แผนธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business Plan)
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552

ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เปิดประเด็นเรื่องของผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือ Social Entrepreneur ไปแล้ว สัปดาห์นี้เรามาลองดูเรื่องที่ต่อเนื่องกันบ้างนะครับ นั่นคือ แผนธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Business Plan

เนื่องจากในปัจจุบันเรื่องของแผนธุรกิจเป็นสิ่งที่นิยมพูด ทำ และแข่งขันกันมากครับ ซึ่งก็ต้องยอมรับนะครับว่าการทำแผนธุรกิจเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการแสวง หาข้อมูล การคิด การวิเคราะห์ และการสร้างสรรค์รูปธุรกิจที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีนะครับ ต้องยอมรับว่าการจัดทำแผนธุรกิจส่วนใหญ่นั้นมุ่งเป้าไปที่ความเป็นไปได้ใน เชิงธุรกิจ ผลตอบแทนทางการเงินที่ธุรกิจจะได้รับ แต่เราลองมาพิจารณาอีกมุมหนึ่งนะครับว่าการจัดทำแผนธุรกิจนั้น แทนที่จะมุ่งเป้าที่ผลตอบแทนทางการเงินเป็นหลัก เราสามารถจัดทำแผนธุรกิจที่เน้นทั้งผลตอบแทนทางด้านการเงินและผลตอบแทนทาง สังคม หรือที่ผมเรียกว่าแผนธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business Plan) ได้หรือไม่

ผมเองเพิ่งมีประสบการณ์กับการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อสังคมของนิสิต MBA ของคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาฯ ครับ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสพานิสิตขึ้นไปที่จังหวัดน่าน โดยร่วมกับทางจังหวัดในการจัดทำแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์จากแพะจังหวัดน่าน ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าที่น่านนั้นเขาเลี้ยงแพะกันมากหรือ จริงๆ แล้ว ในปัจจุบันที่น่านเองก็มีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะอยู่บ้างนะครับ แต่ไม่มากเท่าไร เนื่องจากมีคำถามเกิดขึ้นว่าถ้าส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงแพะเป็นจำนวนมาก แล้ว จะมีตลาดมารองรับหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่นิสิตได้ขึ้นไปทำนั้น ก็คือ เพื่อสร้างสรรค์แผนธุรกิจที่จะกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์หรือความต้องการในการ เลี้ยงแพะทั้งแพะเนื้อและแพะนมขึ้นในจังหวัดน่าน

การที่จะเป็นแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่แท้จริงนั้น ควรจะต้องเริ่มจากแรงจูงใจก่อนครับว่าแผนธุรกิจดังกล่าวจัดทำไปเพื่อสิ่งใด กรณีของแพะเมืองน่านนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากจังหวัดน่านไม่สามารถผลิตอาหารได้พอเพียงกับการเลี้ยงตน เอง จะต้องมีการนำเข้าเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคจากจังหวัดอื่นปีละหลายร้อยล้าน บาท ประกอบกับแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิ อากาศของจังหวัดน่าน อีกทั้งยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าได้จากทั้งนม เนื้อ และหนัง
ดังนั้น ด้วยโจทย์ที่มีอยู่ในเรื่องของความพอเพียงของอาหารของจังหวัด กับการสร้างรายได้ สร้างงานให้กับจังหวัด ทางนิสิต MBA ของจุฬาฯ จึงได้ไปอาศัยอยู่ในจังหวัดน่านเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อลงพื้นที่จริง สัมภาษณ์ เก็บข้อมูล รวมทั้งนำเสนอแผนธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากแพะ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลยครับว่าเราสามารถนำผลผลิตจากแพะไปพัฒนาเป็น ผลิตภัณฑ์และธุรกิจต่างๆ ได้มากมาย นอกเหนือจากเนื้อและนมแพะที่เราคุ้นเคยแล้ว ยังมีเนยแข็ง ไอศกรีม นมผงผสมในกาแฟทรีอินวัน สบู่ โลชั่น ฯลฯ และที่น่าสนใจอีก ก็คือ เนื้อและนมแพะนั้นมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพของคนอีกด้วย

ทีนี้มาพิจารณาดูในมิติของแผนธุรกิจเพื่อสังคมกันครับ โจทย์ที่ให้กับนิสิตแต่ละกลุ่มเวลาจัดทำแผนธุรกิจนั้น ก็คือ แผนธุรกิจที่นำเสนอควรจะต้องเป็นแผนธุรกิจที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ไม่ใช่แผนธุรกิจมูลค่าเป็นสิบๆ ร้อยๆ ล้าน ที่ต้องอาศัยนักลงทุนจากต่างถิ่น ในขณะเดียวกัน ตลาดหลักของผลิตภัณฑ์จากแพะนั้นก็คือจังหวัดน่านเอง เนื่องจากต้องการสร้างให้เกิดความพอเพียงในจังหวัด และสำคัญสุด คือ แผนธุรกิจทุกโครงการจะต้องสามารถชี้แจงให้เห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อสังคมหรือ Social Impact อย่างไรและในด้านใดบ้าง

ผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้าไปช่วยจังหวัดจัดทำแผนธุรกิจเพื่อสังคมของนิสิต MBA ในครั้งนี้ พบว่า แผนธุรกิจส่วนใหญ่จะมีเงินลงทุนจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นหลักแสนหรือมากสุดก็ล้านต้นๆ ในขณะที่เมื่อพิจารณาระยะเวลาคืนทุนนั้นส่วนใหญ่ก็จะไม่นาน เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่มาก และสำคัญสุด ก็คือ ประโยชน์ที่จังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาของการต้องนำเข้าเนื้อสัตว์จากจังหวัดอื่น การนำพืชผลทางการเกษตรที่เหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นซังข้าวโพด กากถั่วเหลือง มาผลิตเป็นอาหารหมักสำหรับแพะ การส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในจังหวัด (จากการบริโภคนมและผลิตผลจากนมแพะ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารกว่านมวัวและนมผง) การสร้างงาน การพัฒนาทักษะ วิชาชีพ ภายในจังหวัด และสุดท้าย ย่อมนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับจังหวัด

ดังนั้น การจัดทำแผนธุรกิจเชิงสังคมนั้นผมว่ามีประเด็นสำคัญๆ อยู่สองเรื่องครับ เรื่องแรก คือ แรงจูงใจที่จะพัฒนาธุรกิจดังกล่าว ว่าแรงจูงใจเบื้องต้นมาจากเพื่อสังคมหรือเพื่อผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งแผนธุรกิจเพื่อสังคมควรจะเน้นตอบโจทย์ หรือแก้ไขปัญหาให้กับสังคมเป็นหลักครับ และเรื่องที่สอง คือ ผลลัพธ์ที่ได้นั้น ธุรกิจจะต้องสามารถอยู่ได้ และ สังคมก็จะต้องได้รับประโยชน์ที่สามารถเห็น และจับต้องได้อย่างชัดเจนเช่นกัน เรียกได้ว่าเกิด Double Bottom Line เลยครับ
สุดท้ายการทำแผนธุรกิจต่อให้ดีเพียงใดนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับการนำไปปฏิบัติครับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางจังหวัดต่อไป และก็อยากจะฝากแนวคิดเรื่องของแผนธุรกิจเพื่อสังคมไว้สำหรับท่านผู้อ่านนะ ครับ ว่าเวลาเราคิดในเชิงธุรกิจนั้น ขอให้มองปัญหาหรือโจทย์ของสังคมเป็นตัวตั้งบ้าง