ผู้นำทางจิตวิญญาณเหล่านี้ จะตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่ เป็นผู้สร้างพลังขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญ มีความเสียสละ ก้าวข้ามผลประโยชน์ของตนเอง
เคยมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเข้าฉายประมาณปี 2540 ชื่อเรื่อง คอนแทค (Contact) หรือที่แปลเป็นไทยว่า “อุบัติการณ์สัมผัสห้วงจักรวาล” ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของนักดาราศาสตร์ชื่อดัง คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพยายามของมนุษยชาติ ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก นำแสดงโดย โจดี้ ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) ในบทของ ดร. เอลลี่ แอน แอร์โรเวย์ ผู้มุ่งมั่นค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวในโครงการเซติ (Search for Extraterrestrial Intelligence : SETI)
โดยเธอและเพื่อนนักวิทยาศาสตร์สามารถจับคลื่นสัญญาณจากห้วงอวกาศ ได้ และพยายามถอดรหัสสัญญาณดังกล่าว จนสามารถค้นพบรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำ ในการสร้างเครื่องจักรลึกลับที่จะใช้ส่งมนุษย์ไปยังดาวเวกา (Vega) ในกลุ่มดาวพิณ
ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ร่วมแสดงด้วยในบทบาทของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจริงๆ พระเอกในเรื่องคือ แมทธิว แม็คคอนนาเฮย์ (Matthew McConaughey) รับบท ปาล์มเมอร์ จอสส์ (Palmer Joss) นักปรัชญาทางศาสนา หนึ่งในคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดี และมีส่วนสำคัญในการร่วมตัดสินใจ ส่งนักวิทยาศาสตร์เดินทางโดยใช้เครื่องจักรที่สร้างผ่าน “รูหนอน” (Wormhole) ไปยังดาวเวกา เพื่อติดต่อกับมนุษย์ต่างดาว
ความสำคัญของ ปาล์มเมอร์ จอสส์ ในการสร้างประเด็นให้ขบคิดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อในพระ เจ้า ทำให้ ดร.เอลลี่ แอน แอร์โรเวย์ ถึงกับเปรียบเปรยว่า เขาทำตัวเสมือนหนึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ (Spiritual Leader) ของคนอเมริกันทั้งชาติ
ในชีวิตจริงที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ เราจะรู้จักผู้นำทั่วไปในบทบาทของนักปกครอง ที่ช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า และผู้นำทางความคิด ในฐานะของนักวิชาการหรือปราชญ์ท้องถิ่น ที่ช่วยยกระดับความรู้ของคนในสังคม
คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้นำทางจิตวิญญาณมีอยู่จริงหรือไม่ ต้องมีคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติแบบใดจึงจะได้ชื่อว่าเป็น ผู้นำทางจิตวิญญาณ และสังคมหรือประเทศควรจะมีผู้นำทางจิตวิญญาณ ควบคู่ไปกับผู้ปกครอง และผู้นำทางความคิดด้วยหรือไม่
ผู้นำทางจิตวิญญาณที่เป็นที่รู้จักกันดี มักจะเกี่ยวข้องกับทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น องค์ทะไล ลามะ (Dalai Lama) และ อะยาตอลลาโคไมนี (Ayatullah Khomeini) แต่ก็มีบางคนที่ได้รับการยกย่อง เช่น เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) แม้จะไม่ได้มีตำแหน่งเกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง แต่ก็มีศรัทธาแรงกล้าในศาสนา
ผู้นำทางจิตวิญญาณเหล่านี้ จะตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่ เป็นผู้สร้างพลังขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญ มีความเสียสละ ก้าวข้ามผลประโยชน์ของตนเอง ต่อสู้เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาค และความยุติธรรมที่เป็นสากล เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้ยกระดับความเป็นมนุษย์ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตำแหน่งทะไล ลามะเป็นทั้งผู้นำทางศาสนา และประมุขฝ่ายปกครองทางโลกของชาวทิเบต ทะไล ลามะ องค์ปัจจุบันเป็นอันดับที่ 14 ทรงมีพระนามว่า เทนซิน เกียตโซ นับตั้งแต่จีนเข้ายึดครองทิเบต เมื่อปี พ.ศ. 2502 องค์ทะไล ลามะ ต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับที่ธรรมศาลาในประเทศอินเดีย พร้อมกับพระและประชาชนนับแสนคน ดำเนินการเรียกร้องเอกราชและสิทธิเสรีภาพให้แก่ชาวทิเบตอย่างสันติต่อเนื่อง
จนถึงปัจจุบันแม้ความพยายามนั้นยังไม่บังเกิดผล แต่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานและวัฒนธรรมของทิเบตกลับแพร่หลายไปทั่วโลก องค์ทะไล ลามะ กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนทั้งโลก มิใช่เพียงชาวทิเบตเท่านั้น เพราะเป็นผู้ชี้นำด้านสติปัญญา จิตใจ และคุณค่าของความเป็นเสรีชนของชาวทิเบต และบทบาททางการเมืองของพระองค์ ก็มีพลังโน้มนำผู้คนไปในเส้นทางแห่งสันติ เช่นเดียวกับมหาตมะคานธีของอินเดีย ในอดีต
การปฏิวัติอิสลามของประเทศอิหร่านเมื่อ 30 ปีก่อน ภายใต้การนำของ อะยาตอลลา โคไมนี เป็นการปลุกเร้าจิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคม แนวคิดด้านการเมืองลักษณะนี้ ช่วยฟื้นฟูจิตวิญญาณของชาวอิหร่านให้ตื่นขึ้น อะยาตอลลา โคไมนี ปลูกฝังวัฒนธรรมด้วยศาสนา เพื่อพระผู้เป็นเจ้า จิตวิญญาณตามทรรศนะของอะยาตอลลา โคไมนี คือ การฟื้นหรือตื่นเพื่อขัดเกลาตนเองตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
การปฏิวัติของอะยาตอลลา โคไมนี ทำให้ทั่วโลกรู้จักศาสนาอิสลามที่แท้จริงอีกครั้ง ว่าตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการคือ ศาสนา อาณาจักร และวัฒนธรรม อะยาตอลลาโคไมนี จึงไม่เพียงเป็นนักปราชญ์ที่ทรงคุณความรู้ แต่ยังเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของชาวอิหร่านทั้งปวงอีกด้วย
เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ผู้นำการต่อต้านนโยบายแยกคนต่าง ผิวออกจากกัน ได้รับการยกย่อง ด้วยความรักและชื่นชมว่า เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณของคนแอฟริกาใต้ทุกสีผิว จากนโยบายแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องการเหยียดสีผิว และยังริเริ่มโครงการต่างๆ อีกมากมาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย และตัวเนลสัน แมนเดลา เอง ก็ได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุด คือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อเดือนธันวาคมในปี 2536
สังคมและหลายประเทศในโลกทุกวันนี้ แม้จะประสบปัญหาวิกฤติหลายด้าน แต่ก็ไม่เคยขาดแคลนผู้นำ แต่ก็มีผู้นำน้อยคนนักที่จะอุทิศตน มีอุดมการณ์ และเสียสละ จนสามารถก้าวข้ามไปเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ
กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนทั้งชาติได้อย่างแท้จริง…
ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ที่มา: http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2010q2/2010June15p4.htm