ในแต่ละปี มอส.จึงต้องลุ้นว่า จะมีคนหนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจส่งใบสมัครมาครบตามจำนวนที่ต้องการ หรือไม่ และเมื่อครบวาระการทำงานแล้ว จะเหลือกี่ครุย….ที่ลุยโคลนต่อไปด้วยกัน
ช่วงกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาสอบปลายภาค เป็นพิเศษหน่อยสำหรับนักศึกษาปีสุดท้าย ที่ต้องมองหางานทำไปพร้อมกัน ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเดียวกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) เปิดรับสมัครคนหนุ่มสาวที่สนใจงานด้านสังคม เข้ามาทำงานในบทบาทอาสาสมัครเต็มเวลา โดยมีวาระการทำงาน 1 ปีเต็ม
ปีนี้ มอส.เปิดรับอาสาสมัครใน 2 รูปแบบ คือ อาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก และอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 4 อาสาสมัครทั้งสองแบบ ต้องลงไปทำงานในองค์กรที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนั้นๆ เช่น ครูอาสา จะลงไปทำงานกับองค์กรที่มีเนื้องานเกี่ยวเนื่องกับเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรการเรียนรู้ทางเลือก ซึ่งจะต้องทำร่วมกับโรงเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนการศึกษาทางเลือก เพื่อรวมกันพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นนั้น
ขณะที่อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ก็คล้ายคลึงกัน คือ อาสาสมัครจะได้เรียนรู้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธ์ฯ ซึ่งองค์กรที่ขอรับอาสาสมัคร จะเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือสำนักงานทนายความที่ทำคดี หรือเป็นที่ปรึกษาคดีเรื่องการละเมิดสิทธิ์ฯ ทั้งหลาย
กลุ่มเป้าหมายหลักของทั้งสองแบบคือ คนหนุ่มสาวที่สนใจงานด้านพัฒนาสังคม ซึ่งนับวันยิ่งมีปัญหาอุปสรรคหลายด้าน คอยบั่นทอนความมุ่งมั่นตั้งใจของคนหนุ่มสาวให้เหือดแห้งลงไปทุกที ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ได้คิดถึงคนอื่น หรือว่าพวกเขาไม่มีความคิดความฝันถึงสังคมอุดมคติแล้ว แต่เพราะภาระของพวกเขามีมากขึ้นกว่าอดีตหลายเท่านัก
สมัยก่อนเมื่อเรียนจบหากไม่ใช่ลูกท่านหลานเธอ อย่างแย่ที่สุดก็เริ่มต้นจากศูนย์ สถานการณ์สังคมการเมืองก็ยังเอื้อให้คนหนุ่มสาวคิดฝันถึงสังคมอุคมคติ ชี้วัดได้จากจำนวนคนหนุ่มสาวที่มาสมัครเป็นอาสาสมัครมีจำนวนมากจนรับไม่ไหว บางคนอยากให้เพื่อนได้เป็นอาสาสมัครด้วย ยินดีที่จะแบ่งค่าตอบแทนอันน้อยนิดให้เพื่อน เพื่อจะได้มาทำงานเพื่อสังคมด้วยกัน
แต่ปัจจุบันพวกเขาเริ่มต้นจากติดลบ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ซึ่งคนที่มีสิทธิกู้ และคนที่ กยศ. อยากให้กู้ จะเป็นคนที่เลือกคณะหรือวิชาเรียนที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งงานทางด้านสังคม เราๆ ท่านๆ ก็รู้กันอยู่ว่าตลาดแรงงานไม่ปลื้ม ค่าตอบแทนที่ได้รับก็เพียงพอต่อการดำรงชีพเท่านั้น ขณะที่ค่าตอบแทนน้อยนิดเหล่านี้ ต้องแบ่งจ่ายคืนกองทุนฯ, ส่งให้ทางบ้าน รวมถึงค่าใช้จ่ายประจำวัน เรื่องเงินเก็บจึงไม่ต้องพูดถึง
ในอีกด้านภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา การใช้กลไกตลาดเสรีนั้น โอกาสที่คนจะเข้ามาทำงานในภาคสังคมเต็มเวลา ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างมาก ขณะที่ความมุ่งหวังของครอบครัวก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ใหญ่ไม่แพ้กัน การอยู่ในสังคมที่มีค่านิยมที่เงินคือปัจจัยหลัก สิ่งเร้าต่างๆ ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเข้ามาหลอกล่ออยู่ตลอดเวลา ข่าวนักศึกษาหารายได้จากอาชีพพิเศษจึงมีให้เห็นเนืองๆ
ในแต่ละปี มอส.จึงต้องลุ้นว่า จะมีคนหนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจส่งใบสมัครมาครบตามจำนวนที่ต้องการ หรือไม่ และเมื่อครบวาระการทำงานแล้ว จะเหลือกี่ครุย….ที่ลุยโคลนต่อไปด้วยกัน
Credit : http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=view&id=120&Itemid=94