20150526-1-1

**กรณีศึกษา “Cyclone Preparedness Programme (CPP)” ในประเทศบังคลาเทศ

จากที่เมื่อวานเราได้นำเสนอการทำงานอาสาสมัครเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติไปแล้วนะคะ วันนี้ทางเครือข่ายจิตอาสาจึงจะขอนำเสนอบทบาทของอาสาสมัครในภัยพิบัติในระดับถัดมา นั่นคือ ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติค่ะ

ในปี 1970 ประเทศบังคลาเทศต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุด จากการพัดทำลายของพายุไซโคลนที่มีชื่อว่า “โบลาห์” (ฺBohla) ทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ตามชายฝั่งพังพินาศลง และกวาดกลืนชีวิตชาวบังคลาเทศไปกว่า 5 แสนคน

ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมา สภาเสี้ยววงเดือนแดงแห่งบังคลาเทศ (Red Crescent Societies) จึงร่วมมือกับกระทรวงการจัดการและบรรเทาภัยพิบัติแห่งบังคลาเทศ (Bangladesh’s Ministry of Disaster Management and Relief) และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกาชาดสากล (International Federation of Red Cross) ร่วมกันก่อตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า “Cyclone Preparedness Programme (CPP)” เพื่อเป็นแผนงานในการลดระดับความเสี่ยงในภัยพิบัติจากภายในชุมชน (DRR) ในประเทศบังคลาเทศ โดยใช้อาสาสมัครเป็นแกนกลางในการทำงานดังกล่าว

กลไกการทำงานของอาสาสมัคร CPP คือ จะจัดระบบให้อาสาสมัครมีการทำงานเป็นเครือข่าย ตั้งแต่ระดับหน่วยชุมชน (unit) ระดับสหภาพ (union) และระดับอำเภอ (sub-district) โดยแต่ละหน่วยชุมชน จะทำงานให้กับหมู่บ้าน 1-2 แห่ง (ทำงานกับชาวบ้านประมาณ 1,000 – 2,000 คน) ผ่านระบบคลื่นวิทยุความถี่สูง ทีมอาสาสมัครในหน่วยชุมชนจะเป็นผู้กระจายตัวออกไปเพื่อส่งข่าวการเตือนภัยของพายุไซโคลนทั่วหมู่บ้านหากมีข่าวพายุเข้ามา โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆเช่น โทรโข่งและไซเรนแบบมือถือ เพื่อแจ้งเตือนให้คนในหมู่บ้านรู้ข่าวพายุและช่วยนำชาวบ้านอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ที่เตรียมไว้ก่อนหน้าพายุจะมาได้อย่างเป็นระเบียบ

ในแต่ละหน่วย อาสาสมัครจะแยกตัวลงไปทำงานประมาณ 5 กลุ่มงาน ได้แก่ งานเตือนภัย (warning) งานสร้างที่พักชั่วคราว (shelter) งานกู้ชีพกู้ภัย (rescue), งานปฐมพยาบาลเบื้องต้น (first aid) งานเตรียมอาหารและเสื้อผ้า (food and clothing)

การทำงานของ CPP เป็นตัวอย่างการทำงานอาสาสมัครโดยใช้ฐานจากชุมชน มีต้นทุนต่ำและมียุทธศาสตร์ในการทำงาน DRR แบบไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงก็สามารถช่วยชีวิตคนได้จำนวนนับพัน เห็นได้ชัดในกรณีเหตุการณ์พายุไซโคลน “Sidr” ในยุคถัดมาคือ ปี 2001 ทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากพายุไซโคลนครั้งนั้นลดน้อยลงมาก

นอกจากนี้ การทำงานอาสาสมัครของ CPP ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติสังคมวัฒนธรรม คือ เกิดการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในชุมชนมุสลิมหรือฮินดูแบบดั้งเดิมในการมาเป็นอาสาสมัคร จากเดิมที่ผู้หญิงไม่สามารถมาเป็นอาสาสมัครได้เพราะข้อห้ามทางศาสนา ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้ได้ช่วยรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้และเข้ามามีส่วนช่วยชุมชนของตนได้เป็นอย่างดี และเป็นการกระตุ้นให้ผู้นำทางศาสนายอมรับบทบาทการมีส่วนร่วมของสตรีมากขึ้นด้วย

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.iawe.org/WRDRR_Bangladesh/Preprints/S4CPP.pdf

20150526-1-4

20150526-1-3

20150526-1-2