บทความจาก Thepotential
ที่มา : https://thepotential.org/2018/04/25/youth-civic-engagement/

  • การพัฒนาวัยรุ่นในสหรัฐ มีที่มาจากการเผชิญหน้ากับปัญหาอาชญากรรมและพฤติกรรมเชิงลบของวัยรุ่นอเมริกันในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
  • โดยเชื่อว่าเยาวชนมีศักยภาพพัฒนาตนเองอย่างก้าวกระโดด ถ้าได้รับโอกาสและการยอมรับจากผู้ใหญ่ใกล้ตัว ให้เขาได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น “ด้วยความเต็มใจ”
  • วิธีหนึ่งคืองานอาสาสมัคร เปิดโอกาสให้พวกเขาเห็นคุณค่าและศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง
  • การเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยรุ่นจากงานอาสา ให้คุณค่าทางอารมณ์และจิตใจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง สู่การแสดงออกทางพฤติกรรมเชิงบวกในระยะยาว และเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
เรื่อง: วิภาวี เธียรลีลา

ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ คุณมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันขนาดไหน?

หรือถ้าคุณเป็นเด็ก คุณคิดว่าตัวเองมีศักยภาพพอที่จะรับผิดชอบตัวเองและสังคมหรือเปล่า?

แล้วถ้ามองในภาพใหญ่ สังคมไทยควรให้โอกาสและบทบาทแก่เด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรบ้าง?

การบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ทฤษฎีพัฒนาการการมีส่วนร่วมของพลเมือง’ (Towards a Developmental Theory of Youth Civic Engagement) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบนจามิน ออสเทอร์ฮอฟ (Benjamin Oosterhoff) ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ (Department of Pediatrics) แผนกจิตวิทยา (Psychology Section) วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ (Baylor College of Medicine) ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการเพิ่มพูนและจุดประกายความรู้ทางจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น สะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการทั้งภายนอกและภายในอย่างชัดเจน

ภายนอก คือความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เติบโตขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมการเข้าสังคมที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ด้วยต้องการเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิด

ภายใน คือสภาพจิตใจของวัยรุ่นที่ถูกกระทบได้อย่างง่ายดายจากปัจจัยเงื่อนไขภายนอก ‘ความเสี่ยง’ เป็นสิ่งที่วัยรุ่นโปรดปรานซึ่งบ่อยครั้งก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่สร้างความกังวลให้กับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพนัน การเสพยา หรือพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ สิ่งที่เกินสายตามนุษย์จะมองเห็นแต่เทคโนโลยีสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงภายในออกมาให้เห็นได้ คือ พัฒนาการทางประสาทวิทยาของสมองช่วงวัยรุ่น ที่ส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

เมื่อมนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม ความวิตกกังวลในพฤติกรรมเชิงลบของวัยรุ่นจึงไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาพื้นฐานที่ทุกสังคมต้องเผชิญ พฤติกรรมดังกล่าวขับเคลื่อนโดยสมรรถนะทางอารมณ์ (Emotional Competencies) ที่ควบคุมโดยสมอง ความฉุนเฉียว ก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น และความดื้อดึงจึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องทำความเข้าใจและพร้อมรับมือ

ออสเทอร์ฮอฟ บอกว่า การมีส่วนร่วมภาคพลเมืองในเด็กและเยาวชน (Youth Civic Engagement) กับ การพัฒนาวัยรุ่นเชิงบวก (Positive Youth Development: PYD) มีความเกี่ยวข้องกัน แนวคิดเรื่องการพัฒนาวัยรุ่นเชิงบวกมีที่มาจากการเผชิญหน้ากับปัญหาอาชญากรรมและพฤติกรรมเชิงลบของวัยรุ่นอเมริกันในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางจึงจัดให้มีงบประมาณเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ

ในยุคหลังเริ่มมีการพูดถึง การมีส่วนร่วมภาคพลเมืองของเด็กและเยาวชน (Youth Civic Engagement) โดยเชื่อว่า

เยาวชนมีศักยภาพเชิงบวกและสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างก้าวกระโดด หากได้รับโอกาสและการยอมรับจากผู้ใหญ่ใกล้ตัว ทั้งผู้ปกครอง ครู ชุมชน ให้ได้ลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ‘ด้วยความเต็มใจ’

ยิ่งสิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมใกล้ตัว เมื่อทำแล้วได้รับคำชื่นชมและได้รับการยอมรับ (promotion-focused) ยิ่งสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับวัยรุ่น จนอยากอาสาทำแล้วทำอีก นั่นเพราะการอาสาสมัครเข้ามาสร้างประโยชน์ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าและศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง

การมีส่วนร่วมภาคพลเมืองของเด็กและเยาวชนในเชิงงานอาสา สะท้อนพฤติกรรม ค่านิยม ความรู้ และทักษะที่สามารถสร้างให้เกิดรูปแบบทางการเมืองเฉพาะถิ่น และการก่อร่างสร้างสังคมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากกว่าการกดขี่ข่มเหง ซึ่งหากมองในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในอนาคต เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเป็นการสร้าง ‘ชุมชนน่าอยู่’ โดยให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทด้วย ไม่ใช่แค่การเคารพในกฎกติกาของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว

ออสเทอร์ฮอฟ กล่าวถึง ผลลัพธ์จากงานวิจัยที่น่าสนใจแต่ไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก เมื่อพบว่า งานอาสาสมัครเป็นองค์ประกอบหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ปี 2005 ประชากร 30 เปอร์เซ็นต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกลุ่มกันทำงานอาสาที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมจำนวนมาก มากกว่าในแถบยุโรปและอเมริกากว่า 3 เท่า คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2.05 ล้านล้านบาท

โดยเฉพาะงานอาสาด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยบรรเทาเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกเป็นวงกว้าง

คำถามคือ แล้วใครจะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคพลเมืองของเด็กและเยาวชน?

คำตอบที่ได้ ไม่ใช่องค์กรการเมือง แต่กลับเป็นผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษา ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการดังกล่าว

ต้องยอมรับว่าแม้ในสหรัฐอเมริกาเอง ชาวอเมริกันก็ยังไม่มีความเข้าใจมากนักว่า การมีส่วนร่วมภาคพลเมืองเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและการพัฒนาพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กและเยาวชน เนื่องจากการมีส่วนร่วมภาคพลเมืองมักถูกมองในมุมแคบแค่ไปออกเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้เชื่อมโยงมาถึงงานอาสาสมัคร และรูปแบบการมีส่วนร่วมอื่นๆ ที่หลากหลาย

ออสเทอร์ฮอฟ ย้ำว่าประสบการณ์การเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่นจากการทำงานอาสาที่ให้คุณค่าทางอารมณ์และจิตใจ ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองที่เชื่อมโยงไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมเชิงบวกในระยะยาว กระทั่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

แบบไหนจึงเรียกว่า การมีส่วนร่วมภาคพลเมือง?

ในเชิงพฤติกรรมสามารถวัดได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น

  • พฤติกรรมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม: ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งถ้าไม่ใช้งานหรือไม่?
  • งานอาสาสมัคร: แบ่งเวลาไปทำงานอาสาสมัครเดือนละกี่ชั่วโมงหรือกี่ครั้ง?
  • การช่วยเหลือแบบไม่เป็นทางการ: เคยทำงานโดยไม่รับผลตอบแทน แต่คำนึงถึงประสบการณ์หรือเปล่า?
  • การบริโภคข่าวสาร: ให้เวลาในการเสพข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ มากขนาดไหน?
  • คุณค่าจากความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม: รับฟังและเปิดใจยอมรับความต้องการของผู้อื่นหรือไม่?
  • ความเชื่อเรื่องการเมือง: เป็นพลเมืองที่ตื่นตัวต่อความเป็นมาเป็นไปของบ้านเมืองหรือเปล่า หรือ เห็นความสำคัญและออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไหม?

นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมภาคพลเมือง ยังรวมถึงความสามารถในการพัฒนาอารมณ์และความเข้าใจทางสังคม ในเชิงพฤติกรรมสอดคล้องกับการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากกำลังตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและผู้อื่น และสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้ เป็นต้น

สิ่งที่เด็กและเยาวชนพบเจอในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต และประสบการณ์ชีวิตที่เผชิญด้วยตัวเองในแง่มุมที่หลากหลาย เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแรงกระตุ้นและช่วยพัฒนาศักยภาพให้เด็กและเยาวชนสามารถดูแลตัวเองและสังคมให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทในการร่วมคิดร่วมทำงานอาสาพัฒนาสังคม จะกระตุ้นให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นการสร้าง ‘สำนึกพลเมือง’ ที่ทำให้พวกเขาอยากทำประโยชน์ให้กับสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาพและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต