ต้นธารและจุดบรรจบ ระหว่างธุรกิจและเอ็นจีโอ
เขียน: jamjit
ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เรามีคนหลายคน คนหลายวัย คนหลายเชื้อชาติ ศาสนา หลากอาชีพ หลากอุดมการณ์ แต่ใช่หรือไม่ที่เราทั้งหมดอยู่บนเรือลำเดียวกัน
หลายคนจึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สังคมที่เราอาศัย สงบสุข เท่าเทียม ยุติธรรม มีสิ่งแวดล้อมที่งดงาม ผู้คนสมานสามัคคี ประชาชนคนธรรมดามีสิทธิ มีเสียง มีที่อยู่ที่กิน มีศักดิ์ศรีในชีวิตในฐานะคนๆ หนึ่ง คนเหล่านั้นทำงานเป็นนักพัฒนาสังคม หรือ เอ็นจีโอ ที่เรารู้จักกัน
แต่ความตั้งใจเหล่านี้หาได้มีแต่ในนักพัฒนาสังคมเท่านั้น นักเรียน นักศึกษา ช่างไฟฟ้า นักดนตรี สาวออฟฟิศ ไปจนถึงนักธุรกิจ ต่างมีความคิดนี้ หลายคนสละเวลา แรงกาย แรงใจ แรงเงิน เพื่อทำให้สังคมดีงามขึ้น ตามกำลังที่แต่ละคนจะทำได้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ภาคธุรกิจ” มีความสนใจหันมาดูแลสังคมมากยิ่งขึ้น เกิดกระแส CSR (Coporate Social Responsibility)หรือ ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมขึ้น พวกเขาหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม พนักงานในองค์กร ผู้บริโภค เด็กเยาวชนไปจนถึงคนชรา
ในสังคมทุนนิยมเช่นทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ถึงความสามารถและพลังของภาคธุรกิจ จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่พวกเขามีความสนใจต่อการรับผิดชอบสังคม ด้านกลุ่มภาคประชาสังคมก็ต้องการความสนับสนุน ความสามารถและแรงกำลังให้งานพัฒนาสังคมสามารถขับเคลื่อนไปได้
ความต้องการตรงกัน แต่อยู่ในวงสังคมที่ต่างกัน ความคิด ความเคยชินแตกต่างกัน เรือลำเดียวกัน เลยไม่เคยพายร่วมกันเลยเสียที
วันนี้เราจะมาพูดถึงสององค์กรที่ต้องการ “เชื่อมประสาน” ภาคธุรกิจ กับ ภาคประชาสังคมเข้าด้วยกัน ได้แก่ The NETWORK และ โครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
ลองมามองจังหวะก้าวและความเป็นไปของจุดบรรจบของภาคธุรกิจและประชาสังคมดูหน่อยเป็นไร
The NETWORK “ต้นธารแห่งความร่วมมือ”
เครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ ยั่งยืน หรือ The NETWORK เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รวมตัวกันของบริษัทเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างต้นธารแห่งความร่วมมือระหว่างกันและมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ องค์กรธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เกิดการเรียนรู้และทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและประชาสังคมที่ยั่งยืน
พี่หนู ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย The NETWORK บอกเล่าที่มาขององค์กรว่า The NETWORK เกิดจากการสนับสนุนของ Asian Development Bank (ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย) GSK Biologicals Inc. และ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ที่เห็นว่าการร่วมมือกันของภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นประโยชน์จึงต้องการที่จะสร้างต้นธารแห่งการร่วมมือของทั้งสองฝ่าย
The NETWORK ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือในเขตเอเชียแปซิกฟิกตั้งแต่ปี 2548 และ เริ่มสร้างเครือข่ายความร่วมมือในประเทศไทยปีนี้เป็นปีแรก
พี่หนู ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นผู้ประสานงานให้กับเครือข่ายนี้ตั้งแต่เริ่มต้น งานของ The NETWORK เปรียบได้กับ “กองเลขา” ที่ทำทุกอย่างให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันได้ เริ่มตั้งแต่ ตระเตรียมความรู้ ข้อมูลต่างๆ ไว้ เป็นดั่งห้องสมุดกรณีศึกษา, จัดเวที นัดประชุมให้ได้เจอะได้เจอกัน, ทำจดหมายข่าว ส่งข่าวสาร ความเคลื่อนไหวน่าสนใจ ไปจนถึงชวนพูดคุย สอบถามความเป็นไปของความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย
เธอบอกว่ามี 1000 องค์กรในเอเชีย และ 600 องค์กรในไทยที่ได้รับข่าวสารข้อมูลอยู่เสมอ และในนั้น 50 องค์กรในไทยเป็นเครือข่ายประสานงาน ในสามปีที่ผ่านมา The NETWORK ได้จัดเวทีประสานความรู้และความร่วมมือในหลากหลายประเทศ เช่น อินโดนิเซีย ฟิลิปปิน สิงค์โปร์ และล่าสุด 2 ครั้งที่ประเทศไทย
“ในสองปี เราพยายามทำให้ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้น เช่น ค้นหากรณีที่น่าสนใจมาแชร์ เช่น อินโดนิเซีย ฟิลิปปิน สิงคโปร์ เราพบว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความร่วมมือเพราะการเห็นปัญหาร่วมกัน เช่นเดียวกันคณะกรรมของ The NETWORK ก็เห็นความสำคัญในประเด็นนี้ จะเกิดมากน้อยแค่ไหน เราค่อยๆ ทำให้มันเกิด
เป้าหมายระยะยาวคือการจับคู่ ภาคประชาสังคม กับ ภาคธุรกิจที่เข้าใจกัน ไม่ใช่แค่เอาแค่เงินให้กันแล้วก็แล้วกันไป แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ยืนยาว ซึ่งมีกระบวนการเยอะ จากคนให้ทุน คนรับทุน กลายเป็นร่วมมือกันทำงาน เขาต้องมีเคมีตรงกันพอควร ถึงจะมาร่วมกันทำได้ เราถือเป็นตัวช่วยตรงนี้”
แต่อย่างไรก็ตามการร่วมมือกันไม่ใช่ง่าย ภาคธุรกิจไม่น้อยกลัวนักเคลื่อนไหวที่คอยจ้องตรวจสอบ ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมไม่น้อยก็กลัวการถูกใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ แล้วพวกเขาจะร่วมมือกันอย่างไร?
“พี่คิดว่ากระแส CSR มันเป็นโอกาส แปลว่าเขาเริ่มสนใจที่จะรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำว่า CSR ก่อน มันคือ การทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม การไม่เอาเปรียบพนักงาน การไม่เอาเปรียบลูกค้า ก่อนที่เราจะเลือกร่วมงานกับใครเราก็ต้องมอง Who is he? ในขณะที่ภาคธุรกิจก็มองคุณเหมือนกันว่า Who is he? นอกจากนี้มุมมองต่อเขาก็สำคัญ ไม่ควรมองภาคธุรกิจแค่ช่องทางหาเงินระดมทุน แต่เป็นโอกาสของการทำงานร่วมกัน การสร้างความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนทรัพยากรกัน”
นอกจากนี้ The NETWORK ยังสนใจในเรื่อง “จิตอาสาในภาคธุรกิจ” เพราะการจะขับเคลื่อนในภาคธุรกิจมีจิตใจสาธารณะได้นั้น ไม่เพียงแต่จะชักชวนในระดับผู้บริหาร แต่ควรจะไปถึงพนักงานทุกๆ คนในบริษัท
“มีบริษัทไม่น้อยที่ผู้บริหารเอาเรื่องนี้ แต่พนักงานไม่เอา “จิตอาสา” เป็นการชวนให้ทุกๆ คนในบริษัทได้มีโอกาสสัมผัสการทำงานเพื่อสังคมที่ตรงตัว ตรงหัวใจ มันก่อให้เกิดชุมชนในบริษัท ทำให้คนทำงานรักกัน เข้าใจกัน ทำงานก็ราบรื่นมีความสุข นอกจากนี้พนักงานเขายังมีฐานะของความเป็นประชาชนที่มีจิตสาธารณะ ถ้าบริษัทเขาทำอะไรที่น่าสงสัย เขาก็ทักทวง เพราะเขาเข้าใจแล้วว่า CSR คือการรับผิดชอบต่อสังคม”
การสร้างต้นธารจิตสาธารณะให้กับองค์กรธุรกิจ และ ความร่วมมือกับองค์กรพัฒนายังอีกยาวไกล พี่หนูบอกกับเราว่ายินดีรับเพื่อนภาคประชาสังคมและธุรกิจไม่จำกัดจำนวน
แบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
หันมาด้านโครงการน้องใหม่ “แบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน”ที่ดำเนินการได้ 6 เดือนเต็ม และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาบ้าง โครงการนี้ทำหน้าที่ประสานและเชื่อมโยงองค์กรภาคสังคมที่ทำงานโดยไม่หวังผล กำไรกับองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันทำงานพัฒนาสังคม ด้วยการแบ่งปันทรัพยากรและความสามารถ โดยมีภารกิจหลัก คือ สรรหาและคัดเลือกองค์กรรภาคสังคมและภาคธุรกิจ ประสานองค์กรทั้งสองฝ่ายเข้าหากัน อีกทั้งติดตามผลและประชาสัมพันธ์ต่อไป
เรียกง่ายๆ คือ “จับคู่” ให้ภาคประชาสังคมและธุรกิจได้มาเจอ มาแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน
โดยโครงการนี้มีเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมมายาวนานเป็นแกนหลัก มูลนิธิอโชก้า และกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคมร่วมดำเนินการ และได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ
นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการโครงการแบ่งปัน กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า “หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประกาศตัวว่า เราเป็นประเทศผู้ให้ ไม่ได้เป็นประเทศผู้รับอีกต่อไป ทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ องค์กรภาคสังคมจึงไม่สามารถทำงานได้ สิ่งที่ต้องทำคือ คนในชุมชนต้องดูแลกันเอง หน่วยงานธุรกิจที่ผ่านมายังมีบทบาทในฐานะผู้ให้และการเกื้อกูลสังคมยังไม่ มากเท่าที่ควร ขณะนี้กระแสความเรียกร้องให้ภาคธุรกิจหันมาสนใจสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังขึ้นเรื่อยๆ ในทุกทวีป องค์กรธุรกิจต้องอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความรับผิดชอบและมีความช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ถึงต้องมีโครงการแบ่งปันขึ้นมาจับคู่ภาคธุรกิจและภาคสังคม ให้มาเจอกัน”
สำหรับโครงการนำร่องขณะนี้สามารถจับคู่ระหว่างองค์กรธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชนได้ 11 คู่ รวมงบประมาณรวม 3 ล้านบาท
“เราตั้งเป้ามากกว่านั้น แต่เราคิดว่าอัตราความสำเร็จเป็นการเพิ่มแบบทวีคูณ เมื่อโครงการเป็นที่รู้จักมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราคิดว่าปลายปีน่าจะมีถึง 20 คู่ ที่สำคัญภารกิจของเราไม่ใช่จับคู่แล้วจบ แต่เราต้อง การให้ไปถึงวัฒนธรรมการให้และการแบ่งปัน”
1 องค์กร กับ 1 โครงการ ช่วยเหลือกันเกื้อหนุนให้ธุรกิจและประชาสังคมเดินไปด้วยกันขนาดนี้แล้ว หากสนใจอย่ารีรอคอยท่า สามารถติดต่อได้ที่
The Network โทรศัพท์ 0-2245-5542 , E-mail info@ngobiz.org ,Website:www.ngobiz.org/thailand
โครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โทรศัพท์ 0-2712-6081, ,E-mail info@ sharingsociety.orgWebsite: www.sharingsociety.org