว”
http://kratingnoiwft.blogspot.com/
http://www.khaopangma.org/