โดย จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ใน ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมในโลกและประเทศไทย ประชาชนไทยต่างจับตาดูการบริหารจัดการ กลไก และการดำเนินงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะตอบสนองความจำเป็นด้านต่างๆ เพื่อทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งตนเองได้ ได้รับบริการสวัสดิการสังคมทั้ง 7 ประเภท (สุขภาพ, การศึกษา, ที่อยู่อาศัย, รายได้และการมีงานทำ, นันทนาการ, กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมสำหรับกลุ่มที่เดือดร้อน) ตามสิทธิที่พึงมี อย่างเหมาะสม เป็นธรรม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้มากน้อยเพียงใด
ผู้ เขียนไม่เชื่อว่า การแก้ปัญหาบ้านเมืองแบบแยกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการ “แจกเงิน” ผ่านกลไกต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การสนับสนุนทางการเงินให้เด็กนักเรียน และผู้สูงอายุ แบบประชานิยมสุดขั้ว จะเกิดผลดีต่อประเทศ ทั้งในยามปกติหรือในช่วงวิกฤตก็ตาม
ผู้เขียนขอเสนอแนวทางใช้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศแบบองค์รวมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณา ดังนี้
ใน ช่วงเดือนมีนาคม จะมีบัณฑิตใหม่ประมาณ 500,000 คน ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาเผชิญกับโลกความเป็นจริง ต้องหาเลี้ยงชีพจากสติปัญญา และแรงกาย แรงใจของตนเองในขณะที่ตลาดแรงงานปิดตัวลงอย่างมากมาย
ขณะเดียวกันก็ จะมีแรงงานเกือบสองล้านคนต้องออกจากงาน ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้สำเร็จการศึกษาและผู้ตกงานคงกลับไปฟื้นฟูจิตใจ และ/หรือหาทางดำรงชีวิตในภูมิลำเนาเดิมของตน (ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบทก็ตาม) รอจนกว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอีกครั้ง
รัฐบาลเองก็มีนโยบายเรื่องการจ้าง งานทั้งบัณฑิตจบใหม่และผู้ตกงานอยู่บ้างแล้ว ทั้งการสร้างงานใหม่และการพัฒนาฝีมือ (ระหว่างอบรมอาชีพใหม่ๆ ก็จะให้ค่าตอบแทนด้วย)
บัณฑิตและแรงงานตกงานพร้อมทั้งครอบครัวเหล่า นี้ล้วนมีหนี้สินอยู่แล้วมากมาย ทั้งหนี้สินกับรัฐ (กู้เงินทุนเพื่อการศึกษา) หนี้สินนอกระบบ หนี้สินกับกองทุนต่างๆ ในชุมชน และหนี้สินกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีมักจะเป็นลูกหนี้ของธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
การไม่มีงานทำ มิเพียงทำให้คนขาดเงินจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น แต่ยังทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย คนจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าสำหรับทั้งตนเอง ครอบครัว และสังคม ครอบครัวใดที่พ่อแม่ตกงาน ไม่เพียงแต่จะเครียดเฉพาะตน แต่ยังทำให้ลูกหลานต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในทำนองเดียวกันลูก ที่เรียนจนจบปริญญาตรีแต่ไม่มีงานทำ ก็จะเกิดความอายและสร้างความเครียดให้กับตนเองและพ่อแม่ด้วยเช่นกัน การไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยอย่างพอเพียงก็อาจนำไปสู่ปัญหาอบายมุข อาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาโสเภณี ฯลฯ
ในขณะเดียวกัน ปัญหาหนึ่งที่มักจะถูกกล่าวถึงกันบ่อยๆ ในหมู่ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการ ก็คือ เราไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ สำหรับวางแผนหรือพัฒนาโครงการที่เหมาะสมบรรดาข้อมูลที่มีอยู่
บ้างก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากรู้ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
แต่ เรื่องที่อยากรู้ก็มักจะไม่มีเพราะแต่ละหน่วยงานต้องการข้อมูลที่แตกต่างกัน บางหน่วยต้องการข้อมูลกว้างๆ ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่บางหน่วยต้องการข้อมูลที่ลงในรายละเอียดเพื่อการปฏิบัติงานและเจาะเฉพาะ บางเรื่องเท่านั้น
ข้อมูลบางอย่างมีอยู่กับตัวผู้นำ หรือในชุมชน แต่ไม่มีการเผยแพร่ให้กับหน่วยงานที่ต้องการ
ดังนั้น การวางแผนพัฒนาของแทบทุกหน่วยงานจึงไม่อยู่บนฐานความเป็นจริง
บาง ท่านอาจแย้งว่า ทุกชุมชนมีแผนชุมชนอยู่แล้ว น่าจะใช้ข้อมูลนั้น แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนและเพื่อนร่วมอาชีพในมหาวิทยาลัย ในกระทรวงต่างๆ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศบางแห่งที่ทำงานในไทย เราพบว่าข้อมูลจากแผนชุมชนก็ยังไม่สามารถตอบคำถามที่เราต้องการได้ครบ
ดัง นั้น หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาการว่างงาน ปัญหาพฤติกรรมของเด็ก เยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในครอบครัวที่ไม่เหมาะสม การไม่รู้เท่าทันสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาของตนด้วยตัวเองหรือช่วยกันเอง ปัญหาความขัดแย้ง ฯลฯ แบบบูรณาการ หรือแบบองค์รวม เป็นการลงทุนครั้งเดียวแต่ได้รับประโยชน์หลายทางและได้อย่างยาวนาน ก็จะเป็นผลงานชิ้นโบแดง และเป็นอานิสงส์แก่ประชาชน
รูปธรรมที่อาจ เกิดขึ้นได้ คือ รัฐทำโครงการจ้างบัณฑิตจบใหม่และแรงงานตกงานที่ต้องการกลับไปภูมิลำเนาเดิม ของตน โดยมอบหมายภารกิจในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหลักในชุมชน ระบบการดำรงชีวิต ระบบสวัสดิการที่มีในชุมชน ระบบการผลิต การซื้อ การขายภายในชุมชน ปัญหาสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และอาจครอบคลุมถึงระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนนั้นๆ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งชุมชนเองมีข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างโครงการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ ได้
เรื่อง ที่ต้องพัฒนาเสริมขึ้นอีก ได้แก่ การฝึกฝนทักษะ ความชำนาญในการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อการพัฒนาคน ชุมชน รวมทั้งทักษะในการทำงานด้านอื่นๆ ในชุมชนตามขีดความสามารถของบัณฑิตและ/หรือผู้ตกงานเหล่านั้น และความต้องการของชุมชน
อีกทั้งรัฐบาลต้องกำหนดกลไกการทำงานของหน่วย งาน (พิเศษ-เฉพาะกิจ) ที่เข้าไปทำหน้าที่ในการแนะนำ กำกับ นิเทศงาน และสนับสนุนการทำงานแก่ลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มใหม่นี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรวมของประเทศ
ในกรณีที่ผู้ตกงานไม่มีทักษะใน ด้านการขีดเขียน หรือมีความสามารถในการทำงานด้านอื่นๆ มากกว่า ก็อาจมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการดูแลด้านการฟื้นฟู รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และ/หรือทรัพยากรทางวัฒนธรรมของชุมชนแทนก็ได้
หรือหากมีฝีมือจะไป ร่วมงานกับกลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชนประเภทต่างๆ ผลิตสินค้า/บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน และสนองนโยบายด้านอื่นๆ ของรัฐในเวลาเดียวกัน เช่น ผลิตเสื้อผ้าสำหรับที่จะแจกให้แก่นักเรียน (แทนการจัดซื้อจากพ่อค้ารายใหญ่) หรือแม้แต่การไปช่วยดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ถูกทอดทิ้งในชุมชน ครอบครัวที่ประสบปัญหา ก็ตาม
รายละเอียดภารกิจที่ต้องทำขึ้นกับเงื่อนไข ปัญหา ศักยภาพ และทีมงานที่พร้อมสนับสนุนในแต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน โดยได้รับค่าตอบแทน และมีระบบการยกย่องในการทำความดีเพื่อลดหนี้สินของครอบครัวได้เช่นกัน
ผู้ เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ซึ่งท่านก็มีมุมมองที่น่าสนใจและพร้อมสนับสนุนโครงการที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูลและทรัพยากร ยิ่งทำให้เชื่อว่าโครงการแก้ปัญหาแบบองค์รวมที่จะอธิบายต่อไปนี้ มีความเป็นไปได้
ธ.ก.ส.มีลูกค้า (ลูกหนี้) ประมาณสี่ล้านครอบครัวอยู่ทั่วประเทศไทย ยอดหนี้สินที่ต้องชำระให้ธนาคารประมาณปีละสี่แสนล้านบาท หากลูกหนี้ไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนได้ก็ต้องถูกปรับ หรือถูกฟ้องร้องแล้วแต่กรณี (ซึ่งธนาคารทุกแห่ง รวมทั้ง ธ.ก.ส.ไม่อยากจะทำอยู่แล้ว และต้องเตรียมรับสภาพหนี้สูญจำนวนหนึ่งด้วย)
ธ.ก.ส.พร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้วิกฤตประเทศแบบองค์รวม โดย ธ.ก.ส.ยินดีจะร่วมสมทบทุนโครงการจ้างงานอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
แต่ ธ.ก.ส.จะขอสมทบเป็นการหักเงินออกจากยอดหนี้สินแทน (การทำงานแต่ละวัน หรืองานแต่ละชนิดจะสามารถหักหนี้ได้ในอัตราที่ร่วมกันกำหนดต่อไป)
นั่น หมายความว่า หากรัฐบาลมีเงินจ้างบัณฑิตและ/หรือแรงงานตกงาน 100,000 คน ก็จะสามารถจ้างได้เป็น 200,000 คนแทน เพราะรัฐจ่ายเงินเดือนที่เป็นเงินสดประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น
ดัง นั้น ผู้ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวในโครงการนี้จะมีรายรับเป็นเงินสดน้อยลง แต่ตนเองสามารถช่วยลดหนี้สินของครอบครัว (ที่มีต่อ ธ.ก.ส.) การช่วยครอบครัวปลดหนี้ครั้งนี้ เท่ากับว่าลูกจ้างผู้นั้นทำหน้าที่ในฐานะ “ลูกหลานกตัญญู” เป็นสมาชิกที่ดีที่สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจใจตนเองก็จะกลับคืนมา (หากสูญเสียไป)
และหน่วยงานที่ทำ หน้าที่ส่งเสริมเรื่องจิตอาสา หรือหน่วยงานส่งเสริมให้คนเป็นคนดี มีศีลธรรม หรือแม้แต่ อบต. ภาคประชาสังคม ชุมชน จะมาร่วมเสริมสร้างการทำความดีในแง่นี้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชุมชนหรือสังคม ในมุมกว้างก็ยังได้
“ลูกหลานกตัญญ” เหล่านี้จะทำงานและพักอาศัยอยู่ในชุมชนของตนเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการอยู่ในบ้านของตนเองก็มีข้อดีในเรื่องการเข้าใจเรื่องของชุมชนตนเอง ทำให้งานศึกษาข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และหากลูกจ้างเหล่านี้ ทำงานได้ดี ก็เท่ากับว่าโครงการนี้เตรียมสร้างผู้นำการพัฒนาสำหรับชุมชนนั้นๆ ต่อไปในอนาคต เพราะในระหว่างการศึกษาข้อมูลชุมชน จะไม่ใช่แค่การไปสอบถามข้อมูลเท่านั้น แต่จะใช้กระบวนการสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นการเรียนรู้ ทักษะการคิดของคนในชุมชนไปในเวลาเดียวกัน ในบางรายที่มีศักยภาพอาจได้รับการร้องขอให้ทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการทำความ ดีด้านอื่นๆ แก่คนในชุมชนด้วย
(สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต้องอบรมวิธีการทำงานให้แก่ “ลูกหลานกตัญญู” ก่อน)
ข้อมูล ที่ได้จะนำมาผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องจากประชาคมในชุมชน (โดยรายงานในที่ประชุมของชุมชน ฟังข้อคิดเห็น ความเห็นชอบจากชาวบ้าน ผู้นำกลุ่ม ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน หรือ อบต.) แล้วจึงรายงานมาให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการประมวล สังเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ และข้อมูลที่มาเสนอนี้อาจจะผลักดันให้เกิดเป็นแผนชุมชน
หรือใช้ข้อมูลประกอบการทำแผนพัฒนาอื่นๆ ก็ได้
หลายกระทรวง ต่างก็มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือบัณฑิตใหม่และผู้ตกงาน ซึ่งต่างก็ทำงานตามพันธกิจและความชำนาญของตน ซึ่งหากไม่มีการประสานงาน เชื่อมโยงข้อมูล อาจทำงานซ้ำซ้อนกัน ผลงานที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ช่วยคนได้น้อยในขณะที่ยังมีบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก
ดัง นั้น ทุกหน่วยน่าจะมาร่วมกันทำงานเป็นทีมเดียวกันได้แล้ว เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แบบทวีคูณ (synergy) และไม่ควรมองข้ามศักยภาพของพ่อแม่ของบัณฑิต/ผู้ตกงานด้วย หากเขาเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางช่วยเหลือสมาชิกของตนเอง เขาก็จะสามารถใช้ทุนที่มีมาเสริมได้ อาทิ ไร่นา ร้านค้า ร้านซ่อมรถ ฯลฯ อันจะทำให้เกิดแนวทางพัฒนาอาชีพเพิ่มเติม ทำให้การจ้างงานในชุมชนมีความยั่งยืนมากขึ้นไปอีก
ผู้เขียนมั่นใจว่า กระบวนการเช่นนี้จะนำไปสู่กิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในชุมชน นำไปสู่การลดผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเมือง (กิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนมักจะก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะเป็นเรื่องทำโดยคนในชุมชน สร้างประโยชน์สุขต่อชุมชนหรือส่วนรวม ไม่ว่าใครจะสังกัดกลุ่มสีอะไรก็คงไม่ขัดขวาง เพราะตนและครอบครัวตนเอง รวมทั้งหลานเหลนต่างจะได้ประโยชน์ด้วยกัน) เป็นการสร้างและใช้โอกาสจากวิกฤตที่กำลังประสบอยู่อย่างแท้จริง
เราพร้อมจะทำงานแบบองค์รวมและเป็นทีมหรือยัง ????
หมายเหตุ ความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคล มิได้ผูกพันกับสถาบันต้นสังกัดของผู้เขียนแต่อย่างใด
ที่มา
มติชนรายวัน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01100252§ionid=0130&day=2009-02-10