เขียน: คมชัดลึก
สร้าง”บุญ”รับปีใหม่ไทย บริจาคอวัยวะต่อชะตาชีวิตคน
เทศกาลปีใหม่ไทยนี้ หลายครอบครัวคงชักชวนกันเข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ เทศนา เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ มีสมาธิ และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ รวมไปถึงเจ้ากรรมนายเวร ตามความเชื่อของชาวพุทธ แต่การทำบุญอีกอย่างที่ถือว่าได้บุญกุศลอย่างแรงกล้าเฉกเช่นเดียวกัน นั่นคือการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ที่เดือดร้อน และมีความบกพร่องทางร่างกาย
เชื่อหรือไม่ ว่าทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่อวัยวะล้มเหลว และรอการปลูกถ่ายอวัยวะกว่า 2,000 คน แม้อวัยวะภายนอกจะปกติทุกอย่าง แต่อวัยวะภายในของพวกเขากลับตรงกันข้างโดยสิ้นเชิง อีกทั้งทัศนคติในการบริจาคอวัยวะ หลายคนยังมีความหวาดกลัว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย จึงเปิดแถลงข่าว เพื่อแจ้งถึงผลการดำเนินงานและอุปสรรคของการทำงาน ในงาน “ศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยพบสื่อมวลชน” โดย น.พ.วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
น.พ.วิศิษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์ รับบริจาคอวัยวะก่อตั้งมานานถึง 13 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สะบักสะบอมที่สุด เนื่องจากผู้บริจาคอวัยวะมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้รอรับบริจาค
“เมื่อปี 2536 สภากาชาดไทยมีอายุครบ 100 ปีพอดี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ได้ทำการปลูกถ่ายหัวใจและตับจากผู้ป่วยสมองตาย นับจากนั้นถือเป็นการเปิดศักราชการปลูกถ่ายอวัยวะ ตับ หัวใจ และไต เพิ่มขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของเรา คืออยากจะให้มีการรณรงค์การบริจาคอวัยวะให้เพียงพอกับจำนวนผู้รอรับบริจาค สภากาชาดไทยได้รณรงค์มาโดยตลอด เมื่อปี 2540 เศรษฐกิจไม่ดี ศูนย์ต้องซื้อหัวใจจากต่างประเทศ ซึ่งอวัยวะจากผู้เสียชีวิต เราจะถนอมอวัยวะซึ่งจะเก็บในอุณหภูมิสูงถึง 196 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 5 ปี ตอนนี้มีเหตุการณ์ไม่สงบ ทั้งระเบิด ไฟไหม้ ผมคิดว่าอนาคตอาจจะมีการปลูกถ่ายผิวหนังต่อไป” ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าว
หากจะมองถึงสถิติผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อตั้งแต่ปี 2537-2550 มีผู้ปลูกถ่ายไตสูงสุดถึง 1,308 ึคน รองลงมา ดวงตา 590 คน และลิ้นหัวใจ 329 คน ซึ่งปี 2537-2539 ถือเป็นปีที่มืดมนที่สุดโดยไม่ทราบสาเหตุ อวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายหายากมาก แต่ปี 2540 จำนวนผู้รับบริจาคเริ่มเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อปี 2546 มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมากถึง 345 คน และกลับลดลงอีกครั้ง เนื่องจากความต้องการของคนรับบริจาคมีมากกว่าอวัยวะที่บริจาคนั่นเอง
“เมื่อปี 2542 มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมากถึง 60,216 คน และลดลงมาเรื่อยๆ เมื่อปี 2549 มีจำนวน 35,585 คน และปี 2550 ตอนนี้มีจำนวน 5,085 คน ซึ่งผมก็คาดหวังที่จะให้คนไทยรู้เรื่องการบริจาคอวัยวะมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยด้วยกัน เพราะตอนนี้ศูนย์ของเราเจออุปสรรคมากมาย ทั้งญาติผู้เสียชีวิตปฏิเสธที่จะบริจาค เพราะไม่เคยรู้เรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะมาก่อน ไม่รู้ถึงประโยชน์และวิธีการบริจาคอวัยวะ บางคนไม่เข้าใจคำว่า ‘สมองตาย’ และไม่แน่ใจว่าตายหรือเปล่า กลัวว่าแพทย์จะเอาอวัยวะไปให้ผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์
“จริงๆ แล้วคำว่า สมองตาย คือถ้าหัวใจหยุดเต้นไป 5 นาที สมองส่วนกลางจะตายลง แต่ก้านสมองเป็นส่วนที่ควบคุมการหายใจจะทนที่สุด หากก้านสมองตาย ทุกส่วนของร่างกายก็ตาย ไม่สามารถฟื้นได้ ซึ่งตรงนี้แพทย์ผู้รักษาเองก็จะต้องบอกกับญาติด้วย ว่าผู้ป่วยมีอาการสมองตายหรือเปล่า บางครั้งแพทย์และพยาบาลก็ไม่ได้ขอรับบริจาคจากญาติของผู้ป่วยด้วยหลายสาเหตุ อย่างกลัวว่าจะรบกวนญาติผู้เสียชีวิต เป็นต้น” น.พ.วิศิษฎ์ กล่าว
แม้จะมีการรณรงค์เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะมากเพียงใด แต่ทัศนคติของการบริจาคอวัยวะยังมีผู้ไม่เข้าใจเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการบริจาคอวัยวะ กลัวว่าจะตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไป หรือบริจาคแล้วกลัวว่าชาติหน้าอวัยวะจะไม่ครบ และเรื่องศาสนาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการบริจาคเช่นเดียวกัน
น.พ.วิศิษฎ์ เล่าถึงกระบวนการดำเนินงานในการรับบริจาคอวัยวะ ว่า 1.โรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะจะแจ้งมายังศูนย์รับบริจาค อวัยวะ 2.แพทย์จะตรวจวินิจฉัยสมองตายตามเกณฑ์แพทยสภา 3.แพทย์พยาบาลจะขอรับบริจาคอวัยวะจากญาติ 4.ดูแลผู้บริจาคอวัยวะ เพื่อถนอมอวัยวะเหล่านั้นให้ผู้ป่วย
5.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ แจ้งข้อมูลของผู้บริจาคอวัยวะแก่โรงพยาบาลที่เป็นทีมผ่าตัดของแต่ละอวัยวะ เพื่อประเมินผู้บริจาคอวัยวะ โดยคนหนึ่งจะบริจาคได้ 4 อย่าง คือ หัวใจ ตับ ไต ปอด 6.โรงพยาบาลที่มีผู้รอรับหัวใจ ปอด ตับ ไต ติดต่อและประเมินผู้รอรับแต่ละคน 7.ทีมผ่าตัดแจ้งความพร้อมในการรับอวัยวะแก่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ เพื่อสรุปผลและเตรียมทีมผ่าตัดนำอวัยวะออก
8.กำหนดเวลาทำการผ่าตัดร่วมกับกำหนดการเดินทาง เนื่องจากหัวใจจะสามารถเก็บได้แค่ 4 ชั่วโมง ถือว่าวิกฤติสุด ต้องรีบทำการผ่าตัดด่วน ปอดและตับเก็บได้ 6 ชั่วโมง ไต 12 ชั่วโมง 9.ทำการผ่าตัดนำอวัยวะไปปลูกถ่าย 10.แจ้งผลการปลูกถ่ายอวัยวะมายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะ 11.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะให้การสนับสนุนและขอบคุณหน่วยงานและบุคคลผู้เกี่ยว ข้อง คือญาติผู้บริจาคอวัยวะ โรงพยาบาลที่มีผู้บริจาค โรงพยาบาลที่เป็นทีมผ่าตัด หน่วยงานที่สนับสนุนการเดินทาง
“น้องทิพย์” ฐานรัตน์ นรินทร์สุขสันติวัย 9 ขวบ ป่วยเป็นโรคท่อน้ำดีอุดตัน ส่งผลให้ตับแข็งตั้งแต่เกิด และเป็นผู้ที่ได้รับการบริจาคตับไปเมื่อปี 2541 คุณแม่จินตนา เล่าให้ฟังว่า ทราบว่าน้องทิพย์ป่วยตั้งแต่อายุได้ 4 เดือน ซึ่งคุณหมอที่ทำคลอดไม่ได้ตรวจเช็คอะไร เพราะภายนอกปกติทุกอย่าง แต่มาตรวจเจอเมื่อครั้งที่นำลูกสาวไปฉีดวัคซีน ซึ่งอาการเริ่มแรกของน้องทิพย์คือถ่ายอุจจาระสีซีด ตาเหลืองเพราะของเสียไม่ยอมออกมา และพุงใหญ่
“น้องทิพย์พิการตับมาตั้งแต่กำเนิด ตอนที่ทราบว่าเขาเป็นโรคนี้ ก็พาเขามารักษาที่โรงพยาบาลเด็ก เพราะเห็นเขาเป็นโรงพยาบาลเด็ก น่าจะเชี่ยวชาญด้านนี้ พอตรวจพบหมอบอกว่าไม่รอด ถ้าเป็นโรคนี้ต้องเปลี่ยนตับอย่างเดียว ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้จักการปลูกถ่ายอวัยวะแพร่หลาย แต่โรงพยาบาลจุฬาฯ ทำได้ ก็เลยลองพาน้องเขามาหาหมอที่นี่ ซึ่งหมอเขาให้ความหวังเรา 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ดีกว่าไปทำที่ต่างประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ
“น้องทิพย์โชคดีมากที่ใช้เวลาเกือบปี เดือนสิงหาคม 2541 น้องก็ได้เปลี่ยนตับจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต ผู้หญิงอายุ 23 ปี เพราะโดนของแข็งตีที่ท้ายทอย และเมื่อตอนที่เขาอายุ 5 ขวบก็ทำการผ่าตัดขยายท่อน้ำดีอีกครั้ง ตอนนี้อาการของน้องดีขึ้นมาก เหมือนเด็กปกติทั่วไป เมื่อก่อนต้องเข้าโรงพยาบาลเดือนละครั้ง แต่ตอนนี้ 3 เดือนครั้งเพื่อตรวจเลือด และตรวจภูมิต้านทาน ซึ่งน้องจะต้องกินยารักษาภูมิคุ้มกันแบบนี้ไปตลอดชีวิต ซึ่งคุณพ่อเขาจะตั้งเวลาในโทรศัพท์มือถือเอาไว้ จะต้องกินให้ตรงเวลาเช้าและเย็น แต่ถ้าเกิดน้องโตขึ้นต้องดูแลตัวเอง ลืมทานยาไม่ได้เด็ดขาด” คุณแม่จินตนา กล่าวอย่างเป็นห่วง
แม้น้องทิพย์จะผ่าตัดจนอาการดีขึ้นทุกอย่างแล้ว แต่ความเครียดของผู้เป็นแม่ก็ยังมีอยู่เต็มหัวใจ ด้วยเกรงว่าตับใหม่ที่ใส่เข้าไปในร่างกายลูกสาว จะเกิดการปฏิเสธขึ้นมากะทันหัน หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่รู้ว่าลูกสาวจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน
“เคยมีน้องคนหนึ่งที่เขาเปลี่ยนตับแล้วเขาเสียชีวิต แต่เราก็ไม่ได้ถามว่าเขาเสียชีวิตเพราะอะไร ตอนนี้ก็ดูแลเขาให้ดีที่สุด เพราะไม่รู้ว่าตับใหม่จะปฏิเสธน้องเขาเมื่อไร ทุกวันนี้ก็จะบอกให้น้องเขาทำบุญให้มากๆ ยึดมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย เรื่องค่าใช้จ่ายโชคดีที่ตอนนี้แม่ทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจ ค่ายาก็จะเบิกได้ แต่ก็ได้ถึงแค่อายุ 21 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่รู้ว่าจะรับภาระค่าใช้จ่ายยังไง ตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน” แม่น้องทิพย์ กล่าวถึงอนาคต
ณ วันนี้น้องทิพย์ยังคงมีอาการเหนื่อยเร็วอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วเธอเป็นเด็กที่ร่าเริงเหมือนเด็กปกติทั่วไป การเรียนแม้จะไม่ได้เก่งมาก แต่ก็อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งน้องทิพย์เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทอรัก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน เพื่อครอบครัวจะได้ดูแลเธออย่างใกล้ชิดที่สุด
ส่วน “แก้ว” พิทยา เขจรฤทธิ์ ผู้รอรับบริจาคหัวใจและปอดมาตั้งแต่อายุ 16 ปี กระทั่งวันนี้เธออายุ 26 ปีแล้ว ผ่านมา 10 ปี ก็ยังไม่มีวี่แวววินาทีแห่งความหวังเข้ามาเคาะประตูบ้านเธอสักครั้ง เนื่องจากเธอมีหัวใจเพียง 2 ห้อง เป็นผลให้ปอดไม่แข็งแรงร่วมด้วย
“บางทีแก้วก็รู้สึกท้อใจเหมือนกัน ที่เราไม่ได้โอกาสเหมือนคนอื่น แต่แก้วก็เข้าใจว่าหัวใจกับปอดจะให้หาเลือดกรุ๊ปเดียวกันก็หายาก ตอนนี้แก้วต้องกินยาบำรุงหัวใจ ลดความดัน ยาขับปัสสาวะ ยาช่วยการทำงานของปอด ตอนเด็กๆ แม่บอกว่า แก้วเป็นเด็กที่เติบโตช้า เหนื่อยง่าย ดูจังหวะการเต้นของหัวใจติดๆ ขัดๆ ตลอด ตอนอายุ 16 ปี แก้วมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หมอเขาก็วินิจฉัยว่าแก้วหัวใจพิการแต่กำเนิด ต้องรอการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างเดียว” แก้ว เล่าอาการของตัวเอง
พร้อมกับบอกว่าอาการของเธอที่หนักสุด คือเหนื่อยจนไม่สามารถลุกขึ้นมาจากเตียงได้ เพราะหัวใจเต้นแรงและเร็วมาก เหมือนคนออกกำลังกายอย่างหนัก อีกทั้งยังเจ็บหัวใจซีกซ้าย โชคดีที่เธอยังไม่เคยเป็นมากถึงขั้นหมดสติไป
“ถ้าเมื่อไรที่แก้วมีอาการแบบนั้น แก้วต้องตั้งสติบอกตัวเองเสมอว่าไม่เป็นอะไร แก้วต้องไม่เครียดไม่ทำงานหนัก ไม่หักโหม ทุกอย่างจะปกติ ถ้าเมื่อไรที่แก้วเครียด ทำงานหนัก กินอาหารได้น้อย นอนไม่หลับ ร่างกายจะทรุดทันที เคยเป็นมากถึงขั้นนอนห้องไอซียูด้วย ประมาณ 3 เดือนครั้ง เพราะแค่อากาศเปลี่ยนแก้วก็ทรุดแล้ว
“ตอนนี้แก้วได้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดีใจที่ทำให้แก้วมีความหวังขึ้นมาหน่อย เพราะถ้าฐานะของแก้วคงจะไม่พอกับค่ายา ทุกวันนี้แก้วจะไปตวรจร่างกายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้วไปรับยาที่วังสวนจิตรลดา” แก้ว แจกแจง
ณ วันนี้เธอได้ทำงานที่บริษัทวิทยุการบินในส่วนของห้องสมุด เพราะเขามีมูลนิธิคนพิการที่จ้างคนพิการเข้าทำงาน แรกๆ เธอก็น้อยใจ เป็นคนพิการที่ไม่เหมือนคนอื่น เนื่องจากเธอมีแขนขาครบ แต่มีโรคประจำตัว ซึ่งแตกต่างจากเพื่อนพิการคนอื่นๆ ที่แขนขาขาด แต่สามารถทำงานได้เหมือนคนปกติทั่วไป
“แก้วอยากทำประโยชน์ได้มากกว่านี้ แก้วคิดอยู่เสมอว่าถ้าเลือกเกิดได้ แก้วขอเป็นคนพิการแขนขาดีกว่า ไม่อยากให้พิการหัวใจ ทุกวันนี้แก้วก็เกรงใจบริษัทมาก จ้างให้ทำงาน แต่แก้วต้องลางานบ่อยๆ ผิดกับเพื่อนๆ ที่ได้ทำงานเต็มที่ แต่บริษัทเขาก็เข้าใจ คนพิการไม่เหมือนคนอื่น
ทุกวันนี้แก้วก็มีกำลังใจจากแม่และพี่ของแก้ว จะต้องอยู่เพื่อเขา เพราะเขาต้องอดทนเลี้ยงดูแก้วมานาน แก้วต้องตอบแทนแม่และพี่ เพราะอายุขนาดนี้เราน่าจะตอบแทนพระคุณท่านได้แล้ว แก้วหวังที่จะมีครอบครัวเหมือนคนอื่น ซึ่งโรคนี้เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตของแก้วมาก ชีวิตของแก้วตอนนี้เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ถึงจะมีคนมาจีบแล้ว แต่แก้วก็คงไม่อยากให้เขาเอาชีวิตมาเสี่ยงกับแก้ว ทุกวันนี้แก้วก็อธิษฐานขอให้หายเป็นปกติ จะได้ทำในสิ่งที่แก้วอยากทำ” แก้ว กล่าวอย่างมีความหวัง
ได้ทราบถึงเสียงการรอคอยชีวิตใหม่กันแล้ว นี่คงเป็นแรงผลักดันให้หลายๆ คน ร่วมใจกันบริจาคอวัยะมากขึ้น เพราะหากเราไม่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้ว อย่างน้อยอวัยวะในร่างกายของเราที่สมบูรณ์ ยังสามารถต่อชีวิตคนอื่นได้ แถมยังเป็นการทำบุญอันยิ่งใหญ่ ถ้าคุณคิดจะบริจาคอวัยวะเนื่องในเทศกาลสงกรานต์นี้ ก็น่าจะเป็นสร้างบุญสร้างกุศลได้ดีและเห็นได้ชัดอีกทางหนึ่งค่ะ…
ที่มา : นสพ.คมชัดลึก
12 เมษายน 2550