เขียน: jamjit
ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา เรารู้จักกับหนังสือ “ฉลาดทำบุญ”โดย พระไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับทำความดีเพื่อชีวิตที่ดีงามมาแล้ว แต่นอกจากจะฉลาดทำบุญ เรายังควรฉลาดทำใจ เพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่น่ายินดีที่เกิดขึ้นพร้อมกันด้วย
ฉลาดทำใจ เป็นคู่มือสำหรับการตั้งรับเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่คาดฝัน หรือไม่เป็นไปดังใจหวังได้อย่างมีปัญญา หากเรารู้จักฉลาดทำใจ หนักแค่ไหนก็ไม่ทุกข์แน่นอน
“ฉลาดทำใจ” แยกปัญหาความทุกข์ออกเป็น 4 ประเด็น ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่คนทุกวันนี้มักต้องเผชิญแทบทั้งนั้น ได้แก่ ทรัพย์สิน กาย การเรียนหรือการทำงาน และความสัมพันธ์
ลองมาดูตัวอย่างวิธีแก้ปัญหากันว่า เราจะเปลี่ยนทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจให้เป็นความสุขได้อย่างไร
ของหาย
ถ้ายังหาไม่เจอ ก็ไม่ควรเพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเองด้วยการเฝ้ากังวล ย้ำคิดย้ำครุ่นถึงสิ่งนั้น เพราะถึงจะกังวลเพียงใดก็ไม่ช่วยให้หาเร็วขึ้น เพราะถึงจะกังวลเพียงใด ก็ไม่ช่วยให้หาเจอได้เร็วขึ้น และหากของชิ้นนั้นไม่อาจหวนคืนกลับมาได้ จะมีอะไรดีกว่าการปล่อยวาง เพราะเสียของไปแล้ว ไม่ควรเสียใจซ้ำเติมตัวเองเข้าไปอีก
จะให้ดี อย่าปล่อยวางต่อเมื่อของหายไปแล้ว ครทำใจตั้งแต่ของนั้นยังอยู่กับคุณว่ามันไม่เที่ยง ไม่อาจอยู่กับคุณได้ตลอดเวลา หากทำใจได้เช่นนี้ คุณก็จะไม่ทุกข์เมื่อถึงคราวที่ของนั้นหายไปจากคุณ
เจ็บป่วย
เวลาเจ็บป่วย ขอให้ป่วยแค่กายอย่างเดียว อย่าให้ใจป่วยด้วย คือใจอย่าเป็นทุกข์ หรือกังวลไปต่างๆนานา ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นทุกข์สองต่อ
ความเจ็บป่วยไม่ใช่ของดี แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ควรยอมรับความจริง ขณะเดียวกันก็ควรรู้จักหาประโยชน์หรือมองเห็นข้อดีของความเจ็บป่วยด้วย อย่างน้อยความเจ็บป่วยก็เปิดโอกาสให้เราได้พักผ่อน หลายคนมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวหรือหันมาสนใจธรรมะก็ตอนป่วยนี้เอง
ทำงานไม่มีความสุข
คุณควรหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะงานยาก มองไม่เห็นผล เพื่อนร่วมงานไม่ดี เจ้านายไม่ยุติธรรม เงินเดือนน้อย? แต่หลังจากมองออกไปนอกตัวแล้ว อย่าลืมกลับมาถามตัวเองว่า คุณมีใจให้กับงานนี้แค่ไหน?
ทำงานอะไร ไม่สำคัญเท่ากับทำงานอย่างไร กล่าวคือทำงานด้วยใจรัก หรือหวังเงินทอง ทำด้วยใจจดจ่ออย่างมีสติ หรือทำด้วยใจที่ฟุ้งซ่าน หากวางใจไม่ถูก ไม่ว่าทำงานอะไร เปลี่ยนงานกี่ครั้ง ก็หาความสุขได้ยาก อย่าลืมว่าเราอาจเลือกงานไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะสนุกหรือเป็นสุขกับงานได้
ถูกวิจารณ์ ต่อว่า
ก่อนอื่นควรถามตัวเองก่อนว่า คำวิจารณ์หรือคำตำหนินั้น มีส่วนจริงอยู่บ้างหรือไม่ ถูกต้องและมีเหตุผลเพียงใด หากจริง ถูกต้องและมีเหตุผล ไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใต ไม่ดีกว่าหรือหากคุณจะนำเอาคำวิจารณ์หรือคำตำหนินั้น ไปปรับปรุงตนเอง หรืองานการของคุณให้ถูกต้อง โดยเลือกเอาแต่สาระ ส่วนถ้อยคำรุนแรงหรือสิ่งที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็เอาทิ้งไป
มองให้ดีจะพบว่า ในคำตำหนินั้น มีของมีค่ามากมายที่หาไม่ได้จากคำชม หรือคำสรรเสริญ เช่น ทำให้เราเห็นความจริงอีกด้านหนึ่งของตัวเราที่เรา หรือแม้แต่เพื่อนๆมองไม่เห็น หาไม่ก็ทำให้เรารู้จักนิสัยใจคอของผู้พูดดียิ่งขึ้น ช่วยให้เรารู้ว่าจะวางตัว หรือเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไรดีในคราวต่อไป
วิธีการรับมือกับปัญหาสี่อย่างที่ว่ามานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน หนังสือ “ ฉลาดทำใจ : หนักแค่ไหนก็ไม่ทุกข์” โดยพระไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา หากอยากทราบวิธีทำใจกับความผิดหวังในเรื่องต่างๆให้ละเอียดยิ่งขึ้น ติดต่อขอรับหนังสือเล่มนี้ได้ที่เครือข่ายพุทธิกา 0-2883-0592 www.budnet.info
* ตัดตอนเนื้อหามาจาก หนังสือฉลาดทำใจ