เขียน: สน.คณะกรรมการวัฒนธรรม
เนื่องในโอกาสปีใหม่ 2550 ที่กำลังจะมาถึง อีกทั้งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำเสนอ 80 วิธีทำดีต่อตนเอง ต่อสังคมรอบข้าง ตลอดจนประเทศชาติ มาให้ทุกคนได้ลองเลือกไปปฏิบัติตามความถนัดและความชอบเพื่อนำมาซึ่งความสุข และความสมานฉันท์ของชาติและเพื่อถวายแด่ ‘ในหลวง’ ที่รักยิ่งของเรา ดังต่อไปนี้
ทำดีต่อตนเอง
เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราได้รู้สึกดีๆ และพร้อมที่จะแบ่งปันความสุขไปให้ผู้อื่น ได้แก่
1.ตื่นขึ้นมาอย่างกระตือรือร้นทุกเช้า พร้อมยิ้มแย้มแจ่มใสรับวันใหม่
2.ไหว้พระก่อนออกจากบ้านเพื่อเตือนสติและเพื่อสิริมงคลแก่ตน
3.สวัสดีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ก่อนและหลังกลับจากโรงเรียนหรือที่ทำงานทุกครั้ง
4.ตั้งใจไม่โมโห หรือไม่โกรธใคร อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 วัน
5.ไม่พาตัวไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง
6.อ่านหนังสือดีๆอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
7.พูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ หรือ ‘ขอบใจ’ ทุกครั้ง เมื่อผู้อื่นทำอะไรให้ เช่น ช่วยถือของ ให้บริการ
8.อย่าลืม ‘ขอโทษ’ เมื่อทำผิดต่อผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจหรือเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาด
9.มีหลักการ ยึดมั่นในคุณความดีและมีความเพียรพยายาม
10.ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้วยการตั้งใจทำสิ่งใด ก็เพียรทำให้สำเร็จ ไม่เบี้ยวแม้แต่กับตนเอง
ทำดีต่อครอบครัว
ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเราที่สุด และมีผลต่อความสุขของสมาชิกทุกคน ได้แก่
11.ลดการบ่นว่าดุด่าคนในครอบครัวให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นลูก สามี/ภริยา พี่น้อง เพื่อลดความเครียดในบ้านและทำให้ทุกคนรู้สึกบ้านน่าอยู่ไม่ร้อนหูร้อนใจ
12.พาสมาชิกในครอบครัวไปกินอาหารนอกบ้านหรือไปเที่ยวบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
13.ช่วยกันลดรายจ่ายด้วยการไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น
เพื่อมิให้เป็นหนี้สินหรือเงินไม่พอใช้
14.ไม่คิดจะมีกิ๊กหรือเป็นชู้กับสามี/ภริยาผู้อื่น อันเป็นสาเหตุให้ครอบครัวเราและผู้อื่นเกิดความแตกแยก 15.พูดจาไพเราะ สุภาพกับสมาชิกในบ้าน ไม่ตะคอกด่าทอหรือจิกเรียกด้วยถ้อยคำหยาบคาย
16.มีสัมมาคารวะ และแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ในบ้านทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย
หรือพี่ป้าน้าอา เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน
17.มีน้ำใจกับคนในบ้าน เช่น ช่วยพ่อแม่ล้างถ้วยชาม ช่วยภริยากวาดถูบ้าน ช่วยพาพ่อ/แม่ของสามีหรือภริยาไปหาหมอ ซื้อของใช้ให้สามี/ภริยา
18.ไม่เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในบ้าน เช่น ฟังสามี/ภริยาฟังลูกว่าต้องการอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
19.พูดจาชมเชยและให้กำลังใจแก่สมาชิกในบ้าน เช่น ชมว่าแต่งตัวดี ทำกับข้าวอร่อย วาดภาพสวย เป็นต้น
20.พาครอบครัวไปทำบุญสร้างกุศลร่วมกันในโอกาสวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันวิสาขบูชา ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกได้ใกล้ชิดกับพระศาสนา และได้เห็นแบบอย่างการทำดีอย่างเป็นรูปธรรม
ทำดีต่อเพื่อนบ้าน
ซึ่งอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน หากปลูกไมตรีต่อกันได้ ย่อมจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ดังนั้น
จึงควรทำดีต่อกัน ดังนี้
21.ยิ้มและทักทายเมื่อพบกัน
22.ช่วยดูแล สอดส่องบ้านให้เมื่อเพื่อนบ้านไม่อยู่ หรือไปต่างจังหวัดหรือช่วยแจ้งเหตุหากมีสิ่งใดผิดปกติ
23.ซื้อของขวัญหรือของฝากไปให้บ้างตามโอกาส เช่น วันปีใหม่ วันตรุษจีน หรือเมื่อกลับจากต่างถิ่น เพื่อเป็นการผูกมิตรหรือขอบคุณเขาที่ช่วยดูบ้านให้
24.ไม่เลี้ยงสัตว์หรือปลูกต้นไม้ที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจมาสู่เพื่อน บ้าน หรือเป็นมูลเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน เช่น สัตว์ส่งเสียงดังรบกวน หรือใบไม้ร่วงไปรกบ้านเขา
25.ไม่จอดรถขวางทางเข้าบ้านของเขาหรือในที่ที่เขาจอดประจำ
26.ไม่พาสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมว ไปอึหรือฉี่หน้าบ้าน ต้นไม้ของเขา
27.ไม่เปิดวิทยุ โทรทัศน์หรือคาราโอเกะเสียงดังจนรบกวนเขา โดยเฉพาะในวันหยุด
28.ไม่ซ้อมดนตรี/จัดงานหรือส่งเสียงเอะอะ โวยวายรบกวนเพื่อนบ้าน ควรจะจัดเวลาซ้อมที่ไม่เช้าหรือดึกเกินไป หรือไม่ก็ควรจะไปซ้อมที่อื่นและไม่ควรพาเพื่อนมาตั้งวงกินเหล้าส่งเสียงดัง หนวกหูชาวบ้านเขาทุกอาทิตย์
29.ไม่กวาดขยะไปกองหรือทำสกปรกหน้าบ้านผู้อื่น ควรกวาดและเก็บใส่ถุงหรือถังขยะให้เรียบร้อย
30.ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ที่จัดขึ้นในหมู่บ้านหรือชุมชนของเราเองบ้างตามโอกาสอันควร
ดีต่อเพื่อนร่วมงาน
ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราราบรื่น เกิดความสามัคคี และมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของเราด้วย ได้แก่
31.ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักโอภาปราศรัยต่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ทำเมิน หรือทำหน้าเฉยเมยไร้ชีวิตเมื่อเจอกัน
32.ช่วยแนะหรือสอนงานที่เรามีความชำนาญให้
33.แสดงความยินดีหรือชมเชยเมื่อเขาประสบความสำเร็จหรือได้รับรางวัล
34.ซื้อของขวัญ ให้เงิน หรือการ์ดอวยพรในโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด วันแต่งงาน คลอดลูก
35.แสดงความเสียใจหรือปลอบใจเมื่อเขาประสบเหตุหรือโชคร้าย เช่น พ่อแม่ตาย ถูกขโมยขึ้นบ้าน
36.ช่วยเหลือตักเตือนหรือชี้แนะเมื่อเขาทำผิดพลาดด้วยความจริงใจ ไม่ซ้ำเติม
37.ไม่ขโมยผลงานของเขามาเสนอเป็นผลงานของเรา
38.ไม่ใส่ร้ายป้ายสีหรือยุยงให้เพื่อนร่วมงานแตกคอ หรือทะเลาะวิวาทกัน
39. แนะนำหนังสือร้านอาหาร วัด หรือสถานที่ดีๆแก่เพื่อนให้เขาได้ไปใช้บริการบ้าง
40.รู้จักอยู่ช่วยงานหรือร่วมกิจกรรมที่เพื่อนในหน่วยงานจัดขึ้น แม้จะมิใช่งานของเรา เพื่อจะได้รู้จักสนิทสนมและทำงานเข้าขากันได้มากขึ้น
ดีต่อหน่วยงานหรือที่ทำงานของตน
ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ประกอบอาชีพ ทำให้เรามีกินมีใช้ เราจึงควรต้องกตัญญูรู้คุณ ด้วยการ
41.ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงาน ไม่โกงเวลา โกงทรัพย์สินของหน่วยงาน
42.ไม่นินทาว่าร้าย หรือดูถูกหน่วยงานของเราเอง หากเราคิดว่าไม่ดี ก็ควรออกไปหางานอื่นทำ
43.ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
44.เมื่อเห็นสิ่งใดไม่ดีในหน่วยงาน ต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไข ไม่ใช่ซ้ำเติมหรือเมินเฉย
45.ให้บริการหรือพูดจากับผู้มาติดต่อกับหน่วยงานให้สุภาพ ไพเราะเพื่อให้เกิดความประทับใจที่ดี
46.ใช้ทรัพยากรต่างๆของหน่วยงานอย่างประหยัด คุ้มค่าให้เหมือนสมบัติของเราเอง
47.ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ทำลายระเบียบที่ดีจนหน่วยงานเละเทะ ยุ่งเหยิงเพราะต่างทำตามใจตนเองจนควบคุมไม่ได้
48.รู้จักเสียสละเพื่อหน่วยงานบ้างบางโอกาส เช่น ทำงานโดยไม่เอาโอ.ทีหรือร่วมลงขันจัดกิจกรรมให้หน่วยงาน
49.ช่วยกันสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีให้หน่วยงาน เช่น แข่งกีฬาชนะเลิศ จัดทำโครงการดีๆเพื่อสังคม
50.ต้องมีความภาคภูมิใจในหน่วยงานของตน
ดีต่อสังคม
ซึ่งมีเราเป็นหน่วยหนึ่งก็จะทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆตัวเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น เพราะจะเต็มไปด้วยความเอื้ออาทร และความมีไมตรีจิตต่อกัน ด้วยการ
51.ส่งของกิน ของใช้ หรือเงินไปบริจาคมูลนิธิต่างๆเมื่อถึงวันเกิดหรือวันสำคัญอื่นๆของตน
52.ทำหนังสือชมเชยไปยังบุคคล หรือหน่วยงานที่ให้บริการที่ดีเพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น เช่นเขียนไปชมกระเป๋ารถเมล์ที่พูดจาดีช่วยพยุงคนแก่ขึ้นรถ
53.ช่วยกันรักษาความสะอาดและถนอมใช้สมบัติสาธารณะให้มีอายุยืนนาน เช่น ไม่ขีดเขียนในห้องน้ำสาธารณะ ไม่ทิ้งขยะ/ถ่มน้ำลายบนถนนหนทางหรือในแม่น้ำลำคลอง
54.ช่วยกดลิฟท์ให้กับผู้ร่วมทาง หรือช่วยถือของหนักให้กับคนบนรถเมล์
55.ไม่แซงคิวใดๆที่เขากำลังเข้าแถวรอรับบริการ เช่น ซื้อตั๋วหนัง หรือเข้าส้วม
56.นำหนังสือดีๆ หรือหนังสือธรรมะ ไปบริจาคตามโรงพยาบาลรัฐ เช่น ห้องรอรับการรักษา ห้องพักผู้ป่วย ห้องพยาบาล เป็นต้น เพื่อเป็นการแนะวิธีปฏิบัติตน และช่วยปลุกปลอบใจ
57.ขับรถตามกฎจราจร มีน้ำใจให้กับรถคันอื่น ไม่แซงซ้ายป่ายขวา และจอดรถให้คนข้ามถนนบ้าง
58.อ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือดีๆใส่เทป ซีดีส่งไปให้คนตาบอดฟัง
59.รับเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ
60.ให้ความช่วยเหลือ/แนะนำแก่ผู้อื่นในสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยทำ เช่น แนะวิธีคาดเข็มขัดบนเครื่องบิน แนะวิธีใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายในฟิตเนส
ดีต่อศาสนา
อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เราจึงควรสืบทอดศาสนาให้ยั่งยืนต่อไปยังลูกหลานของเราด้วยการ
61.ศึกษาหลักธรรมในศาสนาของเราให้รู้จริง
62.ปฏิบัติตามธรรมะที่ศาสดาสอนไว้
63.ช่วยเหลือแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
64.ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาอื่น อันเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยก
65.ทำบุญตามหลักศาสนาของตนอย่างน้อยเดือนละครั้ง
66.สั่งสอนและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับอนุชนรุ่นหลัง
67.ไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำลายผู้อื่น
68.ไม่ใช้ศาสนาไปหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในทางที่ผิด
69.หากเป็นพระ นักบวชต้องทำตนเป็นแบบอย่างและแนะแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควรแก่ศาสนิกชน
70.เชื่อมั่น และตั้งใจที่จะช่วยสืบทอดศาสนาทุกวิถีทางที่ดีและถูกต้อง
ดีต่อชาติบ้านเมือง
ซึ่งเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดหรือให้เราได้อยู่อาศัย เราจึงควรตอบแทนด้วยการ
71.ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งใด
72.ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ใส่ตัวหรือพวกพ้อง และไม่คิดคอรัปชั่นหรือคดโกงด้วยวิธีการใดๆ
73.ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตน
74.ช่วยปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส
75.ไม่เมินเฉยหรือละเลยให้ผู้อื่นมาฉกฉวยผลประโยชน์จากชาติบ้านเมืองของเรา
76.ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
77.สอนลูกหลานให้รักและภาคภูมิใจในชาติของเรา
78.ตั้งใจศึกษาหาความรู้ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างเต็มที่
79.มีความรักความสามัคคีต่อกันในทุกระดับ
80.ช่วยกันรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของประเทศ
ทั้งหมดคือตัวอย่างการ ‘ทำความดี’ อันหลากหลายที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ แม้บางข้อดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่อย่าลืมว่าหากเราทุกคนตั้งใจทำ ความดีเล็กๆเหล่านี้ก็สามารถรวมเป็น ‘พลังอันยิ่งใหญ่’ ที่ทำให้ทุกคนเป็นสุข เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันและมีผลทำให้ชาติบ้านเมืองร่มเย็นได้ และน่าจะเป็นสิ่งที่ ‘ในหลวง’ ของเราคงทรงยินดีที่ราษฎรของพระองค์สร้างความดีแก่ตัวและผู้อื่นมากกว่าการ สร้างถาวรวัตถุใดๆถวายพระองค์ท่านอย่างแน่นอน