ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ “งานอาสาสมัคร” ได้ลงรากฐานในสังคมไทยอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก มีปัจจัยสำคัญจาก“สถานการณ์ภัยพิบัติ” ต่างๆอันเกิดขึ้นเป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สึนามิ คือ ภัยพิบัติซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ “จิตอาสา” ซึ่งกลายมาเป็นคำที่มีความหมายถึง อาสาสมัคร และ คุณค่า อันเกิดจากการทำงานอาสาสมัคร
ภัยพิบัติใหญ่ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเปลี่ยนรูปการทำงานอาสาสมัครรวมทั้งก่อให้เกิดอาสาสมัครหน้าใหม่จำนวนมาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็น “กระแสอาสาสมัครขนาดใหญ่” (Volunteer Megatrend) เป็นความตื่นตัวของประชาชน คนรุ่นใหม่หันมาสนใจกับงานอาสาสมัครมากขึ้น รวมกลุ่มอย่างรวดเร็ว เน้นทำกิจกรรมตอบสนองเฉพาะหน้า มีลักษณะเฉพาะกิจ สนใจเฉพาะประเด็น มีศักยภาพของทักษะและความรู้ใหม่ๆ ในการทำงานอาสาสมัคร
รูปแบบและพฤติกรรมการทำงานอาสาสมัครเปลี่ยนไปด้วยเช่นกันทั้งกับตัวอาสาสมัคร และงานอาสาสมัคร เช่น อาสาสมัครสามารถเป็นคนธรรมดา ไม่จำเป็นต้องสังกัดองค์กร อาจไม่มีการจัดการ (Unorganized Volunteers รวมตัวและสร้างเครือข่ายโดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสื่อสาร ,อินเตอร์เน็ต มีความเชื่อว่าทุกอย่างสามารถ “เป็นไปได้”มีความเชื่อมั่นในความคิดและความสามารถของตนเอง
จากการสำรวจของเครือข่ายจิตอาสา ผ่านเว็บไซต์เครือข่ายจิตอาสา และ Facebook พบว่าประเภทกิจกรรมอาสาสมัครที่ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่
• อาสาสมัครต่างแดน
• งานฝีมือ/หัตถกรรม
• ช่วยเหลือผู้พิการ / ไร้ความสามารถ
• ส่งเสริมการศึกษา
• ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
• เด็กในสถานสงเคราะห์
• สนับสนุนงานเฉพาะกิจ
เป็นสัญญาณอันดีค่ะ กับการที่เห็นกระแสความเคลื่อนไหวที่คนในสังคมให้ความสนใจกับการเป็นอาสาสมัครมากขึ้น ทางเครือข่ายจิตอาสาหวังว่า ในปีหน้าและต่อๆไป การทำงานอาสาสมัครของสังคมไทยจะเติบโต ผลิบาน และมีการทำงานอาสาสมัครสร้างสรรค์สังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ขอบคุณอาสาสมัครทุกท่านที่ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงนะคะ