“เพียงแค่มีใจที่ พร้อมจะมาเรียนรู้ เพียงแค่มีใจที่อยากจะก้าวเข้ามาเห็นปฏิบัติการ ก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้…..”
คำต่อคำจากบทสัมภาษณ์พี่ติ๊บ-กรรณิกา ควรขจร ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือมอส.ในวาระวันรวมใจแคะกระปุก และจัดงานครบรอบ “30 ปี มอส. สานศรัทธา สร้างสังคม”
30 ปี มอส.
6 เมษายน 2553 มอส.จัดงานครบรอบ30 ปี ภายใต้ชื่องาน “30 ปี มอส.สานศรัทธา สร้างสังคม” ซึ่งถือเป็นวันที่นัดรวมอาสาสมัครทุกรุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของการมารวม และร่วมรณรงค์จิตสำนึกอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมกัน จากการทำงานมากว่า 3 ทศวรรษหรือ 30 ปี ของมอส. ณ วันนี้ มีอาสาสมัครทั้งอาสาสมัครนักพัฒนา 28 รุ่น, อาสาสมัครนักกฎหมาย 4 รุ่น และอาสาสมัครครูอาสาเพิ่งมีเป็นรุ่นแรก รวมทั้งสิ้นกว่า 34 รุ่น หรือ 700 กว่าคน
ในภาคเช้าของวันนี้ เราได้นำประเด็น “วิถีธรรม นำปัญญา ฝ่าวิกฤติ” โดยเชิญ อ.สุรักษ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญของเมืองไทย และยังเป็นคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งมอส. มาปาฐกถานำ ทำให้เราได้แง่คิดในการอยู่ในสังคม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง
และเรื่องอาสาสมัครเพื่อสังคม ก็เป็นเรื่องการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งจำเป็นมากสำหรับสังคมไทยในเป็นยุคแห่งความแตกแยกอย่างที่ ปรากฏ เราต้องใช้ความรักเป็นตัวเชื่อมโยงการแก้ปัญหาฝ่าวิกฤติในวันนี้ นี่คือสาระที่เราได้จากปาฐก อ.สุรักษ์ ศิวรักษ์
ช่วงบ่าย พระอาจารย์โกศิล ปริปุณโณ วัดปลายนา จ.ปทุมธานี ท่านถือเป็นพระนักพัฒนาสังคม ได้ให้ทักษะและพาเราทดลองปฏิบัติ ภายใต้หัวเรื่อง “นักพัฒนากับการภาวนา” หัวข้อนี้แทงลึกเข้าไปในใจเราในฐานะนักพัฒนา เราต้องพัฒนาภายในตัวเองด้วย พัฒนาให้มีสติ พัฒนาให้มีความรู้สึกที่ดี มีวิธีคิดที่เหมาะสม เป็นหลักที่ทำให้เรามีความสุข และสามารถทำงานพัฒนาได้อย่างแนบแน่น เป็นการเติบโตไปพร้อมกันทั้งภายในและภายนอก
กิจกรรมภาคบ่ายต่อจากนั้น เป็นกิจกรรมสบายๆ แต่มีความหมาย เป็นกิจกรรมที่เราเรียกว่า “ทุบกระปุกไม้ไผ่ออมสิน” ซึ่งเป็นกระปุกที่เกิดจากความริเริ่มร่วมกันของอาสาสมัครว่า อยากสะสมเงินวันละเล็กวันละน้อย แล้วรวมกันให้ได้เยอะๆ เอาเงินตรงนั้นมาสนับสนุนงานอาสาสมัคร เลยเกิดเป็นไม้ไผ่ออมสินท่อนยาว ออมกันมา 1 ปีเต็ม วันนี้เป็นวาระของการทุบกระปุก บางท่านไม่ได้ทุบกระปุกมา ใครไม่ได้ออมก็เอาเงินสดมาบริจาค แม้จะไม่ได้เงินมากพอที่ทำกิจกรรม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมใจอาสาสมัคร เพื่อให้เห็นความสำคัญของงานอาสาสมัครที่จะต้องทำสืบเนื่องต่อไป
เพราะฉะนั้น เรามาวันนี้ พี่น้องเรามาคิดร่วมกัน มาฟังร่วมกัน และมาสืบสายใยความคิด จิตใจอาสาสมัครเพื่อสืบสานงานอาสาสมัครให้ต่อเนื่องยาวนาน
3 ทศวรรษงานอาสาสมัคร
คนเราเกิดมาในชีวิต เราต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อยู่ร่วมกับสังคม เพราะฉะนั้นความมีมิตรไมตรี การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราจะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มอกเต็มใจ มีความรักต่อกัน เราต้องเข้าใจกัน และสิ่งสำคัญที่สุด คือความเข้าใจในความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน เพราะฉะนั้นการที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เราต้องลงไปคลุกคลีสัมผัสกับปัญหา หรือเรียนรู้กับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์
การเป็นอาสาสมัคร คือ การมาร่วมเรียนรู้ชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง การเป็นอาสาสมัครจะทำให้เราเข้าใจทั้งชีวิตของผู้คน และชีวิตของสังคม แล้วเชื่อมโยงมาสู่ตัวเราเองได้ เพราะฉะนั้นหาเวลามาเรียนรู้กับคนอื่น มาเรียนรู้ปัญหาของคนอื่น ไม่เลือกว่าจะเป็นนักศึกษา เป็นผู้คนทั่วไป ก็สามารถมาร่วมทำกิจกรรมอาสาสมัครได้ตลอด เพียงแค่มีใจที่พร้อมจะมาเรียนรู้ เพียงแค่มีใจที่อยากจะก้าวเข้ามาเห็นปฏิบัติการ ก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้ เพราะฉะนั้นทางเลือกนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามา ขอให้ก้าวเข้ามาอยู่ในจุดนี้ เราเชื่อว่าถ้าคนก้าวเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน จะนำมาสู่ความเข้าใจซึ่งหมายถึงว่าการดูแลกัน และสร้างสรรค์ให้เกิดความสันติสุขแก่สังคม
ที่มา: http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…