เขียน: ศักดิ์สินี
เหงื่อที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการเข้าฟิตเนส และได้พาหัวใจที่พองโตด้วยรอยยิ้มกลับไปแทน”
ปีที่แล้ว กลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้สละเวลาส่วนตัวมาร่วมตัวกันเพื่อพันธกิจทางสังคม ร่วมกันแปลงสภาพห้องเก่าๆ โทรมๆ ให้กลายเป็นห้องสมุด
ณ วันนั้น ยามที่ได้เห็นสภาพห้องครั้งแรก บอกตรงๆว่าไม่แน่ใจ ว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แล้วบรรดาคนที่มาด้วยกันจะยินดีมาปัดกวาดเช็ดถู ใช้แรงงานขนย้ายข้าวของ กันอย่างไร อีกทั้งเด็กเล็กๆ อีกสองคนนั่นล่ะ จะทำอะไรได้บ้าง
อย่างช้าๆ ชั่วโมงต่อชั่วโมง เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของห้องที่ว่างเปล่า กลายเป็นห้องที่ดูสดชื่น มีโมบายง่ายๆพลิ้วไหวตามแรงลม มีสีสันของภาพวาดระบายสีแปะอยู่ตามมุมต่างๆ เหนือสิ่งอื่นใดคือรอยยิ้มของทุกคนที่ภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมสร้างห้อง สมุดให้กับบ้านดนตรีแห่งนี้ พวกเราถึงกับออกปากว่า น่าจะได้กลับมาที่นี่อีก มาดูความเปลี่ยนแปลง มาต่อเติมเสริมแต่งให้มีหนังสือมากกว่านี้ น่าใช้มากกว่านี้
เวลาผ่านไป เดือนต่อเดือน เราก็เริ่มลืมๆเรื่องนี้ไป เพราะมีอย่างอื่นในชีวิตให้ดูแล
เมื่อมอส.จัดกิจกรรมให้กลับมาดูแลห้องสมุดบ้านดนตรีอีกครั้ง จึงเหมือนปลุกความรู้สึกดีๆเก่าๆให้กลับมา ห้องสมุดตอนนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไรนะ เอ… พี่ๆน้องๆที่ไปด้วยกันคราวนั้น จะได้เจอกันอีกหรือเปล่า ฯลฯ
กี่ครั้งที่เราพยายามชวนเพื่อนๆมาสัมผัสกับประสบการณ์ดีๆแบบนี้ แต่ทุกคนก็คิดเอาเองก่อนทุกทีว่า “เหนื่อย” ภาพของการเป็น “อาสาสมัคร” สำหรับคนหลายกลุ่ม คือการมีเวลาเยอะๆ ต้องเตรียมตัว ต้องเหนื่อย ต้องเจอคนไม่รู้จัก
แต่ทุกครั้งที่ได้มาทำกิจกรรมจิตอาสา เรากลับรู้สึกว่า มันคือความสุข
การได้หลบออกมาจากหน้าจอคอมฯและหน้าจอทีวี คือการได้พักสมองและสายตา
การได้เป็นตัวของตัวเอง พูดคุยกับเพื่อนใหม่ที่มีจิตใจมาทำอะไรเพื่อผู้อื่นด้วยกัน คือการได้ล้างใจและทบทวนความรู้สึก
ผลทีได้คือ ได้เหงื่อที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการเข้าฟิตเนส และได้พาหัวใจที่พองโตด้วยรอยยิ้มกลับไปสู้กับงานต่ออย่างมีความสุข
วกกลับมาที่ห้องสมุด ฟังคุณครูและเด็กๆที่บ้านดนตรีแล้วก็รู้สึกดีใจ ว่าห้องสมุดที่เราช่วยกันทำ มีคนเข้ามาใช้จริงๆ มีผู้ปกครองที่มารอเด็กๆเลิกเรียนดนตรีได้แวะมาพักอ่านหนังสือ หรือนั่งคุยกัน
แต่ก็เหมือนกับครั้งที่แล้ว คนละไม้คนละมือ หนังสือก็ถูกจัดแยกประเภทสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นวารสารท่องเที่ยว บันเทิง หนังสือธรรมะ หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือภาษาอังกฤษ แถมยังมีมุมของเล่นอีกด้วย หน้าตาห้องสมุดฉบับปรับปรุงนี่ดูดีจัง พวกเราบางคนก็เลยพักงานหยิบหนังสือมานั่งอ่านซะเอง
คราวที่แล้วพวกเราได้ตัดกระดาษเป็นโน้ตดนตรีติดไว้บนเพดาน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศบ้านดนตรี ต้องอาศัยแรงงาน พี่โอ๊ะและน้องหลายคนปีนโต๊ะต่อเก้าอี้ขึ้นไปติดกัน แล้วก็รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้เงยหน้ามอง
มาคราวนี้ โน้ตดนตรีเริ่มทรุดโทรม เทปกาวที่แปะไว้ก็เสื่อมสภาพ พี่โอ๊ะที่ปีนขึ้นไปติดคราวที่แล้วก็ได้ทำพิธีปลดมันลงมาเอง ดูเพดานว่างเปล่าที่มีร่องรอยว่าเคยมีอะไรซักอย่างแปะอยู่ ก็ทำให้เหงาๆแล้วก็เสียดายอย่างไรไม่รู้
แต่พี่วรรณที่เป็นรุ่นบุกเบิกด้วยกัน บอกว่า “งั้นคราวหน้า เราทำมาเลย เอาแบบดีๆ มาถึงก็แปะเลย ดีไหม” เราก็เลิกเสียดายไปทันที
เพราะเราอาจได้กลับมาพัฒนาห้องสมุดแห่งนี้อีกครั้งใช่ไหม?
ปล. ดูภาพบรรยากาศย้อนหลังได้ที่แกลอรี่ค่ะ
ปรับปรุงห้องสมุดบ้านดนตรี ( phase l ) 2549
http://www.thaivolunteer.org/gallery/view.php?id=5 http://www.thaivolunteer.org/gallery/view.php?id=6
ปรับปรุงห้องสมุดบ้านดนตรี ( phase ll ) 23 มิถุนายน 2550
http://www.thaivolunteer.org/gallery/view.php?id=65
เขียนโดย หญิง
(ศักดิ์สินี เอมะศิริ: อาสาสมัครนอกเวลากิจกรรมปรับปรุงห้องสมุดบ้านดนตรี)
ที่มา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
http://www.thaivolunteer.org/mam/index.php?option=com_content&task=view&…