เขียน: jamjit

ลดอุณหภูมิโลก ลดการบริโภค

ลองสมมติว่าตัวคุณเป็นกบ
กบที่กำลังลอยอยู่ในหม้อน้ำที่กำลังตั้งไฟ

หากน้ำในหม้อนั้นกำลังเดือด คุณก็คงพยายามกระโดดให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหาทางหนีออกจากหม้อใบนี้

ในทางตรงกันข้าม หากมันเป็นเพียงแค่น้ำอุ่นที่ตั้งไฟอ่อนๆ  คุณคงรู้สึกสบาย อ้า…ช่างน่ารื่นรมย์อะไรเช่นนี้ คุณคิด
ด้วยความเป็นกบที่อยู่ในหม้อน้ำ และกำลังสบายอกสบายใจกับการนอนแช่ในอ่างน้ำอุ่น ขณะที่เตาไฟกำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ  คุณจึงไม่รู้ตัวกำลังจะตาย จึงไม่พยายามหาทางหนีแม้แต่น้อย

ที่สุดแล้ว กบน้อยก็นอนหลับในหม้อน้ำแห่งนั้นไปชั่วนิรันดร์

โลกเราก็เปรียบเหมือนกับหม้อน้ำที่กำลังตั้งไฟอยู่อ่อนๆ และกำลังทวีความร้อนขึ้นอย่างช้าๆ แน่นอน เจ้ากบตัวนั้นก็คือคุณนั่นแหละ มนุษย์ที่ไม่รู้ตัวเลยว่า ใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว

………….
ถึงเวลานี้ คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า ไม่รู้จักปรากฏการณ์สำคัญของโลกที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming)

ปีที่ผ่านมา ภาคเหนือและภาคอีสานต้องเผชิญกับอากาศหนาวจัดกว่าหลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ภาคกลางประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนักอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ส่วนภาคใต้ก็เจอกับพายุที่รุนแรงขึ้น ปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งเข้ามาลึกมากขึ้น

คงไม่ต้องย้ำกันอีกรอบ ตามที่วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์แห่งนิตยสารคดี บอกว่า ภาวะโลกร้อนได้มาเคาะประตูบ้านของเราแล้ว…

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ คณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์กว่า ๒,๕๐๐ คน จาก ๑๓๐ ประเทศ ได้พบข้อสรุปอย่างชัดเจนแล้วว่า สาเหตุของปัญหาโลกร้อนนั้น ร้อยละ ๙๐ มาจากการที่มนุษย์เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป จนความร้อนจากพื้นโลกไม่สามารถสะท้อนออกนอกโลกได้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศอย่างรุนแรงไปทั่วโลก

ดังนั้นภารกิจที่เหล่ามนุษยชาติต้องรับผิดชอบร่วมกันก็คือ ลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงและปล่อยก๊าซคารบอร์ไดออกไซด์ลงให้มากที่สุด เพื่อต่อเวลาให้กับโลกใบนี้ให้ยาวยิ่งขึ้น

ฟังดู อาจสงสัยว่าเราที่เป็นมนุษย์ตัวเล็กๆคนหนึ่งจะไปทำอะไรได้  แต่ช้าก่อน! คนตัวเล็กๆอย่างพวกเรานี่ล่ะ ที่เขย่าโลกจนสะเทือนมานักต่อนักแล้ว และพวกเขาล้วนแต่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย และสะสมพลังไว้จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้  คุณเองก็ทำได้ เช่นกัน
….

ชีวิตพลาสติก

เคยลองนั่งนึกกันเล่นๆไหมว่า วันหนึ่ง เราสร้างขยะกี่ชิ้นให้กับโลกใบนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาถุงพลาสติกทั้ง หลายที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น

เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ จ่ายเงินค่าขนมถุง ๑ ห่อ ได้ถุงพลาสติกมา ๑ ใบ  แวะซื้อลูกชิ้นปิ้งสามไม้ ได้ถุงพลาสติกหิ้วแถมมาด้วย อีก ๑ ใบ   ต่อด้วยกาแฟเย็น ๑ แก้ว ที่เดี๋ยวนี้แต่ละร้านก็มีฝาปิดแก้วแสนสวยมาให้ด้วย

แค่อาหารมื้อเช้าก่อนไปทำงาน หรือเรียนหนังสือ เราก็ได้ถุงพลาสติกที่ไม่รู้จะเอาไปอะไรต่อถึง ๓ ใบ พร้อมด้วยพลาสติกกลมๆอีกหนึ่งอัน

ถ้าอย่างนั้น ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของเรา ได้สร้างขยะพลาสติกมากเพียงใด

ความจริงเกี่ยวกับพลาสติก

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
แต่ละวัน ทั่วโลกมีถุงพลาสติกว่า ๑ พันล้านใบได้ถูกแจกจ่ายออกไปราวกับได้เปล่า แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี  ลองมาดูกันว่า เราต้องแลกอะไรบ้างกับความสะดวกสบายจากการใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวัน

– ถุงพลาสติก ๑ ใบ ใช้เวลาย่อยสลาย ๔๕๐ ปี
– ทุกปีผู้คนจับจ่ายซื้อของทั่วโลกใช้ถุงพลาสติก ๑๐,๐๐๐ ล้านใบต่อปี ซึ่งจะต้อง ใช้เวลา ย่อยสลาย นานกว่า ๑,๐๐๐ ปี
– ถุงพลาสติก ๑.๖ ล้านใบ นำไปเรียงเป็นเส้นรอบวงโลกได้ ๑ รอบ
– พลังงานที่นำมาผลิตถุงพลาสติก ๘.๗ ใบ เท่ากับพลังงานที่เป็นน้ำมันให้รถวิ่งได้ ๑ กิโลเมตร
– ทุก ๑ ตารางไมล์ จะพบถุงพลาสติก ๔๖,๐๐๐ ใบลอยในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลให้แต่ละปีมีนกทะเลตาย ๑ ล้านตัว และสัตว์ทะเลอื่นๆจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ตัว และปลาอีกนับไม่ถ้วน
– แต่ละปีมีเต่าทะเล และสัตว์น้ำจำนวนมาก ตายจากการกินพลาสติก เพราะคิดว่าเป็นอาหาร เช่น แมงกะพรุน

ลดพลาสติก ใครว่ายาก

เมื่อเราต้องอยู่ท่ามกลางการบริโภคพลาสติก อย่างมากมายในสังคม จึงเป็นข้อสงสัยในใจของใครต่อใครว่า แล้วจะทำอย่างไรล่ะ สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้น  เริ่มต้นที่ตัวเองเป็นอันดับแรกด้วยวิธี ง่ายๆแบบนี้
เริ่มจาก ลองนับดูว่า แต่ละสัปดาห์เราใช้ถุงพลาสติกกี่ใบ และอาจจะตั้งเป้าหมายว่าจะลดลงให้ได้ทุกสัปดาห์
ใช้ถุงผ้าเวลาไปช็อปปิ้งแทนถุงพลาสติกที่ร้านค้ามักหยิบยื่นให้  ซึ่งถ้ากลัวลืมนักก็ขอแนะนำให้ติดถุงผ้าไว้ในรถเสียเลย
เวลาที่ไปซื้อของจำนวนเล็กน้อย สองสามชิ้น คงพอถือได้โดยไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก หรือหากไม่มีทางเลือกแล้ว คงต้องตรวจสอบในถุงใบนั้นมีของอยู่ ๘ ชิ้นเป็นอย่างต่ำหรือไม่  เพื่อให้การใช้ถุงพลาสติกแต่ละครั้งของเราคุ้มค่า ที่สุด
ทิ้งขยะลงในถังโดยตรงแทนการใช้ถุงพลาสติกซ้อนในถังขยะ  พอถึงเวลาที่ทำความ สะอาด น้ำที่ใช้ล้างถังก็เอามารดน้ำต้นไม้ต่อไปได้อีกทอดด้วย

ภัยไฮเทค

“โทรศัพท์มือถือเสีย ไม่ต้องซ่อมหรอก ซื้อเครื่องใหม่เลยดีกว่า คุ้มกว่าเยอะ” ด้วยความที่เทคโนโลยีต่างๆพัฒนาไปมาก ราคาของอุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายจึงราคาต่ำลงกว่าในอดีตบ้าง จากประโยคข้างต้นเชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบกับเหตุการณ์ทำนองนี้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น จอคอมพิวเตอร์ แบตเตอรีโทรศัพท์มือถือ  คอมพิวเตอร์เก่า ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าอายุสั้นที่หมุนตามความเจริญก้าวหน้าไม่ทันด้วยกัน ทั้งนั้น  ดังนั้น เพื่อความสะดวกสบายและการใช้ตัวเงินเป็นตัวชี้วัด เราจึงเลือกที่จะทิ้งคอมพิวเตอร์เครื่องเก่า โทรศัพท์มือถือที่ตกยุค ฯลฯ ไว้ที่ใดสักแห่งในบ้าน  แล้วซื้อเครื่องใหม่ที่ทันสมัยกว่า และคุ้มค่ากว่าแทน

ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจไม่คุ้มค่าอย่างที่คาด ซ้ำร้ายยังทำร้ายเรา และโลกโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

ข่ายใยซ่อนเร้น

โทรศัพท์มือถือที่เราใช้ กับลิงกอริลล่าในแอฟริกา เกี่ยวข้องกันได้ไง
อาจฟังดูไม่น่าเชื่อเท่าไหร่ แต่โทรศัพท์มือถือ หรือส่วนประกอบคอมพิวเตอร์บางอย่างทำจากสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า โคล์แทน(Coltan) ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก แต่มีการลักลอบทำเหมืองแร่ชนิดนี้อย่างผิดกฎหมายในป่าของประเทศคองโก และเป็นการรุกรานที่อยู่ของกอริลล่า นอกจากนี้ คนงานเหมืองแร่ยังฆ่าสัตว์ป่าท้องถิ่น เช่น กอริลล่า ช้าง เพื่อเป็นอาหารอีกด้วย

มีอะไรในเครื่องใช้ไฮเทค
หากลองถอดเปลือกโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ที่ผู้คนใช้งานเกือบตลอดเวลานั้น สิ่งที่เราพบก็ไม่ต่างจากยาพิษดีๆนั่นเอง เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นพิษและตก ค้างยาวนาน รวมทั้งโลหะหนักต่างๆ  เช่น ตะกั่ว สารปรอท แคดเมียม สารที่เป็นอันตรายเหล่านี้ทำให้เกิดมลพิษที่ร้ายแรงทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ แม้จะมีการสัมผัสในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ตัวอย่างเช่น หลอดภาพแบบ CRT ที่ใช้ในจอมอนิเตอร์ซึ่งส่งขายทั่วโลกในปี ๒๕๔๕ กว่า ๑๗.๘ ล้านเครื่อง  ประกอบด้วยตะกั่วประมาณ ๑๐,๐๐๐ตัน  การสัมผัสกับตะกั่วเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียความสามารถด้านสมอง ของเด็ก และทำลายระบบประสาท ระบบเลือดและระบบสืบพันธุ์ในผู้ใหญ่

มีแต่เพิ่มไม่มีลด

มีการสำรวจข้อมูลการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก พบว่า อัตราการใช้งานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
อายุการใช้งานโดยเฉลี่ยของคอมพิวเตอร์ในประเทศพัฒนาแล้วลดลงจาก ๖ ปีในปี ๒๕๔๐ เป็น ๒ปีในปี ๒๕๔๘
ในประเทศพัฒนาแล้ว โทรศัพท์มือถือมีวงจรชีวิตสั้นกว่า ๒ ปี
ในปี ๒๕๔๗ มีการขายคอมพิวเตอร์ ๑๘๓ ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑.๖ จากในปี ๒๕๔๖และ มีการขายโทรศัพท์มือถือ ๖๗๔ ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๓๐ จากปี ๒๕๔๖
ภายในปี  ๒๕๕๓ ตลาดซึ่งเติบโตเต็มที่ในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มจำนวนคอมพิวเตอร์ใหม่อีก ๑๕๐ ล้านเครื่อง ขณะที่ตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นแห่งอื่นจะเพิ่มอีก ๕๖๖ ล้านเครื่อง
สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องเก่านั้น ก็ถูกเก็บไว้ให้ฝุ่นเกาะ เพื่อรอการการนำมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ ทางกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐฯ ประมาณการว่า ๓ ใน ๔ ของคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกขายไปแล้วในสหรัฐฯ จะถูกกองรวมกันอยู่ในโกดังและที่เก็บต่างๆ เมื่อถึงคราวที่ต้องโยนทิ้ง พวกมันจะถูกนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เข้าเตาเผาขยะ และเมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการส่งออกมาที่เอเชียด้วย

เอาไปไหนได้บ้าง

ส่วนในประเทศไทย หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง คือ กรมควบคุมมลพิษ  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานมาทำหน้าที่เป็นสื่อ กลางเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ เพื่อส่งไปกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีต่อไป  มาดูกันว่ามีที่ไหนบ้างที่ เราสามารถส่งต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วได้
หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ – เอาไปไว้ได้ตามจุดต่างๆที่ร่วมโครงการเรียกคืนซากหลอดฟลูออเรสเซนต์  กรมควบ คุมมลพิษเช่น  ธนาคารพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ทุกแห่ง  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี มหาวิทยาลัยมหิดล ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์  เป็นต้น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   ส่วนของเสียอันตราย
สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย  โทรศัพท์ ๐๒ -๒๙๘-๒๔๓๖-๘  http://www.pcd.go.th/info_serv/hazadous.html

ซากแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือ – ส่งที่ ผู้ให้บริการ ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าในธุรกิจโทรศัพท์มือถือตามศูนย์ให้บริการ ต่างๆ  ได้แก่  ฮัทช์ ดีแทค เอไอเอส โนเกีย และโมโตโรล่า ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ
คอมพิวเตอร์-จอมอนิเตอร์-พริ้นเตอร์ แนะนำว่าหากยังใช้งานได้ หรือซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย สามารถนำเอาไปบริจาคให้กับเด็กนักเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือ องค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  เช่น มูลนิธิวิสุทธิคุณ โทร ๐๒- ๙๔๑ -๕๕๘๘-๙๐ www.wsk.or.th

อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคือ พวกเราล้วนแต่มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย การเลือกซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แต่ละชิ้น ไม่เพียงแต่พิจารณาถึงความคุ้มค่าทางการเงิน หรือ มองเพียงว่า “ ฉันมีปัญญาซื้อได้ ใครจะทำไม”เท่านั้น  แต่น่าจะลองมองถึงผลที่ตามมาในระยะยาวไปพร้อมกัน วิธีการง่ายๆ(อีกแล้ว) ก็คือ ถามตัวเองว่าเราจำเป็นต้องใช้สินค้าใหม่ชิ้นนั้นจริงหรือไม่

บริโภคให้น้อย รักษาให้นาน

มีคนเปรียบเทียบไว้ว่า การซื้อเสื้อสักตัวหนึ่ง ก็ไม่ต่างจากการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เราจะต้องดูแลรับผิดชอบมันไปตลอด ชีวิตทันทีที่ตัดสินใจนำมันมาอยู่ด้วยแล้ว  บรรดาเสื้อผ้าน่ารักแสนสวยที่ อยู่ในตู้เสื้อผ้าก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อเสื้อผ้าครั้งใด เราน่าจะวางแผนสักนิดว่า จะซื้อแบบไหน สีใด เพราะนอกจากจะช่วยลดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาอีกด้วย  ขณะเดียวกัน  อาจจะตอบคำถามตัวเองว่า ฉันพร้อมจะใช้ประโยชน์เสื้อตัวนี้อย่างคุ้มค่า และรับผิดชอบมันตลอดอายุการงานของมันหรือไม่

นอกจากนี้ แทนที่จะซื้อเสื้อผ้าใหม่ ลองเปลี่ยนมาใช้เสื้อผ้ามือสองดูบ้าง เพื่อเป็นการต่อชีวิตของมันให้นานขึ้น คุ้มค่ากับสิ่งที่เราสูญเสียไปในการผลิต ขณะเดียวกันแทนที่จะเอาเสื้อผ้าที่ไม่ชอบใจ ทิ้งไปเฉยๆ ก็เปลี่ยนเป็นส่งต่อให้คนอื่น อาจจะเป็นผู้ขาดแคลนเครื่องนุ่มห่ม หรือรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ แลกเสื้อผ้าใส่ ก็จะได้เสื้อผ้าแบบใหม่ๆโดยไม่ต้องซื้อเพิ่มแต่อย่างใด

ผลที่ตามมาก็คือ ปริมาณเสื้อผ้าที่ผลิตลดลง สารเคมีที่ออกสู่อากาศและพื้นดินก็ลดลงด้วย เราจะมีพื้นที่สำหรับอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงดูชาวโลก จากสัดส่วนพื้นที่การผลิตฝ้ายสำหรับเครื่องนุ่งห่มที่ลดลงไปอีกมหาศาล

เป็นดั่งกันและกัน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของเราที่มีต่อเพื่อนร่วมโลกไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ พื้นดิน อากาศ หรือท้องฟ้า

เพราะทุกชีวิตบนโลกนี้ไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน อาหารที่เรากินก็เป็นส่วนประกอบจากท้องฟ้า พื้นดิน แสงแดด ฝน เมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงความเหน็ดเหนื่อยของเกษตรกร และผู้ปรุงอาหารให้เรารับประทาน  เราต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ ออก การกระทำของชีวิตหนึ่งจึงส่งผลต่อเพื่อนร่วมโลกอีกมากมาย เฉกเช่น ก้อนหินที่ตกลงไปในน้ำที่ก่อให้เกิดคลื่นกระจายออกไปไม่รู้จบ

การใช้ถุงพลาสติกแต่ละวัน การเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้ไม่ตกยุค การซื้อเสื้อผ้าให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งโลกต่างหากเล่า  อันหมายถึงการให้ความ รัก หรือมีจิตอาสาต่อโลกใบนี้นั่นเอง

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

http://cleanup.org.au/au/Campaigns/say-no-to-plastic-bags.html
http://www.direct.gov.uk/prod_consum_dg/idcplg?IdcService=SS_GET_PAGE&si…
http://www.foe.co.uk/index.html
http://www.greenchoices.org/index.php/impacts-2
http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/91651
http://www.ibuydifferent.org/whatsthedeal/hidden_connections.asp
http://www.pcd.go.th/info_serv/haz_battery.htm
http://www.reusablebags.com/facts.php?id=2
http://www.treehugger.com/files/2006/11/how_to_green_yo_12.php