บทสัมภาษณ์ คุณชาญชัย พินทุเสน
ประธานกรรมการมมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์

1. ลักษณะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาสาสมัคร/การจัดการอาสาสมัคร
มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543  กลุ่มเป้าหมายของเราคือเยาวชนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับชั้น มัธยมศึกษา การที่จะให้เขาได้เรียนรู้ก็จะต้องให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสจริง ในระบบของความสัมพันธ์ แต่ไม่ได้คุยด้วยเรื่องที่ซับซ้อนคุยกับเขา เพราะมนุษย์รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่เป็นในรูปแบบของประสบการณ์ กินได้ รู้สึกได้โดยตัวเอง
ต้องเริ่มที่เด็กให้เขานั้นคิดเป็นต้องเริ่มจากข้างในก่อน จากสมอง มีพื้นฐานของการรู้จักคิดปรับใช้ได้กับหลายๆ ประเด็น หลายๆ บริบทในหลายๆ ประเด็นของการดำเนินชีวิต ของสังคม ซึ่งเห็นว่าเป็นฐานรากต้องมีเรื่องของการคิด สัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี แล้วจะมีได้อย่างไรซึ่งการมีสิ่งนี้ต้องมีการฝึก การสอน เราเองจากประสบการณ์นั้นจะได้ในเรื่องของยุทธวิธีที่จะทำให้เยาวชนได้มีองค์ ความรู้ ข้อมูล เพื่อไปเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างมีความสุข จึงเป็นเหตุให้เกิดคำ 3 คำขึ้นมา คือ สนุก สัมผัสตรงหรือสัมผัสจริง และเรื่องของจินตนาการ ซึ่งก็จะประกอบด้วยหลายๆ มิติ เช่น ทางด้านศิลปะ ทางด้านจริยธรรม ทางด้านคุณธรรม เป็นการคำนึงถึงคุณประโยชน์ของเขา ของสังคม ในอนาคต ซึ่งเป็นหลักในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่จะสร้างคนในการทำประโยชน์ต่างๆ ซึ่งเป็นการค้นพบด้วยวิถีแห่งกระต่ายในดวงจันทร์ เมื่อเราทำกิจกรรมเราก็จะต้องถามตัวเองอยู่เสมอๆ ว่า เด็กสนุกหรือไม่ ถ้าเด็กสนุกแล้วเราสนุกหรือไม่ ถ้าเราไม่สนุกมันก็จะไม่เกิดสุข
ในบริบทของปัจจุบันเราจะต้องรู้จักมัน เข้าใจในระบบของทุนนิยม โดยเราจะต้องมีนโยบายโดยการคิดร่วมกันของกรรมการ โดยนำปัญหาที่อยู่ในสังคม ในโลก มาคิดว่าเราจะทำหน้าที่ของชีวิตว่าเราจะอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมได้อย่าง ไร การที่คนเรารู้สึกอยากให้ตนเองมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับในสังคม ก็เป็นทุนเดิมที่จะช่วยให้ออกมาเป็นอาสาสมัคร การที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้นั้นก็ต้องอาศัยการเรียนรู้ในเรื่องของระบบ ธรรมชาติ คือระบบของการเอื้ออาศัยกัน จนต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน การขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เป็นอันต้องเสียรูปตรงนั้นไป ทั้งในระบบของธรรมชาติ ระบบนิเวศ(ecology) และระบบของการบริโภค (economy) ดังนั้นในเรื่องของเศรษฐศาสตร์และนิเวศนั้นต้องมีการจัดให้สมดุล
เมื่อเราพบ 2 เสาหลักนี้แล้วก็จำเป็นที่จะต้องใช้จินตนาการว่าจะนำ 2 สิ่งนี้มาเอื้อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้อย่างไร โดยต้องหาวิธี เทคนิคต่างๆ ตามยุตตามสมัย อย่างแนวทางล่าสุดคือเรื่องของความพอเพียง ที่นายหลวงก็ให้ภาพว่าทุกวันนี้ที่เราปรารถนาความสุขแต่ก็ต้องคำนึงถึงการ รู้ประมาณ การเป็นเหตุผล การไม่ประมาท ซึ่งช่วยให้เรามีทิศ เป็นการช่วยในการปรับทัศนคติในการใช้ชีวิตต่อไป
2. ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานส่งเสริม / สนับสนุนงานอาสาสมัคร
ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาก็ทำผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาธรรมชาติโดยศิลปะวิธี เป็นโครงการเพื่อให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด เปิดโอกาสให้เด็กๆ สัมผัสธรรมชาติจริงด้วยวิธีการที่สนุกเพื่อให้เกิดจินตนาการ โครงการเด็กสร้างสื่อ สื่อสร้างเด็ก โครงการดนตรีรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการสร้างอาชีพชุมชน โดยการฝึกอาชีพงานฝีมือแก่กลุ่มแม่บ้าน
การดูว่าเราเข้าไปทำงานตรงไหนอย่างไรนั้น ก็สามารถเอาหลักคิดที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมาดูได้เลย ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ คือเรื่องนิยาม 5  เราอาจะไม่คุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าพูดว่าเป็นเรื่องของ ฟิสิก ชีวะ กิริยากับปฏิกิริยา จิต และความเป็นทั่วไปของธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติ หรือคล้ายๆ กับการเป็นตรรก แต่การรู้จักสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นอ่อนแอ
3.    จุดเริ่มต้นของการทำงาน/การเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานาสาสมัครหรือการจัดการอาสาสมัครเพื่อสังคม
เป็นความสนใจส่วนตัวที่ต้องการที่จะดูแลในเรื่องของธรรมชาติ ต้นไม้ ป่า เมื่อเห็นว่าสิ่งที่รัก ที่ชอบกำลังถูกทำลาย เจอปัญหาก็เป็นตัวกระตุ้นให้ออกมาทำงานด้านนี้ เริ่มแรกก็ทำเป็นการส่วนตัวอยู่ 9 ปี ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเขากระโจม ชุมชนบ้านผาปกค้างคาว ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ต่อมาก็ชักชวนเพื่อนๆ ที่เห็นตรงกันมาทำตรงนี้ แต่การชวนไม่ได้ชวนด้วยหลักการ หรืออุดมคติ แต่เป็นการชวนด้วยพฤติกรรม ผู้ที่มีจริตเหมือนกันก็ได้มาทำร่วมกัน ซึ่งมีหลากหลายวิถีที่ทำประโยชน์ แต่ก็จะต้องดูว่ามันมุ่งไปยังจุดมุ่งหมายนี้หรือไม่ บางคนบวชแล้วมุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมก็มี ตัวเองนั้นชอบศิลปะ ชอบความงามก็ใช้เป็นสื่อ
การที่กว่าจะมารวมตัวกันเป็นมูลนิธิได้นั้นต้องอาศัยเวลาที่นานพอสมควร แต่นั้นก็ต้องเริ่มต้น ตั้งตนจากสิ่งเล็กๆ ก่อน เพราะทำคนเดียวมันไม่รอดอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้คาดหวังถึงภาพแบบนี้ตั้งแต่ต้น ทำเพราะมันเป็นความสุขของเรา แต่เมื่อมีคนมาเห็นก็กลายเป็นความสุขของเขาด้วย แต่การที่เราฝังใจต่อความงามในธรรมจึงทนต่อการสูญเสีย หรือเห็นมันถูกทำลายไปอย่างมากขนาดนั้นไม่ได้ ซึ่งเหล่านี้ในหลายๆ คนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เพียงแต่จะเริ่มต้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

4. ทัศนคติ/แนวคิด ที่วิเคราะห์สถานการณ์การทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมของประเทศไทย
เป็นงานที่เราก็ไม่ได้เสีย สิ่งรอบข้างก็ไม่ได้เสีย เรียกว่า win-win ทั้งคู่ เป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าเราก็ไม่ได้เลือกงานที่ไม่ดี
การอาสาสมัครเป็นการทำให้ตนเองรู้สึกดี และคนอื่นยอมรับในตัวเรา เป็นสัญชาติญาณ ซึ่งเห็นว่ามันดีอยู่แล้ว แต่ต้องมีความรู้ อาจจะไม่ใช่ความรู้ที่เบ็ดเสร็จ แต่ความอยากช่วยนั้นก็ต้องดูว่าเราจะช่วยได้อย่างไร ช่วยอะไร ต้องอาศัยความรู้ เพราะเนื้อหาในปัจจุบันมันมีรายละเอียดปลีกย่อยที่มากซึ่งต้องอาศัยความรู้ เช่น การช่วยคนที่ประสบอุบัติเหตุ ถ้าไม่รู้ก็อาจจะเป็นการทำร้ายเขา เพราะความไม่รู้ก็ได้ ดังนั้นความรู้นั้นเป็นสิ่งจำเป็น
สิ่งที่เคยเห็นคือบางคนเลือกที่จะช่วย ช่วยเฉพาะที่มันสะดวก สบาย บ้างก็หวังผลจากการช่วย การอิ่มใจของตนเอง หรือช่วยเพราะอยากได้อะไรตอบแทน ไม่ใช่ทุก แต่เท่าที่เห็นคือ มา 10 จะมี 8-91 คนที่ขาดคุณสมบัติ
ในเรื่องของการวางตัว เช่น การที่จะช่วยเหลือเด็ก ตนเองได้ความสุขจากการช่วย แต่เด็กเห็นภาพว่าคนที่ช่วยเขานั้นหายไปแล้ว การอาสาแบบชั่วแว๊ป อาจจะทำได้ในงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับ
บุคคลที่ 3 เช่น เก็บขยะในซอย ในชุมชน บางคนที่ไปทำก็เพียงเพราะต้องการเพื่อน เพื่อนเป็นเป้าหมายหลักในการทำ ตัวกิจกรรมเป็นเพียงเพื่อทำให้ได้ไปเจอะเพื่อน ดังนั้นก็จะทำไปเพียงแค่นั้น
องค์กรภาคธุรกิจก็เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นกระแสของ CHR. ที่จะเข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นเงื่อนไขทางการตลาด การยอมรับจากผู้บริโภค จึงเกิดการลุกขึ้นมาเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น คิดอะไรไม่ออกก็ไปปลูกป่า ซึ่งตรงนี้เป็นเงื่อนไขด้วยซ้ำที่จะเป็นภาพลักษณ์ของสินค้า ผลิตภัณฑ์ จิตสำนึกที่ขาดไป แต่ได้เงินมานั้นอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดความสุขใจก็ได้

5. มุมมองต่อการพัฒนากลไกหรือระบบการทำงานอาสาสมัคร/การจัดการอาสาสมัครโดยภาพรวมของประเทศไทย
สิ่งที่มองตรงนี้จะเป็นในระดับของบุคคล ถ้าพูดเรื่องของอาสาสมัครจะมองเป็นอย่างนั้น เพราะองค์กรก็ประกอบขึ้นมาจากบุคคล ดังนั้นตัวคนนั้นแหละที่จะคอยกำกับมันอีกทีหนึ่ง การที่องค์กรจะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่แฝงอยู่ แต่ผลที่ออกมานั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากมันมีขีดจำกัดหลายๆ ด้าน
สิ่งสำคัญคือเรื่องของความรู้ที่จะต้องมีทั้งเรื่องของเทคนิค วิธีการ และเข้าใจด้วยว่าอานิสง ของการให้นั้นมีอะไรบ้าง และโทษของการให้ไม่เป็นนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความรู้
ในกลไกของสังคมนั้นมีกระบวนการที่จะสร้างโอกาสให้ แต่กลไกนี้ก็ยังไม่ได้มีความสมบูรณ์ในกระบวนการ เช่น อาจจะทำได้แค่ทำให้คนเข้าสู่โอกาสหนึ่ง แล้วก็จบ ซึ่งก็ดีกว่าไม่ทำ แต่เรื่องของการเชื่อมต่อจนกลายเป็นวิถีนั้นจะทำได้อย่างไร  ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่ได้เก่งอะไรมากพอที่จะบอกเป็นสูตรได้ และขณะเดียวกันก็กำลังพยายามที่จะแสวงหาอยู่เช่นเดียวกัน
การทำงานนั้นต้องเป็นเรื่องของความยั่งยืนซึ่งก็ต้องมีดูในเรื่องขององค์ ประกอบต่างๆ เรามีความจดจ่อ รัก มุ่งมั่นที่จะทำ มีความรอบคอบ มีความถี่ถ้วนหรือไม่ กลไกทางสังคมก็ต้องมาดูในเรื่องของกระบวนการที่จะทำว่าสามารถทำอะไรได้ มากกว่านั้นหรือไม่
ดังนั้นจึงยังเห็นว่ายังขาดความมุ่งมั่นที่ชัดเจน มันอาจจะตอบโจทย์ข้างเดียว คือความต้องการตนข้างเดียว แต่แระโยชน์ที่ส่วนอื่นๆ จะได้ด้วยนั้นรองลงไป
การปลุกสำนึกในการออกมาช่วยเหลือสังคม บุคคลอื่นทุกคนนั้นมีสัญชาตญาณนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องหาวิธีในการปลุกออกมาให้ได้เท่านั้น สิ่งที่เป็นภาพฝันคือ ทุกคนออกมาให้การดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต