เฟื้อ หริพิทักษ์ จักมีอายุครบศตวรรษ ณ วันที่ 22 เมษายน 2553 ที่จะถึงนี้

เฟื้อ เป็นศิลปิน ที่ประเสริฐสุดแห่งยุคนฤมิตรกรรมของเขา มีความเป็นเลิศที่เทียบได้กับจิตรกรเอกในนานาชาติ หากเขายอมสละเอตทัคคะในทางนี้ เพื่อหันมาอนุรักษ์จิตรกรรมไทยในอดีตโดยทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้อย่างเต็มที่ นับเป็นการสืบสานกระแสธารทางวัฒนธรรมของสยามอย่างสำคัญยิ่ง แต่ชนชั้นบนของไทยแทบไม่เห็นคุณค่าอันวิเศษนี้ เพียงหอไตรวัดระฆัง อันเป็นนิเวศสถานเดิมของต้นราชวงศ์จักรีแห่งเดียว ถ้าไม่มีเฟื้อ หริพิทักษ์เสียแล้ว จะได้รับการอนุรักษ์อย่างสง่างามยิ่งได้อย่างไร แต่แล้วหอไตรนี้ ก็ดุจดังศิลปกรรมอื่นๆ ที่เขาอนุรักษ์ไว้ คือถูกทอดทิ้งให้เสื่อมโทรมไป อย่างน่าอัปยศนัก ถ้าเราจะบูชาคุณเฟื้อ หริพิทักษ์ให้ถูกต้อง ควรต้องอนุรักษ์งานของเขาให้สมสมัยสืบๆ ไป เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีของบ้านเมือง ที่มีความงาม ควบคู่ไปกับความดี และความจริง

จะยกย่องเชิดชู เขาให้ยูเนสโกรับรองว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก ก็ดูจะไร้ความหมายไป  เพราะคนกึ่งดิบกึ่งดีหลายคนในเมืองไทย ได้รับเกียรติอันจอมปลอมดังกล่าวเสียแล้ว โดยเฉพาะก็คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นเฒ่าสารพัดพิษอย่างแท้จริง เพียงการปลอมวรรณคดีจากภาษาอังกฤษมาอ้างว่าเป็นงานเขียนของตนอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมแล้ว ในภาษาอังกฤษโจรกรรมทางวรรณคดีเช่นนี้ ใช้คำว่า plagiarism แต่ UNESCO ก็ไม่มีแววตา หาก UNESCO ทำตนเป็นเพียงตราประทับให้กับชื่อบุคคลที่รัฐบาลต่างๆ เสนอไปเท่านั้น โดยที่รัฐบาลไทย ก็ไม่รู้สึกสำนึกเอาเลยในเรื่องความเป็นเลิศของคน ว่าต่างจากพวกกึ่งดิบกึ่งดีอย่างไร และรัฐบาลไทยไม่ละอายที่จะเสนอชื่อคนไทยประเภทที่ปราศจากความเป็นเลิศไปขาย ความอายในนานาประเทศ

จริงอยู่ เฟื้อ เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ ใน สมัยที่รางวัลดังกล่าวยังมีศักดิ์ศรี อยู่ และเขาเคยถูกหลอกให้สมัครเป็นภาคีสมาชิกของราชบัณฑิตยสถาน โดยได้รับคำมั่นสัญญาว่า เขาจะได้เป็นราชบัณฑิต ซึ่งบัดนี้ก็หมดเกียรติไปแล้วเช่นกัน

มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้ร่วมงานกับเฟื้อมามาก ทางด้านอนุรักษ์จิตรกรรมต่างๆ และเคยดูแลสารทุกข์สุกดิบของศิลปินผู้นี้มาจนหมดอายุขัย ในโอกาสชาตกาลครบศตวรรษของเขา มูลนิธิได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร (ซึ่งเขาเคยเป็นอาจารย์และนักศึกษา โดยจะกล่าวว่า ดีวิเศษกว่าคนอื่นใดหมดแห่งสำนักนั้นก็ได้) และศิลปินร่วมสมัยจำนวนมาก จัดงานบูชาคุณเขาตลอดปี

จะเริ่มงาน ณ หอไตร  วัดระฆัง เช้าวันที่ 22 เมษายน 2553 และถ้างานนั้นจะช่วยปลุกมโนธรรมสำนึกให้คนร่วมสมัยเห็นคุณค่าของอาคารแห่ง นั้น ซึ่งวิเศษสุดทั้งทางสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม และเป็นโบราณสถานอันสำคัญยิ่งสำหรับต้นราชวงศ์จักรี จนมีการอนุรักษ์ให้เหมาะสมกับกาลสมัย นั่นจะเป็นการบูชาคุณอดีต ซึ่งมีเฟื้อ เป็นผู้เชื่อมเข้าสู่ปัจจุบันอย่างสำคัญยิ่ง

บ่ายวัน เดียวกันนั้น จะเริ่มงานแสดงนิทรรศการศิลปกรรมต่างๆ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเวลาหลายวัน จากนั้นก็จะมีการแสดงศิลปกรรมที่แผกออกไป ณ หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร ทางสี่แยกปทุมวัน

นอกเหนือ ไปจากการ ปาฐกถา อภิปรายและการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ และการจัดพิมพ์หนังสือเป็นอนุสรณ์ ให้คนร่วมสมัยได้รู้จักชีวิต และผลงานของเฟื้อ หริพิทักษ์ ตลอดจนคุณูปการของเขา

นอกไปจากนี้แล้ว ก็จะมีคำรณ คุณะดิลก แต่งละครประวัติเฟื้อ หริพิทักษ์ เพื่อ แสดงใน รอบร้อยปีแห่งชาตกาลของเขา ดังเรื่อง ผู้อภิวัฒน์ ของคำรณ ที่แสดงถึงชีวประวัติและผลงานของปรีดี พนมยงค์ อย่างได้รับความสำเร็จมาแล้ว แท้ที่จริง ชีวิตรักของเฟื้อพิศดารยิ่งกว่าชีวิตคู่อันเรียบง่ายของปรีดีเป็นไหนๆ แม้เขาจะไม่ใช่ผู้พลิกแผ่นดินทางการเมือง เช่นท่านรัฐบุรุษอาวุโส แต่เขาก็ท้าทายวงการศิลปะสยามอย่างที่เรียกว่า พลิกแผ่นดินเอาเลยก็ว่าได้

ผลงานทาง ด้านจิตรกรรมของเขามีมากและมีความ เป็นเลิศ อย่างหาศิลปินไทยร่วมสมัยคนใดเทียบไม่ได้ ถ้าคนไทยร่วมสมัยตามีแวว น่าจะหาทางตั้งหอศิลปเฟื้อ หริพิทักษ์ขึ้น ให้ชาวไทยและชาวโลกได้ร่วมกันภูมิใจในความงามอันเป็นเลิศของบุรุษอาชาไนยของ สยามคนนี้

คณะผู้ จัดงานฉลองร้อยปีของเฟื้อคราวนี้ นอกจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังมีโรงเรียนเพาะช่างที่เขาเคยเรียนมา พร้อมด้วยสมาคมสถาปนิกสยาม และสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยร่วมมือกับเขาในการอนุรักษ์หอไตรวัดระฆัง

ถ้างาน ร้อยปีคราวนี้ จะมีทางปลุกให้ข้าราชการไทยและคณะสงฆ์ไทยได้หันมาเห็นความสำคัญของงานศิลป ของเรา ให้ได้มีการศึกษาอย่างรู้เท่าทัน  การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เท่าๆ กับแลเห็นคุณค่าของการนฤมิตรงานศิลป ที่เข้าถึงความเป็นเลิศ  อย่างไปพ้นพาณิชยศิลป์ นี่จะไม่แต่เป็นการบูชาคุณงามความดีของเฟื้อ หริพิทักษ์ หากจะเป็นการนำคนไทยร่วมสมัยให้ไปพ้นความมืดบอด ที่ติดยึดอยู่กับความกึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริงกึ่งเท็จ ที่หมกมุ่นมัวเมาอยู่กับลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยม เพื่อเข้าหาความงาม ความดี และความจริงได้อย่างสมควรยิ่ง

หมายเหตุ

ภาพประกอบ คุณยายกับอีสี, 2482
สี น้ำมันบนผ้าใบ, 50 x 40 ซม.
สมบัติของนายขรรค์ชัย บุนปาน
Grandmother and her cat
, 1958
Oil on canvas, 50 x 40 cm.