ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม
เสนอทุกฝ่าย “ใช้สันติวิธี เพื่อรักษาชีวิต”
วิงวอนทุกคนร่วมใจ แสดงเจตจำนง เพื่อให้เกิดการเจรจายุติความรุนแรง
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 214 ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10.00-10.05 แนะนำความเป็นมาและกิจกรรมของกลุ่ม
10.05-10.25 แถลงข่าว “ใช้สันติวิธี เพื่อรักษาชีวิต”
คุณอธิษฐาน์ คงทรัพย์
คุณนภนาท อนุพงศ์พัฒน์
คุณไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
10.25-10.30 ภาพข่าว “ปฏิบัติการสร้างพื้นที่สันติ”
ประชาชน กลุ่ม และองค์กรผู้รักสันติ มีความห่วงใยในสถานการณ์ความแตกแยกที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย จึงร่วมกันเสนอวิธีการเพื่อยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์บานปลายไปสู่ความรุนแรง และการจลาจลจนมิอาจควบคุมได้ ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้สติ เมตตา หันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยสันติและรวดเร็ว ไม่ให้บ้านเมืองต้องบอบช้ำมากไปกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้เกิดความรุนแรงขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัดแล้ว จะส่งผลกระทบและสร้างความแตกแยกร้าวลึกต่อสังคมไทยในมิติต่างๆ ไปอีกยาวนาน โดยเฉพาะการบั่นทอนศรัทธาต่ออุดมคติการต่อสู้เพื่อความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางสันติวิธี
กลุ่มฯ จึงขอวิงวอนไปยังทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง อาทิ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาล ตำรวจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้ยึดมั่นในแนวทางของสันติวิธี ใช้สติ และมีเมตตาต่อกัน มองเห็นความเป็นมนุษย์ที่ล้วนต้องการความยุติธรรม ความปลอดภัย และความสงบ ในทุกๆ คน โดยมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. “โปรดเจรจา” เสนอต่อผู้นำของทุกฝ่าย
2. “เราก็คน เขาก็คน” เสนอต่อกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกฝ่าย
3. “โปรดทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรมและสันติ” เสนอต่อตำรวจ
4. “ลงมือปฏิบัติ สร้างสันติ ยุติความรุนแรง” เสนอต่อประชาชนทั่วไป โดยประชาชนสามารถส่ง SMS ไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเจรจา หรือใช้สันติวิธี เพื่อรักษาชีวิต, ออกมาทำกิจกรรมในที่สาธารณะ เช่น ชูป้ายข้อความเรียกร้องสันติ ยุติความรุนแรง, ติดป้ายหลังรถยนต์, ภาวนาเพื่อสันติในที่สาธารณะ, รับฟังผู้ที่เห็นต่างจากเราและสร้างความเข้าใจต่อกัน, ภาวนาแผ่เมตตา วันละ 5 นาที
คุณอธิษฐา คงทรัพย์ สมาชิกกลุ่ม กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมเพื่อยุติความรุนแรง ดังนี้ “ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนตัวด้วยการพยายามรับฟังผู้ที่เห็นต่างจากเราด้วยความเคารพ ในความเป็นมนุษย์ของเขา, ส่ง SMS เรียกร้องให้แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจาไปยังรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ, ทำป้ายติดหลังรถเรียกร้องให้ใช้สันติ ยุติความรุนแรง, รวมตัวกันชุมนุมในที่สาธารณะรณรงค์ให้ทุกฝ่ายร่วมกันระงับความรุนแรง, หรือที่ทำได้ส่วนตัวคือภาวนาแผ่เมตตาให้สังคมวันละ 5 นาทีทุกวัน”
คุณนภนาท อนุพงศ์พัฒน์ สมาชิกกลุ่ม กล่าวถึงข้อเสนอต่อผู้ร่วมชุมนุมและตำรวจว่า “จากการที่ได้ไปรับฟังเสียงจากทั้งสองฝ่าย รู้สึกว่า เราได้เห็นความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ถึงแม้ข้อเรียกร้องของพวกเขาจะดูแตกต่างกัน แต่ผู้มาชุมนุมล้วนมีจุดมุ่งหมายที่ไม่แตกต่างกัน คือ ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรม ความสงบสันติ ทั้งสองฝ่ายต่างมาชุมนุมเพื่อคุณค่าบางอย่างที่สำคัญต่อชีวิตของตนด้วยกัน ทั้งสิ้น และไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงเหมือนกัน สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสนอการแก้ปัญหาด้วยการเจรจานั้น นับว่าเป็นการริเริ่มที่ดีมาก เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตำรวจจะยังคงยึดมั่นในหลักการสันติวิธีต่อไป อย่างไรก็ดี หากจำเป็นจะต้องมีการจับกุมผู้ร่วมชุมนุม ไม่ว่าฝ่ายใด เราขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่อย่างสันติและยุติธรรม”
คุณไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ สมาชิกกลุ่ม เสนอต่อผู้นำฝ่ายพันธมิตรและรัฐบาล ว่า “ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการจะรักษาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหลักสำคัญข้อหนึ่งของการเป็นประชาธิปไตยก็คือ การเห็นต่างได้แต่ไม่ใช้ความรุนแรงกระทำต่อกัน ดังนั้นเราจึงขอให้ใช้การเจรจาเป็นทางออก เราเชื่อมั่นว่าการเจรจาจะช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งได้ โดยที่ไม่ทำให้สังคมต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงมากไปกว่านี้อีกแล้ว”