จากการเข้าร่วมโครงการค่ายอาสาพัฒนาชุมชน บ้านนาโหนด-อ่าวท่าศาลา วันที่ 6-12 สิงหาคม 2558 กระผมต้องขอเท้าความอย่างนี้ว่าในฐานะที่กระผมสัมผัสกับกิจกรรมค่ายอาสามาโดยตลอดทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมและในฐานะผู้ที่จัดทำโครงการค่ายอาสาเอง เลยมีความคิดก่อนเข้าร่วมโครงการค่ายครั้งนี้ว่า คงทำนองเดียวกับค่ายอาสาทั่วๆไปเหมือนที่กระผมเคยสัมผัสมานั้นเอง แต่จากความคิดในตอนนั้นก่อนเข้าร่วมโครงการค่ายอาสามันเริ่มสวนทางกันเข้าแล้วสิเมื่อถึงวันเวลาและได้สัมผัสค่ายเข้าจริงๆ ต่อมสงสัยและ ต่อมอยากเรียนรู้ เริ่มทำงานขึ้นทุกขณะ พยายามตั้งคำถามและหาคำตอบตลอดเวลาว่า ค่ายนี้มีรูปแบบอย่างไร ทำไมต้องทำที่บ้านนาโหนดและ อ่าวท่าศาลา มีอะไรดีบ้าง เขาดำเนินการอย่างไร และจะเกิดประโยชน์อะไรบ้างกับทุกฝ่าย และที่สำคัญมันจะให้อะไรผมบ้าง “เพราะผมต้องได้อะไรกลับไปบ้าง ในทำนองที่ว่า ขอไม่ยอมขาดทุนแน่นอน” ด้วยคำถามที่ตั้งไว้มากมาย สุดท้ายตลอดระยะเวลา1สัปดาห์ของการร่วมโครงการค่ายอาสาพัฒนาชุมชนบ้าน นาโหนด – อ่าวท่าศาลา ทุกคำถามมีคำตอบและมีข้อมูลสนับสนุนที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ค่ายมีรูปแบบอย่างไร? จากที่สัมผัสการทำค่ายอาสารูปแบบค่ายมีหลายรูปแบบแต่ค่ายนี้เป็นค่ายอาสาที่เน้นการพัฒนาชุมชนและการเรียนรู้ชุมชนควบคู่ไป และอีกอย่างเป็นค่ายคู่ขนานที่ทำที่บ้านนาโหนด และอ่าวท่าศาลา ความสงสัยก็มีขึ้นอีกหรือกระผมเป็นคนช่างสงสัยก็ไม่รู้นะ ว่าการทำคู่ขนาดแบบนี้ดีหรือไม่และจะเกิดผลสำเร็จขนาดไหน แต่ก็ตอบได้เช่นกัน ว่าการทำค่ายคู่ขนาดแบบนี้ก็เป็นผลดีที่ทำให้เรามองเห็นถึงความแตกต่างของสองพื้นที่ของสองชุมชนบ้านนาโหนดจะมีทรัพยากรในเชิงด้านเกษตร สวนผลไม้ สวนสมรม มีทรัพยากรด้านนี้ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ และทรัพยากรบุคคลในการขับเคลื่อนชุมชนหรือจัดการตัวเองของชุมชนเข้มแข็งวางรากฐานของรากหญ้าพลเมืองไว้เป็นอย่างดี ในส่วนของอ่าวท่าศาลาจะมีทรัพยากรเชิง ด้านประมง ทะเล เป็นสำคัญ ทรัพยากรบุคคลถือว่าเข้มแข็งในด้านการร่วมกลุ่มการก่อตั้งเป็นสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ที่ไม่ละเลยต่อชุมชนหรือการทำอาชีพของตนเอง ชอบในส่วนของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และเห็นความสำคัญของการต่อต้านกลุ่มทุนนิยมที่เป็นตัวทำลายชาติที่แท้จริง ในการทำค่ายคู่ขนานพร้อมพัฒนาและเรียนรู้ไปพร้อมๆกันถือว่าเกิดผลสำเร็จได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและได้เรียนรู้ การบริหารจัดการค่ายการจัดการคนตั้งคนให้เหมาะสมกับงานที่ทำถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำค่ายอาสา
ทำไมต้องทำค่ายที่นาโหนดและอ่าวท่าศาลา? คำถามนี้ถือว่าเป็นคำถามแรกๆก็ว่าได้ว่าทำไมต้องทำค่ายที่นี้เพราะผมต้องเรียนตามตรงแบบนี้ว่าผมเป็นคนนครศรีธรรมราช ก็จริงแต่ไม่เคยสัมผัสหรือเคยเยือน บ้านนาโหนด แต่เมื่อได้ไปสัมผัสก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่นี้คือทรัพยากรมนุษย์พลเมืองรากหญ้าของเขามีไมตรีจิต เป็นเจ้าบ้านที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง และสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้คือ
ระบบการสานต่องานการเคารพและเชื่อฟังผู้อาวุโสและทุกวัยทำงานร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งใจเดียวก็ว่าได้ ส่วนที่อ่าวศาลาต้องยอมรับในความตั้งใจและเข้มแข็งของสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาที่เป็นนักอนุรักษ์และเข้าถึงวิถีชีวิตของตนอย่างเต็มที่ นอกจากการสัมผัสจริงของผมต้องขอขอบคุณ ทีมงานค่ายที่คอยเล่าเรื่อง ผ่านสื่อเฟซบุ๊ค ถึงเหตุผลการเลือกทำค่ายอาสา ณ ที่แห่งนี้ ยิ่งทำให้ผมตอบตัวเองและเข้าใจมองภาพได้ดียิ่งขึ้น
ค่ายดำเนินการอย่างไร? คำถามนี้ผมขอตอบด้วยการใช้หัวใจและความรู้สึก ว่าการดำเนินโครงการค่ายอาสาในครั้งนี้ ใช้หลักใจซื้อใจ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการจัดทำค่ายอาสา ต้องชื่นชม ผู้ประสานงานและผู้ดำเนินการค่ายเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการค่ายอาสาครั้งนี้ เป็นอย่างดี เข้าถึงวัยรุ่นและมีประสบการณ์ด้าน การจัดค่ายอาสาเป็นอย่างดี แก้ไขและเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างทันที การดำเนินค่ายที่กระผมชอบนอกจากการร่วมค่ายกับเพื่อนๆน้องๆต่างสถาบันที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ อาทิ ภาษา เรียนรู้คนต่างภาค เรียนรู้คนต่างวัย ในการอยู่ร่วมกันในการทำกิจกรรมค่าย สิ่งหนึ่งที่ไม่ขอกล่าวถึงคงไม่ได้คือการดำเนินค่ายเพื่อเข้าถึงชุมชนอย่างลุ่มลึกไปอีกคือ การพักอาศัยที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ ด้วยบุคคลที่มาต่างครอบครัว ต่างนิสัย แต่สิ่งที่เราต้องเรียนรู้คือเราต้องปรับตัว และ สิ่งสำคัญเราได้เรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตของคนในชุมชนอย่างเรียกว่าถึงพริกถึงขิง เช่นในช่วงฤดูเก็บผลไม้ ชาวบ้านจะตื่นเร็วมาก และคนที่นี้จะเป็นคนขยันตื่นเช้ามากและต้องทำงานหนัก และ สิ่งสำคัญผลไม้ของเขาเน้นไร้สารพิษ และพยายามหาวิธีทางธรรมชาติมาใช้
ผมจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เพราะผมจะไม่ขอขาดทุนแน่ๆ? ด้วยสิ่งที่ระลึกอยู่ในจิตใจและการปฏิบัติเสมอว่า บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เราไม่ได้จบไปเพื่อเป็นขี้ข้าฝรั่งแต่เราจบไปเพื่อรับใช้ชุมชนและท้องถิ่น ดังนั้นขอเรียนตามตรงว่าผมทุ่มเทและอยากจะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการค่ายนี้ อันดับแรกต้องขอขอบคุณทีมงานผู้จัดค่ายอาสา ที่ไม่ทอดทิ้งชุมชนและมีกิจกรรมดีๆอย่างนี้เพื่อชุมชน ถามว่าผมได้กำไรจากค่ายนี้อย่างไร บอกเลยว่าได้กำไรเกินความคาดหมาย ได้จากอะไรได้จากการลงมือปฏิบัติจริงได้จากการเรียนรู้และสัมผัสจริงจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ใช้ต่อยอดกิจกรรมที่ผมทำที่มหาวิทยาลัยได้ เช่นฝายมีชีวิต ที่เป็นฝ่ายชะลอน้ำที่เป็นรูปแบบที่ทำขึ้นให้เหมาะสมกับชุมชน การทำซั้งปลา ที่ท่าศาลา การเรียนรู้ชุมชนเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์45ล้าน การเป็นครูอาสาที่ตรงกับศาสตร์ที่ผมเองเรียนรู้ ได้เข้าใจพฤติกรรมเด็กว่าถึงจะเรียนรู้ห้องเดียวกันแต่การเรียนรู้ต่างกันตรงกับพัฒนาการตามวัยและสัมผัสของจริงยิ่งเข้าใจตัวผู้เรียนมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้คำว่าเพื่อนคำว่าพี่และน้องจากกระบวนค่ายอาสาที่จัดทำขึ้น ความรู้สึกต่างๆมันมีมากเกินกว่าจะบรรยายได้หมด แต่อยากบอกว่ามิตรภาพแห่งค่ายอาสายังตราตรึงฝั่งแน่นในจิตใจผมตลอดและยิ่งทวีมากขึ้น ยิ่งเกิดความโหยหาหรือกระหายอยากสัมผัสและร่วมค่ายอาสาแบบนั้นกันอีกและยินดีเสมอ เพราะค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ทำให้เราเข้าใจตัวเราเอง เข้าใจเพื่อนร่วมค่าย เข้าใจชุมชน อย่างแท้จริง
โดย อนุชาต หีบเพ็ชร