28 รุ่น 600 กว่าคน ของจำนวนอาสาสมัครนักพัฒนาของมอส.ได้แทรกซึมกระจายตัวอ ยู่เกือบทั่วทุกวงการ และเกือบ 50% ของอดีตอาสาสมัคร ยังทำงานพัฒนาต่อเนื่อง อีกเกือบ 5% กลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด และอีก 45 % ที่เหลือก็สังกัดอยู่วงการอื่นๆ หลากหลาย แต่ยังมีอยู่หนึ่งคน แม้จะทำงานพัฒนาอยู่เหมือนเดิม และเป็นเกษตรกรด้วย ยังเลือกที่จะสวมหมวก “ผู้ใหญ่บ้านคนหนุ่มหัวก้าวหน้า” ณ บ้านหอก ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ เข้าไปอีกหนึ่งตำแหน่ง ซึ่งกองบรรณาธิการมีโอกาสได้ลงสัมภาษณ์พูดคุย และนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง ในวาระงานอาสาสมัครของมอส.เดินทางมาถึงปีที่ 30 ส่วนจะเป็นเรื่องราวของใคร เคยเป็นอาสาสมัครรุ่นไหน การทำงาน ความคิด ชีวิต จิตใจ มีความสนใจตรงไหน โปรดติดตามคะ…..

หลังหมดวาระอาสาสมัครรุ่นที่ 26 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือมอส.ลงไม่นาน จ่อย’ พุทธา พาสมบูรณ์ ก็ได้ฤกษ์แต่งงานกับเหนียง’ อุบล บุญมาก อาสาสมัครร่วมรุ่น ก่อนหนุ่มจ่อยจะลาออกจากการเป็นนักพัฒนาประจำมูลนิธิพัฒนาอีสาน หรือเนท องค์กรต้นสังกัดตอนเป็นอาสาสมัคร และพกทักษะวิชาความรู้เกี่ยวกับการทำงานพัฒนาในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทางเลือกติดตัวไปหลายอย่าง นั่นเป็นต้นทุนอย่างดีต่อการปักหลักใช้ชีวิตและทำงานพัฒนาที่บ้านเกิด

“ความใฝ่ฝันตั้งต้นคืออยากกลับบ้าน มาเป็นเกษตรกร  ทำไร่ทำนา ทำเกษตรอินทรีย์ อยากอยู่แบบพึ่งพาตนเองได้ แต่อยู่ไม่ถึงปีผู้ใหญ่บ้านคนเก่าก็หมดวาระลง พอเขาจะเลือกผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ เราก็เลยสมัครและได้รับเลือก เลยได้เป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย เป็นเกษตรกรไปด้วย”

********************

“ก่อนมาเป็นอาสาสมัคร ทำงานอยู่เนทมาก่อนครับ ไม่ได้ทำงานกับชุมชนโดยตรง แต่อยากทำงานกับชุมชน อยากลงพื้นที่ พอดี มอส.เขาเปิดรับ จึงสมัครเข้าไป เราทำข้อสอบไม่ได้หรอก แต่มีรุ่นพี่เขาเห็นความตั้งใจของเรา เลยให้โอกาสเข้ามาทำ

เข้ามาแล้วได้พัฒนาตนเองมากขึ้น  เราคิดอะไรก็ได้ทำตามที่เราคิด  ได้พบเพื่อน ได้เรียนรู้กันเป็นกลุ่มเป็นรุ่น คอยให้กำลังใจกัน มาคุยกันตลอดช่วงที่เราทำงาน เราได้พัฒนาความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สามารถนำมาปรับใช้กับงานของตนเองได้มากเหมือนกัน

หากถามถึงกำไรที่ได้จากการเข้ามา เป็นอาสาสมัคร? คงเป็นเรื่องการทำงานในชุมชน ก่อนหน้านั้นไม่คิดว่าตนเองจะทำได้ แต่ได้ลองทำแล้ว ก็เห็นว่าตัวเองทำได้ อาจไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ค่อยๆ พัฒนาไป จนลาออกมาอยู่ที่บ้าน ถือว่าเราได้ใช้ประสบการณ์ช่วงที่เป็นอาสาสมัครมาปรับใช้ในชีวิต ประจำวัน มาอยู่บ้านก็มีความสุขดี ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองคิดผิด มันเป็นข้อมูลที่เรามีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่เราเก็บสะสมมาเรื่อยๆ มีความภูมิใจกับสิ่งที่เราคิด เราทำมา มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ครับ

ช่วงแรกที่ลงมาอยู่บ้าน เราก็ไม่ค่อยมั่นใจกับตนเอง กับครอบครัว กับสิ่งแวดล้อม สังคมนัก ตอนนี้เรารู้สึกเราทำได้ และคนรอบข้างก็เชื่อมั่นเราแล้ว ตอนแรกมาเป็นเกษตรกร คิดว่าจะอยู่ให้ได้ และช่วงหลังก็ค่อยๆ คิดเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งงบประมาณในการทำกิจกรรมในชุมชนไม่พอ และยังแยกเป็นเรื่องๆ ไป ใช้งบหมดแล้วก็จบ เราจึงช่วยกันเขียนโครงการของบสนับสนุนมาทำกิจก รรมเพิ่ม มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ การอบรม ศึกษาดูงาน ช่วงแรกได้งบสนับสนุนมาจากปปส.(สำนักงานป้องกันและ ปราบยาเสพติด)มาฝึกอบรมเยาวชน ต่อมาได้งบจากสสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มาทำเรื่องพลังงานทางเลือก งบประมาณในส่วนที่ขอ เน้นไปที่งานสร้างความตระหนัก และสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชน เหมือนงานพัฒนาครับ

3 ปีกว่าของการลงมาอยู่ที่บ้าน 3 ปีของการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ถามว่าความสำเร็จคืออะไร? สำหรับตนเอง ด้านจิตใจก็มีความสุขมากขึ้น นอนอิ่ม กินแซ่บ สภาพจิตใจดี การสร้างสรรค์งานอื่นก็ได้ดีตามมา หากจิตใจเราดี เราก็พร้อมที่จะทำให้สำเร็จทุกอย่าง ส่วนครอบครัว หลายเรื่อง อย่างเรื่องการทำเกษตร ทำนาอินทรีย์ ทำปศุสัตว์อินทรีย์ ปลูกผักปลอดสาร ฯลฯ เราเป็นคนเริ่มคิดเริ่มพาทำ เขาเห็นผลดี เห็นความเชื่อมั่นของเรา เขาก็ทำตาม และทำล่วงหน้าไปก็มี ก็ถือเป็นความสำเร็จร่วมกัน

ส่วนระดับชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมมีสูงมากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จนชาวบ้านบอกว่า ไม่ต้องมีส่วนร่วมมากก็ได้ แต่ชาวบ้านก็เข้าใจนะว่า กระบวนการมีส่วนร่วมมันมีผลดีอย่างไร จากการได้ร่วมกันทำมาตลอด ทำงานสำเร็จก็รู้สึกเป็นเจ้าของร่วม มารับผลประโยชน์ร่วมกัน ก็ช่วยกันทำต่อไปให้ได้เรื่อยๆ สิ่งที่ทำร่วมกันมันก็ยั่งยืน และต่อยอดไปได้อีก

ผมถือหลักการของเป็นผู้ใหญ่บ้านว่า ‘เราใช้ความเป็นรัฐให้เป็นประโยชน์ สิ่งไหนที่รัฐสั่งไม่ถูกใจเรา เราก็ไม่ต้องทำตามทั้งหมด ในบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่าไม่เป็นประโยชน์กับหมู่บ้าน กับชุมชน สิ่งไหนที่เป็นผลประโยชน์ของชุมชน ก็เต็มที่ครับ’

ในระดับอำเภอ คิดว่าเราก็สามารถเปลี่ยนทัศนคติอะไรบางอย่างได้อยู่เช่นกัน อย่างน้อยเขารู้ว่าเราเป็นทำงานจริงๆ ส่วน ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนก็มีเป็นเรื่องปกติ แต่ที่บ้านหอกไม่ถึงขนาดขัดแย้งกันเอาเป็นเอาตาย ถือเป็นความขัดแย้งที่ยังสามารถจัดการได้ นอกจากจะเป็นคำพูด ที่ผมเห็นคนพูดว่ากล่าวให้เราดีๆ มักจะเดินตามเราได้ไวกว่าคนอื่นเสมอ หากเราพิสูจน์ตัวเองได้

ปัญหาที่พบเป็นเรื่องงานเยอะ มากกว่าครับ บางทีบางช่วงก็ทำไม่ทัน ก็ต้องอาศัยทีมงาน อย่างเหนียงเขาก็มีส่วนในการสนับสนุนงานมาก หากถือว่างานที่ทำก็เหมือนงานพัฒนา เรามาทำงานในหมู่บ้าน เราเป็นคนของรัฐส่วนหนึ่ง เรามีคู่มีเพื่อนที่เป็นนักพัฒนาโดยตรง เหมือนทำงานคนเดียวได้สองคน เหมือนเป็นสองเท่าสองแรง

พอลงมาอยู่ในหมู่บ้านจริงๆ มันก็จะต่างจากตอนที่อยู่เนท เราเห็นมิติงานทั่วไปของชาวบ้าน เข้าใจเงื่อนไขของเขา แต่เราจะเน้นในส่วนประชุม อบรม สัมมนา ศึกษาดูงานมากกว่า แต่พอกลับมาอยู่บ้าน มาเป็นคนใน เราต้องเกี่ยวทั้งหมด ตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย พาไปตลาด พาไปงานบุญ มันเกี่ยวทุกอย่างทุกเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวแค่เรื่องปัญหา ถือว่าเราเป็นนักพัฒนาบวกเกษตรกร เป็นสองอย่างในตัวคนเดียว ต้องผนวกการจัดกระบวนการเรียนรู้มาปรับใช้กับชุมชน เพราะความเป็นจริงในชุมชนที่เราทำงาน พี่น้องเป็นเกษตรกร เขาต้องทำมาหากินทุกวัน ไม่ได้เริ่มเลิกเป็นเวลา และไม่ได้พร้อมจะทำอะไรกับเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องผนวกให้เป็น

ส่วนแผนในอนาคต สำหรับครอบครัวต้องเดินต่อไปในวิถีเกษตรพึ่งพาตนเองให้ได้ ตอนนี้พึ่งพาตนเองกำลังจะได้ ต่อไปต้องอยู่ในวิถีเกษตรที่พึ่งพาตนเองได้ ให้ได้ และไม่ใช่ทำเฉพาะตอนที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน แม้จะหมดวาระแล้ว หรือไม่ได้เป็นต่อก็ตาม ก็ยังจะทำในฐานะที่เป็นคนๆ หนึ่งในชุมชนต่อไปครับ

สิ่งที่ทำมา ผมถือว่านี่คืออุดมคติอุดมการณ์ มันมาผนวกกับชีวิตจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดไว้นานแล้ว มันก็ค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างสร้างเป็นความจริงขึ้นมาจนได้ ผมเชื่อเรื่องเกษตรพึ่งตนเองครับ ว่ามันจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนในชุมชน ‘ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก’ มันใช้ได้จริงในหมู่บ้าน มันเป็นคำตอบของชุมชน

สมัยหน้าก็จะว่าจะลงสมัครใหม่ เราเอาความดีเข้าสู้ หากชาวบ้านไม่เลือก ก็ไม่เป็นไร ก็ทำเกษตรของเราไป ถือเป็นงานพัฒนาซึ่งทำได้ไม่มีวันหยุด ตอนนี้ไม่เคยคิดอยากจะไปทำอะไรแล้ว อยากมาอยู่บ้านก็ได้อยู่ อยากทำเกษตรก็ทำแล้ว เหลือแต่พึ่งพาตนเองให้ได้ ไม่อยากไปไหนแล้วครับ คงอยู่ที่นี่ตลอดไป….

สุดท้าย มอส.อายุครบ 30 ปีแล้ว เปรียบเทียบกับคนก็เป็นเพื่อนกับผม ถือว่าอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน มอส.เป็นองค์กรที่ผลิตคนอย่างผม ซึ่งถือเป็นผลผลิตจากมอส.โดยตรง ถือเป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนในการทำงาน ขอขอบคุณพี่ๆ ทีมงาน ที่เปิดโอกาสให้ผม และรุ่นน้องที่ตามๆ กันมา ก็คงต้องทำกันต่อไป แม้จะไม่ได้ผลิตอาสาสมัครนักพัฒนาต่อ แต่ผมก็ยังอยากให้ทำต่อนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่จำเป็นในสังคม สังคมยังต้องการนักพัฒนามาสร้างสรรค์งานเหมือนเดิม

ส่วนตัวผม ยังอยากให้มีอาสาสมัครผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ให้ผู้ใหญ่ฯหรือผู้ช่วยฯเข้าไปร่วมกระบวนการ ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ยังไงชุมชนและผู้ใหญ่บ้านอย่างผม ก็ยังต้องการคนมีใจ มาเสริมกระบวนการคิดให้เข้มแข็งขึ้นครับ

สุดท้ายจริงๆ  ขอฝากว่า เราเลือกสิ่งที่เราอยากเป็นได้ เราเป็นผู้ใหญ่บ้านทางเลือกก็ได้ รับนโยบายมาก็ต้องคิด ตรอง และเลือกสิ่งที่เราน่าจะทำ นำข้อดีมาผนวกและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนต่อสังคมได้เช่น กันครับ สำหรับคนที่อยากกลับมาอยู่บ้าน ก็แค่มั่นใจในตนเองนะครับ”  

*************************

ผู้ใหญ่ฯจ่อยกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่าง นั้น “ใครอยากกลับไปอยู่บ้าน ก็ขอให้มั่นใจในตนเองเด้อ” โอกาสต่อไปเราอาจได้ลงไปเยี่ยม และนำเรื่องราวผู้ใหญ่บ้านทางเลือกมานำเสนอใหม่ หรืออาจเปลี่ยนเวียนนำเสนอมุมมองชีวิต เรื่องราวการงานของอาสาสมัครท่านอื่น อย่างไรเสียก็อย่าลืมติดตามอ่าน และเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในการฟันฝ่าและหยัดยืนอยู่เคียงข้างความถูกต้องดีงาม ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในบทบาทไหน หรือเป็นอะไรในสังคมก็ตาม

แต่..อย่าลืมเรื่องสำคัญ!!! ช่วยเอากระปุกออมสินมาร่วมแคะระดมทุน มาร่วมกันทำบุญบ้านหลังที่สอง มาพบปะขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ และร่วมสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในวันที่ 6 เมษายน 2553 นี้ ที่ตึกมอส. เชิญชวนทุกท่านนะคะ (ผอ.ติ๊บฝากมาขอร้อง) มากันเยอะๆ นะ แล้วพบกันคะ              

ป.ล.ท่านใดไม่สะดวกเดินทางเข้ามา ร่วมงาน แต่สามารถรวมพลกระปุก แล้วนัดแนะงัดแงะกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นโซนเป็นจังหวัด หรือจะงัดแงะคนเดียวก็ย่อมได้ หรือหากกรณีไม่อยากงัดแงะ แต่อยากเก็บกระปุกไม้ไผ่ไว้ให้ลูก ก็ควักแบงค์ใหม่จากกระเป๋าสตางค์ให้หลายๆ ใบก็ยิ่งดีคะ แล้วอย่าลืมโอนเงินที่ต้องการบริจาคสนับสนุนการทำกิจก รรมเข้ามาที่บัญชี “กองทุนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม” ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด สาขาถนนรัชดาภิเษก  2 เลขที่บัญชี 075-2-14248-3 ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้จ้า