“3 ปีสึนามิ กับ ความเปลี่ยนแปลง”
ตอน ชีวิตที่ยังดำเนินต่อ

คลิกอ่านความเดิมตอนที่แล้ว

(-1-)

คลื่นยักษ์สึนามิส่งผลพื้นที่กว้างถึง 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน “บ้านน้ำเค็ม” คือ ชื่อชุมชนที่หลายๆ คนได้ยินบ่อย ที่นี่คือชุมชนประมงขนาดใหญ่ริมทะเลอันดามันที่มีคนอาศัยอยู่ร่วมหมื่นคน หลังเหตุการณ์สึนามิ ทุกวันนี้น้ำเค็มมีคนอาศัยอยู่เพียง 4,000-5,000 คน กระจัดกระจายตามบ้านจัดสรรที่หลายหน่วยงานได้สร้างไว้ ได้แก่ หมู่บ้านน้ำเค็ม 1, หมู่บ้านน้ำเค็ม 2 และหมู่บ้าน ITV ไม่นับรวมคนที่ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เนื่องจากกลัวคลื่นยักษ์

click to comment
ท้องทะเลที่บ้านน้ำเค็ม

นายศักดา พรรณรังษี เลขาธิการเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิบ้านน้ำเค็ม บอกเล่าถึงภาพของน้ำเค็มหลายสิบปีก่อนว่า ที่นี่เคยเป็นแหล่งป่าชายเลน คนดั้งเดิมคือชาวมอแกน จนเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน เริ่มมีการทำเหมืองแร่ พังงาจึงกลายเป็นแหล่งขุดทองของคนใช้แรงงาน คนงานไม่น้อยมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช  ขุดเหมืองกันจนแร่หมด ที่นี่ก็กลายเป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดใหญ่จวบจนทุกวันนี้

“บ้านเราเป็นพวกทุนนิยมนะ ถึงจะเป็นหมู่บ้านชาวประมง แต่เรามีรากทุนนิยม เป็นแหล่งเหมืองแร่ มีคนจีน คนไทย คนใต้มาอยู่เต็ม ทำเหมืองมันรวยนะ ได้สัปดาห์ละ 1,000-2,000 คิดดูสมัยยี่สิบสามสิบปีก่อนมันเยอะมาก
หลังจากแร่หมด ก็ไม่ได้กลับบ้านกัน ที่นี้ก็กลายเป็นหมู่บ้านชาวประมง ช่วงแรกๆ ที่ทำมันดี หาปลาเท่าไหร่ๆ ก็เยอะ มีกิจการของตัวเองออกเรือทีก็ได้ 20,000-30,000 บาท แต่ถึงรายได้จะดี แต่รายจ่ายก็สูง ในบ้านน้ำเค็มเต็มไปด้วยซอกซอย มีการพนัน มีอาชญากรรม แต่พอมีสึนามิปุ๊ปเหมือนพัดไปหมด”

“สึนามิเปลี่ยนคนน้ำเค็มไปมาก” ศักดาว่า จากเดิมที่คนบ้านนี้ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาหากิน รวยมีรวยใช้ ทุกวันนี้ปัญหาสึนามิทำให้ได้เรียนรู้ พูดคุย ร่วมแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ไปจนถึงแตกคอ เข้าหน้าไม่ติด ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกก็มี

จุดเริ่มของความร่วมมือ คือ ปัญหา ส่วนจุดเริ่มของความแตกแยก คือ ผลประโยชน์จากการช่วยเหลือและการไม่สื่อสารกัน

“ความช่วยเหลือไม่ได้ทำให้ดีขึ้น ในมุมผมมันเป็นปัญหาเลย ทำให้ชาวบ้านไม่มีอันทำอะไร วิ่งหาเงินที่เขาจะให้กัน เดี๋ยวตรงนี้ก็แจก ตรงนั้นแจก ไม่ได้ก็ทะเลาะกัน ระแวงกัน”

บางคนเดินเข้ามาถือเงินเรือนหมื่นเรือนแสน แต่แจกไม่ทั่วถึง บางมูลนิธิเข้าเพื่อสร้างภาพชั่วครู่ชั่วยาม บางรัฐมนตรีแค่มาเยี่ยมเพื่อให้นักข่าวถ่ายภาพแล้วก็จากไป บางทีความช่วยเหลือก็ไม่ได้งดงามเสมอไป

ศูนย์ประสานงานบ้านน้ำเค็ม เป็นศูนย์ประสานใหญ่ที่พร้อมไปด้วยอุปการณ์ต่างๆ คอมพิวเตอร์ ห้องประชุม ธนาคารชุมชน ลานทำงาน อีกทั้งยังดำเนินงานโครงการหลายโครงการ เช่น โครงการดูแลคนชรา โครงการกลุ่มเยาวชนบ้านน้ำเค็ม โครงการชุมชนปลอดภัย ฯลฯ นายไมตรี จงไกรจักร คือ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิบ้านน้ำเค็ม

หากถามว่าอะไรทำให้บ้านน้ำเค็มกลายเป็นชุมชนที่เติบโตและเป็นระบบขนาดนี้ ไมตรีบอกกับเราว่าเกิดจาก “ชุมชนเริ่มทำด้วยตัวเอง ไม่รอให้ใครมาทำให้” จากวันที่บ้านพักชั่วคราวนอนเป็นเต็นท์ มีการหัวหน้าแถว ดูแลกันและกัน มีการประชุมระดมหาวิธีแก้ปัญหาพันแปด และการได้เริ่มทำด้วยตัวชุมชนเองนี่เอง ทำให้พวกเขาได้พบว่าการเป็นประชาชนไทยทำอะไรได้อีกหลายอย่าง

“อย่างงานหนึ่งปีสึนามิ เขาจะให้ไปร่วมงานใหญ่ๆ พิธีของรัฐ เราก็ไม่เอา งานรำลึกของเรา เราจัดเอง ตามภาษาชาวบ้าน จนผู้ว่าฯ ก็ต้องมาร่วมงานกับเราด้วย หรือ อภปร. เราก็เห็นว่าชาวบ้านกลัวสึนามิกันมาก อยู่กันไม่เป็นสุข จะทำอย่างไรให้วางใจได้ จึงจัดให้มีทีมอาสาสมัครดูแลกันเองเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ทางตำรวจเห็นก็เข้าก็มาเสริม ให้รถใช้ จัดอบรมให้ ตรงนี้ก็เห็นว่าจะทำอะไรชุมชนก็ต้องเริ่มด้วยตัวเอง”

นางยุพิน  โชติประภัสร์ หรือ พี่อ๋อย ชาวบ้านน้ำเค็ม ชุมชนแหลมป้อม อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน แม้พี่อ๋อยจะเป็นผู้หญิง แต่แววตากล้าแกร่งทำให้เรารู้ว่าเธอต้องผ่านพบอะไรมากมาย ชุมชนแหลมป้อมเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินกับนายทุนมาอย่างยาวนาน และเธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยืนยันไม่ถอนคดีกับศาลในเรื่องที่ดิน นอกจากนี้เธอยังเป็นแม่  เป็นกุ๊กที่โรงแรม เป็นหนึ่งในชุมชนน้ำเค็ม และเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน

พี่อ๋อยเล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่มีสึนามิก็มีข่าวลือว่าจะมีคลื่นยักษ์แทบทุกเดือน วิธีที่ทำให้คนอุ่นใจคือการจัดให้มีกลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนใน ชุมชน ดูแลตั้งแต่เรื่องภัยพิบัติสึนามิ กู้ภัยเบื้องต้น เรื่องโจรขโมย ไฟไหม้ การจราจร ไปจนถึงแบกศพ ปัจจุบันมีอาสาสมัคร 30-40 คน ไม่มีค่าจ้าง ไม่มีค่าน้ำมัน แต่ก็ทำด้วยความเต็มใจ จนถึงทุกวันไม่ว่ามีเรื่องอะไรทุกบ้านเรียกหา อภปร. ก่อนตำรวจด้วยซ้ำ

“พอเราทำเอง ตำรวจ เขาเห็นว่าเราเอาจริง เขาก็เข้ามาด้วย จัดอบรมให้ ต้องปฏิบัติงานอย่างไรเมื่ออยู่ในภาวะจริง ให้รถตำรวจของหลวงมาใช้สำหรับการปฏิบัติงาน จากตรงนี้เราเห็นขัดว่า เราจะทำอะไร เราต้องเราจากชุมชนเราก่อน จะรอให้ใครมาทำให้ก็รอไปเถอะ”

(-2-)
เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ หากทุกวันยังต้องนอนผวา ตื่นมาก็พบเรื่องข่าวลือไม่เว้นแต่ละวัน ใครเล่าจะทนได้

click to comment
ป้ายอาลัยที่ทุ่งหว้า

สำหรับคนมอแกน วิธีชีวิตพวกเขาผูกติดกับทะเลอย่างแยกไม่ออก นายกู่ฮง กล้าทะเล หัวหน้าชุมชนชาวมอแกนที่ทุ่งหว้า เขาบอกเล่าสภาพจิตใจของลูกบ้านของเขาว่า  “จนถึงทุกวันนี้ใจยังไม่อยู่กับ เนื้อกับตัว เพราะข่าวลือ หลังโดนสึนามิครั้งแรก เราก็ตกใจ พอมี aftershock ก็เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้อีกจริงๆๆ จนถึงข่าวลือครั้งล่าสุด แทนที่จะต่างคนต่างหนี ก็ตกลงใจว่าถ้าไปไหนก็ไปด้วยกัน ตายด้วยกัน”

สำหรับคนบ้านน้ำเค็ม พี่อ๋อย บอกกับเราว่า 99% มีปัญหาสุขภาพจิต แม้จะไม่ได้กลัวคลื่น หรือมีอาการรุนแรง แต่ลึกๆ ยังมีความซึมเศร้า เนื่องจากเสียลูก เสียภรรยา เสียคนที่รักไป ซึ่งเธอได้แนะนำทางออกว่า การมีบุตร ช่วยทำให้หลายครอบครัวมีความหวัง มีกำลังใจลุกขึ้นสู้ “มีช่วงหนึ่งรัฐบาลออกนโยบายมีลูกมากจะยากจน ขอให้ผู้หญิงหลายคนทำหมั้น จนถึงวันนี้จะย้อนกลับไปแก้หมั้นก็ไม่ได้ มันแพง พี่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลแก้หมันให้ครอบครัวสึนามิเพราะมันช่วยได้จริงๆ”

นางอำพร  อุดมสวัสดิ์ แม่บ้านวัย 40 ปี ชาวบางม่วง เธอมาทำงานทอผ้าซาโอริได้ 1 เดือนเต็ม ก่อนสึนามิเธอเป็นแม่บ้าน ดูแลลูก 3 คนที่กำลังอยู่ในวัยเรียน ช่วยสามีดูแลกิจการเลี้ยงปลา แต่เมื่อเกิดสึนามิ มันได้กวาดทรัพย์สินของครอบครัวเธอไปทั้งหมด แม้ไม่คร่าชีวิตคนรัก แต่ทุกวันนี้เธอไม่เชื่ออีกแล้วในความแน่นอนใดๆ

“คลื่นมาก็หายหมด ทุกวันนี้พี่ทำงานหาเช้ากินค่ำ แฟนจะหาปลาหาได้บ้างไม่ได้ก็ช่างมัน ทอผ้าอย่างนี้ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร เราไม่กล้าลงทุนอะไรอีก เพราะคลื่นมาก็หายหมดเหมือนกัน”

แม้ว่าทุกวันนี้จะผยุงตัวและครอบครัวให้พออยู่ได้ แต่ยังไม่พร้อมจะข้ามผ่าน

หาเพียงแต่เจ็บที่ใจหรือเข็ดหลาบ แต่หลายคนยังเจ็บกายอย่างเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ อย่างนั้นไม่จบสิ้น เรียกได้ว่า แผลกายก็เจ็บ แผลใจก็กลัดหนอง

นางสุคนธ์ รัตนะ หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สึนามิ เล่าเรื่องราวของเธอด้วยความเจ็บปวดว่า “ตอนเกิดเหตุพี่ไม่รู้ ยืนดูคลื่น บอกเพื่อนที่อยู่ด้วยกันเขาก็ไม่เชื่อว่ามีคลื่น ตอนนั้นไม่ทันได้คิดหนีก็โดนน้ำซัดเข้ากำแพง กินน้ำไปหลายอีก ตอนนั้นเราก็ร้องไห้เจ็บเป็นวัน เข้าโรงพยาบาล เข้าห้องผ่าตัด ทุกวันนี้อยู่ได้ เพราะชาวบ้านเพื่อนพี่น้องที่ให้กำลังใจ ถึงอยู่ได้จนทุกวันนี้”

ตอนนี้สุคนธ์มีแผลเรือรังช้ำเลือดช้ำหนองที่มือ ผ่าตัดแล้ว 9 ครั้ง ทุกวันนี้ยังทำงานไม่ได้ติดต่อกัน 3 ปี

(-3-)

click to comment
เด็กๆ มอแกน

อาสาสมัครสนับสนุนใจ คือ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณะสุขชุมชนที่ร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทย ชวนชาวบ้านเยี่ยมเพื่อนบ้าน ชวนพูดชวนคุย ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ จัดกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายหลากหลายเช่น นวดผ่อนคลาด ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

นางเสาวนีย์ รัตนะ ชาวบ้านบางม่วง อายุ 37 ปีหนึ่งในผู้ประสบภัยสึนามิ และเป็นอาสาสมัครสาธารณะสุขชุมชน เธอและแม่ของเธอเป็นอสม. พอเกิดเหตุการณ์สึนามิ แม่ของเธอได้รับบาดเจ็บ บ้านของเธอพัดหาย แต่แทนที่จะเสียเวลาไปกับการโศกเศร้า เธอเข้าไปเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลตะกั่วป่า ช่วยคุณหมอพยายาลที่หัวหมุนกับคนไข้ที่เข็นเข้าเข็นออกห้องผ่าตัดไม่เว้น ชั่วโมง

“พี่ไม่เหนื่อยเลยนะ ดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

จนถึงทุกวันนี้เธอเป็นอาสาสมัครสนับสนุนใจ เข้าไปตามบ้านช่วยตรวจสุขภาพ ชวนพูดคุย และพบว่าคนไม่น้อยมีปัญหาสุขภาพจิตและมีโรคประจำตัว

“คนส่วนใหญ่เครียดเรื่องการใช้ชีวิตต่อ เรื่องาน เรื่องลูก แต่กลัวคลื่นกันน้อยลง แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเขาก็กลัว”

หลังสึนามิ เธอ สามีและลูกชายต่างเป็นอาสาสมัครในองค์กรที่ต่างกันไป จากเดิมที่ไม่รู้จักงานประเภทนี้เลย  แต่ทุกวันนี้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับ งานหลากหลาย เธอทำงานอาสาสมัครสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ทำกิจการครอบครัว คือ สต๊าฟกุ้งทำกรอบรูปเป็นของที่ระลึก ว่างก็ทำกับข้าวอาหารตามสั่ง แต่ก็ยังมีเวลาว่างเหลือ และงานอาสาสมัครก็ไม่เบียดเบียนชีวิตประจำวันเลย

นางสาวศิราณี เทียนใส ชาวบ้านน้ำเค็ม เจ้าของร้านเสริมสวยหมู่บ้านไอทีวี เธอเป็นหนึ่งในอาสาสมัคร เธอ “อาสามานวด” เมื่อลองให้เธอโชว์ฝีมือเสียหน่อยก็พบว่าฝีมือไม่เลว เพราะตัวเองสามารถนวดผ่อนคลายได้อยู่แล้ว เธอเล่าให้ฟังว่าเธออาสามานวดเป็นงานจร  เดือนละ 2-3 ครั้ง ทำให้ฟรี และมีความสุข ทำให้คนหายเครียดง่ายๆด้วยการนวด

“บางทีคนบางคนติดใจขอเบอร์หมอนวดก็มีนะ แต่ไม่ให้หรอก เปิดร้านเสริมสวยอย่างเดียวก็พอแล้ว” เธออมยิ้ม ตามภาษาคนที่ได้หยิบยื่นความสุขให้ผู้อื่น

ชีวิตบนรายทางของสึนามิ ไม่ได้โศกเศร้า คร่ำครวญ หรือเพ้อฟัน 3 ปีผ่านไป ชีวิตย่อมต้องดำรงอยู่ จำต้องผ่านเศษซากของความศูนย์เสีย ผู้คนเติบโต เปลี่ยนแปลง ดิ้นรน ผยุงตนให้อยู่รอด และค้นหาความหวังครั้งใหม่